การแสดงละคร

maxresdefault   เป็นศิลปะการร่ายรำที่เล่นเป็นเรื่องราว มีพัฒนาการมาจากการเล่านิทาน ละครมีเอกลักษณ์ในการแสดงและการดำเนินเรื่องด้วยกระบวนลีลาท่ารำ เข้าบทร้อง ทำนองเพลงและเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ มีแบบแผนการเล่นที่เป็นทั้งของชาวบ้านและของหลวงที่เรียกว่า ละครโนราชาตรี ละครนอก ละครใน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงคือ พระสุธน สังข์ทอง คาวี อิเหนา อุณรุท นอกจากนี้ยังมีละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่อีกหลายชนิด การแต่งกายของละครจะเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า การแต่งการแบบยืนเครื่อง นิยมเล่นในงานพิธีสำคัญและงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์

ละครนอกและละครใน

ละครนอก

มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กัน แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร “โนห์รา” หรือ “ชาตรี” โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป

ผู้แสดง
          ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์ เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง

การแต่งกาย
          ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า “ยืนเครื่อง”

เรื่องที่แสดง
          แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์ บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
สมัยรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไข)

 

ดนตรี
          มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงละครนอก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา

เพลงร้อง
          มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า “นอก” ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเอง โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก ๑ คน

การแสดง ละครนอก เรื่องสังข์ทอง ชุดระบำดาวดึงส์

40.jpg

 

ละครใน

ละครใน ละครในมีหลายชื่อ เช่น ละครใน ละครข้างใน ละครนางใน และละครในพระราชฐาน เป็นต้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ละครในแสดงมาจนถึงสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หลังสมัยรัชกาลที่ ๖ มิได้มีละครในในเมืองหลวงอีก เนื่องจากระยะหลังมีละครสมัยใหม่เข้ามามาก จนต่อมามีผู้คิดฟื้นฟูละครในขึ้นอีก เพื่อแสดงบ้างในบางโอกาส แต่แบบแผน และลักษณะการแสดงเปลี่ยนไปมาก

ผู้แสดง
          เป็นหญิงฝ่ายใน เดิมห้ามบุคคลภายนอกหัดละครใน จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเลิกข้อห้ามนั้น ต่อมาภายหลังอนุญาตให้ผู้ชายแสดงได้ด้วย ผู้แสดงละครในต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตีบทให้แตก และมีลักษณะทีท้าวทีพญา

การแต่งกาย
พิถีพิถันตามแบบแผนกษัตริย์จริงๆ เรียกว่า “ยืนเครื่อง” ทั้งตัวพระ และตัวนาง

เรื่องที่แสดง
มักนิยมแสดงเพียง ๓ เรื่อง คือ อุณรุฑ อิเหนา และรามเกียรติ์

ดนตรี
          ใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก แต่เทียบเสียงไม่เหมือนกัน จะต้องบรรเลงให้เหมาะสมกับเสียงของผู้หญิงที่เรียกว่า “ทางใน”

เพลงร้อง
ปรับปรุงให้มีทำนอง และจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง มีต้นเสียง และลูกคู่ มักมีคำว่า “ใน” อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน

การแสดง ละครใน เรื่องรามเกียรติ์

00101d.jpg