ประเพณี-ศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานจังหวัดสุรินทร์ ตอนที่ 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.9K views



โบราณสถานจังหวัดสุรินทร์

ปราสาทจอมพระ

     ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ในบริเวณวัดปราสาทจอมพระ มีลักษณะเป็นอโรคยาศาล มีโครงสร้างที่สมบูรณ์มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแดงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ ปรางค์ประธาน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขหน้าบรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาท และสระน้ำนอกกำแพง มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. 1720-1780)

ปราสาทยายเหงา

     ตั้งอยู่ที่อำเภอสังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานแบบขอม ที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐเป็นลวดลายรูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอย่างงดงาม

ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนตู๊จ ปราสาทตาเมือนธม

     ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากบ้านตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ประมาณ 12 กิโลเมตร ติดเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเป็นปราสาทหิน 3 หลัง ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16

ปราสาทบ้านช่างปี่

     ตั้งอยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะเป็นอโรคยาศาล ประกอบด้วยปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง และหินทรายมุขด้านตะวันตกมีบรรณาลัย มีกำแพงทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กกรุด้วยศิลาแดง
ปราสาทบ้านไพล

ปราสาทบ้านไพล

     ตั้งอยู่ที่บ้านไพล ตำบลไพล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาท 3 องค์เรียงแถว ขนาดฐานกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร สูงประมาณ 6.5 เมตร ก่อด้วยอิฐขัด ปรางค์ทิศใต้พังทลายกรอบและทับหลังทำด้วยหินทราย

ปราสาทตระเปียงเตีย

     ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลตระเปียงเตีย อำเภอลำดวน ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมมียอดปราสาท 4 ยอด เป็นรูปบัวตูม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ปราสาทศีขรภูมิ (ปราสาทระแงง)

    

     ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ สร้างในสมัยบาปวน เมื่อประมาณ พ.ศ. 1650 ลักษณะเป็นปรางค์ ก่อด้วยอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์กลางสูงประมาณ 32 เมตร มีลวดลายสลักหินตามเสาทวารา และมีทับหลังสวยงามมาก

ปราสาทบ้านพลวง

     ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท 4 กิโลเมตร ตามถนนสายสุรินทร์-ช่องจอม เป็นปรางค์องค์เดียวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง สร้างด้วยศิลาและหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม สลักลวดลายบนทับหลัง เป็นลักษณะศิลปะแบบบาปวนสร้างระหว่าง พ.ศ. 2550-1650

ปราสาทเมืองที

     ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทแบบเขมร มีลักษณะคล้ายปราสาทศีขรภูมิ คือ มีปรางค์ 5 องคื แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์ ปรางค์ทั้ง 3 องค์ตั้งอยุ่บนพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่บนฐานปรางค์บริวารมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ปราสาทภูมิโปน

     ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ เป็นปราสาทขอม สันนิษฐานว่าสร้างในระหว่าง พ.ศ. 1185-1250 ลักษณะเป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐไม่สอปูน จำนวน 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง ฐานก่อด้วยศิลาแลง ย่อมุมไม้สิบสอง แบบคุปตะรุ่นหลังของอินเดีย นับว่าเป็นปราสาทที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย


ศิลปวัฒนธรรม
เรือนอันเร

     เรือนอันเร แปลว่า รำสาก สมัยก่อนเรียกว่า ลูตอันเร เล่นกันในวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งเรียกว่า “วันต็อม” อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือ สาก ซึ่งชาวสุรินทร์เรียกว่า “อันเร” เป็นสากไม้แก่นกลม นิยมทำด้วยไม้มะค่าหรือไม้แดง ยาวประมาณ 5-6 ศอก ส่วนไม้หมอนยาวประมาณ 2-3 ศอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว

เรือนอายัย

     เป็นการละเล่นพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ ที่รับแบบมาจากประเทศกัมพูชา แต่เรือมอายัยของจังหวัดสุรินทร์ เป็นการละเล่นโต้กลอนระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องเกี้ยวพาราสีกัน ส่วนของกัมพูชาเป็นการถามตอบกัน

เจรียงซันตูจ

     เจรียง ซันตูจ แปลว่า ร้องตกเบ็ด เป็นการร้องเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ ส่วนใหญ่จัดในลานวัด หนุ่ม ๆ ที่มาร่วมงานจะรวมกันเป็นกลุ่ม และหาคันเบ็ดมา 1 อัน เหยื่อที่ใช้มักเป็นขนม ข้าวต้ม ผลไม้ ผูกเป็นพวง โดยไปหย่อนในกลุ่มที่มีหญิงสาว นั่งรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ หนุ่ม ๆ จะร้องรำเพลง แล้วหย่อนคันเบ็ด ลงตรงหน้าสาวที่ตนเองชอบ หากสาวรับเหยื่อแสดงว่าหลงรัก

กันตรึม

     กันตรึมหรือโจ๊ะกันตรึม เป็นดนตรีของกลุ่มวัฒนธรรมเขมร ทำนองเนื้อเพลง และเครื่องดนตรีเฉพาะ ภาษาที่ใช้ร้องคือภาษาเขมร ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำนองกันตรึมมีหลากหลาย ทั้งอ้อยอิ่ง และสนุกสนาน ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ทั้งภาษาไทย ลาวในการ้องทำนองกันตรึม

กโนปติงตอง

     กโนปติงตอง เป็นการละเล่นที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อ30 กว่าปีที่ผ่านมา โดยนายเหือนตรงศูนย์ดี ชาวบ้านโพธิ์กอง ตำบลไพล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้คิดท่ารำ โดยเลือนแบบตั๊กแตนที่ไปพบเห็น จึงกลับมาคิดประดิษฐ์ท่ารำประเพณีวันสารท (วันโดนตา)

     เมื่อถึงวันสารทแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ชาวสุรินทร์ถือเป็นวันสารทใหญ่ และมีความเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน และจะทำการเซ่นไหว้วิญญาณของบรรพบุรา ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการจัดข้าวปลาอาหาร ทั้งคาวหวาน ไหว้เซ่น ชาวสุรินทร์เรียกว่า พิธีเซ่น หรือ แซนโดนตา

ประเพณีการแสดงช้าง

     จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2503 ส่งผลให้จังหวัดสุรินทร์มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยจัดขึ้นช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งช้างส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

ประเพณีบวชนาคช้าง

     จัดในหมู่ชาวกูย โดยเฉพาะที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้าง เมื่อมีงานบวชจะมีขบวนช้างหลายสิบเชือก แห่ไปสักการะศาลเจ้าพ่อวังทะลุ ซึ่งประเพณีนี้จะจัดขึ้น ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน