x close

หลากเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับฟิล์ม ที่คนรักกล้องฟิล์มควรรู้

ฟิล์มกล้อง

          17 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฟิล์มถ่ายภาพ ที่คนรักกล้องฟิล์มอาจไม่เคยทราบมาก่อน

          ถึงแม้ในปัจจุบัน ความนิยมในการใช้กล้องฟิล์มจะน้อยกว่าสมัยก่อนมาก จากกระแสความนิยมของกล้องดิจิตอลที่ใช้งานง่ายมากกว่ากล้องฟิล์มนั่นเอง แต่อย่างนั้น กลุ่มคนรักกล้องฟิล์มก็ยังมีให้เห็นอยู่มากในวงการช่างภาพ ด้วยเสน่ห์ของภาพถ่ายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้กล้องฟิล์มยังไม่ตายไปจากวงการกล้องซะทีเดียว เช่นเดียวกับ ฟิล์มถ่ายภาพ ที่ถึงแม้จะหาซื้อยากกว่าแต่ก่อน ทว่าก็ยังพอหาซื้อได้ ดังนั้นวันนี้เราเลยหยิบเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟิล์มถ่ายภาพจากนิตยสาร FOTOINFO มาฝากกันด้วยครับ

          ฟิล์มสีจะเป็นฟิล์มที่มีอายุยาวนานที่สุด

          Kodak เป็นผู้ออกแบบฟิล์มและกระบวนการล้างที่เรียกว่า C-41 ซึ่งได้รับความนิยมในการใช้ถ่ายภาพ จนเรียกได้ว่าเป็น ฟิล์มมหาชน เพราะมีใช้ใน 6 ทวีป รวมไปถึงแอนตาร์กติกาด้วย ฟิล์ม C-41 ได้รับความนิยมมาตลอดสำหรับใช้ถ่ายภาพในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยง การจบการศึกษา งานแต่งงาน หรือถ่ายภาพท่องเที่ยวในวันหยุด หรือถูกใช้ถ่ายภาพตั้งแต่งานทั่ว ๆ ไปจนถึงการถ่ายภาพพอร์เทรตและภาพแต่งงานโดยมืออาชีพ โดยชั้นสารเคมีสำหรับบันทึกภาพนี้มีช่วงการรับแสงที่กว้าง ให้ลักษณะของสีสันและเกรนที่ยอดเยี่ยมแม้จะมีความไวแสงถึง ISO 800 ก็ตาม และก็ยังสามารถสแกนเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ไม่ว่าจะโดยร้านล้างฟิล์มหรือทำเองที่บ้าน ดังนั้นหากจะมีฟิล์มที่ถูกผลิตยาวนานที่สุดก็น่าจะเป็นฟิล์มที่ล้างด้วย C-41 นี้

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
welovefilm

          หากอยากใช้ฟิล์มนาน ๆ ควรเลือกกล้องที่ใช้ฟิล์ม 35 มม.

          ในอดีตฟิล์ม 35 มม. คือฟิล์มที่ถูกใช้ตั้งแต่ในกล้องประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป จนถึง Nikon F6 และ Leica M7 ขณะที่ฟิล์มฟอร์แมตใหญ่กว่าอย่าง 120 และ 4x5 ซึ่งยังคงมีการผลิตออกมาให้ใช้ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน  โดยถูกใช้แค่นักถ่ายภาพระดับโปรกับงานเชิงพาณิชย์หรืองานศิลปะ แต่เมื่อมีการใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพมากขึ้น ภาพผลิตฟิล์มขนาดใหญ่ก็จะลดลงเรื่อย ๆ

          หาร้านล้างฟิล์มสไลด์หรือขาว-ดำยาก

          ในปัจจุบันแม้จะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ก็ยังพอจะหาร้านที่ล้างฟิล์ม C-41 ได้ แต่การหาร้านล้างฟิล์มขาว-ดำด้วย Silver halide และฟิล์มสไลด์ด้วย E-6 จะเป็นสิ่งที่ยากกว่า จนทำให้นักถ่ายภาพบางคนต้องล้างฟิล์มขาว-ดำเองซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก

          ควรลองใช้ฟิล์มสไลด์

          แม้จะมีช่วงการรับแสงที่ไม่ดีนัก ให้สีสันที่ไม่ตรง ต้องการการล้างด้วยน้ำยาซึ่งไม่ได้มีทุกร้านล้างฟิล์ม แต่กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ฟิล์มสไลด์คือฟิล์มสีที่นักถ่ายภาพมืออาชีพและระดับสมัครเล่นใช้กัน ซึ่งนักถ่ายภาพที่เคยผ่านยุคนี้มาไม่เคยมีใครลืมประสบการณ์การดูฟิล์มสไลด์ครั้งแรกบนกล่องไฟ ไม่ว่าจะเรื่องความอิ่มของสี ความคมชัด เกรนภาพที่ละเอียด และมิติของเนื้อฟิล์ม อย่างไรก็ตามนี่คือสิ่งที่กำลังสูญหายไป เพราะ Kodak ไม่มีฟิล์มสไลด์แล้วเหลือแต่เพียง Fujifilm เท่านั้นที่เป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจฟิล์มประเภทนี้

          โดยมีฟิล์ม Fujichome Provia 100F ที่มีความอิ่มของสีสูง และฟิล์มในตำนานอย่าง Fujichrome Veivia 50 และ Veivia 100 ที่มีความอิ่มของสีสูงมาก โดยฟิล์มเหล่านี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแฟชั่น สิ่งของอย่าง จิวเวลรี่, ดอกไม้, ทิวทัศน์เมือง, งานเทศกาล, สัตว์ป่า รวมถึงทิวทัศน์ธรรมชาติด้วย แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับภาพบุคคลนัก และเนื่องจากมีความไวแสงไม่สูง นักถ่ายภาพจึงอาจต้องใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในสถานการณ์ที่แสงมาก หากคิดว่าจะเป็นนักถ่ายภาพฟิล์มก็ควรที่จะลองใช้ฟิล์มนี้ดูสัก 2-3 ม้วน

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
ภาพจาก digital-photo-secrets

          สแกนฟิล์ม

          ในอดีตนักถ่ายภาพจำนวนมากต้องพบกับปัญหาเรื่องกล่องหรือลังที่เต็มไปด้วยฟิล์มที่ล้างแล้วจำนวนมากโดยที่ไม่มีการจัดการและหาภาพที่ต้องการยาก แต่ปัจจุบันด้วยการที่ร้านล้างฟิล์มมีบริการสแกนภาพจากฟิล์มมองใน CD หรือ DVD แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็สามารถช่วยให้ค้นหาภาพได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปใช้งานในรูปแบบดิจิตอลได้ด้วย แต่หากต้องการทำเองก็สามารถใช้เครื่องสแกนฟิล์มซึ่งมีราคาไม่สูงนักซึ่งสแกนได้ทั้งฟิล์มเนกาทีฟและฟิล์มสไลด์ รวมทั้งยังสามารถสแกนฟิล์มที่เคยถ่ายในอดีตให้เป็นภาพดิจิตอลได้ด้วย

          ฟิล์มขาว-ดำ Chromogenic ที่ล้างได้สะดวก

          ฟิล์ม Chromogenic เป็นฟิล์มขาว-ดำที่สามารถล้างได้ด้วยน้ำยา C-41 ซึ่งเป็นน้ำยามาตรฐานสำหรับฟิล์มสีเนกาทีฟที่ใช้งานทั่วไป ฟิล์มที่ยอดเยี่ยมนี้มีให้ใช้ในรูปแบบม้วน 2 รุ่นคือ Kodak Professional BW400CN และ litord XP2 400 แม้ว่าจะสามารถเปลี่ยนฟิล์มสีด้วยวิธีทางดิจิตอลให้เป็นภาพขาว-ดำได้ แต่ก็คงจะเป็นอะไรที่ดีกว่า หากได้ถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำจริง ๆ แม้หลายคนจะบอกว่าฟิล์ม 2 รุ่นนี้จริง ๆ แล้วคือฟิล์มสีที่ไม่มีสี แต่ก็เป็นฟิล์มที่ยอดเยี่ยม มีเกรนละเอียด และเหมือนกับฟิล์มเนกาทีฟสีตรงที่มีช่วงการรับแสงกว้าง โดยหากถ่ายภาพด้วยฟิล์มนี้แล้วทำให้ภาพเป็นดิจิตอล นักถ่ายภาพจะสามารถใช้แอพพลิเคชั่นอย่าง Alen Skin Exposure หรือ Nik Silver Efex Pro เพื่อทำให้ภาพดูเหมือนภาพขาว-ดำจริง ๆ ได้โดยที่สามารถล้างฟิล์มได้สะดวกกว่า

          หาร้านล้างฟิล์ม

          ในอดีตนักถ่ายภาพจะนำฟิล์มไปยังร้านล้างฟิล์มที่มีอยู่มากมาย ขณะที่ในปัจจุบันแม้ร้านล้างอัดภาพชื่อดังจากในอดีตยังคงมีอยู่ แต่จำนวนร้านเหล่านี้ก็มีอยู่ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะรับเฉพาะพรินท์ภาพดิจิตอลเท่านั้น ดังนั้น หากนักถ่ายภาพที่เกิดในยุคดิจิตอลแล้วอยากสัมผัสประสบการณ์บันทึกแสงบนฟิล์มก็จะต้องหาร้านที่รับล้างฟิล์ม ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีบริการสแกนภาพจากฟิล์มที่ล้างเป็นภาพดิจิตอลด้วย

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
ภาพจาก fujifil

          ฟิล์มโปรอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด

          ในบางครั้งนี่คือสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเรามักมีโอกาสที่จะซื้อฟิล์มโปรในช่วงเวลาที่ใกล้หมดอายุมากกว่าฟิล์มสำหรับนักถ่ายภาพสมัครเล่น นอกจากนี้ฟิล์ม C-41 อย่าง Portra ของ Kodak และ Fujicolor Pro ของ Fujifilm จะมีคอนทราสต์ที่ต่ำกว่าและให้สีที่ถูกต้องกว่าฟิล์มสมัครเล่นอย่าง Kodak Gold และ Fujifilm Superia ซึ่งจะให้สีและคอนทราสต์ที่จัดกว่า โดยทั่วไปฟิล์มที่มีคำว่า Protessional จะถูกออกแบบมาสำหรับนักถ่ายภาพที่จริงจัง เช่น ฟิล์ม Fujichrome Velvia ซึ่งเป็นฟิล์มที่ออกแบบสำหรับนักถ่ายภาพมืออาชีพ

          เลือกใช้ฟิล์มที่ดี

          กล้องถ่ายภาพ Toy Camera หรือการถ่ายภาพที่เรียกว่า Lomography จัดเป็นความสนุกและความแปลกใหม่ในโลกของการถ่ายภาพที่มักต้องการความสมบูรณ์แบบ ขณะเดียวกันก็มีฟิล์มจำนวนหนึ่งจากชื่อผู้ผลิตที่ไม่คุ้น ซึ่งน่าสงสัยในเรื่องการผลิตและคุณสมบัติของฟิล์มอย่าง การถ่ายทอดสีสัน ดังนั้นจึงควรเลือกฟิล์มจากการผลิตที่ดีไม่ว่าจะเป็น Fujifilm, Kodak หรือ liford เพราะนักถ่ายภาพสามารถทำให้คุณภาพของฟิล์มลดลงด้วยตัวเองได้หากต้องการ แต่ไม่สามารถทำในสิ่งตรงกันข้ามได้

          สร้างสรรค์จากสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้

          บางครั้งอาจมีโอกาสที่จะได้ภาพที่สวยงามแปลกตาจากความผิดพลาด เช่น กล้องที่มีแสงรั่วเข้าสู่ฟิล์มหรือจากฟิล์มจากผู้ผลิตที่ไม่คุ้นได้ แต่ก็อาจมีโอกาสที่ต้องสูญเสียภาพไปด้วยได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามบางครั้งการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ ก็เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สร้างสรรค์ภาพที่แปลกตาได้

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
ภาพจาก nikonusa

          ควรระวังอุปกรณ์ที่เก่ามาก ๆ

          แม้ว่านักถ่ายภาพจะชื่นชอบกล้องเก่า ๆ ที่มีความคลาสสิก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดติดกับกล้องเหล่านั้นเสมอไป เพราะหากต้องการถ่ายภาพเพื่อการใช้งานที่จริงจังควรพิจารณาถึงการใช้กล้องถ่ายภาพใช้ฟิล์มที่มีอายุไม่มากนัก อย่ารังเกียจการทำงานอัตโนมัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโหมดบันทึกภาพ, ออโต้โฟกัส หรือระบบโหลดฟิล์มอัตโนมัติ เพราะทั้งฟิล์มและกระบวนการล้าง ล้วนแต่มีราคาแพงเกินกว่าที่จะเสี่ยงไปกับระบบบันทึกภาพและการโฟกัสที่ผิดพลาด เพราะกล้องที่ถูกผลิตมานานอาจจะมีปัญหาในเรื่องการปรับควบคุมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเร็วชัตเตอร์

          กล้องถ่ายภาพที่ควรพิจารณา

          แม้จะไม่มีการผลิตแล้ว แต่ Nikon FM10 ยังคงมีขายอยู่ในบางร้านที่ยังมีของค้างอยู่ในสต็อกหรือใน ebay ราคาประมาณ 500 ดอลลาร์ ด้วยกล้องรุ่นนี้นักถ่ายภาพจะต้องโหลดฟิล์ม และโฟกัสแมนนวลเอง ขณะที่กล้องฟิล์มรุ่นท็อปสุดของ Nikon อย่าง F6 ซึ่งมีราคาใน ebay ประมาณ 3,000 ดอลลาร์ สำหรับของใหม่จะมีทั้งระบบออโต้โฟกัส ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงสุด 5.5 ภาพวินาที รวมทั้งยังสามารถใช้เลนส์สำหรับกล้อง DSLR ของ Nikon ร่วมด้วยได้ เพียงแต่ว่าหากเป็นเลนส์ Nlikor DX สำหรับกล้อง APS-C ภาพจะมีขอบดำ ส่วนทางเลือกของกล้องในระดับเดียวกันจาก Canon คือ EOS-1v ขณะที่กล้องรุ่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก Canon ก็จะมี EOS-1n, EOS 3 หรือ EOS Rebel Ti ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถใช้เลนส์ฟูลเฟรมของกล้อง Canon DSLR ได้ แต่จะใช้เลนส์สำหรับกล้อง APS-C หรือเลนส์ EF-S ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีกล้องจาก Pentax อย่าง PZ-1P และ ZX-5 หรือกล้องแมนนวลโฟกัสอย่าง MX และ LX เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ส่วนกล้องฟิล์มจาก Minotta รุ่น Mzxxum หรือ Dynax จะมีเลนส์ให้เลือกใช้มากมาย รวมถึงเลนส์ A-Mount ของกล้อง DSLR จาก Sony ซึ่งใช้เม้าท์เลนส์เดียวกันด้วย ขณะที่กล้อง OM ของ Olympus จะมีรูปทรงที่สวยงามและให้ประสบการณ์ที่ดีในการใช้ โดยยังสามารถนำเอาเลนส์ OM มาใช้กับกล้องดิจิตอล Micro Four Thirds ผ่านอะแดปเตอร์ได้ด้วย

          ฟิล์มขนาดใหญ่ยังมีให้ใช้ในปัจจุบัน

          ฟิล์มสำหรับกล้องใหญ่ขนาด 4x5 หรือแม้แต่ 8x10 ยังคงมีให้ซื้อใช้สำหรับนักถ่ายภาพที่ต้องการคุณภาพสูงจากฟิล์มขนาดใหญ่ โดยสามารถหาซื้อฟิล์มแผ่นขาว-ดำ หรือสีขนาด 4x5 ของทั้ง Fujifilm, liford และ Kodak ได้ รวมไปถึงฟิล์มขนาด 8x10 ด้วย แต่อาจจะยากสักหน่อย

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
ภาพจาก canhamcamera

          ฟิล์มที่ใหญ่กว่าขนาดทั่วไป

          นักถ่ายภาพบางคนอาจต้องการฟิล์มขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานอย่าง 4x5 หรือ 8x10 โดยจะสามารถสั่งซื้อได้ผ่านทาง K.B. Canham Camera (canhamcamera.com) ซึ่งจะติดต่อกับ Kodak ให้ทำฟิล์มแผ่นสำหรับฟิล์มรุ่นที่ยังมีผลิตอยู่ในปัจจุบันให้มีขนาดใหญ่สุดถึง 40 นิ้วได้ เพียงแต่ว่าเมื่อสั่งไปแล้วจะต้องรอจนกระทั่งมียอดสั่งถึงจำนวนที่สามารถผลิตขั้นต่ำได้

          ฟิล์มฟอร์แมตเก่าก็ยังหาได้

          อาจมีนักถ่ายภาพบางคนมีกล้องวินเทจอย่าง Kodak Medalist ซึ่งใช้ฟิล์ม 620 หรือ Baby Rollei ที่ใช้ฟิล์ม 127 ซึ่งแม้ว่าผู้ผลิตฟิล์มจะไม่มีการทำฟิล์มฟอร์แมตสำหรับกล้องเหล่านี้ออกมาแล้ว แต่มีบริษัทอย่าง Film For Classic ที่ตัดหรือบรรจุฟิล์มสำหรับใช้กับกล้องที่ใช้ฟิล์มฟอร์แมตเก่าอย่าง 620, 127, 828 โดยมีทั้งฟิล์ม Fujifilm, liford และ Kodak ให้เลือก แต่จะไม่มีการขายจากบริษัทโดยตรง ผู้ซื้อต้องติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัทซึ่งนักถ่ายภาพสามารถสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตได้

          ล้างฟิล์มเองไม่ใช่เรื่องยาก

          อุปกรณ์ห้องมืดยังคงมีขายอยู่ ขณะที่ Beseier และ Omega ยังคงทำธุรกิจด้านเครื่องขยายภาพโดยที่ราคาของใหม่ไม่ได้สูงจนเกินไป รวมทั้งเลนส์ขยายภาพคุณภาพดี ๆ ก็มีราคาที่ไม่แพง แต่นอกจากนี้ก็ยังมีทางเลือกของอุปกรณ์ล้างและอัดขยายภาพมือสองที่มีราคาถูกลงให้เลือกซื้อใน eBay ขณะที่กระดาษอัดภาพและน้ำยาสำหรับล้างฟิล์มยังคงหาซื้อได้แม้ว่าจะยากสักหน่อย

ฟิล์มกล้องถ่ายรูป
ภาพจาก instax

           ฟิล์ม Instant ก็ยังคงมีให้ใช้

          มีคนจำนวนมากที่ยังคงสนุกกับการถ่ายภาพแล้วสามารถได้ภาพออกมาทันที ดังนั้นจึงยังคงมีฟิล์ม Instant ที่เมื่อถ่ายภาพแล้วให้ภาพออกมาทันที ซึ่งบ้านเราเรียกกันติดปากว่าฟิล์มโพลารอยด์ให้ซื้อทั้งจาก Polaroid และ Fujifilm ขณะที่ในส่วนของกล้องนอกจากกล้องถ่ายภาพจาก Potaroid แล้วยังมีกล้องจาก Fujifilm และ Lomo รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ฟิล์ม Instant

ข้อมูลจาก หนังสือ FOTOINFO ปีที่ 11 ฉบับที่ 129 ธันวาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลากเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับฟิล์ม ที่คนรักกล้องฟิล์มควรรู้ อัปเดตล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13:07:02 13,749 อ่าน
TOP