คุณรู้จักช่างกลโรงงานดีแค่ไหน ทำไมต้องเป็น"ช่างกลโรงงาน"

กระทู้สนทนา
คุณรู้จักช่างกลโรงงานดีแค่ไหน ทำไมต้องเป็น "ช่างกลโรงงาน"

เมื่อนึกถึงสายอาชีพด้านช่างอุตสาหกรรม น้องม.3 ที่จบใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยสาขาด้านนี้เท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะนึกถึงช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ ทั้งๆที่สาขาช่างกลโรงงานเป็นสาขาที่สำคัญมากไม่แพ้สาขาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม ประเทศหนึ่งในยุโรปอย่างเช่นเยอรมัน นักเรียนของเขากว่า 70% เลือกเรียนสายอาชีพ และ 30% เลือกเรียนสายสามัญ
แต่โรงเรียนหรือวิทยาลัยด้านสายอาชีพของเขา มีศักยภาพ และเครื่องมือที่พร้อมกว่าบ้านเรามาก

ปัจจุบัน สถาบันที่เปิดหลักสูตร ปวช.(เตรียมวิศวกรรมศาสตร์) มีสองแห่งในประเทศไทย คล้ายๆกับ โรงเรียนสาธิตของม.ปลาย ในมหาวิทยาลัย แต่เป็นหลักสูตรปวช. ได้แก่
1.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
เปิด 3 สาขา คือ เครื่องกล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โยธา จำนวนที่รับประมาณ 340 คน
ผู้มีสิทธ์สอบ เกรดเฉลี่ยรวมตั้งแต่ ม.1-ม.3 ไม่ต่ำกว่า 2.50 (ไม่รับสอบเทียบ)
0-2913-2500, 0-2913-2500 โทรสาร 0-2587-4350
http://www.admission.kmutnb.ac.th/

2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่
เปิด 3 สาขา คือ เครื่องกล ไฟฟ้า และโยธา จำนวนที่รับประมาณ 60 คน เปิดรับหลักสูตรนี้ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2551 053-921444 ต่อ 1234 081-0271018, 085-6178258
http://entrance.rmutl.ac.th/Bh/

ช่างกลโรงงาน (MACHINE MECHANICS) M.M. เป็นหลักสูตรเน้นฝึกทักษะด้านการผลิตและซ่อมบำรุงเป็นหลักด้วยเครื่องจักรกลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกลึง, เครื่องกัด, เครื่องไส, เครื่องเจียระไน ฯลฯ ทำการผลิตวัสดุทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโลหะ อโลหะ พลาสติก หรือไม้ ยกตัวอย่างรถยนต์หนึ่งคัน เมื่อนำมาชำแหละเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ เพลาข้อเหวี่ยง ลูกสูบ เฟือง สลัก แหวน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ช่างกลโรงงานทำหน้าที่การผลิตแทบทั้งสิ้น

ศาสตร์ของช่างกลโรงงาน หากจะเปรียบกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาที่ใกล้เคียงที่สุดคือวิศวกรรมการผลิต (Production Engineering) หรือวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) ดังนั้นเมื่อจบหลักสูตรปวช. หรือ ปวส. ช่างกลโรงงาน ก็จะเลือกวิศวกรรมด้านนี้เป็นหลัก
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรกล ที่เรียกว่า เครื่องจักรสมองกล หรือ CNC (Computer Numerical Control) การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผลิตดังกล่าว ทำให้คุณผลิตชิ้นงานที่มีลักษณะเดียวกันได้ทีละมากๆ โดยที่คุณป้อนข้อมูลในคอมพิวเตอร์เพียงครั้งเดียว เปรียบเสมือนเครื่อง Printer ที่คุณพิมพ์งาน แล้วสั่งพิมพ์จำนวนมากๆ

ด้วยขอบเขตความสามารถที่กว้างของช่างกลโรงงาน ทำให้เป็นที่ต้องการช่างสาขาด้านนี้เป็นจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เห็นได้ชัดเจนจากหนังสือพิมพ์รับสมัครงาน ที่ระบุรับสาขาด้านนี้เป็นจำนวนมากในทุกสำนักพิมพ์ อีกทั้งงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องการสาขาด้านนี้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก ทั้งวุติ ปวช.และ ปวส. ไม่ว่าจะเป็น กทม. กรมการข้าว กรมวิทยาศาสตร์บริการ ศูนย์ช่างบำรุงเขต กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่มีเครื่องจักรกลในการผลิตหรือซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก

การใช้ชื่อเรียกในหลักสูตรสาขาช่างกลโรงงานของแต่ละสถาบันอาจจะไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เนื้อหาหลักสูตรแทบจะเหมือนกัน เช่น สถาบันสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจะเรียกชื่อว่า “ช่างกลโรงงาน” ส่วนสถาบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะเรียกชื่อว่า “เครื่องมือกลและซ่อมบำรุง” และ “เทคนิคการผลิต” เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่