แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว >> สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป
เขื่อนสิริกิติ์

วันที่ 22 ส.ค. 2559

เขื่อนสิริกิติ์

                   เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก่อสร้างขึ้น ตามโครงการพัฒนา ลุ่ม น้ำน่าน เดิมชื่อ "เขื่อนผาซ่อม" ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขนานนามว่า "เขื่อนสิริกิติ์" เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 ก่อสร้างขึ้น ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ณ บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 58 กิโลเมตร
                  แม่น้ำน่าน
                  นับเป็นลำน้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากดอยภูแว ในเทือกเขา หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนกับประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ในเขตท้องที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ลำน้ำน่านตอนต้นไหลไปทางทิศเหนือ คดเคี้ยวไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลผ่านอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในช่วงนี้จะมีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ติดต่อกันจนถึง อำเภอสา จังหวัดน่าน แต่ก็เป็นที่ราบแคบ ๆ จากนั้น แม่น้ำน่านจะไหลผ่านหุบเขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เข้าเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไหล ไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัด อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำยม ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลรวมกับแม่น้ำปิง ที่ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปโดยมีความยาวตลอดลำน้ำถึง 615 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุด ในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน และมีพื้นที่ลุ่มน้ำถึง 33,130 ตารางกิโลเมตรที่ราบสองฝั่ง แม่น้ำน่าน ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงมาจำนวน 1,800,000 ไร่ ในเขตชลประทานพิษณุโลก นับว่าเป็นทุ่งราบที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ และเหมาะแก่การเกษตรกรรมอย่างยิ่ง ซึ่งแต่ก่อน มักถูกน้ำท่วม เป็นประจำเพราะไม่มีระบบควบคุมน้ำ รัฐบาลจึงได้มีการวางแผนพัฒนา ลุ่มน้ำน่านขึ้นมา 3 ระยะ คือ
                 ระยะที่ 1 ก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างสำหรับประโยชน์ ทางด้านการชลประทาน และการผลิตกระแสไฟฟ้า
                 ระยะที่ 2 ก่อสร้างเขื่อนนเรศวรขึ้นที่บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นเขื่อนทดน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำสำหรับพื้นที่สองฝั่งในอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก กับอำเภอสามง่าม อำเภอเมือง และอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ประมาณ 678,000 ไร่ โครงการระยะที่ 2 นี้ ได้เริ่มงานก่อสร้างเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ.2512 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2527
                 ระยะที่ 3 ก่อสร้างเขื่อนอุตรดิตถ์ที่บ้านผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทดน้ำ และมีระบบส่งน้ำ สำหรับพื้นที่สองฝั่งอำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน และ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กับอำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รวมพื้นที่ประมาณ 873,000 ไร่ โครงการระยะที่ 3 นี้ ยังไม่ได้ดำเนินการ แผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านนี้ เป็นการวางแผนที่จะนำน้ำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างเต็มที่ จึงได้วางแผนให้เกี่ยวโยงกันทั่วลุ่มน้ำคือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กำหนดระบบวิธีจัดเก็บ และการใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์หลายๆอย่าง รวมทั้งได้กำหนดขั้นตอนของการพัฒนา ให้เหมาะสมกับภาวะท้องที่เป็นระยะๆไป โดยท้องที่ส่วนใหญ่ของทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน มักถูกน้ำท่วมเป็นประจำ การพัฒนา จึงต้องสร้างเขื่อนเก็บน้ำขึ้น ก่อนที่จะสร้างเขื่อนทดน้ำ และระบบส่งน้ำ เพราะหากก่อสร้างเขื่อนทดน้ำและระบบส่งน้ำก่อน น้ำที่ท่วมนองนอกจาก จะยังความเสียหายให้แก่การเพาะปลูกเช่นเดิมแล้ว ยังทำความเสียหายให้แก่งานก่อสร้างเขื่อน ทดน้ำและระบบส่งน้ำ อีกด้วย ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างเขื่อนสิริกติ์ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำ ขึ้นก่อนเขื่อนอื่นๆ
                การดำเนินการก่อสร้าง
                การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ได้แบ่ง งานออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนตัวเขื่อนและองค์ประกอบกับส่วนโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ การก่อสร้างตัวเขื่อน และองค์ประกอบ ดำเนินการ โดยกรมชลประทาน งานด้านนี้เป็นการก่อสร้างถนน เข้าหัวงาน ท่าเทียบเรือ งานเปิดหน้าดิน งานก่อสร้าง ตัวเขื่อน อุโมงค์ผันน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำลงแม่น้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันน้ำ อาคารรับน้ำอุโมงค์ระบายน้ำล้น งานขุดดินและหินบริเวณฐานราก ของโรงไฟฟ้า งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี 2515
                การก่อสร้างโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบ ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย งานด้านนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2511 โดยดำเนินการก่อสร้างสายส่งแรงสูง 115 กิโลโวลต์ ระหว่างอุตรดิตถ์กับเขื่อนสิริกิติ์ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้างานวางท่อเหล็ก นำน้ำเข้าโรงไฟฟ้า และงานก่อสร้างสายส่งแรงสูง 230 กิโลโวลต์ ช่วงเขื่อนสิริกิติ์-พิษณุโลก พร้อมกันนี้ ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ รวม 3 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 375,000 กิโลวัตต์
                 โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2520 หลังจากงานก่อสร้างตัวเขื่อน และโรงไฟฟ้า เสร็จเรียบร้อยแล้วกรมชลประทาน ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับผิดชอบในการควบคุมดูแลรักษาเขื่อน
                  สถานที่สำคัญ และสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เขื่อนสิริกิติ์
                   1. เรือนรับรองพิเศษเขื่อนสิริกิติ์ : เป็นเรือนรับรองของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาแปรพระราชฐาน อยู่บริเวณจุดสูงสุดของเขื่อน เปิดให้นักท่องเที่ยวชมเฉพาะภายนอกเท่านั้น
                   2. หมู่บ้านเรือ : เป็นหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโครงการหลวงที่จะช่วยเกษรกรด้านการประมง
                   3. สวนสุมาลัย : เป็นสวนที่เขื่อนสิริกิติ์จัดตั้งขึ้นเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในวโรกาสที่พระองค์มีพระชันษา ครบ 50 พรรษา ภายในสวนมีประติมากรรมสู่แสงสว่างอันเป็นสัญลักษณ์ของสวนสุมาลัย
                   4. พระธาตุกลางน้ำ (ดอยพระธาตุ) : ศิลปะท้องถิ่นตั้งเด่นอยู่บนเขาที่ล้อมรอบด้วยน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์
                   5. สะพานเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ : เป็นสะพานแขวน ด้วยสายเคเบิลสวยงามทอดกลางผ่านเขื่อนสิริกิติ์ มีลักษณะที่สวยงามและโดดเด่น
                   6. พระพุทธสิริสัตตราช (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) : จำลองมาจากพระพุทธรูปในจังหวัดยโสธรจำลองมาประดิษฐ์สถาน ณ เขื่อนแห่งนี้เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สักการะ และเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์
                   7. ศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเขื่อนสิริกิติ์(ศูนย์OTOP) : จำหน่ายอาหารพื้นเมือง และของฝากจากเขื่อนสิริกิติ์
                   8. อ่างเก็บน้ำสุริยัน-จันทรา : บริเวณตัวเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีเกาะแก่ง โค้งเว้าที่สวยงามในตัวเขื่อน มีทิศทัศน์ที่สวยงาม สามารถชมทัศนียภาพโดยรอบจากสันเขื่อน การล่องแพ พายเรือคายัค ถีบจักรยานน้ำ หรือการล่องเรือชมทัศนียภาพของเขื่อนฯ
                   9.  แปลงเกษตรโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ศูนย์ชีววิถี)
                  10. สนามกอล์ฟ : ขนาด 18 หลุม ขนานลำน้ำน่าน
                  11.  ตลาดปากปาด