สมัครสมาชิกวันนี้

  • Silver
  • สมาชิกระดับ Silver
  • ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐานได้
  • ข้อมูลผู้ประกอบการต่างประเทศ
  • ข้อมูลสถิติในประเทศและต่างประเทศ
  • มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
  • กฎ ระเบียบ นโยบายในประเทศ
  • เทคโนโลยี และงานวิจัย
  • สมัครสมาชิก
ก๊าซธรรมชาติพลังงานทางเลือกใหม่ในภาคขนส่ง


       ต้องยอมรับว่าพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันปิโตรเลียมมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน และแนวโน้มก็จะมีแต่ความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยานยนต์ที่วิ่งในท้องถนนปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจาก น้ำมันปิโตรเลียม การที่เชื้อเพลิงจากน้ำมันปิโตรเลียมมีแนวโน้มที่จะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปี ข้างหน้านี้รวมถึงประเทศไทย ต้องมีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมปีละเป็นจำนวนมาก ทำให้สูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ทางภาครัฐร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ได้มีการแสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่แทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงพลังงานทางเลือกใหม่ สำหรับยานยนต์ในภาคขนส่งด้วย ซึ่งหนึ่งในพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์ในภาคขนส่งก็คือก๊าซธรรมชาติ NGV (Natural Gas Vehicle) ที่อยู่ในรูปก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas: CNG) นั่นเอง

 

       ก๊าซธรรมชาติ คือเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้ในแอ่งใต้พื้นดิน หรืออาจพบร่วมกับน้ำมันดิบ หรือ คอนเดนเสท (ผลิตภัณฑ์ของเหลวไฮโดรคาร์บอนที่กลั่นตัวจากก๊าซธรรมชาติ) โดย ก๊าซธรรมชาติ จะถือว่าเป็นพลังงานเชื้อเพลิงแห่งอนาคตก็ว่าได้เนื่องจากในประเทศไทยได้มี พลังงานเชื้อเพลิงดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก และก๊าซดังกล่าวก็ยังสามารถนำมาใช้กับภาคขนส่งได้ รวมถึงสามารถลดปริมาณไอเสียรถยนต์ได้ด้วย และที่สำคัญจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากด้วยเช่น เดียวกัน และโดยรวมก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศชาติ

 

       เราลองมาทำความรู้จักกับเชื้อเพลิงทางเลือกชนิดนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่านะครับ

 

       คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ
       ก๊าซธรรมชาติเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วย ธาตุถ่านคาร์บอน ( C ) กับธาตุ ไฮโดรเจน ( H ) จับ ตัวกันเป็นโมเลกุล โดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตตามชั้นหิน ดิน และในทะเลหลายร้อยล้านปีมาแล้ว เช่นเดียวกับน้ำมัน และเนื่องจากความร้อนและความกดดันของผิวโลกจึงแปรสภาพเป็นก๊าซ

 

       คุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติไม่มีสีไม่มีกลิ่น ( ยก เว้นกลิ่นที่เติมเพื่อให้รู้เมื่อเกิดการรั่วไหล ) และไม่มีพิษในสถานะปกติมีสภาพเป็นก๊าซ หรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าอากาศ จึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ

 

       ความแตกต่างระหว่างก๊าซธรรมชาติ ( Natural Gas: NG ) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( Liquefied Petroleum Gas : LPG ) ก็คือ

 

       ก๊าซธรรมชาติเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน ( Methane ) เป็น ส่วนใหญ่จึงเป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ การขนส่งไปยังผู้ใช้จะขนส่งผ่านทางท่อในรูปก๊าซภายใต้ความดันสูงจึงไม่เหมาะ สำหรับการขนส่งไกลๆ หรืออาจบรรจุใส่ถังในรูปก๊าซธรรมชาติอัดโดยใช้ความดันสูง หรือที่เรียกว่า CNG แต่ปัจจุบันมีการส่งก๊าซธรรมชาติในรูปของเหลวโดยทำก๊าซให้เย็นลงถึง –160 องศาเซลเซียส จะได้ของเหลวที่เรียกว่า Liquefied Natural Gas หรือ LNG ซึ่ง สามารถขนส่งทางเรือไปที่ไกลๆ ได้ และเมื่อถึงปลายทางก่อนนำมาใช้ก็จะทำให้ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลับเป็นก๊าซ อย่างเดิม ก๊าซธรรมชาติ มีค่าออกเทนสูงถึง 120 RON จึงสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ได้

 

      ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( LPG ) เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีองค์ประกอบของก๊าซโพรเพน ( Propane/C3H8 ) เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ โดยตัว LPG เอง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ แต่เนื่องจากเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศจึงมีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น เพื่อเป็นการเตือนภัยหากเกิดการรั่วไหล LPG ส่วน ใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรม โดยบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังที่ทนความดันเพื่อให้ขนถ่ายง่าย นอกจากนี้ ยังนิยมใช้แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ เนื่องจากราคาถูกกว่า และมีค่าออกเทนสูงถึง 105 RON

 

       ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของ NG กับ LPG


 คุณสมบัติ  NG  LPG
 สถานะปกติ  ก๊าซ (เบากว่าอากาศ)  ก๊าซ (หนักกว่าอากาศ)
 จุดเดือด (องศาเซลเซียส)  -162  -50 ถึง 0
 อุณหภูมิจุดระเบิดในอากาศ (องศาเซลเซียส)  540  400
 ช่วงติดไฟในอากาศ (ร้อยละโดยปริมาตร)  15  15
   5  1.5
 ค่าออกเทน 1/  120  105
   120  97
     

 

ที่มา:การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

 

       หมายเหตุ:
       1. ค่าออกเทน (Octane number) หมายถึง หน่วยการวัดความสามารถในการต้านทานการน็อคของเครื่องยนต์

 

       2. RON (Research Octane Number) เป็นค่าออกเทนที่มีประสิทธิภาพต่อต้านการน็อคในเครื่องยนต์หลายสูบ ที่ทำงานอยู่ในรอบของช่วงหมุนต่ำ โดยใช้เครื่องยนต์ทดสอบมาตรฐานภายใต้สภาวะมาตรฐาน 600 รอบ ต่อนาที

 

       3. MON (Motor Octane Number) เป็นค่าออกเทนที่มีประสิทธิภาพต่อต้านการน็อคในเครื่องยนต์หลายสูบ ในขณะทำงานที่รอบสูง โดยใช้เครื่องยนต์ทดสอบมาตรฐานภายใต้สภาวะมาตรฐาน 900 รอบต่อนาที

 

       ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ
       ยานยนต์ส่วนใหญ่สามารถดัดแปลงเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งรถกระบะ รถโดยสาร หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ การใช้งานก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพเป็นก๊าซที่ถูกอัดจนมีความดันสูง (ประมาณ 3,000 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว) หรือ 200 บาร์ เก็บไว้ในถังที่มีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ เช่นเหล็กกล้า อลูมิเนียม หรือเรซินเสริมใยสังเคราะห์โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมีรายละเอียดดังนี้

       1.เครื่องยนต์เบนซิน

         1.1 เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว เรียกว่า Dedicated Engine
         ส่วนใหญ่ผลิตจากโรงงานโดยตรง โดยใช้เครื่องยนต์ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นสำหรับก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ

         1.2 เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เรียกว่า Bi–fuel Engine
         โดยในระหว่างการขับเคลื่อนรถยนต์สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดย การกดสวิทซ์ที่แผงหน้าปัดรถยนต์ ระบบนี้มีทั้งผลิตจากโรงงานโดยตรง หรือนำรถเดิมมาติดตั้งอุปกรณ์ใช้ NGV เพิ่มเติมสำหรับในประเทศไทย เครื่องยนต์แบบ Bi–fuel Engine จะเป็นที่นิยมแพร่หลายมากกว่าแบบอื่นโดยเฉพาะการนำรถเดิมมาติดตั้งอุปกรณ์ใช้ NGV เพิ่มเติมโดยมีรายละเอียดระบบการทำงานดังนี้

 

            1.2.1ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System) ใช้ได้กับทั้งเครื่องยนต์ที่จ่ายน้ำมันเบนซิน ด้วยคาร์บูเรเตอร์ และหัวฉีด มีอุปกรณ์ผสมก๊าซและอากาศ (Gas Mixer) ทำหน้าที่ผสมอากาศที่เครื่องยนต์ดูดเข้าไปกับก๊าซเอ็นจีวี ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ก่อนที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ อุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย ถังก๊าซ*, เต้ารับเติมก๊าซ, หม้อต้มหรืออุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (Pressure Regulator) อุปกรณ์ ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ และสวิทช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ตัด/ต่อระบบควบคุมแต่ละเชื้อเพลิงที่ต้องการใช้ ซึ่งเฉพาะอุปกรณ์หลักๆ เหล่านี้ เรียกแบบวงจรเปิด Open Loop แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยติดตั้งเป็นแบบวงจรปิด (Closed Loop) ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น ชุดควบคุมอิเล็คทรอนิคส์ ชุดควบคุมการจ่ายก๊าซ ฯ โดยแบบวงจรเปิดมีค่าอุปกรณ์และติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาท และแบบวงจรปิดมีค่าอุปกรณ์และติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท

 

       หมายเหตุ: * ถังก๊าซที่ใช้ในรถแท็กซี่ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นถังเหล็ก ขนาดความจุประมาณ 70 ลิตร มีน้ำหนักประมาณ 63 กก. เมื่อรวมกับน้ำหนักก๊าซNGVที่บรรจุเต็มถังอีกประมาณ 15 กก.จะมีน้ำหนักรวมประมาณ 78 กก.ติดตั้งในกระโปรงหลังรถ

 

image-582-1

รูปแสดง ระบบเชื้อเพลิง Bi–fuel Engine แบบหัวฉีด (Multi Point Injection System : MPI)แบบClose loop



            1.2.2 แบบหัวฉีด (Multi Point Injection System : MPI) ซึ่งใช้สำหรับรถยนต์แบบหัวฉีด(EFI) ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์หลัก ๆ ดังนี้ ชุดควบคุมอิเล็คทรกนิคส์ (Electronic Control Unit), อุปกรณ์ปรับความดับก๊าซ (Pressure Regulator), อุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Timing Advancer), สวิตช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ถังบรรจุก๊าซ (CNG Cylinder), ชุดจ่ายก๊าซ (Gas Distributor) ตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor) และ ตัวตรวจวัดตำแหน่งของปีกผีเสื้อ ระบบนี้มีการจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซด้วยหัวฉีดที่ท่อไอดีของแต่ละสูบโดยเฉพาะ และควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดีกับการเผาไหม้ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ โดยค่าอุปกรณ์และติดตั้งประมาณ 52,000-65,000 บาท

 

          2.เครื่องยนต์ดีเซล มีการแบ่งออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้
            2.1รถยนต์ใช้ NGVระบบเชื้อเพลิงร่วม (Dual Fuel System) เป็นระบบที่ใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซล หรือใช้น้ำมันดีเซลอย่างเดียว โดยอัตราส่วนก๊าซธรรมชาติต่อน้ำมันดีเซลจะขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์นั้นๆ

 

             2.1.1 ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System) ที่มีระบบควบคุมแบบธรรมดาหรือ Mechanic Control มีหลักการทำงานคือ ก๊าซธรรมชาติความดันสูงไหลผ่านมายังอุปกรณ์ความดัน จ่ายก๊าซไปผสมกับอากาศที่ท่อร่วมไอดี โดยใช้อุปกรณ์ผสมก๊าซและอากาศ (Gas Mixer) ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ ก่อนที่จะจ่ายเข้าห้องเผาไหม้ ขณะเดียวกันก็จะจ่ายน้ำมันดีเซลเข้าห้องเผาไหม้เพื่อจุดระเบิดนำการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติ โดยอุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย ถังก๊าซ, หัวเติมก๊าซ, หม้อต้ม หรืออุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (Pressure Regulator)

image-582-4

 

รูปแสดง ระบบเชื้อเพลิงร่วม ระบบดูดก๊าซแบบ Close loop

 

            2.1.2 ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System) ที่มีระบบควบคุมแบบวงจรปิด หลักการทำงานคล้ายกับแบบธรรมดา แต่จะพิเศษกว่าตรงที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์คอยควบคุมการจ่ายก๊าซและน้ำมันดีเซล โดยมีค่าอุปกรณ์และติดตั้งประมาณ 30,000-45,000 บาท

 

          2.2 ระบบใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว (Dedicated NGV) เป็นเครื่องยนต์ผลิตจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้เครื่องยนต์ออกแบบและพัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ หรืออาจจะดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเดิม โดยการเจียฝาสูบและลูกสูบ เพื่อลดอัตราส่วนกำลังอัดลดลง และเจาะรูฝาสูบเพื่อใส่หัวเทียน

 

       ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
       จากการทดสอบปริมาณการปล่อยมลสารจากไอเสียของเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นเปรียบเทียบกับ ก๊าซธรรมชาติของ Research and Development Institute Saibu Gas Co., Ltd. พบว่า รถ NGV ปล่อยก๊าซ คาร์บอนมอนอกไซด์  ไฮโดรคาร์บอน ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่ารถที่ใช้น้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เพียง 300 ส่วนในล้านส่วน ในขณะที่รถเบนซินมีการปล่อยสูงถึง 1,400 ส่วนในล้านส่วน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับรถที่ใช้ LPG แล้ว รถ NGV จะปล่อยก๊าซ ไฮโดรคาร์บอนมากกว่ารถ LPG เล็กน้อย

 

       ตารางเปรียบเทียบมลสารจากไอเสียของเครื่องยนต์ที่ใช้ NG, LPG, Gasoline

 

 ชนิดมวลสาร  ก๊าซธรรมชาติ (NG)  ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)  เบนซิน (Gasoline)

คาร์บอนมอนอกไซด์ (ร้อยละโดยปริมาตร)

0.04

0.04

0.08

ไฮโดรคาร์บอน (ส่วนในล้านส่วน)

1,700

1,600

2,200

ไนโตรเจนออกไซด์ (ส่วนในล้านส่วน)

300

900

1,400

คาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละโดยปริมาตร)

8.5

11.7

14.5

 

ที่มา : การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

 

       นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ West Virginia University สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ของปริมาณมลสารจากรถโดยสารเครื่องยนต์ CUMMINS LTA – 10 ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดีเซล พบว่ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่นละออง น้อยกว่ารถที่ใช้ดีเซล โดยเฉพาะฝุ่นละอองมีค่าเฉลี่ยเพียง 0.027 กรัม/กิโลเมตร ในขณะที่รถดีเซลมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.965 กรัม/กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม รถ NGV มีการปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนสูงกว่ารถดีเซล โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.52 กรัม/กิโลเมตร ในขณะที่รถดีเซลมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.51 กรัม/กิโลเมตร

 

image-582-3

 

       จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นจะพบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีระดับการปล่อยสารพิษที่ต่ำกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้เบนซินและดีเซล โดยเฉพาะคาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้นดังนั้น รถ NGV จึงมีข้อได้เปรียบทางด้านการลดปริมาณไอเสียจากยานยนต์รวมถึงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

       นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
       ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเช่น มาตรการสนับสนุนด้านราคาขายของก๊าซ NGVให้ถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น แหล่งเงินลงทุนในการกู้ยืมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์สำหรับก๊าซ NGV การให้ผลประโยชน์ด้านภาษีเพื่อผลักดันให้มีปริมาณของรถ NGVให้ เพิ่มขึ้น การสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนสถานีบริการให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวก สบายให้กับผู้ใช้บริการ จากที่กล่าวมาผู้เขียนเห็นว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันทำให้โครงการดัง กล่าวคงจะต้องเดินต่อไปข้างหน้าอย่างราบรื่น รวมถึงเป็นการรับประกันความมั่นใจกับผู้ใช้ก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ด้วย

 

       คุ้มหรือไม่ที่จะนำรถของท่านมาติดตั้งระบบเพื่อรองรับก๊าซ
       ผู้เขียนเห็นว่าก่อนอื่นท่านผู้ที่สนใจจะติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV ในรถของท่าน จะต้องตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนดังต่อไปนี้

 

       1. สถานีบริการก๊าซ NGV อยู่ในเส้นทางเดินรถที่ท่านจะใช้รถประจำหรือไม่
       ปัจจุบันสถานีเติมก๊าซ NGV ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นและส่วนใหญ่จะมีบริเวณในกรุงเทพฯเท่านั้น รวมถึงก๊าซ NGV ปริมาณ 1 ถังจะทำให้รถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นการศึกษาจุดที่มีสถานีบริการก๊าซ NGV อยู่ในเส้นทางเดินรถที่ท่านจะใช้รถประจำจึงมีความจำเป็น โดยท่านสามารถตรวจเช็ครายละเอียดของสถานีบริการได้จาก เว็ปไซด์ของ ปตท.(www.pttplc.com)

 

       2. ระยะทางที่ท่านวิ่งในแต่ละวัน

       จากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน (www.doeb.go.th) เกี่ยวกับระยะเวลาการคืนทุนจากการติดตั้ง อุปกรณ์ก๊าซ NGV พบว่า

 

           2.1 ในรถยนต์เบนซินเมื่อมีการติดตั้งอุกรณ์ก๊าซ NGV ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System ) ถ้าติดตั้งแบบ Open Loop และมีระยะทางวิ่ง 50 กม.ต่อวันจะมีระยะเวลาในการคืนทุน ประมาณ 14 เดือน ส่วนการติดตั้งอุกรณ์ก๊าซ NGV ส่วนแบบ Close Loop และมีระยะทางวิ่ง 50 กม.ต่อวันจะมีระยะเวลาในการคืนทุน ประมาณ 16 เดือน

 

          2.2 ในรถยนต์เบนซินเมื่อมีการติดตั้งอุกรณ์ก๊าซ NGV ระบบ (Multi Point Injection System : MPI) ถ้ามีระยะทางวิ่ง 50 กม.ต่อวันจะมีระยะเวลาในการคืนทุน ประมาณ 20 เดือน

 

          2.3 ในรถยนต์กระบะดีเซลเมื่อมีการติดตั้งอุกรณ์ก๊าซ NGV ระบบ เชื้อเพลิงร่วม (Dual Fuel System) ถ้ามีระยะทางวิ่ง 50 กม.ต่อวันจะมีระยะเวลาในการคืนทุน ประมาณ 33 เดือน

 

       อย่างไรก็ตามถ้าท่านวิ่งในระยะทางที่มากขึ้นต่อวันระยะเวลาคืนทุนก็จะเร็วขึ้น ซึ่งท่านสามารถดูรายละเอียดได้จากตารางข้างล่างซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้ทำไว้และเผยแพร่ในเว็ปไซด์ของกรมฯ ( www.doeb.go.th)

 

       ระยะเวลาคืนทุนเมื่อใช้ระบบเชื้อเพลิง NGV จะขึ้นกับระยะทางวิ่งใช้งานของรถดังนี้

 

 ชนิดของอุปกรณ์  Fumigation (OPEN LOOP)

 Fumigation (CLOSE LOOP)

 ราคาอุปกรณ์รวมถัง FABER ขนาด 70 ลิตร (บาท)

35,000

45,000

 ระยะทางการวิ่งต่อวัน (กม.)

50

100

200

50

100

200

 อัตราความสิ้นเปลือง ULG (กม./ลิตร)

10

10

10

10

10

10

 อัตราความสิ้นเปลือง NGV (กม./ลิตร)

10

10

10

10

10

10

 ราคาขายปลีก ULG (บาท/ลิตร)

27.34

27.34

27.3

27.34

27.34

27.34

 ราคาขายปลีก NGV (บาท/ลิตร)

8.5

8.5

8.5

8.5

8.5

8.5

 อัตราความประหยัด (บาท/กม.)

1.88

1.88

1.88

1.88

1.88

1.88

 ประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อวัน (บาท)

94

188

376

94

188

376

 ระยะเวลาคืนทุน (เดือน)

14.42

6.21

3.1

15.96

7.98

3.99

 

 ชนิดของอุปกรณ์  MPI

 ราคาอุปกรณ์รวมถัง FABER ขนาด 70 ลิตร (บาท)

60,000

 ระยะทางการวิ่งต่อวัน (กม.)

50

100

200

 อัตราความสิ้นเปลือง ULG (กม./ลิตร)

10

10

10

 อัตราความสิ้นเปลือง NGV (กม./ลิตร)

11

11

11

 ราคาขายปลีก ULG (บาท/ลิตร)

27.34

27.34

27.34

 ราคาขายปลีก NGV (บาท/ลิตร)

8.5

8.5

8.5

 อัตราความประหยัด (บาท/กม.)

1.96

1.96

1.96

 ประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อวัน (บาท)

98

196

392

 ระยะเวลาคืนทุน (เดือน)

20.4

10.2

5.1

 

ระยะเวลาคืนทุนเมื่อใช้ระบบเชื้อเพลิงร่วม (Dual Fuel System)

(รถกระบะดีเซล)


 ชนิดอุปกรณ์  Fumigation

 ราคาอุปกรณ์รวมถังก๊าซ ขนาด 70 ลิตร น้ำ (บาท)

35,000

 ระยะทางการวิ่งต่อวัน (กม.)

50

100

200

 อัตราความสิ้นเปลืองดีเซล (กม./ลิตร)

10

10

10

 ระยะทางที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงร่วม (กม.)

10

10

10

 - ใช้  Diesel (ลิตร)

0.5

0.5

0.5

 - ใช้  NGV (กก.)

0.6

0.6

0.6

 ราคาขายปลีกดีเซล (บาท/ลิตร)

24.19

21.79

21.79

 ราคาขายปลีก NGV (บาท/กก.)

8.5

8.5

8.5

 อัตราค่าเชื้อเพลิง Diesel อย่างเดียว (บาท/กม.)

2.42

2.42

2.42

 ราคาเชื้อเพลิง Diesel ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วม (บาท)

12.10

12.10

12.10

 ราคาเชื้อเพลิง NGV ที่ใช้เชื้อเพลิงร่วม (บาท)

5.10

5.10

5.10

 อัตราค่าเชื้อเพลิงร่วม (บาท/กม.)

1.71

1.71

1.71

 อัตราการประหยัด (บาท/กม.)

0.71

0.71

0.71

 ประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อวัน (บาท)

35.55

71.1

142.2

 ระยะเวลาคืนทุน (เดือน)

32.82

16.41

8.21

 

       3.การบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น
       เมื่อรถยนต์ของท่านมีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับก๊าซ NGV แล้ว รถของท่านจะต้องมีการบำรุงรักษาเพิ่มเติมกว่ารถปรกติบ้างอาทิ การตรวจเช็ครอยรั่วของท่อก๊าซ NGV ทุกเดือนโดยการใช้ฟองสบู่ ตรวจเช็คและความสะอาดไส้กรองอากาศทุก 5,000 กม. ตรวจเช็คน็อต สกรูที่ยึดถังก๊าซทุกเดือน และตรวจเช็ค และตั้งบ่าวาล์วไอเสียทุกระยะทางใช้งาน 40,000-60,000 กม. ทั้งนี้บ่าวาล์วไอเสียของเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ NGV มีโอกาสจะสึกหรอเร็วกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน จึงแนะนำให้ใช้น้ำมันเบนซินสลับกับการใช้ก๊าซ NGV บ้างเพื่อให้น้ำมันเบนซินไปเคลือบบ่าวาล์วทำให้บ่าวาล์วมีอายุการใช้งานนานขึ้น

 

       4. ควรศึกษาข้อมูลรายชื่อผู้ติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV ที่ได้มาตรฐาน
       การติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV ที่ได้มาตรฐานเข้ากับรถของท่าน นอกจากจะมีความปลอดภัยแล้ว ก็ยังทำให้ท่านไม่ต้องมีเรื่องจุกจิกกวนใจหลังจากติดตั้งด้วย โดยรายชื่อผู้ติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV ที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบได้จากเว็ปไซด์ของ ปตท.(www.pttplc.or.th)

 

       5. ข้อมูลอื่นๆ
       ท่านสามารถศึกษาข้อมูลอื่นๆที่ท่านสนใจเช่น นโยบายภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนได้ในเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องอาทิของ ปตท. (www.pttplc.co.th) กรมธุรกิจพลังงาน (www.doeb.go.th) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (www.dede.go.th) กรมการขนส่งทางบก(www.dlt.go.th)

 

      เมื่อท่านพิจารณาข้อมูลต่างๆทั้งหมดอย่างรอบครอบแล้ว และเห็นว่าการติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซ NGV จะเป็นประโยชน์กับท่าน และประเทศชาติก็ให้รีบที่จะตัดสินใจดำเนินการ และผู้เขียนเองก็เห็นว่าก๊าซ NGV จะเป็นหนึ่งในพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกในภาคขนส่งที่มีอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอน

 

      นโยบายภาครัฐ ⇒ Government Plant
      กฎหมายและข้อบังคับ ⇒ Regulation and Law
      ข้อมูลและข่าวสารทางด้านเทคนิค ⇒ Data Technic
      รวม Link ที่เกี่ยวข้อง ⇒ Link

 

       สำหรับผู้ใช้
       ⇒ รายชื่อผู้ติดตั้งก๊าซ NGV
       ⇒ ถังบรรจุก๊าซและมาตรฐาน
       ⇒ สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ NGV

 

       เขียนโดย ธนวัฒน์ บุญประดิษฐ์/แผนกวิศวกรรมยานยนต์
       และต้องขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

         1. ปตท. (www.pttplc.co.th)
         2. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (www.manager.co.th)
         3. กรมธุรกิจพลังงาน(www.doeb.go.th)
         4. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(www.dede.go.th)
         5. กรมการขนส่งทางบก(www.dlt.go.th)

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

ติดต่อ ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์

อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา (สพข.) ซ.ตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถ.พระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์: 0-2712-2414 ต่อ 6443
email : aiu@thaiauto.or.th