การยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ทำยังไง?

🏘🛠คอนเซ็ปต์การยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ทำยังไง? แบบคร่าวๆนะครับ สำหรับผู้ที่จะเริ่มยื่นขออนุญาตก่อสร้างเองครั้งแรก👌👌 
          หัวข้อสนทนาในวันนี้จะกล่าวถึงการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร สำหรับท่านเจ้าของบ้านที่อยากยื่นขออนุญาตเอง หรือมีแบบก่อสร้างอยู่แล้วและต้องการนำไปขออนุญาตปลูกสร้าง โดยจะเป็นการอธิบายแบบคร่าวๆให้ได้เข้าใจถึงหลักการและเอกสารที่ต้องใช้ครับ
          การยื่นขออนุญาตจะเป็นขั้นตอนหลังจากจบกระบวนการของการออกแบบเขียนแบบก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อจะทำการก่อสร้างอาคาร หรือจะทำการยื่นกู้ธนาคาร หรือแม้แต่จัดจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน จะต้องผ่านขั้นตอนการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเสียก่อน

          บทความนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยยื่นขออนุญาตปลูกสร้างเอง และกำลังจะไปยื่นขออนุญาตฯครับ



          ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างนั้นทางเจ้าของบ้านจำเป็นที่จะต้องเตรียมเอกสารต่างๆให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมตัวนำมายื่นพร้อมแนบเอกสารที่ต้องใช้ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเอกสารต่างๆที่เจ้าของบ้านต้องเตรียม และเอกสารต่างๆ ที่ผู้ออกแบบจะต้องเตรียมให้เจ้าของบ้าน



          ถ้าหากเป็นกรณีอาคารที่ยื่นขออนุญาตเป็นอาคารขนาดใหญ่ คลังสินค้า หรืออาคารอื่นๆที่ใช้เพื่อธุรกิจ ลักษณะการยื่นขออนุญาตจะคล้ายๆกัน แต่จะมีเรื่องของเอกสารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เอกสารประกอบ นิติบุคคล เป็นต้น ข้อกฏหมายเกี่ยวกับตัวอาคารที่ต้องปฏิบัติตามมากขึ้น ระยะร่น ระยะเว้นของอาคารตามกฏหมาย พรบ.ควบคุมอาคาร ส่วนควบของอาคาร แบบงานระบบไฟฟ้า ประปา ดับเพลิงต่างๆ ที่ต้องรัดกุมมากขึ้นตามมา



          สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการขอใบอนุญาตฯ จะใช้เวลาคร่าวๆดังต่อไปนี้ครับ
          - อาคารพักอาศัยไม่เกิน 2 ชั้น ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 20 วัน ไม่รวมระยะเวลาแก้ไข แบบแปลน
          - อาคารพาณิชย์ อาคารขนาดใหญ่ อาคารประเภทควบคุมการใช้ ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 30 วัน (ไม่รวมระยะเวลาแก้ไขแบบแปลน)
          - ยกเว้นในกรณีที่มีข้อขัดข้อง จะใช้เวลาพิจารณาตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
ทั้งนี้ระยะเวลาทั้งหมดในกระบวนการพิจารณายื่นขออนุญาต (ไม่รวมเวลาแก้ไขแบบ) ไม่เกิน 45 วัน
ดังนั้นท่านเจ้าของบ้านต้องเผื่อเวลาในส่วนนี้ไว้ด้วย วางแผนเวลาการยื่นขออนุญาตฯ เวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง และจะสามารถรู้เวลาคร่าวๆว่าอาคารของท่านจะแล้วเสร็จในเดือนไหนนั่นเอง



          ในขั้นตอนการจ้างออกแบบบ้านนั้น สิ่งที่เจ้าของอาคารจะได้มาจากผู้ออกแบบ(ที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นขออนุญาตฯ ครับ) จะประกอบไปด้วย
          - แบบก่อสร้างพร้อมลงนามรับรองของวิศวกรในแบบทุกแผ่น และสถาปนิก(กรณีบ้านพื้นที่รวมเกิน 150 ตร.ม.)ลงนามใบแบบทุกแผ่น จำนวน 1 ชุด และสามารถนำมาถ่ายเอกสารได้ ซึ่งจะนำมาใช้ในการยื่นขออนุญาตฯ จำนวน 5 ชุด และควรถ่ายเอกสารเผื่อไว้ใช้สำหรับการก่อสร้าง การเสนอราคาของผู้รับเหมาด้วยอย่างน้อยๆ ก็ อีก 3 ชุด ซึ่งภายในแบบจะต้องประกอบไปด้วย แผนผังบริเวณ แผนที่สังเขปโครงการ รายการประกอบแบบ แบบสถาปัตยกรรม แบบโครงสร้าง แบบผังงานระบบไฟฟ้า แบบผังงานระบบประปาสุขาภิบาล
          - หนังสือรับรองผู้ออกแบบ ขนาด A4 ของวิศวกรโยธา 1 ชุด ของสถาปนิก(กรณีบ้านพื้นที่รวมเกิน 150 ตร.ม.) 1 ชุด
          - เอกสารใบประกอบวิชาชีพ ของวิศวกรโยธาและสถาปนิก(กรณีบ้านพื้นที่รวมเกิน 150 ตร.ม.) อย่างละ 1 ชุด - เอกสารรายการคำนวณโครงสร้างอาคาร ของวิศวกรโยธา พร้อมลงนามในรายการคำนวณทุกแผ่น 1 ชุด ส่วนมากจะใช้ขนาด A4
          - ในส่วนของเอกสารผู้ควบคุมงานนั้น หากอาคารมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร เจ้าของบ้านสามารถลงนามรับรองควบคุมการก่อสร้างอาคารเองได้
          - ถ้าอาคารมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันเกิน 150 ตารางเมตร จำเป็นต้องใช้ วิศวกรโยธา และ สถาปนิก ในการลงนามในเอกสารผู้ควบคุมการก่อสร้าง(น.4) ทางเจ้าของอาคารสามารถเจรจาให้ทางผู้ออกแบบเซ็นต์ให้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานก่อสร้าง หรือจะให้ทางผู้รับเหมาก่อสร้างจัดหามาเซ็นต์ให้ก็ย่อมได้ เนื่องจากผู้รับเหมาต้องอยู่หน้างานตลอดอยู่แล้ว จะสามารถควบคุมงานได้สะดวกกว่าผู้ออกแบบครับ

          เท่านี้ก็ได้เอกสารฝั่งผู้ออกแบบมาครบแล้ว มาถึงเอกสารทางฝั่งเจ้าของอาคารกันบ้างครับ เอกสารก็ง่ายๆมีไม่กี่อย่าง ส่วนมากจะเป็นเอกสารประจำตัวทั้งนั้น ได้แก่
          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของอาคาร กรณีให้คนอื่นยื่นให้ต้องเพิ่ม หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคนยื่นด้วยครับ อย่างละ 1 ชุด
          - สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่น/เจ้าของอาคาร 1 ชุด - สำเนาโฉนดที่ดิน ถ่ายมาขนาดเท่าตัวจริงนะครับ จะเรียกว่า ขนาด B4 แต่หากไม่มี ก็ถ่ายบนกระดาษ A3 ก็ได้ครับ แล้วก็ค่อยนำมาตัดด้านข้างออกนิดหน่อย ก็กลายเป็น B4 แล้ว นำมาใช้ 1 ชุด
          - กรณีปลูกสร้างบนที่ดินคนอื่น เช่น ที่ดินของคุณพ่อ ก็ให้คุณพ่อเซ็นต์ในหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินครับ จะเอาฟอร์มจากเทศบาลมาหรือจะหาโหลดจากอินเทอร์เน็ตก็ได้



          เอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม ใช้ในกรณีที่อาคารเข้าข่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้ครับ
          - ในกรณีที่มีการก่อสร้างบ้านแฝด อาจต้องใช้ผนังร่วมกันบนที่ดินคนละเจ้าของ ดังนั้นจึงต้องใช้เอกสาร หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดผนัง           - กรณีไม่มีระยะเว้น ระยะร่น เช่นอาคารพาณิชย์ อาคารลักษณะทรงยาว ที่ดินหน้าแคบ ไม่สามารถเว้นระยะด้านข้าง สองเมตรทั้งสองฝั่งได้ จึงจำเป็นต้องทำหนังสือชิดเขต โดยให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเซ็นต์ยินยอม แต่ผนังอาคารฝั่งที่ชิดเขตจะมีหน้าต่างหรือช่องเปิดไม่ได้เลย และอาคารจะสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร
          - กรณีทำโครงการคล้ายหมู่บ้านจัดสรร หรือสร้างบ้านหลายหลังบนที่ดินผืนเดียว โดยใช้แบบแปลนบ้านเหมือนกัน อาจต้องแนบแผนผังโครงการเพิ่มเติม
          - กรณีเคยยื่นขออนุญาตมาแล้ว และใบอนุญาตออกแล้ว แต่เจ้าของบ้านอาจอยากเปลี่ยนแปลงแบบในภายหลัง หรืออยากเปลี่ยนแบบระหว่างการก่อสร้าง สามารถทำการยื่นใหม่ได้โดยที่แบบที่เปลี่ยนนั้น ไม่กระทบต่อพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง ในผังเดิม หากเปลี่ยนแปลง จะต้องทำการยกเลิกใบอนุญาตเดิมแล้วยื่นแบบใหม่ ส่วนมากการทำแบบนี้จะพบในกรณีอาคารชุด คอนโด ต่างๆ ที่มีการรวมห้องสองห้องเป็นห้องเดียว ทำให้แปลนเปลี่ยนไป แต่พื้นที่และที่ตั้งเหมือนเดิม เช่น พวกห้อง COMBINE ต่างๆ



          เมื่อเอกสารครบแล้วสามารถเริ่มยื่นขออนุญาตฯได้เลยครับ โดยการนำเอกสารทั้งหมดที่รวบรวมมาไปที่เทศบาล/อบต.ในท้องที่ของท่าน ไปติดต่อที่กองช่าง แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาทำเรื่องยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ท่านก็จะได้แบบฟอร์มเอกสาร ข.1 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มการติดต่อยื่นขออนุญาต ให้เขียนลงไปให้ครบเลยครับ นั่งเขียนใจเย็นๆในกองช่างนั่นแหละ หากมีข้อสงสัยในตัวแบบฟอร์มสามารถสอบถามทางเจ้าหน้าที่ได้ทันที จากนั้นก็ยื่นให้ทางเจ้าหน้าที่ครับ
          วันที่ยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างนั้น เจ้าหน้าที่รับเอกสารจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นก่อน จำพวกแผนผังบริเวณ แบบแปลน เอกสารต่างๆ ว่าครบตามลักษณะอาคารหรือไม่ โดยอ้างอิงจาก พรบ. ควบคุมอาคาร หากไม่ครบ หรือมีแก้ไข สามารถดำเนินการได้เลย หากครบแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการลงรับเอกสาร และให้เจ้าของอาคารชำระค่าธรรมเนียมการยื่นขออนุญาตต่อไป
          ในการตรวจพิจารณารายละเอียดแบบแปลน อบต./เทศบาล อาจมีการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณที่ได้ยื่นไว้ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหากมีข้อผิดพลาดของแบบ ทาง อบต./เทศบาล จะแจ้งให้ทางเจ้าของอาคารแก้ไข โดยจะออกเป็นหนังสือแจ้งแก้ไข(แบบ ค.1) ให้กับผู้ยื่นขออนุญาต ทำการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 120 วัน และให้เจ้าของอาคารแก้ไขและนำเอกสาร/แบบแปลน ฉบับแก้ไขตามคำสั่ง มาแนบเพิ่มเติมต่อไป 



          เมื่อเอกสารต่างๆถูกตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะส่งต่อให้ฝ่ายบริหารลงนามรับรองเอกสารของผู้ยื่นขออนุญาต หลังจากนั้นจึงออกเอกสาร น.1 เรียกเจ้าของอาคาร มารับใบอนุญาต (อ.1) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เรียบร้อย แต่ถ้าหากแบบไม่ผ่าน ทาง อบต./เทศบาล ก็จะมีเอกสารแจ้งให้เจ้าของอาคารทราบ (น.2) เช่นกัน
          ค่าธรรมเนียมจะคิดตามพื้นที่ใช้สอยของตัวอาคาร เช่น ท่านสร้างอาคารบ้าน 3 ชั้น ชั้นละ 100 ตารางเมตร เท่ากับว่าท่านเจ้าของบ้านจะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมตรวจแบบแปลน = (100x3)x2 = 600 บาท
 
          ก็จบไปแล้วสำหรับขั้นตอนการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารอย่างคร่าวๆ สำหรับท่านที่ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ เขียนแบบบ้าน อยู่นั้น ก็ยังคงพอมีเวลาเตรียมตัวครับ แต่ถ้าหากเห็นว่ายุ่งยากเกินไป ก็สามารถจัดจ้างให้ผู้ออกแบบไปดำเนินการแทนท่านได้ครับ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่