fbpx

เป็นเบาหวาน กินน้ำผึ้งได้ไหม?

เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน หลาย ๆ คนต้องนึกถึงการห้ามกินของหวาน หรือ การที่กินยาเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดแน่ ๆ  แต่คงมีผู้ป่วยบางคนก็อาจจะสงสัยว่าแล้วอย่างนี้จะกินอะไรได้บ้าง อย่างน้ำผึ้งที่มีรสหวานจากธรรมชาติจะสามารถใช้แทนน้ำตาลได้หรือเปล่า และผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถกินได้แค่ไหนกัน นี่คือคำตอบว่า เป็นเบาหวาน กินน้ำผึ้งได้ไหม

เบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวาน คือ โรคที่ร่างกายมีความผิดปกติในการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกี่ยวกับการทำงานของฮอร์โมนที่มีชื่อว่า อินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ในการคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง โดยโรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ โดยจะพบได้ในคนอายุน้อย
  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes, T2DM) เกิดจากการดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยจะพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนและคุมอาหารได้ไม่ดีนั่นเอง
  3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดจากการดื้อต่ออินซูลินในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพราะการสร้างอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะตรวจในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 24 – 28 และหากไม่ทำการควบคุมให้ดี จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต
  4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ ได้แก่ โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากโรคของตับอ่อน ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือการติดเชื้อ

ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ที่ 70 – 110 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร ในระหว่างที่อดอาหาร น้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 2 ชั่วโมงน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร และ A1C ให้น้อยกว่า 6.5% เพื่อป้องกันเกิดภาวะหรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดปัญหากับการดำเนินชีวิต โดยแนะนำให้สามารถเติมน้ำตาลไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย น้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อมต่าง ๆ ได้ไม่เกิน 3 – 6 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งต้องกระจายออกไปในแต่ละมื้อให้เท่า ๆ กัน อีกทั้งการเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานทุกชนิดเพื่อลดการติดรสหวานและการได้รับน้ำตาลในปริมาณมากนั่นเอง

ทำความรู้จักกับ น้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำหวานของดอกไม้โดยผึ้ง  ซึ่งจะมีกลิ่นและรสที่แตกต่างกันไปตามชนิดของดอกไม้ เรามักจะใช้เป็นสารที่ให้รสหวานในอาหาร หรือเครื่องดื่มนั่นเอง เพราะน้ำผึ้งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลหลากหลายชนิด ได้แก่ น้ำตาลฟรุกโตส 35 – 40 % กลูโคส 30 – 35%  และซูโครสอีกเล็กน้อย โดยน้ำผึ้งมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 60 ซึ่งจัดอยู่ในช่วงปานกลางนั่นเอง ดังนั้นน้ำผึ้งถือว่าเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตเหมือนกันกับน้ำตาล แล้วแบบนี้ตกลงแล้วผู้ป่วยเบาหวานยังสามารถเลือกกินน้ำผึ้งแทนการกินน้ำตาลได้ไหม

ตกลงแล้ว เป็นเบาหวาน กินน้ำผึ้งได้ไหม

อย่างที่ทุกคนรู้ว่าผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นที่จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงทำให้ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารให้ไม่มากจนเกินไป ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินน้ำผึ้งได้แต่ไม่ควรเกิน 2 ช้อนชาต่อวัน เพราะเมื่อเทียบกันระหว่างน้ำตาลและน้ำผึ้งถือว่ามีส่วนประกอบเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเช่นกัน จึงสามารถกินได้ปกติ แต่ต้องควบคุมปริมาณและต้องระวังการเติมน้ำตาลอื่น ๆ ได้รวมกันไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวันด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกกินอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ธัญพืช ถั่ว เป็นต้น หรืออาจใช้การเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ  และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

แต่ถ้าหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามจากนักกำหนดอาหาร แพทย์ หรือ พยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่สะดวกไปสอบถามที่โรงพยาบาล สามารถให้นักกำหนดอาหารจากอีทเวลล์คอนเซปต์ช่วยดูแลท่านได้ ที่นี่

สอบถามเพิ่มเติม Add Line ปรึกษานักกำหนดอาหาร

ดูแลสุขภาพของคุณให้ถูกวิธี

โปรแกรมปรึกษานักกำหนดอาหารคืออะไร ?

พร้อมรับคำปรึกษาจาก

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

ไม่พลาดบทความด้านโภชนาการ

ของ อีทเวลล์คอนเซปต์ ก่อนใคร

อ้างอิง

  1. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต. (2560). แนวทางเวชปฏิบัติสําหรับโรคเบาหวาน 2560 (พิมพ์ครั้งที่ 3). ปทุมธานี: บริษัท ร่มเย็น มีเดีย จำกัด. สืบค้นจาก https://www.dmthai.org/attachments/article/443/guideline-diabetes-care-2017.pdf
  2. Bobiş, O., Dezmirean, D. S., & Moise, A. R. (2018). Honey and Diabetes: The Importance of Natural Simple Sugars in Diet for Preventing and Treating Different Type of Diabetes. Oxidative medicine and cellular longevity2018, 4757893. https://doi.org/10.1155/2018/4757893

ส่งข้อความถึงเรา