สวัสดี

Area based Industry

อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่ม โดยผู้บริหาร บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)

กรกฎาคม 2558

รายละเอียด :

ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ได้รับเกียรติจากคุณวิภาส ปวโรจน์กิจ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)มาให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มของไทยในปัจจุบัน

 

เกี่ยวกับบริษัท

          รอยัลฟรีสแลนด์คัมพิน่าก่อตั้งจากการรวมกลุ่มของสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 19,244 คน ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี และ เบลเยี่ยม โดยการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากมายแก่ผู้บริโภคนับล้านคนทั่วโลกมานานกว่า 144 ปี ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์โฟร์โมสต์เป็นตราสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงและการให้บริการที่เป็นเลิศกับสังคมไทยมากว่า 50 ปี เริ่มจากการที่บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายไอศกรีมและนมคืนรูปที่โรงงานหลักสี่ในปี พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 บริษัทเพิ่มสายการผลิตนมข้นหวานและนมข้นจืดที่โรงงานสำโรง และผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศในแถบทวีปเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และลาว ในปี พ.ศ. 2521 ในปี พ.ศ. 2527 บริษัทเริ่มจำหน่ายนมพร้อมดื่มสำเร็จรูป UHT ตามด้วยนมเปรี้ยวพร้อมดื่มสำเร็จรูป UHT ในปี พ.ศ. 2532 และในปี 2535 บริษัทได้ขายธุรกิจไอศกรีมเพื่อที่จะให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นมอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค 
          ปัจจุบันโรงงานผลิตนมของบริษัทในประเทศไทยมี 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานหลักสี่ซึ่งผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เช่น นมโฟร์โมสต์พาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยวโฟร์โมสต์ที่มีจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ และโยเกิร์ตโฟร์โมสต์แบบถ้วย เป็นต้น ส่วนโรงงานสำโรงผลิตนมพร้อมดื่ม UHT และ Sterilize เช่น นมโฟร์โมสต์คิดส์ นมโฟร์โมสต์สคูล นมโฟร์โมสต์ โอเมก้า นมเปรี้ยวพร้อมดื่มตราโยโมสต์ นมข้นหวานและนมข้นจืดตราเรือใบ ตรานกเหยี่ยวและมายบอย เป็นต้น


ตลาดนมพร้อมดื่มไทย
          ตลาดนมพร้อมดื่มในที่นี้จะรวมถึงนมเปรี้ยวและนมถั่วเหลืองด้วย มีมูลค่าประมาณ 55,500 ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคครัวเรือน แบรนด์ที่ครองตลาดอันดับ 1 คือ ดัชมิลค์ รองลงมาคือ โฟร์โมสต์ และแล็คตาซอย  ปัจจุบันแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่สดใสนัก แต่ตลาดผลิตภัณฑ์นมยังสามารถเติบโตได้เล็กน้อยประมาณ 3-5% โดยมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทยอยส่งสินค้าใหม่เข้ามาในตลาด และมีการทำกิจกรรมการตลาดเป็นระยะ ๆ
          พฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยจะแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ กล่าวคือ ส่วนใหญ่เพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จะใช้นมผงมาชงน้ำร้อนดื่ม ขณะทีไทยนิยมดื่มนมในลักษณะ liquid milk และช่วงเช้านิยมดื่มนมสด(นมขาว) ช่วงบ่ายถึงเย็นดื่มนมปรุงแต่ง(นมสี)  นอกจากนี้ พฤติกรรมการบริโภคนมถั่วเหลืองของคนไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น ส่งผลให้ตลาดนมถั่วเหลืองทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีช่องว่างทางการเติบโตได้อีกจำนวนมาก และอุตสาหกรรมนมถั่วเหลืองของไทยก็นับว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับโลกน่าจะเล็กกว่าเพียงจีน จึงเป็นสินค้าคู่แข่งที่สำคัญอีกชนิดของนมโค
          ล่าสุด ผลจากข้อมูลการวิจัยตลาด พบว่ากลุ่มผู้บริโภคและโภชนาการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดนมในประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวในทิศทางที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์นมมีโอกาสขยายสัดส่วนไปในกลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคนม จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเด็ก เป็นขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ  บริษัทจึงมุ่งขยายฐานผู้บริโภคไปยังกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ก็เพื่อต้องการกระตุ้นอัตราการดื่มนมโดยรวมของคนไทยให้มีเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีการบริโภคนมเพียง 22.4 ลิตรต่อคนต่อปี  แม้ปัจจุบันคนไทยจะมีการบริโภคนมเพิ่มขึ้น 5-10% ต่อเนื่องทุกปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ที่มีการบริโภคนมมากกว่าไทย 2-3 เท่าตัว
          สถานการณ์การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านมาในอดีตจะเน้นการแข่งขันกันที่รูปแบบผลิตภัณฑ์ โดยจะมองว่าคู่แข่งคือสินค้าแบบเดียวกัน เช่น นมพาสเจอร์ไรส์กับนมพาสเจอร์ไรส์ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ นมต้องแข่งขันกับสินค้า segment ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ ชาพร้อมดื่ม เป็นต้น เพราะผู้บริโภคดื่มเพราะความต้องการ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการได้จะมาในรูปแบบใดก็ได้ เช่น ดื่มเพื่อให้ขับถ่ายดี ดื่มเพื่อต้องการควบคุมน้ำหนัก โดยคนไทยมักจะมีสินค้าในใจ 2 แบรนด์เป็นตัวเลือก ที่สามารถปรับเปลี่ยนทดแทนกันได้ ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องแข่งขันกันสูงในการทำตลาด

สถานการณ์ด้านการผลิต วัตถุดิบ และแรงงาน
    ปัญหาของอุตสาหกรรมนมไทยคือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่อลิตรค่อนข้างสูง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการเลี้ยงโคนมและปริมาณน้ำนมต่อตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเขตหนาว รวมทั้งคุณภาพของน้ำนมโคที่ยังมีความไม่แน่นอน  
การเข้าสู่ AEC อาจจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมนมไทยในตลาดเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ที่ยังไม่ค่อยมีโรงงานผลิตนมพร้อมดื่ม แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มของเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าของไทย เพราะใช้นมผงเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต แต่ถ้าเป็นน้ำนมดิบต้นทุนก้ยังสูงมากเพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจฟาร์มโคมนมได้ไม่นาน สำหรับนโยบายของบริษัทนั้น เนื่องจากโฟร์โมสต์มีโรงงานอยู่ในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย ในการส่งออกจะมีเฉพาะการส่งไปประเทศที่บริษัทไม่มีโรงงานตั้งอยู่ ไม่ขายข้ามประเทศ
     ด้านแรงงานนั้น เนื่องจากโรงงานของบริษัทดำเนินกิจการมานาน ทำให้หลายจุดยังไม่ใช่เครื่องจักรอัตโนมัติ ทำให้ต้องใช้แรงงานจำนวนมากเช่นกัน การลงทุนเครื่องจักรเพื่อทดแทนการใช้แรงงานคงต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งในปีนี้ก็มีแผนจะลงทุนอีกหลายร้อยล้านบาท สำหรับการนำเข้า เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาและผลิตนมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
การมุ่งเน้นไปที่คุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณค่าโภชนาการ ทำให้เกิดแผนการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดีตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ได้นมคุณภาพดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ในปี 2558 บริษัทจะเน้นแผนงาน DDP (Dairy Development Program) ในการพัฒนาคุณภาพนม จะเป็นเรือธงในการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบจากฟาร์มของเกษตรกรไทยสู่กระบวนการและกรรมวิธีการผลิตตามมาตรฐานการผลิตจากประเทศเนเธอร์แลนด์  เป้าหมายสำคัญของ DDP คือการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลเมื่อนำเข้าสู่กระบวนการและกรรมวิธีผลิตตามมาตรฐานการผลิตนมจากเนเธอร์แลนด์ของโฟร์โมสต์จะทำให้ได้นมพร้อมดื่มคุณภาพดีมีคุณค่าโภชนาการจากธรรมชาติส่งตรงถึงทุกคนในครอบครัว โดยกิจกรรมสำคัญในแผนงาน DDP ก็คือ Farmer to Farmer ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากเกษตรกรฟาร์มโคนมชาวเนเธอร์แลนด์ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญสู่การปฏิบัติจริงของกลุ่มเกษตรกรไทย

แนวโน้มตลาดนมพร้อมดื่มไทยปี 2558

          ตลาดรวม liquid milk มูลค่า 30,000 ล้านบาทในปีก่อน เชื่อว่าภาพรวมตลาดปีนี้น่าจะโตได้ 2% เป็นการเติบโตที่มาจากกลุ่มนมยูเอชทีสำหรับเด็กมูลค่า 10,000 ล้านบาท ที่ปีนี้มองว่าจะโตได้ถึง 6-7% ซึ่งในเซกเมนต์ดังกล่าวโฟร์โมสต์เป็นผู้นำตลาด มีส่วนแบ่งกว่า 50% ส่วนกลุ่มนมพาสเจอไรซ์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท ปีนี้อาจจะทรงตัวเนื่องจากราคาแพง ผู้บริโภคหันมาซื้อนมยูเอชทีแทน รวมถึงกลุ่มนมระดับพรีเมียมไปจนถึงซูเปอร์พรีเมียม ซึ่งน่าจะมีมูลค่าเพียง 1% ของตลาดรวม liquid milk ปีนี้น่าจะเติบโตได้ยาก จากราคาที่สูง และผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์คุ้มค่าคุ้มราคากว่า
          แนวโน้มด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม มองว่าผลิตภัณฑ์ต่อจากนี้น่าจะเน้นการเพิ่ม functional ingredients เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพในแต่ละกลุ่มวัย ส่วนแนวโน้มของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนม น่าจะเน้นไปที่เทคโนโลยีการผลิตที่เน้นการรักษาสภาพความสดใหม่ของน้ำนม ยืดอายุผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการรักษาสภาพสินค้า ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนนี้ถือว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต
          นอกจากนี้ เทคโนโลยีการผลิตนมพร้อมดื่มจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับฟาร์ม กล่าวคือ ต้องการได้น้ำนมโคที่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างไรก็เริ่มตั้งแต่การให้วัวกินสารอาหารที่จะเพิ่มสารสำคัญนั้น และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมนมยุคต่อไปจะเริ่มตั้งแต่การสกัดแยกสารอาหารแต่ละชนิดที่มีในน้ำนมตั้งแต่ขั้นการกรอง เช่น โปรตีน ไขมัน แล้วนำมาแยกจำหน่ายตามวัตถุประสงค์

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527