ReadyPlanet.com
dot
dot
ฟาร์มเห็ดที่เป็นสมาชิกสมาคม
dot
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
dot
ราคาเห็ดอ้างอิง
dot


"เห็ดเผาะ"เป็นเห็ดนรกจริงหรือ

 

 “เห็ดเผาะ” เป็นเห็ดนรกจริงหรือ ?

อ.ดร.ธารรัตน์  แก้วกระจ่าง

ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

          เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ (Barometer Earthstars) เป็นเห็ดที่อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า “เอคโตไมคอร์ไรซา” เห็ดเผาะอาศัยในรากพืชและได้รับอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ในทางกลับกันเห็ดเผาะจะสร้างเส้นใยอยู่ภายในและรอบรากซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและธาตุอาหารแก่พืช ส่งผลให้พืชอาศัยมีการเติบโตและสามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อโรคที่ระบบรากด้วย  โดยทั่วไปเห็ดเผาะมีการกระจายทั่วโลกทั้งเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้น  ในประเทศไทยสำรวจพบเห็ดเผาะทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) เห็ดเผาะฝ้าย (A. asiaticsus) และเห็ดเผาะสิรินธร (Astraeus sirindhorniae)  ซึ่งทั้งสามชนิดนี้เป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก  ส่วนใหญ่พบในสังคมป่าเต็งรัง และป่าสนเขา ซึ่งมักเจริญร่วมกับไม้ยืนต้นหลายชนิดในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae)  วงศ์สน (Pinaceae)  และวงศ์ก่อ (Fagaceae)  เห็ดเผาะออกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

รู้หรือไม่ว่าเห็ดเผาะที่มีประโยชน์หลายประการ เป็นที่ทราบกันดีของคนในแถบเอเชียเท่านั้นว่าเห็ดเผาะสามารถนำมารับประทานได้  ยิ่งในประเทศไทยเห็ดเผาะนับว่าเป็นเห็ดป่าที่นิยมนำมารับประทานและมีราคาแพง เนื่องจากมีรสชาติดี และมีเนื้อสัมผัสกรุบกรอบแตกต่างจากเห็ดป่าชนิดอื่น จึงนิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู และสามารถนำมาแปรรูปเป็นเห็ดเผาะกระป๋องจำหน่ายนอกฤดูกาลได้  ในปัจจุบันยังมีรายงานพบว่ามีสารออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง (anticancer) และยับยั้งเชื้อวัณโรค (antitubercular)  นอกจากนี้ยังเป็นเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซาที่มีศักยภาพที่สุดชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตกล้าไม้ให้มีเอคโตไมคอร์ไรซาที่รากได้  เนื่องจากเป็นเห็ดที่ผลิตสปอร์จำนวนมาก และสามารถนำมาเพาะเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณเส้นใยและสามารถผลิตเป็นหัวเชื้อได้  ซึ่งมีเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซาน้อยชนิดมากที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อได้ 

ในธรรมชาติการเกิดของเห็ดเผาะนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการ ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น  สำหรับไฟป่านั้นไม่นับว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็ดแต่อย่างใด แม้จะมีความเชื่อตามกันมาว่าต้องเผาป่าเห็ดเผาะจึงจะออกดอก  แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมาของ Kennedy K.H. และคณะ พบว่าไฟป่าไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็ดเผาะและการที่พบเห็ดเผาะภายหลังจากเกิดไฟนั้นอาจเกิดจากเศษซากพืชหรือหญ้าที่ปกคลุมดินนั้นถูกเผาทำลาย จึงทำให้สามารถมองเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายยิ่งขึ้น เห็ดเผาะเป็นเห็ดที่เมื่ออยู่ร่วมกับรากพืชแล้วจะสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า สเคอโรเตียม (sclerotium) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เกิดจากเส้นใยอัดตัวกันแน่นเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายกับเมล็ดผัก เชื้อราที่สร้างสเคอโรเตียมจะสามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเติบโตได้  และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็ดเผาะสามารถปรับตัวให้ทนต่อสภาพพื้นที่ที่มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำได้ จึงทำให้สามารถพบเห็ดเผาะได้ในปีถัดไปภายหลังจากเกิดไฟป่า  อย่างไรก็ตามหากพื้นที่ใดเกิดไฟป่าอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นสม่ำเสมอทุกปี อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนที่อาศัยในบริเวณนั้น  และยังส่งผลทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศด้วย สังคมพืชจะเกิดเปลี่ยนแปลงไป ลูกไม้และกล้าไม้รวมถึงจุลินทรีย์ดินบางชนิดอาจตาย เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  อีกทั้งยังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินลดลงอีกด้วย 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเห็ดเผาะไม่ใช่เห็ดนรกอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่กลับเป็นเห็ดป่าที่มีประโยชน์กับระบบนิเวศป่าไม้และมนุษย์  อีกทั้งการเผาป่าไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดเห็ดเผาะ แต่การอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าที่เป็นต้นกำเนิดของเห็ดเผาะเป็นวิธีการที่จะทำให้เราสามารถนำเห็ดเผาะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 

เอกสารอ้างอิง

Kennedy, H.K., J.F. Maxwell and S. Lumyong. 2012. Fire and the production of Astraeus odoratus (Basidiomycetes) sporocarps in deciduous dipterocarp-oak forests of northern Thailand. Maejo Int. J. Sci. Technol. 6(3). 483-504.

Phosri, C., R. Watling, M.P. Martin and A.J.S. Whalley. 2004. The genus Astraeus in Thailand. Mycotaxon 89: 453–463.

Phosri, C., R. Watling, N. Suwannasa, A. Wilson and M.P. Martin. 2014. A new representative of star-shaped Fungi: Astraeus sirindhorniae sp. nov. from Thailand. PLoS ONE. 9(5): e71160. doi:10.1371/journal.pone.0071160.

Kaewgrajang, T., U. Sangwanit, K. Iwase, M. Kodama and M. Yamato. 2013. Effects of ectomycorrhizal fungus Astraeus odoratus on Dipterocarpus alatus seedlings. J Trop For Sci 25(2): 200–205.

 

ดาวน์โหลดไฟล์

เห็ดเผาะOK.pdf

 




ข่าวสารประชาสัมพันธ์

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566
เสวนาเห็ดป่ารสชาดดี ที่เสี่ยงต่อเห็ดพิษ
สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธ์พืช
ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับการเพาะเห็ด
กิจกรรมหารือ เรื่อง ปัญหาหัวเชื้อ และเส้นใยของเห็ดสกุลนางรม
ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563-2564
อบรมการผลิตเห็ดเศรษฐกิจ
สารจากนายกสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
แล้งมาเห็ดน้อย ฝนมาเห็ดล้น
อันตรายถึงชีวิต กินเห็ดป่า



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย
  ตู้ ปณ.1094 ปทฝ เกษตรศาสตร์  กรุงเทพ   10903
โทรศัพท์ : 025611473 025790147; แฟกซ์ : 025790147 025795581      
อีเมล : Mushthai@hotmail.com
เว็บไซต์ : WWW.Thaimushroomsoc.com