กลูโคส (Glucose) ประโยชน์ สรรพคุณ ข้อควรระวัง


กลูโคส Glucose ประโยชน์ สรรพคุณ ข้อควรระวัง

“Glucose” หรือ กลูโคส คือชนิดของน้ำตาลขนาดเล็กโมเลกุลเดี่ยว ที่สูตรทางเคมีคือ C6H12O6 ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้งาน หรือเผาผลาญเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานในร่างกาย ขนาดของกลูโคสนั้นเล็กมากจนสามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ทางช่องเปิดบนเยื่อหุ้มเซลล์ได้อย่างง่ายดาย ทำให้เซลล์สามารถรับ Glucose และนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้กลูโคสเป็นแหล่งอาหารหลักทั้งนั้น

ทั้งนี้ หากกลูโคสละลายอยู่ในกระแสเลือด เลือดของเราก็จะมีลักษณะเหมือนน้ำเชื่อม ซึ่งยิ่งมีปริมาณ Glucose มากเท่าไร ความหนืดก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

แหล่งที่มาของกลูโคสในร่างกายมนุษย์ได้จากอาหารจำพวกแป้งซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ข้าว ขนมปัง ขนมจีน เค้ก ผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า หรือแม้แต่ผักจำพวกฟักทอง มันเทศ มันแกว ผลไม้ หรืออาหารรสหวานต่างๆ

นอกจากนี้ หากช่วงไหนร่างกายได้รับกลูโคสจากภายนอกไม่เพียงพอ ร่างกายของคนเราก็สามารถสร้างและผลิตกลูโคสออกมาได้จากเซลล์ตับ ซึ่งมาจากการสลายสารที่เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) กลไกเช่นนี้เป็นไปเพื่อไม่ให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ เพราะหากต่ำไป อวัยวะต่างๆ ก็จะไม่สามารถสร้างพลังงานใช้ในเซลล์ จนอาจทำให้เซลล์ตายได้

กลูโคสทำงานอย่างไร?

กลูโคสมีขนาดเล็กมากจนผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ และยังเป็นอาหารโปรดของเซลล์ทุกเซลล์ด้วย เพราะกลูโคสสามารถเข้ากระบวนการเผาผลาญระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นในส่วนประกอบของเซลล์ที่ชื่อว่า ไมโทคอนเดรีย ซึ่งเปรียบเสมือนโรงปั่นพลังงานของเซลล์

เมื่อกลูโคสเข้าสู่โรงผลิตได้ง่าย การผลิตพลังงานก็เกิดขึ้นได้ง่าย รวดเร็ว และตลอดเวลา ในทางกลับกัน หากเซลล์ทุกเซลล์เกิดภาวะอิ่มตัว หรือทางผ่านเข้าออกของกลูโคสถูกปิด ก็จะทำให้มีปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามส่ง กลูโคสส่วนเกินนี้ไปเก็บในอวัยวะต่างๆ ในรูปแบบต่างกัน เช่น หากเก็บที่ตับและกล้ามเนื้อก็จะเก็บในรูปของไกลโคเจน 

หากไปสะสมที่ชั้นใต้ผิวหนังจะเปลี่ยนตัวเองไปอยู่ในรูปของเซลล์ไขมัน หากร่างกายขาดกลูโคสจากการรับประทานอาหาร ก็จะมีการกระตุ้นฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ไปกระตุ้นเซลล์ที่เก็บกลูโคสให้เปลี่ยนรูปกลับมาอยู่ในรูปของกลูโคสเพื่อพร้อมใช้งานในการเผาผลาญไปเป็นพลังงานหลักของร่างกายต่อไป

การสะสมกลูโคสควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะ หากการสะสมของกลูโคสนั้นมากเกินจนล้นไปอยู่ในกระแสเลือด จะทำให้เลือดของเรามีลักษณะคล้ายน้ำเชื่อม ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดที่คอยรองรับเลือดที่ข้นและเหนียวจากการที่น้ำตาลสูงเกินไป พังลง การไหลเวียนของเลือดช้าลง จนทำให้อวัยวะปลายทางขาดเลือดได้

ประโยชน์และโทษของกลูโคส

ประโยชน์ของกลูโคสนั้นมีเพียงข้อเดียว แต่เป็นหนึ่งข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับเซลล์ คือ เป็นสารตั้งต้นของการสร้างพลังงานเพื่อใช้ในเซลล์ 

จากที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า กลูโคสเป็นสารอาหารหลักของเซลล์เพราะ นำไปใช้เผาผลาญสร้างพลังงานได้ง่ายและ 1 โมเลกุลของกลูโคส สามารถสร้างพลังงานให้เซลล์ได้อย่างมหาศาล

ส่วนโทษของกลูโคส จะเกิดก็ต่อเมื่อมีกลูโคสปริมาณสูงหรือต่ำเกินไปจนเสียสมดุล เช่น 

  • หากการสะสม กลูโคสมากเกินไปในชั้นใต้ผิวหนังก็อยู่ในรูปของเซลล์ไขมัน เกิดเป็นไขมันสะสมจนเกิดภาวะอ้วน รูปร่างไม่สมส่วน
  • หากการสะสมนั้นเกิดขึ้นในกระแสเลือดก็จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งจะอันตรายยิ่งขึ้น เนื่องจากจะทำให้เลือดมีคุณสมบัติคล้ายน้ำเชื่อม นั่นหมายความว่า การไหลเวียนจะช้าและหนืดขึ้นกว่าเดิม ทำให้เลือดเข้าสู่เส้นเลือดฝอยยาก จนทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ เข่น หากเกิดที่เส้นเลือดบริเวณตาก็เกิดภาวะตาเสื่อม หากเกิดที่เส้นเลือดที่ไตก็จะทำให้เกิดภาวะโรคไตวาย

อย่างไรก็ตาม การที่มีปริมาณกลูโคสต่ำเกินไปก็เป็นปัญหาสำคัญมาก โดยเฉพาะอวัยวะหนึ่งคือสมอง เพราะสมองคนเราเป็นอวัยวะที่มีอัตราการใช้กลูโคส มากเป็นอันดับแรก เพราะสมองทำงานตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนนอนหลับ ดังนั้น เมื่อคุณอดอาหาร จึงมักเกิดอาการกลูโคสไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เมื่อเซลล์สมองไม่ได้รับพลังงาน จะทำให้คุณมีอาการ เพลีย ง่วง คิดไม่ค่อยออก ไปจนถึงหน้ามืด เป็นลม และหากเกิดเหตุการณ์สมองขาด Glucose บ่อยๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อมในระยะยาวได้

วิธีปฏิบัติตนเพื่อให้ร่างกายมีกลูโคส อยู่ในระดับเหมาะสม

การจะวัดระดับกลูโคส ในร่างกายเหมาะทำได้ด้วยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้วหลังอดดอาหาร 8 ชั่วโมงไปตรวจ หากน้ำตาลอยู่ในช่วง 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรจะหมายถึงมีระดับกลูโคสเหมาะสม

วิธีปฏิบัติตนเพื่อให้ร่างกายมีกลูโคสเหมาะสม หลักๆ จะอยู่ที่การรับประทานอาหาร ดังนี้

  1. รับประทานอาหารทุกมื้อในปริมาณเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรอดอาหารเป็นเวลานานๆ
  2. รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของกลูโคส ในปริมาณที่พอดี เช่น ข้าว 1-1 ครึ่งทัพพีต่อมื้อ ในคนน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหวานในมื้ออาหารแล้ว แต่หากต้องการเพิ่มน้ำหวาน ก็ควรลดปริมาณข้าว เพื่อให้ปริมาณกลูโคส ที่ควรได้รับไม่มากจนเกินไป
  3. นอนหลับให้เพียงพอ (วันละ 6-8 ชั่วโมง) เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนในทุกๆ อวัยวะและระบบ ส่งผลให้การใช้พลังงานของแต่ละอวัยวะะเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะหากนอนน้อย ร่างกายจะถามหาอาหารและพลังงานมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะขาดกลูโคสได้

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Carol DerSarkissian, What’s Glucose (https://www.webmd.com/diabetes/glucose-diabetes#1), 9 August 2018.
  • Elaine K. Luo, MD, Everything You Need to Know About Glucose (https://www.healthline.com/health/glucose), 24 March 2017.
  • สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. ๒๕๕๔, ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน, บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด, มกราคม 2554.
@‌hdcoth line chat