ศูนย์การรักษา ศูนย์การรักษา

เทคโนโลยีจักษุวิทยา เทคโนโลยีจักษุวิทยา

“ตา เป็นประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุด เมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสส่วนอื่น
ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคทางตาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ด้วยเครื่องตรวจตาที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการตรวจรักษาล่าสุด อาทิ ตรวจวัดสายตา ตรวจจอประสาทตา กล้ามเนื้อตา ตาเขตาเหล่ ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ต้อลม และนวัตกรรมการรักษาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัดรักษาตาด้วยกล้องผ่าตัดสามมิติ  (3D Head-Up Strabismus Surgery) แห่งแรกในประเทศไทย
 
 

ทำไมเราต้องตรวจสุขภาพตาประจำปี 

อาจจะสงสัยว่าทำไมเราต้องตรวจสุขภาพตาหากยังไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา หรือยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคตาบางโรค อาจจะไม่แสดงอาการ จนกว่าโรคจะอยู่ในขั้นที่รุนแรง ซึ่งอาจจะไม่สามารถรักษากลับมาให้เป็นปกติได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองสุขภาพตาตั้งแต่ต้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก 
 

ข้อดีของการตรวจสุขภาพตา

  • ตาก็เหมือนอวัยวะอื่นถ้าพบโรคแต่แรกเริ่ม การรักษาก็ง่ายและได้ผลดีกว่าแน่นอน
  • หากตรวจพบสมรรถภาพการมองเห็นที่ไม่ดี สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การทำงานในชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย
  • การตรวจตาอย่างละเอียดอาจพบโรคเรื้อรังทางกายซ่อนอยู่ 

5 นวัตกรรมการตรวจรักษาคนไข้โรคตา 

 
1. นวัตกรรมการตรวจจอประสาทตา โดยไม่หยอดยาขยายม่านตา 
เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย ไม่เสียเวลาหยอดยาขยายม่านตา ไม่มีปัญหาตามัวหลังการหยอดยาขยายม่านตา 
ผู้ป่วยได้มองเห็นภาพจอประสาทตาของตัวเองในขณะที่ได้รับการอธิบาย โดยแพทย์อย่างละเอียดและเข้าใจอย่างดี
 
2. นวัตกรรมการตรวจหลอดเลือดในจอประสาทตา โดยไม่ฉีดยา 
เพื่อรบกวนผู้ป่วยที่มาเข้ารับการบริการให้น้อยที่สุด โดยสามารถเห็นภาพเส้นเลือดจอประสาทตาของตัวเอง ในขณะที่แพทย์อธิบาย
 
3. นวัตกรรมการผ่าตัดรักษาโรคทางตาผ่านกล้องสามมิติ 
เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้ผลการผ่าตัดที่ดี โดยเตรียมความพร้อมการเรียนการสอน โดยผู้เข้าร่วมในการผ่าตัดสามารถมองเห็นภาพ และระดับความลึกของภาพได้เสมือนแพทย์ผ่าตัดเอง
 
4. นวัตกรรมการผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก 
การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กโดยไม่เย็บแผล เพื่อการมองเห็นที่ดีหลังการผ่าตัด และการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดที่รวดเร็ว และลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด
 
5. นวัตกรรมเลเซอร์รักษาตะกอนวุ้นตาเสื่อม การรักษาตะกอนวุ้นตาเสื่อมโดยการยิงเลเซอร์ตะกอนวุ้นตา เพื่อลดปัญหาเรื่องการเห็นหยากไย่ ใยแมงมุมที่ก่อให้เกิดความรำคาญในผู้ป่วย ที่เห็นอะไรลอยไปลอยมา ในชีวิตประจำวัน

 

 

Ophthalmology Clinic

Provides specialized examination, diagnosis and treatment of eye conditions for both children and adults, using the most advanced equipment and techniques, for such tests and conditions as optical measurement, ocular muscle assessment, strabismus, cataract, glaucoma, pterygium as well as eye surgery with the use of 3-dimensional surgical camera.

 

โรคต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจกเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์ตา ทำให้จากเดิมที่มีลักษณะใส และแสงสามารถผ่านเข้าไปในตาได้กลายเป็นสีเหลือง น้ำตาล หรือขาว ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง ผลก็คือทำให้การมองเห็นลดลง ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน


สาเหตุ

โดยทั่วไปเลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นเมื่ออายุ 40 ปี สาเหตุหลักเกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติ ส่วนน้อยเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  1. ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันของมารดาระหว่างตั้งครรภ์
  2. โรคภายในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ โรคจอประสาทตา โรคต้อหิน
  3. ได้รับอุบัติเหตุทางตา
  4. การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด
  5. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคขาดสารอาหาร
  6. สภาวะแวดล้อม การทำงานและการดำรงชีวิต เช่น การทำงานอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เป็นต้น
  7. สาเหตุอื่น เช่น พันธุกรรม การสูบบุหรี่ โรคจิตเภท โรคทางเมตาบอลิก
     

อาการของต้อกระจก

  1. มองไม่ชัดหรือตามัว เป็นอาการเด่นของต้อกระจก โดยค่อยๆมัวลงอย่างช้าๆ หรืออาจสังเกตว่าเห็นเป็นฝ้าหรือมีหมอกมาบัง อาการตามัวที่มากหรือน้อยขึ้นกับความขุ่นของเลนส์แก้วตา
  2. มองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากการหักเหของแสงไม่รวมเป็นจุดเดียวที่จอประสาทตา
  3. เห็นแสงไฟกระจาย และอาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง
  4. สายตาสั้น เห็นในระยะใกล้ดีขึ้น บางรายสายตาสั้นขึ้นจนอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น เรียกว่า "สายตากลับ" เกิดจากกำลังหักเหของเลนส์ตาที่เพิ่มขึ้น
  5. อาจเห็นเป็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา ในกรณีที่ต้อกระจกสุกเต็มที่แล้ว
     

ขั้นตอนและวิธีการรักษา

จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยดวงตาอย่างละเอียด เพื่อแยกชนิด ตำแหน่ง และความรุนแรงของต้อกระจก นอกจากนี้ยังต้องวัดความดันลูกตา ตลอดจนตรวจน้ำวุ้นตากับจอประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้สายตาขุ่นมัว หรือมีโรคตาอื่นมาประกอบด้วย ในบางกรณีจักษุแพทย์บางท่านอาจใช้ยาหยอดตา เพื่อชะลอความรุนแรงของต้อกระจก แต่ไม่มียาชนิดใดสามารถลดหรือหยุดต้อกระจกได้ เมื่อสายตาขุ่นมัวจนไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรทำการผ่าตัด หรือสลายต้อกระจก และใส่เลนส์สังเคราะห์ หรือเลนส์แก้วตาเทียมให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้มองเห็นในระยะไกลได้เป็นปกติ

วิธีการสลายต้อกระจก

1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์ หรือ “เฟโค” (Phacoemulsification + Intraocular Lens Implantation)
การสลายต้อด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์เป็นวิธีล่าสุดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในปัจจุบัน จักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ที่ผนังตาขาวประมาณ 3 มม. เพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก และปล่อยคลื่นอุลตร้าซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าสลาย และขจัดต้อกระจกจนหมด เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตาเพื่อเป็นถุงรองรับเลนส์แก้วตาเทียม จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงนี้ แผลทีเกิดขึ้นมีขนาดเล็ก ดังนั้น จึงสมานตัวเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผลในคนไข้ส่วนใหญ่ และมีระยะเวลาการฟื้นตัวที่รวดเร็ว

2. วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง
เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยการเปิดแผลกว้างประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์ออก เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปในถุงนี้ หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผล

 

การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

  1. ควรสวมแว่นกันแดด กันลมภายหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่จะมาเข้าตา และป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
  2. ควรปิดที่ครอบตาไว้เวลานอน เพื่อป้องกันการขยี้ตาหรือมือโดนลูกตาขณะนอนหลับ
  3. ห้ามน้ำเข้าตาโดยเด็ดขาดในช่วงเวลาที่จักษุแพทย์กำหนด ให้ใช้การเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และควรนอนหงายให้ผู้อื่นสระผมให้แทนการยืนสระด้วยตัวเอง
  4. หยอดยาและเช็ดตาตามที่จักษุแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

 

คำแนะนำก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

  1. ในตอนเย็นก่อนวันผ่าตัดให้อาบน้ำ สระผมให้สะอาด
  2. ยาประจำตัวสามารถรับประทานได้ตามปกติ ยกเว้นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  3. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอมีเสมหะ หรือรู้สึกวิตกกังวล นอนไม่หลับ ควรแจ้งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ให้ทราบ
  4. ในวันทำผ่าตัด ให้ล้างหน้าด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง ห้ามทาแป้งหรือโลชั่น ให้ถอดเครื่องประดับทุกชนิด รวมทั้งถอดฟันปลอม
  5. การผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ให้รับประทานอาหารได้ตามปกติ ยกเว้น กรณีทำผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ ต้องงดน้ำ และอาหารหลังเที่ยงคืน
  6. ผู้ป่วยจะได้รับการทำความสะอาดตาข้างที่ทำผ่าตัดโดยการเช็ดตา หยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะ และยาขยายม่านตา พร้อมให้รับประทานยาก่อนผ่าตัด

 

ข้อปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจก

  1. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะถูกปิดตาข้างที่ทำผ่าตัดไว้ ให้นอนพักโดยการนอนหงาย หรือนอนตะแคงด้านตรงข้ามตาข้างที่ทำผ่าตัด หลีกเลี่ยงการจาม ไอแรงๆ หรือก้มศีรษะมากๆ
  2. ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสัญญาณชีพจนคงที่
  3. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ทราบ
  4. รับประทานอาหารได้ทุกชนิด ยกเว้นของแข็งหรือเหนียว
  5. ตาข้างที่ทำผ่าตัด ห้ามเปิดออกหรือใช้มือถูขยี้ตา
  6. ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตาบริเวณข้างที่ทำผ่าตัด ถ้าต้องการทำความสะอาดใบหน้าให้เช็ดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำ บิดให้หมาด เช็ดเบาๆ
  7. รับประทานยาและหยอดตาตามแพทย์สั่ง

 

ข้อปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

1.ควรปิดที่ครอบตาไว้เสมอ
ยกเว้นเมื่อต้องเปิดหยอดตาหรือทำความสะอาดตา โดยให้เปิดที่ครอบตาด้วยความระมัดระวัง

2. การดูแลรักษาและทำความสะอาดตา

การเช็ดทำความสะอาดตา โดยปกติไม่จำเป็น แต่ถ้ามีขี้ตาหรือเปลือกตาเหนอะหนะ ควรใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือน้ำเกลือในชุดเช็ดตา บีบน้ำให้หมาด เช็ดเบาๆ บริเวณเปลือกตาบนและล่าง โดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา ห้ามเช็ดในลูกตา ก่อนเช็ดต้องล่างมือให้สะอาดทุกครั้ง ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด และไม่ควรใช้เครื่องสำอางหรือครีมทาหน้า

การครอบตา เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการกระแทก การกดทับ หรือเผลอขยี้ตา ต้องครอบตาก่อนนอนทุกครั้ง ทำความสะอาดที่ครอบตาด้วยสบู่ ล้างให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งทุกวัน ระยะแรกควรใส่แว่นสีชาแก่หรือสีดำ เพื่อป้องกันแสงสว่างเข้าตามาก ซึ่งทำให้เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล หากต้องการใส่แว่นก็ไม่จำเป็นต้องครอบตา แต่ต้องครอบเวลานอนทุกครั้ง

การอาบน้ำ ในระยะ 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทน สระผมได้ตามปกติ แต่ควรสระโดยวิธีนอนหงายหรือแหงนหน้าให้ผู้อื่นสระให้ ห้ามก้มหน้าสระเอง เพราะน้ำอาจเข้าตาได้ หากมีเศษผงหรือฝุ่นเข้าตาห้ามขยี้ ให้ไปพบแพทย์ สำหรับการอาบน้ำให้ตักราดจากบริเวณคอลงมา ห้ามอาบโดยใช้ฝักบัวโดยเด็ดขาด

3. การหยอดตาและการเก็บรักษายา

วิธีการหยอดตา ก่อนหยอดยา ต้องล้างมือให้สะอาด เขย่ายาให้เข้ากัน นอนหรือนั่งเอนตัวไปข้างหลัง เหลือบตามองขึ้นข้างบน ดึงเปลือกตาล่างลง หยอดยา 1 หยดลงบริเวณแอ่งตา แล้วปิดตา ระวังไม่ให้ปากขวดยาสัมผัสตา หากมียาไหลออกมาใช้สำลีเช็ดรอบๆตา ถ้ามียาหลายชนิด ควรเว้นระยะการหยอดห่างกันประมาณ 5 นาที ยาป้ายตาชนิดขี้ผึ้งควรป้ายหลังยาหยอดตา หากลืมหยอดตา เมื่อนึกได้ให้หยอดทันที หากยาหยอดตาหมดก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะการขาดยาจะทำให้เกิดผลเสียต่อเนื่องตามมา ยาหยอดตาเมื่อเปิดใช้แล้วควรเก็บไว้ในที่เย็น ยาจะหมดอายุประมาณ 1 เดือนหลังจากการเปิดใช้

4. การดูแลโดยทั่วไป

อาหาร รับประทานได้ทุกชนิด ไม่มีของแสลง

การทำงาน งดทำงานหนักในระยะ 2 เดือนแรก เช่น แบก ยก หามของหนักๆ ไม่ควรโค้งตัวเก็บของที่พื้น ก้มศีรษะนานๆ ไออย่างแรงหรือเบ่งมากๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้แผลแยกได้

การออกกำลังกาย สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น กายบริหาร เดินเร็วได้ ส่วนการวิ่ง ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ควรงดไว้ก่อน ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกถ้าไม่ได้ใส่แก้วตาเทียม หลังผ่าตัด 2-3 เดือน แพทย์จะวัดแว่นให้ใส่เพื่อทดแทนแก้วตาที่เอาออกไป ส่วนการผ่าตัดชนิดที่ใส่เลนส์เทียม ผู้ป่วยจะมองเห็นในระยะไกล สำหรับการมองในระยะใกล้หรืออ่านหนังสือ แพทย์จะตัดแว่นสายตาให้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

5. การมารับการรักษาต่อเนื่อง

มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง แต่ถ้ามีอาการผิดปกติทางตาเกิดขึ้น เช่น ตาแดงมาก มีขี้ตา ตาบวม ปวดตา น้ำตาไหล ตามัวลง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด


ต้อลมและต้อเนื้อ  (Pingeucula and Pterygium)

ต้อลม เป็นก้อนเนื้อนูนสีขาวเหลืองอยู่บนเยื่อบุตาขาว พบอยู่ทางด้านข้างของกระจกตา

ต้อเนื้อ มีลักษณะเหมือนแผ่นเนื้อสีแดง รูปสามเหลี่ยมงอกมาจากบริเวณเยื่อตา และยอดแหลมยื่นเข้าไปในกระจกตาดำ โดยต้อเนื้อจะค่อยๆโตอย่างช้าๆ มีขนาดหลากหลายตั้งแต่ขนาดเล็กและดูฝ่อจนถึงขนาดใหญ่ โตอย่างรวดเร็ว และมีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก ถ้าเป็นมากอาจลามเข้าถึงกลางกระจกตา และปิดบังการมองเห็นได้ อย่างไรก็ตาม ต้อเนื้อเป็นเนื้องอกที่ไม่อันตราย

ทั้งต้อลมและต้อเนื้อไม่ใช่มะเร็ง โดยมักถูกพบที่หัวตามากกว่าหางตา หรือพบทั้งสองตำแหน่งได้ในคราวเดียวกัน ต้อลมต่างจากต้อเนื้อตรงที่ต้อลมจะไม่ลุกลามไปบนกระจกตา ต้อลมและต้อเนื้ออาจมีการอักเสบ ทำให้มีอาการแดง เคือง และปวดตาได้

สาเหตุของการเกิดต้อลมและต้อเนื้อ

ต้อลม เกิดจากการเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจน (Collagen Fibers) ในเยื่อตา ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet , UV) ที่มีในแสงแดดเป็นเวลานาน ร่วมกับการสัมผัสกับลม ฝุ่น ควัน และความร้อน

ต้อเนื้อ เกิดจากการเสื่อมของคอลลาเจน (Elastotic Degeneration of Collagen) และการมีเนื้อเยื่อพังผืด (Fibrovascular Tissue) เกิดขึ้น ต้อเนื้อมีสาเหตุเหมือนต้อลม และมีรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet , UV) เป็นสาเหตุหลัก

อาการของต้อลมและต้อเนื้อ

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ถ้ามีอาการต้อลมอักเสบ ตาจะแดงช้ำในบริเวณรอบต้อ และรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีผงเข้าตา โดยทั่วไปต้อลมและต้อเนื้อจะไม่ทำให้เกิดตามัว ยกเว้น ต้อเนื้อที่เป็นมากและลามเข้ามากลางกระจกตา

การดูแลรักษา

  1. ใส่แว่นกันแดด เมื่อออกกลางแจ้งเพื่อลดการโดนรังสี UV และลดอาการต่างๆ
  2. พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ต้ออักเสบ โดยการใส่แว่นตาเพื่อป้องกันแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน
  3. กรณีที่เป็นไม่มาก ไม่มีอาการผิดปกติ สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้โดยไม่มีอันตราย
  4. หากมีอาการระคายเคืองตา สามารถหยอดยาเพื่อลดอาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อลมและต้อเนื้อหายไปได้
  5. การผ่าตัดทำในกรณีต้อเนื้อลุกลามเข้าไปบนกระจกตาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้การมองเห็นลดลง หรือเพื่อความสวยงาม ส่วนต้อลมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะไม่มีอันตรายต่อตา การผ่าตัดลอกต้อเนื้อมีหลายวิธี การเลือกวิธีผ่าตัดขึ้นกับสภาพต้อเนื้อและคนไข้

คำแนะนำหลังผ่าตัดลอกต้อเนื้อ

  1. งดน้ำเข้าตาเป็นเวลา 7-10 วัน
  2. งดขยี้ตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์
  3. จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง แสงแดด ลม ฝุ่น และควัน และสวมแว่นกันแดดอย่างต่อเนื่องเมื่อออกกลางแจ้ง เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำของต้อเนื้อ

การผ่าตัดต้อกระจก (CATARACT SURGERY)

โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกเป็นภาวะการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา  ทำให้เลนส์ขุ่นมีสีเข้มขึ้น และแสงเข้าตาได้น้อยลง  ภาพไม่สว่าง  มองเห็นในที่มืดแย่ลงและค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง ทำให้ภาพไม่โฟกัสที่จุดรับภาพ

 

การพิจารณาผ่าตัดลอกต้อกระจก

การพิจารณาผ่าตัดลอกต้อกระจก ทำในผู้ป่วยต้อกระจกที่ทำให้การมองเห็นแย่ลงจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น ต้อหิน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้ตาบอดถาวรได้

 

การผ่าตัดต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกแบบแผลเล็ก
การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การผ่าตัดแผลเล็ก ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย และมีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากจะเป็นการรักษาต้อกระจกแล้ว ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกยังถือเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขค่าสายตาอย่างหนึ่งด้วย โดยจะเหมาะสมกับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีต้อกระจก และต้องการแก้ไขสายตาให้เป็นปกติ ช่วยให้ไม่ต้องใส่แว่นตาได้  โดยการผ่าตัดแบ่งได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

  1.  การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันใช้วิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กซึ่งมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบแผลใหญ่ ดังนี้
  •  สามารถทำได้เพียงหยอดยาชา แต่อาจฉีดยาชาหรือดมยาสลบในบางกรณีที่คนไข้ไม่ร่วมมือ
  • ไม่ต้องเย็บแผล เพราะแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก
  • ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 15-30 นาที (ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย)
  • ทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล
  •  มองเห็นชัดเร็ว วันรุ่งขึ้นสามารถใช้สายตาได้ทันที
  •  สามารถใส่เลนส์ชนิดพิเศษอื่นๆได้ เนื่องจากการผ่าตัดมีความแม่นยำสูง
  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบแผลใหญ่

           จะใช้ในกรณีที่ต้อกระจกเป็นมาก อาจไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบแผลเล็กได้ แพทย์อาจเลือกทำการผ่าตัดแบบแผลใหญ่แทน ซึ่งมีข้อด้อยกว่าการผ่าตัดแผลเล็ก ดังนี้

  • ต้องฉีดยาชา เพื่อระงับความเจ็บปวด
  • ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่
  • จำเป็นต้องมีการเย็บแผล 5-7 เข็ม
  • การผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากกว่าปกติ
  • การพักฟื้นนานกว่า มองเห็นชัดได้ช้ากว่า
  • ไม่สามารถใส่เลนส์ชนิดพิเศษอื่นๆได้ เนื่องจากความแม่นยำของการผ่าตัดมีจำกัด

 

เลนส์แก้วตาเทียมมีให้เลือกหลายชนิดขึ้นกับการใช้งานของผู้ป่วย

เลนส์แก้วตาเทียม ข้อดี ข้อเสีย ค่าเลนส์โดยประมาณ
เลนส์ระยะเดียวไม่แก้เอียง
(monofocal IOL)
มองไกลชัดระยะเดียว มองใกล้ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ
ไม่แก้ค่าสายตาเอียง
3,500-7,000

เลนส์ระยะเดียว+แก้เอียง
(mono toric IOL)

มองไกลชัดระยะเดียว
แก้ค่าสายตาเอียงให้เป็นปกติร่วมด้วย

มองใกล้ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ 15,000-20,000

เลนส์หลายระยะไม่แก้เอียง
(multifocal IOL)

มองได้ชัดหลายระยะ
ลดการพึ่งพาแว่นตาในระยะใกล้

อาจเห็นแสงแตกในเวลากลางคืน
ไม่แก้ค่าสายตาเอียง

25,000-35,000

เลนส์หลายระยะ+แก้เอียง
(multi toric IOL)

มองได้ชัดหลายระยะ
ลดการพึ่งพาแว่นตาในระยะใกล้
แก้ค่าสายตาเอียงให้เป็นปกติร่วมด้วย

อาจเห็นแสงแตกในเวลากลางคืน
ทำให้รบกวนการมองเห็นได้
40,000-50,000

หมายเหตุ *ค่าเลนส์สามารถเบิกตามสิทธิการรักษาได้ไม่เกิน 2,800 บาท ทุกสิทธิการรักษา

* ราคานี้เป็นราคาโดยประมาณ อาจแตกต่างไปตามสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

 

 

Contact

Phone:

0 2765 5734
เลสิก ติดต่อเบอร์
06 4217 6023
0 2576 6000 ต่อ 7045

 

Service Hours

จันทร์ – ศุกร์
เวลา 08.00 
 20.00 น.

เสาร์
เวลา 08.00 – 16.00 น. 

อาทิตย์
เวลา 08.00 – 12.00 น. 

 

Location

เทคโนโลยีจักษุวิทยา

ชั้น 12 ตึกศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา
จุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

906 ถนนกำแพงเพชร 6 ตลาดบางเขน หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210