ผลไม้ภาคใต้

ผลไม้พื้นเมืองส่วนมากไม่ใช่ของที่จะกินจริงจังหรือเป็นพันธุ์ที่ดีเลิศ แต่สำคัญตรงที่มันหาไม่ยาก สะดวกซื้อ ประหยัดทรัพย์ ปราศจากสารพิษตกค้าง ยามเราได้กลืนกินลูกหว้า ตะขบ ละไม เรามิได้กลืนกินความหรูหราหรือรสนิยมเข้าไปด้วย หากเป็นวัยเด็ก ความสนุก วิถีการดำรงชีพแบบไทย ๆ ที่ผสานสัมพันธ์กับธรรมชาติของคนรุ่นก่อน เป็นการกินอย่างมีความสุข ซึ่งบัดนี้มีแต่จะห่างหายไป

 – เดือย, มะเดื่อ

ผลเต็ม ๆ ขนาดเท่าส้มเขียวหวาน เมื่อสุกเปลือกจะนิ่มและช้ำง่าย

 

 

– มะม่วงหิมพานต์, กาหยู, ยาร่วง, เล็ดล่อ, หัวครก

ไม้ร้อยชื่อ ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ผล และเนื้อในเม็ด ผลสุกมีรสหวานหอมแปลก ๆ ที่คนรุ่นเก่าโปรดปราน เนื้อในเม็ดคั่วหรืออบกินอร่อย ให้พลังงาน โปรตีน และแคลเซียมสูงกว่าผลไม้อื่นใด ถ้าอยากชิมผลอย่าไปช้ากว่าเดือนเมษายน

 

    – มะดัน

ไม้ป่าที่นำมาปลูกกันทั่วไปให้ผลตลอดปี จะกินผลดิบหรือดองก็ได้

สรรพคุณ บำรุงโลหิต ขับเสมหะ ระบายอ่อน ๆ

 

– ตะขบ

พื้นเพเดิมว่ากันว่าเป็นของอเมริกาใต้ แต่กลายมาเป็นยอดผลไม้ของเด็กไทย ปลูกทั่วไปแต่เชียงใหม่ยันนราธิวาสนานแล้ว ผลดิบสีเขียว สุกเปลี่ยนเป็นสีแดง และเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีม่วงคล้ำ รสหวานจัด ให้ผลตลอดปี

 

    – มะม่วงเบา

มะม่วงพันธุ์เล็ก วางขายเป็นพวงตามตลาดปักษ์ใต้ พวงละ 10 บาท กินกับน้ำปลาหวานดีที่สุด

 

 

– มะกอกป่า

หรือมะไฟลิง ผลไม้กลุ่มมะไฟที่รสชาติวิเศษ ยามสุกเปลือกผลสีเหลืองส้มจะแตกออกง่าย ๆ เนื้อสีส้มสวยงาม ถ้าจะหากินไม่ควรเข้าหมู่บ้านล่ากว่ากันยายน

 

– กำไร, จำปูไร

หรือมะไฟลิง ผลไม้กลุ่มมะไฟที่รสชาติวิเศษ ยามสุกเปลือกผลสีเหลืองส้มจะแตกออกง่าย ๆ เนื้อสีส้มสวยงาม ถ้าจะหากินไม่ควรเข้าหมู่บ้านล่ากว่ากันยายน

 

    – ฝรั่งบ้าน, ฝรั่งขี้นก

หรือ “ย่าหมู” ของคนแถบชุมพร ระนอง เป็นฝรั่งรสอร่อยที่ทุกวันนี้หากินยากเหลือเกิน

 

 – เงาะบ้าน

คนปักษ์ใต้กินเงาะสองสามชนิดคือ เงาะโรงเรียนกับเงาะบ้าน เงาะบ้านเป็นเงาะพื้นเมืองที่กระเถิบจากเงาะป่าหรือลูกลวนขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังนับว่ามีเยื่อน้อย ไม่หวานล่อนเหมือนเงาะโรงเรียน ชาวบ้านชอบเพราะรสชาติ “ดิบ ๆ” ราคาถูก สำหรับคุณที่ไม่ใช่ชาวบ้านเสมือนเป็น “ทางเลือก” ของคนที่ไม่ชอบเหมือนใคร

 

เงาะบ้าน

ผลไม้รูปทรงมีดีไซน์ บางต้นหวาน บางต้นเปรี้ยว แต่ฝานกินได้ทั้งผลสุกและดิบ ฝรั่งใส่มะเฟืองใส่สลัดและอธิบายว่ารสเหมือนลูกพลัม สับปะรด มะนาว รวมกัน แถบริมน้ำโขงกินแกล้มแหนมเนือง สุดอร่อย

 

– มะเม่า, สัมเม่า

ไม้ขนาดกลาง พบในป่าดิบแล้งทั่วประเทศ นายแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า อาจมีส่วนหยุดยั้งโรคเอดส์ แต่ก็ต้องวิจัยกันต่อไป ผลมะเม่ามีขนาดใหญ่กว่าหัวไม้ขีดเล็กน้อย กินผลสุกสีดำ (ตอนปลายฤดูฝน) แต่ผลดิบสีเขียวรสเปรี้ยวจัด เด็ก ๆ ก็ชอบ

 

 

– ลางสาดขาว

จากเทือกเขานครศรีธรรมราช รสหวานอมเปรี้ยวแบบที่ชาวบ้านนิยม แม้ไม่อาจเทียบเคียงกับลางสาดลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย ที่ว่ากันว่ารสชาติดีที่สุดก็ตาม ลางสาดขาวราคาต่ำกว่าลองกองถึงสองในสาม

 

– มะกอกฝรั่ง

เป็นมะกอกชนิดที่ผลได้น้ำได้เนื้อที่สุด เราพบมันได้ตามรถเข็นผลไม้ตลอดทั้งปี

 

    – ละไม

ญาติที่ใกล้ชิดของมะไฟ มีมากแถบยะลา ปัตตานี นราธิวาส และพบได้ทั่วไปในตลาดภาคกลาง และอีสาน ช่วงเดือนสิงหาคม

 

    – กะทกรก, รกช้าง

พบทั่วไปในป่าทุกประเภท โดยเฉพาะที่โล่งริมทาง ผลสุกสีเหลืองส้ม ข้างในมีเม็ดเกาะที่ผนังด้านข้างของผล รสหวานหอม

 

    – กล้วยเล็บมือนาง

คนนครฯ เรียกชื่อไปคนละทางว่า “กล้วยกินดิบ” วางขายมากรายทางช่วง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

 

    – มังคุด

พืชพื้นเมืองคาบสมุทรมลายูขึ้นได้ดีในที่ซึ่งมีความชื้นสูง เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ไม่กลายพันธุ์ จึงไม่จำเป็นต้องเสาะหาพันธุ์แท้ ความที่มีดกดื่น ชาวนครฯ

จึงเก็บลูกอ่อนแช่น้ำเกลือกินเรียกว่า มังคุดคัด

– มะขาม

ไม้มงคลอายุยืน มีอยู่ทั่วทุกภาคของไทย ฝักอ่อนรสเปรี้ยวจี๊ด บางคนชอบเก็บมาจิ้มกะปิ

สรรพคุณ ดีต่อสุขภาพเหงือกและฟัน เป็นยาระบายอ่อน ๆ

 

– มะขามป้อม

ชอบปลูกตามวัดหรือโรงเรียน คนเดินป่ารู้จักดี เพราะตอนกินรสฝาด พอกลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำตามจะชุ่มคอ

สรรพคุณ คล้ายสมอไทย

 

– ตะลิงปลิง, มูงมัง (เกาะสมุย)

ผัก-ผลไม้ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างมะเฟืองกับมะดัน กินดิบแบบมะเฟืองได้ แต่นิยมใช้ประกอบอาหารคาว และขึ้นชื่อลือชาในการตำน้ำพริก

สรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ลดไข้

 

    – ชับพลา, พลับพลา

ไม้ป่าจากกระบี่ พอสุกสีดำจะหวานเด็ก ๆ เก็บลูกสดใส่ปืนกระบอกไม้ไผ่ไล่ยิงกัน เรียกว่า “ชับโพล่ง”

 

    – ลองกอง

ผลไม้พื้นเมืองสกุลนี้ที่มีหน้าตาคล้ายกันมีอยู่ไม่น้อยกว่าหกชนิด ฉะนั้นก่อนควักกระเป๋าพึงระวังให้จงหนัก ลองกองเมื่อบีบ (ปอก) แทบไม่พบยาง เนื้อแต่ละกลีบจะล่อน ไม่มีเยื่อหุ้มเนื้อ รสหวาน เม็ดน้อยมาก

 

    – หลุมพี

น้อยคนจะมีโอกาสเห็นต้นและผล เพราะขึ้นอยู่ตามป่าพรุ ป่าที่ราบต่ำ คล้ายระกำ แต่เปลือกผลมีสีแดงเลือดหมู และไม่มีหนาม รสเปรี้ยวติดอันดับโลก นิยมนำมาดองกินจิ้มพริกเกลือ

ปอกเปลือกแล้วสีเนื้อในคล้ายระกำ แต่มีขนาดเล็กและกลมกว่า

 

    – จำปาดะ, จำปา

ที่เห็นว่าจำปาดะต่างจากขนุนชัดเจนก็คือ สามารถปอกเปลือกโดยกรีดแล้วใช้มือจับขั้วผลดึงเนื้อในรวมทั้งเม็ดให้หลุดออกมาทั้งยวง ดังภาพ แต่ขนุนไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

ทรงผลกลมยาว เปลือกผลบางและขนาดเล็กกว่าขนุน ยวงบางและค่อนข้างเหลว รสหวานแหลม กลิ่นฉุนจัดกว่าขนุน เม็ดนำมาต้มเกลือกินหรือชุบแป้งทอดทั้งยวงทั้งเม็ด จำปาขึ้นชื่อคือที่สตูล และเกาะยอ สงขลา

 

    – ลูกสาย

จากเทือกเขานครศรีธรรมราช ขึ้นอยู่ตามริมธารในป่าดิบ ผลสุกมีสีดำ เปลือกแข็งหนา เนื้อและรสชาติของลูกสายออกจะคล้ายลำใย แต่อร่อยน้อยกว่า ชาวป่าบอกว่าค้างคาวแม่ไก่ชอบกิน

 

    – นมควาย, หมากพิพ่าน (อีสาน)

ไม้เถากลุ่มเดียวกับนมวัวและกล้วยมูสัง ขึ้นในป่าผลัดใบและป่าดิบแล้งทั่วประเทศ ผลสุกราวเดือนมิถุนายน-ตุลาคม รสเปรี้ยวอมหวาน

 

    – ระกำ

ออกผลเป็นทะลายตามต้น บางต้นเปรี้ยว บางต้นหวาน โดยคนพื้นถิ่นจะรู้ได้จากกลิ่นถ้าหวาน พอสุกไปยืนใกล้ต้นจะหอมหวาน แต่ถ้าเปรี้ยวจะหอมเปรี้ยว

 

    – ลูกก่อ

ไม้จำพวกก่อในประเทศไทย พบมากกว่า 80 ชนิด แต่ที่นิยมกินผลได้แก่ ก่อแป้น ก่อเดือย และก่อแซะ ผลแก่ใช้เป็นอาหารได้ราวเดือนพฤศจิกายน วิธีการคือนำเม็ดมาต้มหรือคั่วให้สุกแล้วกินเนื้อในเมล็ด

 

    – มะมุด

พืชสกุลเดียวกับมะม่วง กินทั้งผลสุกและดิบเหมือนกัน แต่กลิ่นหอมฉุนและเนื้อเป็นเสี้ยนกว่า คนใต้นิยมนำผลดิบมายำหรือแกงส้ม ผลสุกช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน

 

– ลูกหวาย

ผลของต้นหวาย เนื้อหรือที่คนปักษ์ใต้เรียก “เยื่อ” มีน้อย รสออกเปรี้ยว ฝาด เหมาะจะกินเล่น

 

– ลางสาดเขา

จากเทือกเขานครศรีธรรมราชเช่นกัน ภายนอกคล้องลองกอง แต่สีออกน้ำตาลกว่า เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อหวานหอม ชาวสวนมักนำมาเป็นต้นตอของลองกอง

 

    – ทุเรียนบ้าน

ผลเล็กกว่าทุเรียนพันธุ์และค่อนข้างกลม พบได้ทั่วภาคใต้ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื้อน้อย แต่รสหวานแบบที่คนใต้โปรดปรานนำไปทำทุเรียนกวนก็อร่อย

 

– มะกอกน้ำ

ผลทรงยาวรี เนื้อมีรสเปรี้ยว มักนำไปดองหรือเชื่อม

 

  – มะขวิด

ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป นิยมปลูกตามบ้านสวนหรือวัด ผลกลมโตกว่ากำปั้นผู้ชาย เปลือกนอกแข็ง ขนาดเวลากินต้องเขวี้ยงพื้น เนื้อในสีน้ำตาลไหม้ รสเปรี้ยวอมหวาน

 

    -มะขามเทศ 

“นำเข้า” จากทวีปอเมริกามาปลูกแพร่หลายในย่านนี้ จนเหมารวมเรียกว่าเป็นผลไม้พื้นเมืองเช่นเดียวกับผลไม้อีกหลายชนิด

 

    – เม็ดขนุนสำปะลอ

สำปะลอเป็นไม้ที่หาดูยากอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะผลภายนอกคล้ายขนุนแต่เล็กกว่า เปลือกมีหนามแหลมเล็ก ๆ แต่นุ่มโดยรอบ ผลภายในคล้ายขนุน แต่ไม่มียวง ความจริงสำปะลอเป็นสาเก แต่เป็นชนิดมีเม็ด และเจ้าเม็ดนี่ละที่เราเอามาต้มกิน

 

– ลูกลาน

หลังจากผ่าผลก็จะได้เนื้อหรือแป้งในเม็ดเป็นลูกกลม ๆ มักนำไปเชื่อมแบบลูกชิด

 

    – ลูกประ, กระ

ถิ่นกำเนิดคือเทือกเขานครศรีธรรมราช ผลมีเปลือกแข็ง เมื่อสุกจะแตกดัง “แป๊ะป๊ะ ๆ” กินเนื้อในเม็ดของผลโดยต้มแล้วดอง ภาคกลางใช้คั่ว

 

    – ลูกหยี

พันธุ์ผลใหญ่ผลหยีสดหากินไม่ได้ง่ายนัก พบตามธารน้ำตก แถบนครศรีธรรมราช สงขลา ใครมีหยีสักสองต้นบนที่ดินถือว่าโชคดี เพราะราคาสูง

 

    – มะปริง

นิยมกินผลดิบทั้งในรูปผัก-ผลไม้ เด็ดจากต้นสด ๆ มาเหนาะแกงเผ็ดอร่อยนัก

 

 ทุเรียนเทศ, ทุเรียนน้ำ

ผลคล้ายทุเรียน แต่เปลือกไม่มีหนามแหลม จัดอยู่ในจำพวกน้อยโหน่ง

ลักษณะเนื้อผล และเมล็ดไม่ต่างจากน้อยหน่า แต่รสอมเปรี้ยว และผลใหญ่กว่ามาก

 

  – จาก

ไม้จำพวกปาล์ม ขึ้นตามชายเลน เนื้อในขณะที่ยังไม่แข็ง มีรสหวาน กินสดได้ แต่เมื่อแก่จัดจะแข็งและมีแป้งมาก