ชาวล้านนามีความเชื่อกันว่าในตัวเราทุกคนมีขวัญอยู่ทั้งหมด 32 ขวัญ เรียกว่า “ทวัตติงสากร” ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก แม้กระทั่งน้ำเลือดน้ำหนอง หากได้รับการกระทบกรเทือนทางกายหรือจิตใจ ขวัญก็จะหนีออกจากร่างกายทำให้เจ็บไข้ไม่สบาย จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญหรือในภาษาเหนือเรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ”เพื่อทำให้ขวัญกลับเข้าสู่ร่างกายดังเดิม

ลักษณะของ ”ขวัญ” มีลักษณะเบา สามารถเคลื่อนที่ได้ ไม่เห็นเป็นรูปร่างแต่สามารถอยู่ในคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ เป็นพิธีกรรมโบราณที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ

พิธีฮ้องขวัญยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา และไม่ใช่เฉพาะสำหรับการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ยังเป็นกุศโลบายในการสร้างเสริมกำลังใจให้กัน สร้างมิตรภาพ ขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมให้กับคนในสังคมนั้น ๆ พิธีฮ้องขวัญที่พบในล้านนา เช่น การเรียกขวัญเด็ก ขวัญลูกแก้ว(การบวช) ขวัญนาค ขวัญผู้ที่กำลังป่วย ขวัญผู้ที่หายจากอาการเจ็บป่วย ขวัญสำหรับผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ ขวัญผู้ที่จะเดินทางไกล ขวัญผู้ที่มาเยือน ขวัญสำหรับบ่าวสาว แม้กระทั่งฮ้องขวัญสัตว์ที่ให้คุณแก่เรา เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เป็นต้น ซึ่งพิธีฮ้องขวัญของชาวล้านนามักจะทำร่วมกับพิธีสะเดาะเคราะห์ และพิธีสืบชะตา โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตา และการเรียกขวัญ

ชนิดบายศรีที่พบในล้านนา แบ่งตามการใช้งาน ได้ 4 ประเภท คือ

1.บายศรีหลวง หรือบายศรีใหญ่ ในล้านนานิยมทำถวายพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี เป็นจำนวน 9 ชั้น สำหรับพระอิสริยยศรองลงมาทำเป็นจำนวน 7 ชั้น เจ้านายในพรราชวงศ์ทำเป็น 5 ชั้น ขุนนางและประชาชนทำเป็น 3 ชั้น ถือเป็นเกณฑ์เช่นนี้ตั้งแต่โบราณ ในบายศรีชนิดนี้จะไม่ใส่เครื่องสังเวยลงในบายศรี แต่จะแยกใส่ภาชนะอื่นต่างหาก ประกอบด้วย สำรับคาว (หัวหมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง ) สำรับหวาน (ขนมหวานต่าง ๆ ถั่ว งา นม เนย) เป็นต้น

2.บายศรีนมแมว เป็นบายศรีพิเศษที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงชาวบ้านสามัญชน โดยเฉพาะในพิธีเรียกขวัญลูกแก้ว พิธีทำขวัญนาค ในบายศรีจะใส่อาหารโดยทั่วไป ประกอบด้วย

ข้าวเหนียวสุกปั้นเป็นก้อน
อาหารคาว เช่น ไข่ต้ม,ปลา,เนื้อ
อาหารหวาน เช่น ขนมชั้น,ข้าวแต๋น,ข้าวต้มมัด
ผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย
หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง

นอกจากอาหารแล้ว ในบายศรีชนิดนี้ จำเป็นจะต้องมีด้ายผูกข้อมือเพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้ผูกข้อมือผู้ที่ถูกเรียกขวัญด้วย

3.บายศรีปากชาม เรียกอีกอย่างว่า “บายศรีน้อย” เป็นบายศรีที่ทำง่ายไม่ซับซ้อน มีลักษณะและวิธีการทำเหมือนบายศรีปากชามทั่วไป

4.บายศรีกล้วย เป็นการนำใบตองมาเย็บให้ลักษณะเหมือนใบไม้ป่า และประดับตกแต่งด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ภายในพานใส่ข้าว ผลไม้ และน้ำ

ที่มาข้อมูล : แต่งแต้ม บายศรีล้านนา เอกสารประกอบนิทรรศการ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2557.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์