Cyber Security คืออะไร?

Cyber Security คืออะไร?

          Cyber Security คือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์  ที่ต้องการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยประกอบไปด้วย ระบบสารสนเทศ (Information System) โปรแกรมประยุกต์ (Application) ข้อมูล (Data) ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเข้าระบบเครือข่าย (Mobile Phone, Tablet, TV, IoT) หน่วยบันทึกข้อมูลและอุปกรณ์เครือข่าย (Storage, Network Device) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีจุดประสงค์ คือ เพื่อป้องกันการเข้าถึง การแก้ไข การเปลี่ยนแปลง หรือการทำลายข้อมูลจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือบุคคลที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นหลายๆองค์กร จึงให้ความสำคัญเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไม่แพ้กัน เพราะหากลูกค้าหรือผู้ใช้บริการโดนโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไป อาจทำให้องค์กรเสียหายหรือเสียชื่อเสียงได้  **Cyber คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

ความสำคัญของ Cyber Security

1. ความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์

จากการศึกษาของ University of Maryland พบว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมีแฮกเกอร์พยายามเข้าถึงและโจมตีระบบในระยะเวลาเพียง 39 วินาทีโดยประมาณหรือประมาณ 2,244 ครั้งต่อวัน ดังนั้นองค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ข้อมูลทางการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลสำคัญระดับประเทศ เป็นต้น หากไม่มีระบบการป้องกันทางไซเบอร์ที่เข้มงวด แฮกเกอร์อาจสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างง่ายดาย

2. การรั่วไหลของข้อมูล

หากองค์กรไม่มีระบบการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) อาจถูกเปิดเผยหรือนำไปใช้งานอย่างไม่เหมาะสมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลตามมาได้

3. องค์กรเสียชื่อเสียง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่องค์กรไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไ จนทำให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงหรือเปิดเผยข้อมูล อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กร เช่น สูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าและซื้อข้อมูลที่ถูกขโมยไปกลับมา หรือแม้กระทั่ง ชื่อเสียงเกี่ยวกับความปลอดภัยขององค์กรก็จะเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีต่อองค์กรและยากที่จะกู้คืนความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการให้กลับมาเชื่อมั่นในองค์กรเหมือนเดิม

 

Cyber Security มีกี่ประเภท

1. Critical Infrastructure Security

เป็นการรักษาความปลอดภัยของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การสร้างระบบความปลอดภัยที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากหากไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม อาจเกิดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีมากกว่ารูปแบบอื่น โดยเฉพาะระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาล ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่เป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งข้อมูลทางการเงินก็นับว่าเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน ที่การรักษาความปลอดภัย Critical Infrastructure Security จะต้องทำโครงสร้างออกมาให้แข็งแรง เพื่อป้องกันข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น

2. Network Security

คือการรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการป้องกันการคุกคามจากบุคคลภายนอกที่พยายามเข้าถึงและใช้งานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกับการนำเทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนนี้

3. Cloud Security

หากองค์กรตัดสินใจเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในเซิร์ฟเวอร์ภายในบริษัท จะมีความเสี่ยงที่ข้อมูลอาจถูกโจมตีได้ การโอนย้ายข้อมูลเพื่อจัดเก็บบน Cloud Security เป็นตัวช่วยที่สามารถเพิ่มความปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันระบบความปลอดภัยของคลาวด์ก็มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหมาะสมกับความต้องการและเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้งาน

4. Application Security

ในกระบวนการพัฒนาหรือติดตั้งแอปพลิเคชัน อาจเกิดการโจมตีหรือการแฝงตัวเข้ามาได้ ดังนั้นการเลือกใช้ตัวช่วยในการรักษาความปลอดภัยผ่านแอปพลิเคชันเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยให้กับกระบวนการพัฒนาระบบได้อีกวิธีหนึ่ง

5. Internet of Things Security

การรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มีการใช้งานตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากระบบ IoT มีการส่งรับข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและป้องกันการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต

 

 

          5 เหตุผลที่องค์กรต้องทำระบบ Cyber Security ซึ่งแม้จะไม่ได้เห็นผลลัพธ์เป็นมูลค่า แต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่สำคัญและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลธุรกิจ สูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลจากการโจมตี รวมถึงความเสียหายทางด้านภาพลักษณ์ขององค์กร

       1.  เพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรและข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางทุจริต

การสร้างระบบ Cybersecurity ที่รัดกุมและครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน ไปจนถึงการวางแผนระยะยาว คือส่วนสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถสกัดกั้นการโจมตีจากแฮกเกอร์ก่อนที่จะเข้ามาขโมยข้อมูลและนำไปใช้ในทางทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าระบบเพื่อโจมตีให้ข้อมูลเสียหาย การขโมยข้อมูลลูกค้าไปขายหรือใช้ในการหลอกลวงเพื่อสร้างความเสียหายต่อบุคคล การนำข้อมูลไปใช้ปลอมแปลงเพื่อการทำธุรกรรม รวมทั้งการโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ (Ransomware) เป็นต้น ซึ่งองค์กรควรมีการวางแนวทางและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี นโยบายขององค์กร และพนักงานในองค์กร เพื่อให้ระบบ Cybersecurity ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

       2.  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและชื่อเสียงขององค์กร

หากองค์กรถูกโจมตีทางไซเบอร์ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมานั้น คือความเสียหายทางด้านค่าใช้จ่ายที่อาจมีมูลค่ามหาศาล อย่างเช่น การโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ด้วยวิธีการแอบลักลอบขนข้อมูลออกไปและติดตั้งมัลแวร์เพื่อเข้ารหัสข้อมูลไม่ให้เจ้าของข้อมูลสามารถใช้งานได้หากไม่ยอมจ่ายเงิน ที่เรียกว่า Ransomware หรืออาจเกิดค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูลที่สูญหายไป รวมไปถึงความเสียหายในด้านชื่อเสียงขององค์กร ที่ประเมินค่าเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้ แต่เรียกได้ว่าเป็นความเสียหายที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งส่งผลให้องค์กรถูกมองในทางลบทั้งต่อผู้ลงทุน ลูกค้า รวมถึงพนักงานในองค์กรเอง การทำระบบ Cybersecurity จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเหล่านี้ได้

       3.  เพื่ออุดช่องโห่วการป้องกันด้วยระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐานรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่เพียงพอในการป้องกันภัยไซเบอร์สมัยใหม่

มาตรการทางสารสนเทศ (IT Policy) คือมาตรฐานในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันภัยขององค์กรที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนารูปแบบการโจมตีที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การป้องกันเพียงระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐาน (Infrastructure Protection) เช่น การติดตั้ง Firewall, การแยก Zone ของระบบเครือข่าย อาจดีไม่เพียงพอสำหรับโลกในยุคปัจจุบันและเป็นช่องโหว่ให้เกิดการโจมตีได้ ซึ่งองค์กรควรวางระบบป้องกันที่ครอบคลุมมากขึ้น ตั้งแต่ระบบตรวจจับมัลแวร์หรือไวรัสที่ครอบคลุมทั้งระบบขององค์กร เช่น Antivirus, EDR (Endpoint Detection and Response) ระบบรวบรวมข้อมูลบันทึกและแจ้งเตือนจากอุปกรณ์ในองค์กรเพื่อการป้องกันและแจ้งเตือนที่ดียิ่งขึ้น เช่น SIEM (Security incident and event management)

       4.  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตรที่ร่วมงานกับองค์กร

สถิติการเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ค่อนข้างสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้องค์กร หน่วยงาน รวมถึงประชาชนเอง ต่างเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่าข้อมูลที่หมุนเวียนอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นถูกปกป้องอย่างดีแล้วหรือยัง ดังนั้นองค์กรและธุรกิจจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในข้อมูลให้ได้มากที่สุด ผ่านการวางระบบ Cybersecurity ที่ชัดเจนและได้ประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าผู้ใช้บริการที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับองค์กร

       5.  ปฏิบัติตามพรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA คือข้อสำคัญที่ทำให้องค์กรต้องวางระบบความปลอดภัยในข้อมูล เพื่อดูแลและปกป้องข้อมูลของลูกค้า ข้อมูลผู้ใช้งาน หรือข้อมูลพนักงานในองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด เพราะถ้าหากองค์กรหรือหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามจะทำให้เกิดบทลงโทษกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง จึงเป็นเหตุผลให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องตระหนักและเพิ่มมาตรการการรักษาข้อมูล เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งต่อบุคคล องค์กร และความเสียหายทางด้านโทษทางกฎหมาย

 

               

 

ประเภทของการโจมตีด้วยการแฮ็กข้อมูล

          มีการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทที่เป็นทั้งแบบเปิดเผยและแบบแอบแฝง ซึ่งพบบ่อยที่สุดมีอยู่ 5 ประเภท:

•  มัลแวร์ (Malware) เป็นช่องโหว่ที่สามารถทะลุการปกป้องเครือข่ายของคุณเช่น สปายแวร์ (spyware) ไวรัสเรียกค่าไถ่ (ransomware) และไวรัสคอมพิวเตอร์ (viruses)

•  ฟิชชิ่ง (Phishing) – ข้อความเหล่านี้เป็นข้อความที่เป็นอันตราย (โดยส่วนมากที่พบคืออีเมล) ที่มีลิงก์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเมื่อได้คลิกเข้าไปแล้ว จะทำการหลอกล่อให้คุณส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อนไปยังเป้าหมาย

•  การปฏิเสธการให้บริการ (Denial of Service (DoS)) – แฮกเกอร์มักทำการโจมตีเพื่อทำให้เครือข่าย หรือระบบของคุณ ที่มีข้อมูลส่วนเกิน จนล้นเครือข่าย และบังคับให้ระบบหยุดทำงาน

•  เทคนิคคนกลาง (Man in the middle (MitM)) – อาชญากรไซเบอร์ที่เข้ามาอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อของคุณ ซึ่งมักจะกระทำผ่านเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย และขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของคุณไป

•  การโจมตีแบบซีโร่เดย์ (Zero-day attack) – พบได้น้อย แต่มากขึ้นเรื่อย ๆ การโจมตีทั่วไปที่เกิดขึ้นระหว่างรอการประกาศการอัปเดตความปลอดภัย หรือโปรแกรมแก้ไข และการติดตั้งดังกล่าว

การโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนวนมาก เช่น คาเฟ่ที่มีเครือข่าย Wi-Fi ที่ไม่ปลอดภัย หรือร้านค้าออนไลน์ที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีแบบ Zero-day เป็นต้น

 

ความเข้าใจที่ผิด ต่อ Cyber Security

1. เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของฝ่ายไอทีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับฝ่ายอื่น

2. เข้าใจผิดว่าภาครัฐจัดการให้ทั้งหมด

3. เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัยของระบบเครือข่าย (Network) อย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่นของผู้ใช้งาน (User Application)

4. เข้าใจผิดว่ามีพาสเวิร์ดสำหรับการล็อกอินก็ปลอดภัยพอแล้ว

5. เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของการถูกโจมตีจากแฮ็คเกอร์ภายนอกเท่านั้น

6. เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยังไม่ต้องรีบ

7. เข้าใจผิดว่าเป็นการทำโครงการครั้งเดียวแล้วเลิก ไม่ต้องหมั่นซ้อม ไม่พัฒนาต่อเนื่อง

การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์คืออะไร

                                      

          การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือความสามารถ

ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ทั้งจากการ

ดำเนินการเอง และจากภัยคุกความทางไซเบอร์ประกอบไปด้วย

1. การระบุเหตการณ์ความเสี่ยงได้ครอบคลุม

2. การกำหนดมาตรการป้องกันล่วงหน้า

3. การตรวจจับข้อผิดพลาดหรือการตรวจจับการบุกรุกทางไซเบอร์

4. การรับมือกับสถานการณ์ข้อผิดพลาด

5. การคืนสภาพจากการความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

 

ผู้บันทึกข้อมูล : wallop
View : 124
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและปรับปรุงบริการ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ที่ปุ่ม "ตั้งค่าคุกกี้" Privacy Policy    ยอมรับทั้งหมด