วัดฮินดูในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- รายการปกิณกะอินเดีย

รับฟังเสียง


วัดฮินดูในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เพลง Jai Jai Shiv Shankar
เพลงที่เปิดไปเป็นเพลงที่ทุกวันนี้ความนิยมยังไม่จางหายในหมู่ชาวอินเดีย เพลงนี้มีชื่อว่า “Jai Jai Shiv Shankar” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อ Aap Ki Kasam ฉายในปี ค.ศ. 1974 กำกับโดยชัย โอม ประกาศ (Jay Om Prakash) ดารานำภาพยนตร์เรื่องนี้คือราเชศ ขันนา (Rajesh Khanna) และมุมตาซ (Mumtaz) เพลงนี้ขับร้องโดยกิโศร์ กุมาร (Kishore Kumar) และลตา มังเคศการ (Lata Mangeshkar)

วัดฮินดูแห่งแรกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) (นาที 4)
ช่วงนี้เหมือนจะเป็นเทศกาลศาสนาสำหรับรายการปกิณกะอินเดียเลยก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้เราก็พูดถึงวัดพระรามที่เมืองอโยธยา (Ayodhya) และหลังจากนั้นก็พูดเรื่องการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากอินเดียมาประดิษฐาน ณ ราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มีโอกาสเข้าสักการะบูชา วันนี้จะขอพูดเรื่องวัดฮินดูแห่งแรกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) ด้วย

วัดฮินดูที่ว่านี้เรียกกันทั่วหน้าว่า “The BAPS Hindu Mandir” ทว่าชื่อทางการของวัดคือโพจสังวาสี อักษร ปุรุโษตตัม สวามีนารายัณ สังสถา (Bochasanwasi Akshar Purushottam Swaminarayan Sanstha)

วัดนี้สร้างในอาบูดาบี (Abu Dhabi) เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ขอเน้นย้ำว่าอาบูดาบีคือเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ใช่ดูไบ (Dubai)
เรื่องเมืองหลวงคนไทยจำนวนหนึ่งยังสับสน
คือมักจะคิดว่าเมืองที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ หรือใหญ่ที่สุด หรือที่คุ้นเคยกันมากที่สุดจะต้องเป็นเมืองหลวง ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้น

นอกจากเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้ว ประเทศที่ผู้คนค่อนข้างสับสนเรื่องเมืองหลวงมากคือ ตุรกี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์

(1) เมืองหลวงของตุรกีคืออังการา (Ankara) ไม่ใช่ อิสตันบูล (Istanbul)
(2) เมืองหลวงของออสเตรเลียคือแคนเบอร์รา (Canberra) ไม่ใช่ซิดนีย์ (Sydney)
(3) กรณีของเนเธอร์แลนด์ก็น่าสับสนอยู่ คืออัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เป็นเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ทว่าเฮก (The Hague) เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ สถานทูตต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งพระราชวังซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์

ที่วันนี้ต้องเสริมเรื่องนี้เข้าไปก็เพราะว่าแฟนคลับรายการคนหนึ่งบอกกับผมว่า หากมีอะไรที่เราทั้งสองพอเพิ่มเป็นความรู้ได้ก็ช่วยบอกในรายการด้วย
วัดฮินดูในอาบูดาบี
หลายคนรวมถึงผมด้วยทราบข่าวนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 เมื่อนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วันเปิดวัดนี้อย่างเป็นทางการคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ประมาณไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่โมดีเปิดวัดพระรามในอินเดียในเมืองอโยธยา

พิธีเปิดมีบุคคลสำคัญ 3 คน คือ (1) โมดี (2) มหันต์ สวามี มหาราช (Mahant Swami Maharaj) (3) ชัยค์ นะฮ์ยัน มุบาร็อก อันนะฮ์ยัน (Sheikh Nahayan Mabarak Al Nahyan) จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
วัดฮินดูในอาบูดาบีบริหารจัดการโดยโพจสังวาสี อักษร ปุรุโษตตัม สวามีนารายัณ สังสถา
องค์กรนี้มีประวัติยาวนานถึง 200 ปีตามเว็บไซต์ของตน มีสำนักงานใหญ่ในมลรัฐคุชราต (Gujrat) คือมลรัฐบ้านเกิดของนายโมดี

องค์กรนี้กล่าวถึงตนเองว่าเป็นองค์กรแห่ง “สามัคคีธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณและอาสาสมัคร” มีเป้าหมายเพื่อ “ส่งเสริมคุณค่าของชาวฮินดูในด้านความศรัทธา การรับใช้ และความสามัคคีทั่วโลก” ในเว็บไซต์ระบุด้วยว่า วัดฮินดูแห่งนี้เป็นเรื่องราวอันน่าทึ่งเกี่ยวกับความศรัทธา ความทุ่มเท และความร่วมมือของผู้คนและหน่วยงานจำนวนมาก

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ซึ่งเป็นองค์กรที่เก็บข้อมูลและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ระบุว่า มีชาวฮินดูประมาณ 660,000 คนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแม้ว่าวัดต่าง ๆ จะอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม มีรายงานว่าวัดนี้เป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคนิคแบบดั้งเดิม
วัดแห่งนี้สร้างจากหินทรายสีชมพูจากมลรัฐราชสถาน (Rajasthan) หินอ่อนสีขาวจากอิตาลี แกะสลักในอินเดียและประกอบในดูไบ
ยอดแหลมเจ็ดยอดของวิหารแต่ละแห่งเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อาคารของวัดแห่งนี้ประกอบด้วยศูนย์สำหรับผู้มาเยี่ยมชม ห้องสวดมนต์ มีสวน มีสนาม พื้นที่การเรียนรู้ ฯลฯ

วัดแห่งนี้มีเซ็นเซอร์ 100 ตัว ติดตั้งอยู่ที่ฐานและมีเซ็นเซอร์เพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ฯลฯ

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 68 ไร่ เชื่อกันว่า สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 7,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท มีความสูง 32.9 เมตร ความยาว 79.8 เมตร และความกว้าง 54.8 เมตร
การมีวัดฮินดูขนาดมหึมาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนัยะสำคัญ 4 ข้อ
(1) ปกติแล้ว ประเทศมุสลิมบางประเทศอาจจะไม่ใจกว้างแบบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องนับว่านี่คือการแสดงถึงความใจกว้างไม่น้อยเลย นอกจากทางการของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะอนุญาตให้สร้างวัดฮินดูนี้และอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ได้แล้ว ยังบริจาคที่ดินสำหรับการสร้างวัดแห่งนี้ด้วย

ใคร่ชวนท่านผู้ฟังสังเกตด้วยว่า ชัยค์ นะฮ์ยะน มุบาร็อก อันนะฮ์ยัน ที่ร่วมเปิดวัดแห่งนี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงขันติธรรมและการอยู่ร่วมกัน (Ministry of Tolerance and Existence) ต้องบอกเลยว่าชื่อกระทรวงแบบนี้ไม่ค่อยเห็นกันนัก ผมเข้าไปดูเว็บไซต์ของกระทรวง สโลแกนที่กระทรวงนี้ใช้คือ “We believe that the Ministry of Tolerance and Coexistence is a Ministry for al.l” (เราเชื่อว่ากระทรวงขันติธรรมและการอยู่ร่วมกันเป็นกระทรวงสำหรับทุกคน)

(2) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ผู้คนที่มีภูมิหลังชาติพันธุ์หลากหลายมาทำงานกันมาก ตัวเลขล่าสุดว่าด้วยประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีประชากรทั้งหมด 10.24 ล้านคน ในนี้มีชาวเอมิเรติ (Emirati) อยู่เพียง 1.18 ล้านคน ที่เหลือประมาณ 9 ล้านกว่าคือชาวต่างชาติ ถ้านับเป็นสัดส่วนก็คือชาวเอมิเรติมีเพียงร้อยละ 11.48 แต่ต่างชาติมีมากถึงร้อยละ 88.5 ในจำนวนประชากรต่างชาติ ผู้คนจากประเทศเอเชียใต้นับเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด

(3) ตรงนี้ท่านผู้ฟังคงเห็นแล้วว่า ชาวอินเดียที่ไปทำมาหากินจากต่างประเทศนั้นเยอะมาก และก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญแหล่งหนึ่งของอินเดียด้วย

(4) ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างอินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในครั้งนี้ที่โมดีเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อร่วมพิธีเปิดวัดดังกล่าว โมดีนอกจากจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดรัฐบาลโลกแล้ว เขายังได้ปราศรัยต่อชาวอินเดียโพ้นทะเล และพบปะเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย การกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์น่าสนใจยิ่ง ขณะนี้อินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นพันธมิตรที่สนิทสนมกันมาก ตัวเลขการค้าระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองในเวลานี้พุ่งไปถึง 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว และในครั้งนี้ด้วยที่อินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามข้อตกลงการลงทุนทวิภาคีและข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

ยังมีเรื่องข้อตกลงว่าด้วยระเบียงการค้าที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อยุโรปกับอินเดียผ่านบางส่วนของตะวันออกกลางทางทะเลและทางรถไฟ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ระเบียงทางการค้าดังกล่าวซึ่งเคยประกาศเมื่อเดือนกันยายนผ่านกรอบการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงนิวเดลีในปีที่แล้ว มีเป้าหมายที่จะขยายจากอินเดียข้ามทะเลอาหรับไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่จะเชื่อมต่อผ่านจอร์แดนและอิสราเอลไปยังยุโรป ข้อตกลงที่กล่าวกันในการประชุม G20 ปีที่แล้วนี้ชะงักงันไปเพราะสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ทว่าเจตนาข้อหนึ่งเบื้องหลังการเชื่อมต่อที่ว่านี้ก็จะช่วยให้บรรดาประเทศอาหรับไม่มองอิสราเอลในแง่ร้าย ซึ่งก็เป็นไปในทางที่ดีมาระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2020 เมื่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดความสัมพันธ์ทางการทูต

ชาวไทยต้องเตรียมพร้อม เราต้องคิดให้ไกลกว่าในประเทศหรือในอาเซียน โลกไม่เคยรอเรา ยุโรปไม่รอเรา ตะวันออกกลางไม่รอเรา อินเดียไม่รอเรา ไม่มีใครมารอเรา สิ่งที่เราต้องทำคือหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของโลก หากเราไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราก็จะตกขบวนรถไฟของแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างแน่นอน
ประชาสัมพันธ์เรื่องการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากอินเดียมาประดิษฐาน ณ ราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว
เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มีโอกาสเข้าสักการะบูชา

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ อัญเชิญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึง 3 มีนาคม

วันที่ 4 มีนาคม อัญเชิญไปยังหอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะในวันที่ 5-8 มีนาคม

วันที่ 9 มีนาคม อัญเชิญไปยังวัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะในวันที่ 10-13 มีนาคม

วันที่ 14 มีนาคม อัญเชิญไปยังวัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะในวันที่ 15-18 มีนาคม

หมายเหตุ: โดยทุกวันที่เปิดเข้าสักการะ จะเปิดในเวลา 09.00-20.00 น. เท่านั้น
.
รายการปกิณกะอินเดีย วันเสาร์ 10.30 น. Chula Radio
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และ ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐ วัชรคิรินทร์ นักวิชาการอิสระ

(Live) รายการ สุขกันเถอะเรา