เรื่องเล่าชุมชน |

จันเสน-พิพิธภัณฑ์จันเสน, จ.นครสวรรค์ 23 ก.ย. 64

เครื่องมือจับปลา

คนในชุมชนจันเสนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาข้าว ในช่วงฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนสิงหาคม - ธันวาคม (สมัยก่อนทำนาแบบปักดำ แต่ปัจจุบันเป็นการทำแบบนาตม ใช้การหว่าน) น้ำจะหลากมาจากทางเหนือไหลเข้าสู่พื้นที่นาข้าว ชาวบ้านเริ่มหาอาหารโดยการจับสัตว์น้ำเก็บไว้กินช่วงหน้าแล้ง เช่น ปลาย่าง ปลาเกลือ ปลาร้า

เครื่องมือการจับสัตว์น้ำในหนอง ลำคลอง และท้องนาของชาวชุมชนจันเสน เช่น ตุ้มดักปลา ข้องเป็ด ลอบ ไซ สุ่ม ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน

ข้องเป็ด ใช้ใส่ปลาหรือขังปลา ส่วนก้นของข้องเป็ด สามารถลอยในน้ำได้ คนหาปลานิยมนำข้องเป็ดผูกติดกับเอวขณะทอดหรืองมแห เมื่อจับปลาได้จะนำใส่ในข้องเป็ด


ข้อง รูปทรงคล้ายตะกร้าปากแคบ ฝาปิดทำเป็นซี่ ปลายสอบเข้าหากัน ก้นเป็นสี่เหลี่ยม ใช้สำหรับใส่ปลา


สุ่มดักปลา เป็นเครื่องมือไว้สำหรับครอบปลาตามทุ่งนา และหนองน้ำ ที่มีน้ำตื้น


ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ ส่วนใหญ่ใช้ดักปลาเล็กปลาน้อยในแหล่งน้ำที่ไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหล และบริเวณช่องระบายน้ำเข้าออกตามคันนา ไซมีหลายรูปทรง เช่น ไซปาดแตร ไซท่อ ไซสองหน้า ไซลอย ไซกบ


ลอบยืน มักวางบริเวณที่น้ำลึก โดยสังเกตร่องน้ำทางเดินของปลา โดยให้ปากลอยหันไปทางกระแสน้ำไหล การวางลอบยืนจะวางครั้งละหลายอัน พร้อมมีเฝือกประกอบ

ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน แล้วจึงไปกู้ลอบคืน ส่วนใหญ่ใช้ดักปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาแรด ปลาชะโด


ตุ้มดักปลา มักวางบริเวณน้ำตื้นลึกไม่เกินหัวเข่า ในตุ้มเป็นเหยื่อปลา เช่น ดินปลวก รังมดแดง รำข้าว หรือนำขี้ควายตากแห้งมาทาให้ทั่วก่อนใช้ เพื่อให้ปลาเหยื่อแล้วเข้าในตุ้ม

เรื่องเล่าชุมชน