‘ระเบ็ง’ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โบราณกาล ร่องรอยความขัดแย้งเชื้อวงศ์พระกฤษณะ กับพระอิศวร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

‘ระเบ็ง’ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โบราณกาล ร่องรอยความขัดแย้งเชื้อวงศ์พระกฤษณะ กับพระอิศวร

 

อะไรที่เรียกกันว่า “ระเบ็ง” นั้น (บางครั้งเรียกว่า “เล่นโอละพ่อ” เพราะคำร้องเกือบทุกวรรคของผู้แสดงนั้น ขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอละพ่อ”) เป็นการแสดงของหลวง ที่ว่ากันว่าเก่าแก่มากเลยทีเดียว ซึ่งก็เก่ากึ้กระดับที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล อันเป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เมื่อช่วงราว พ.ศ.2000 โดยในปัจจุบันนี้มักจะเล่นเป็นชุดด้วยกันกับ “โมงครุ่ม” และ “กุลาตีไม้”

ปัญญาชนฝ่ายขวาผู้ล่วงลับอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยอธิบายเอาไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” ว่า การแสดงชุดนี้จะเริ่มต้นด้วย “โมงครุ่ม” ซึ่งเป็นการฟ้อนรำเฉยๆ ไม่มีเนื้อเรื่องก่อน ทำนองเป็นการเบิกโรง จากนั้นจึงเล่น “กุลาตีไม้” เพื่อเป็นการสรรเสริญพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ก่อนจะจบลงด้วยการแสดง “ระเบ็ง” ที่เป็นการละเล่นอย่างเดียวในชุดนี้ที่มีเนื้อเรื่อง

ที่สำคัญก็คือ การแสดงระเบ็งนั้น มีเนื้อเรื่องให้เล่นเพียงเรื่องเดียว ถ้าเล่นเรื่องอื่นก็ไม่เรียกว่าระเบ็ง แถมเนื้อเรื่องก็ยังออกจะประหลาดพิกลอีกต่างหาก

เนื้อเรื่องที่ใช้ในการแสดงระเบ็งนั้นเล่าว่า กษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร (บางทีก็ว่า กลุ่มนักรบ) รวมตัวกันจะไปร่วมพิธีโสกันต์ (คือ โกนจุก) ของพระคเณศ ผู้เป็นลูกพระอิศวร ที่เขาไกรลาส แต่ระหว่างทางได้พบกับ “พระกาฬ” ซึ่งเข้ามาห้ามไม่ให้กษัตริย์กลุ่มนี้ไปเข้าร่วมงานพิธีที่ว่า จึงเกิดการปะทะกัน

ในท้ายที่สุดพระกาฬได้สาปให้กษัตริย์กลุ่มนี้ตายลงทั้งหมด (บางทีก็ว่าสาปให้สลบ)

แต่แล้วตัวพระกาฬเองก็เกิดความสงสารใจขึ้น ดังนั้น จึงได้ชุบชีวิตบรรดากษัตริย์ แล้วปล่อยให้แยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนกันไป เป็นอันจบเรื่องแต่เพียงเท่านี้

ข้อมูลจากหนังสือที่รวบรวมขึ้นจากจดหมายโต้ตอบส่วนตัวของเจ้าสององค์ที่ชื่อ “สาส์นสมเด็จ” ทำให้เราทราบว่า ผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยสงสัยใจว่า เรื่องราวที่แสดงอยู่ในระเบ็งนั้น จะเป็นอิทธิพลของอินเดียใต้ แต่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไม่ทรงเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ชาวอินเดียไม่มีพิธีโกนจุก ซึ่งก็จริงอย่างที่เจ้าฟ้านริศฯ ว่านั่นแหละครับ ดังนั้น นิทานเรื่องที่เล่นกันอยู่ในอะไรที่เรียกว่า “ระเบ็ง” นั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่ในเทพปกรณัมของพราหมณ์ในอินเดียเขาเลย

 

สิ่งที่ทำให้กรมพระยาดำรงฯ เห็นว่า เนื้อเรื่องในระเบ็งนั้นน่าจะเป็นอิทธิพลจากอินเดียใต้ เป็นเพราะท่านเข้าใจว่า “พระกาฬ” ในท้องเรื่องนั้นคือ “พระขันทกุมาร” ซึ่งตามปรัมปราคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นระบุว่า เป็นลูกอีกองค์หนึ่งของพระอิศวร โดยนับเป็นพี่ชายของพระคเณศ โดยพระขันทกุมารนั้นมีผู้นับถืออยู่มากทั้งในตอนใต้อินเดีย และรวมไปถึงเกาะลังกาด้วย

ส่วนสิ่งที่ทำให้กรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัยว่า “พระกาฬ” ก็คือ “พระขันทกุมาร” นั้น ก็เป็นเพราะมีข้อมูลบางส่วนชี้ให้เห็นว่า ในการแสดงระเบ็งนั้น พระกาฬมีความเกี่ยวข้องกับ “นกยูง” เช่นในบุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น มีข้อความระบุว่า

“บัดเบื้องรเบ็งแต่ง กลกายประดุจมง-

ครุ่มเทริดบสมทรง กรกุมธนูเมียง

ย่องยิงมยุรมรณ์ ก็สอ้อนสเอวเอียง

ลูกคู่ก็แตกเสียง โอละพ่อตระหลบเวียน”

ข้อความในทำนองเดียวกันยังพบอยู่ใน โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นงานในยุคต้นกรุงเทพฯ ดังมีข้อความว่า “ระเบ็งยิงมยุรี ผูกร่าง” แสดงให้เห็นว่า ในบทการแสดงระเบ็งครั้งกรุงเก่า เรื่อยมาจนถึงช่วงต้นกรุงเทพฯ นั้น คงมีฉากที่กษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครยิงนกยูงของพระกาฬ จนทำให้เทพเจ้าองค์นี้โกรธจนถึงกับสาปให้เหล่ากษัตริย์ตายลง โดยมีหลักฐานจากภาพถ่ายในงานพระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ เมื่อ พ.ศ.2433 นั้น มีหุ่นรูปนกยูงประกอบอยู่ในภาพถ่ายการแสดงระเบ็งด้วย

และก็เป็นเพราะข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เอง ที่ทำให้กรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัยว่า “พระกาฬ” นั้นคือ “พระขันทกุมาร” เพราะตามเทพปกรณ์ของพ่อพราหมณ์นั้น พระขันทกุมารทรงมีพาหนะเป็น “นกยูง” นี่แหละ

ดูเหมือนว่า เจ้าฟ้านริศฯ เองก็ดูจะไม่ติดขัดอะไรกับคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของกรมพระยาดำรงฯ เช่นเดียวกับปราชญ์ และนักวิชาการในรุ่นหลังอีกหลายคน รวมถึงคุณชายคึกฤทธิ์ ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “ลักษณะไทย” เลยว่า “พระกาฬ” คือ “พระขันทกุมาร”

แต่พระขันทกุมารท่านจะมาห้ามบรรดากษัตริย์ ไม่ให้ไปร่วมพิธีโกนจุกของน้องชายตนเองทำไมกันเล่าครับ? และนี่ยังตอบไม่ได้ด้วยว่า ทำไมในการแสดงระเบ็งนั้น จึงต้องเรียกพระขันทกุมารว่า “พระกาฬ” อย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งที่โดยปกติแล้วเทพเจ้าของพราหมณ์ทั้งสององค์นี้ ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลยสักนิด แถมยังไม่เคยมีหลักฐานอีกด้วยว่า มีการเรียกพระขันทกุมารว่า พระกาฬ ในที่อื่นๆ เลยด้วยซ้ำ

โดยปกติแล้ว “พระกาฬ” ในปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์เขามักจะหมายถึง ชื่อหนึ่งของ “พระยม” ผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย โดยทั้งในอินเดีย และอุษาคเนย์นั้น พระยมมีพาหนะ “กระบือ” แต่มีเฉพาะความเชื่อพื้นถิ่นอุษาคเนย์ที่แยกพาหนะของพระกาฬ ออกจากพระยมต่างหาก โดยกำหนดให้พระกาฬนั้น มีพาหนะเป็น “นกแสก”

ผมไม่รู้ว่าในอินเดียมี “นกแสก” อยู่โดยทั่วไปตามธรรมชาติหรือเปล่า?

แต่ความเชื่อว่า เจ้านกชนิดนี้เป็นสัตว์อัปมงคลที่จะนำ “ความตาย” มาให้นั้น เป็นความเชื่อท้องถิ่นของอุษาคเนย์แน่

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีการจับเอานกแสกมาเป็นพาหนะของ “พระกาฬ” เพื่อให้แยกออกเป็นเอกเทศจากพระยม ซึ่งทรงกระบือเป็นพาหนะ

อย่างไรก็ตาม “พระกาฬ” นั้นก็ไม่เคยมี “นกยูง” เป็นพาหนะ เช่นเดียวกับที่ไม่เคยถูกใช้เป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของ “พระขันทกุมาร”

การที่พระกาฬปรากฏกายคู่กับนกยูงในการแสดงระเบ็งนั้น จึงดูจะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดพิกลอยู่มากเลยทีเดียว

สิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ อันที่จริงแล้วก็ไม่มีหลักฐานโบราณที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลยเสียหน่อยว่า เจ้านกยูงตามท้องเรื่องของระเบ็งนั้น เป็นพาหนะของพระกาฬ

ทั้งหมดที่เชื่อตามกันนั้นเป็นเพราะเชื่อมโยงกันไปเองว่า นกยูงในท้องเรื่องนั้นปรากฏกายในฐานะของพาหนะของพระกาฬต่างหาก ทั้งที่ก็มีความเป็นไปได้อื่นด้วยเช่นกันว่า นกยูงจะปรากฏอยู่ในท้องเรื่องด้วยฐานะอื่นก็ได้ไม่ใช่หรือครับ?

 

สิ่งที่ควรสนใจมากกว่าก็คือ ชื่อของ “พระกาฬ” ตามความเข้าใจของคนไทย ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย

ชื่อ “ศาลพระกาฬ” มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ที่ชื่อว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ที่ว่ากันว่าเขียนขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยข้อความในเอกสารชิ้นนี้กล่าวถึง ศาลพระกาฬ ของกรุงศรีอยุธยาว่า ตั้งอยู่ใกล้หอกลอง ละแวกตะแลงแกง (แปลตรงตัวว่า สี่แยก)

“พระกาฬ” ที่ชาวอยุธยาสร้างศาลไว้ให้ต่างหาก ที่ควรจะเป็นพระกาฬเดียวกันกับในการแสดง “ระเบ็ง” ที่มีอยู่ในเอกสารของกรุงศรีอยุธยาเอง

และก็ควรจะเป็น “พระกาฬ” เดียวกันกับใน “ศาลพระกาฬ” ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งหมายถึงเทวรูป “พระนารายณ์สีดำ” ที่ถูกบูชาในฐานะเทพารักษ์หลักเมืองของละโว้ มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ที่สำคัญคือ จารึกศาลเจ้าที่เมืองลพบุรี ซึ่งควรจะเคลื่อนย้ายมาจากศาลพระกาฬนั้น มีข้อความระบุถึงเทวรูปที่เรียกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” โดยคำว่า “วาสุเทพ” นั้น โดยทั่วไปมักจะแปลความกันว่าหมายถึง “พระนารายณ์” ซึ่งก็ชวนให้นึกถึง “พระกาฬ” ผู้เป็นเทพารักษ์หลักเมืองของลพบุรีอย่างจับจิต

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามปรัมปราคติของพราหมณ์ในชมพูทวีป ชื่อ “วาสุเทพ” นั้น เป็นชื่อบิดาของอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระกฤษณะ” ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารวดี (หรือ ทวารกา) แต่หลายครั้งก็หมายถึงตัวพระกฤษณะเอง โดยมักปรากฏใช้เรียกควบคู่กันว่า “วสุเทวะกฤษณะ” อยู่บ่อยครั้ง

และทั้งคำว่า “กฤษณะ” และ “กาฬ” ต่างก็แปลว่า “สีดำ” ได้เหมือนกันอีกด้วยต่างหาก ซึ่งก็หมายความว่า พระกาฬ หรือที่จารึกศาลเจ้าเรียกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” นั้น ก็คือ “พระเทพบิดร” ของกษัตริย์ละโว้ในยุคที่ได้ทำจากหลักนี้ขึ้นคือเมื่อราวระหว่าง พ.ศ.1400-1500

ร่องรอยที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ในยุคกรุงเทพฯ นั้น มีการประดิษฐาน “พระกาฬ” ไว้ที่ศาลหลักเมือง ร่วมกับ “ผีบรรพชน” ที่ถูกจับบวชให้เป็นเทวดาอื่นๆ อย่างเช่น พระเสื้อเมือง และพระทรงเมือง โดยมีเจ้าพ่อหอกลอง และเจ้าพ่อเจตคุปต์ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลเมืองให้สงบเรียบร้อยตั้งประทับร่วมอยู่ด้วย

เอาเข้าจริงแล้ว “ระเบ็ง” จึงควรจะเป็นร่องรอยเก่าแก่ของพิธีกรรมความเชื่อ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง ที่สมาทานผีบรรพชนของตนเองเข้ากับพระกฤษณะ หรือพระนารายณ์ กับกลุ่มที่ยอมรับนับถือศิวลึงค์ของพระอิศวร ไม่ใช่แค่เป็นเพียงนิทาน หรือเรื่องเล่าเข้าใจผิดที่ถูกแต่งขึ้นมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ