นายบรรจง ศรีสอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (ช.อขส-1.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่บริเวณสันเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อตรวจสอบติดตามสถานการณ์น้ำ หลังจากมีฝนตกต่อเนื่องทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 5,309 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำพร้อมใช้งานได้ 2,459 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 36 ยังสามารถรับมวลน้ำได้อีก 4,200 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ทั้งนี้ เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปี 2565 มีปริมาณน้ำมากกว่าประมาณ 1,694 ล้าน ลบ.ม. และมีแผนการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำไหลเข้าเฉลี่ยวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. 

ฤดูฝนปีนี้ เขื่อนสิริกิติ์คาดการณ์น้ำไหลเข้าประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 1,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะเดือนสิงหาคม มีปริมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น เขื่อนสิริกิติ์จึงอยู่ในช่วงเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด หากมีฝนตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์ยังสามารถรับได้ เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ประกอบกับในช่วงฤดูฝน ผู้ใช้น้ำท้ายเขื่อนมีน้ำมากพอในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เขื่อนสิริกิติ์จึงปรับลดการระบายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพื่อการเลี้ยงปลาในกระชัง เน้นการกักเก็บน้ำมากขึ้น ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน จากการคาดการณ์ เขื่อนสิริกิติ์ เก็บกักน้ำให้ได้ประมาณร้อยละ 78 หรือ 7,500 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 46 

“ด้านความมั่นคงแข็งแรง เขื่อนสิริกิติ์ออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ขนาด 7.5 ริกเตอร์ อีกทั้งมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ตัวเขื่อน พร้อมเครื่องมือวัดพฤติกรรมของเขื่อน การรั่วซึมของน้ำ การทรุด การขยายตัว โดยมีการตรวจสอบและประเมินความมั่นคง ปลอดภัยของตัวเขื่อนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ ตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัย”