Documentation of Oct 6

ใครคือชายที่ถูก “ตอกอก” ในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519

ใครคือชายที่ถูก “ตอกอก” ในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ภาพร่างของชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่นอนอยู่ท่ามกลางร่างไร้ชีวิตอีกหลายร่างบนพื้นสนามหญ้า กำลังถูก “ตอกอก” ในเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519 เป็นภาพที่ทำให้คุณปรีชา การสมพจน์ จากนสพ.เดลินิวส์ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุลในปี 2520 แต่จนบัดนี้ ยังไม่เคยมีใครรู้ว่าเขาคือใคร แต่ ณ วันนี้โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ยืนยันได้ว่าเขาคือคุณวิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ … เรารู้กันมานานแล้วว่าคุณวิชิตชัยเป็น 1 ในเหยื่อ 5 คนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงด้วย แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเขาถูกตอกอกด้วย 

จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2564) ดิฉันได้ดูคลิปวิดีโอเรื่อง “ใครคืออาชญากรสังหารโหดนักศึกษา? ใครอยู่เบื้องหลัง?” จัดทำโดยกลุ่มประกายไฟ < https://www.youtube.com/watch?v=03SOh2Xwmrk > ในนาทีที่ 3:48 ได้ปรากฏภาพตอกอกที่ชัดเจนกว่ารูปที่ได้เคยเห็นมา เป็นภาพที่ถ่ายจากด้านหน้าของเหยื่อ ทำให้เห็นใบหน้าและลักษณะบาดแผลบริเวณลำตัวด้านหน้าชัดเจนมาก ขณะที่รูปที่ได้รางวัลอิศราเป็นรูปที่ถ่ายจากด้านข้างและจากระยะที่ไกลออกไป ภาพในวิดีโอแสดงลักษณะบาดแผลใกล้เคียงกับภาพในเอกสารชันสูตรพลิกศพและภาพแขวนคอ (ดูภาพเปรียบเทียบ 1, 2, 3 และ 8 ) 

ดิฉันเก็บเรื่องนี้ไว้ตลอดปีที่ผ่านมา ตั้งใจว่าจะเขียนแต่กลับไม่มีใจจะเขียน ได้แค่บอกให้ อ.ธงชัยและทีมงาน “บันทึก 6 ตุลา” ทราบเรื่องเท่านั้น คำถามที่เกิดขึ้นตลอดคือ ทำไมต้องเกิดกับวิชิตชัย? ฝูงชนพวกนั้นทำร้ายเขาไม่พออีกหรือ? เขาถูกแขวนคอ ร่างอันไร้วิญญาณของเขาถูกรุมประชาทัณฑ์ ทั้งเตะ ถีบ ฟาดด้วยเก้าอี้ ร่างของเขาบอบช้ำมากจนแม้แต่คุณพ่อที่ออกติดตามหาเขาหลัง 6 ตุลาก็จำใบหน้าเขาไม่ได้  แล้วเขายังถูกตอกอกอีก 

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปร่วมฟังงานเสวนา “ซูมอิน 6 ตุลา สนทนากับช่างภาพ” จัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ Doc Club & Pub วิทยากรคือ คุณสมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ คุณปวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ คุณสายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์  และโดยไม่คาดหมาย คุณปรีชา การสมพจน์ ผู้ถ่ายภาพ “ตอกอก” ได้ตัดสินใจมาร่วมงานด้วย  

เดิมทีนั้นคุณปรีชาลังเลที่จะมาร่วมงานเพราะยังสะเทือนใจทุกครั้งที่พูดถึง 6 ตุลา – ในระหว่างเสวนา เห็นได้ว่าคุณปรีชาพยายามกลั้นสะอื้นแต่น้ำตาก็ยังไหลออกมา แกเล่าว่าเช้าวันนั้น “ถ่ายรูปไป ร้องไห้ไป” ทีมงานพิพิธภัณฑ์เล่าให้ดิฉันฟังว่าตอนที่สัมภาษณ์แกๆ ร้องไห้ทุกครั้ง –  ดิฉันจึงดีใจมากที่ได้เจอคุณปรีชาเพราะมีเรื่องคาใจที่อยากถามคุณปรีชาโดยตรง หลังกลับจากงานเสวนา ดิฉันก็คิดว่าควรจะเขียนเรื่องคุณวิชิตชัยออกมาเสียที 

ในระหว่างเสวนา ผู้จัดได้แสดงภาพประกอบ ในจำนวนนั้นมีภาพตอกอก และภาพชุดแสดงชายหนุ่มในเสื้อสีเข้ม กำลังถูกฝูงชนลากจากหน้าประตูธรรมศาสตร์ข้ามไปฝั่งสนามหลวง ภาพทั้งสองช็อตนี้ถ่ายโดยคุณปรีชา – ดิฉันเคยเห็นภาพหลังมาก่อน ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยจากลักษณะเสื้อผ้าดิฉันเชื่อว่าเขาคือคุณวิชิตชัย แต่คุณภาพของภาพค่อนข้างแย่ จึงไม่สามารถยืนยันได้ ต่างจากภาพที่นำมาแสดงในงานเสวนา ที่คุณภาพดีกว่ามาก คุณปรีชายืนยันว่าผู้ชายที่ถูกลากไปตามถนนกับคนที่ตอกอกเป็นคนเดียวกัน (ดูภาพที่ 4)

ดิฉันจึงบอกคุณปรีชาว่าดิฉันยืนยันได้ว่าคนที่ถูกตอกอกคือคุณวิชิตชัย อมรกุล ซึ่งถูกแขวนคอด้วย คุณปรีชาจึงบอกว่าหลายคนที่นอนตายอยู่บนพื้นสนามหญ้าในรูปตอกอกนั้น ถูกฝูงชนลากไปทำร้ายต่อ บางคนถูกแขวนคอ บางคนถูกเผา 

จุดนี้จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ด้วยว่าทำไมเราหาร่างของชายหนุ่มอีก 2 คนที่ถูกแขวนคอไม่เจอ ไม่มีร่างของเขาในเอกสารชันสูตรพลิกศพ เขาน่าจะถูกเผาจนเหลือแต่เถ้ากระดูก ชายหนุ่ม 2 คนนี้อยู่ในภาพที่ถ่ายโดยนีล อูเลวิช ช่างภาพสำนักข่าวเอพี คนที่อยู่ในภาพที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์คือ 1 ในชายหนุ่มที่เราหาร่างเขาไม่เจอ และจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเขาคือใคร (ดูภาพที่ 5, 6)

อย่างไรก็ตาม ดิฉันอยากตั้งข้อสังเกตว่าภาพถ่ายของคุณวิชิตชัยหลายรูป แสดงอาการลิ้นจุกปาก อันเป็นสภาพของคนขาดอากาศหายใจ อีกทั้งภาพแขวนคอหลายภาพแสดงช่วงขณะที่คุณวิชิตยังสวมเสื้อเชิ๊ตในสภาพที่ไม่ฉีกขาด (ภาพที่ 7) และมีบางภาพที่เสื้อเชิ๊ตหลุดไปจากตัวแล้ว (ภาพที่ 8) ขณะที่รูปตอกอก เสื้อเชิ๊ตอยู่ในสภาพยับเยิน และเสื้อตัวนี้ติดตัวไปถึงโรงพยาบาลศิริราช (ดังที่ระบุไว้ในเอกสารชันสูตรพลิกศพ) ฉะนั้น มีความเป็นไปได้ทั้งสองทางว่าคุณวิชิตชัยถูกตอกอกก่อนถูกแขวนคอ  หรือกลับกันก็ได้ เพราะความทรงจำของคนในช่วงเวลาที่ตึงเครียดสับสนวุ่นวายและผ่านมาเนิ่นนานแล้วนี้ อาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ วิชิตชัยถูกทารุณกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา  พวกเขาร่วมกันกระทำในนามของความรัก ในนามของการปกป้องความเป็นไทย 

หมายเหตุ 

– อ่านเรื่องราวของวิชิตชัย อมรกุล ได้ที่ https://doct6.com/archives/8737…
– ขอขอบคุณกลุ่มประกายไฟที่จัดทำคลิปวิดีโอดังกล่าว แต่ขออนุญาตแจ้งว่าในนาทีที่ 3:50 ที่เป็นรูปหญิงสาวในสภาพเปลือยเปล่านั้น เธอไม่ได้ถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่ประการใด เธอเสียชีวิตจากกระสุน 3 นัดที่เข้าด้านหลัง ดิฉันได้เขียนสรุปเกี่ยวกับวัชรี เพ็ชรสุ่น ไว้ที่ https://www.facebook.com/6tula2519/posts/pfbid0ZsPybN8NUvpQg89dVAtJhDSWjGZo44AZcuxyfVKC83gDcmzj69Y21L8TnwyFBVnal
– การพยายามทำความเข้าใจการทำร้ายร่างที่ไร้ชีวิตในวันที่ 6 ตุลา มีอยู่ในบทความของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ และธงชัย วินิจจะกูล “การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลาคม 2519: ใคร อย่างไร ทำไม?” ที่ https://doct6.com/archives/13520