18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

    ภาพจาก freepik.com

    ที่โลกพัฒนามาได้ไกลดังเช่นปัจจุบันนี้ เป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า วิทยาศาสตร์ คือศาสตร์ที่ศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ในรูปแบบของกระบวนการประมวลความรู้เชิงประจักษ์ หรือที่เรียกว่า “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” กล่าวคือ เป็นแห่งการพิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการทางฝั่งโลกตะวันตกนั้น เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ “การปฏิวัติวิทยาศาสตร์” ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17

    จุดเริ่มต้นในการศึกษาวิทยาศาสตร์ของโลก

    มูลเหตุในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นมาจากการที่ยุโรปผ่านยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรอแนซ็องส์มา ความเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้น เชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถในตนเอง เชื่อมั่นในสติปัญญาและความสามารถ เชื่อมั่นในความเป็นเหตุเป็นผล จนนำไปสู่การแสวงหาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (มนุษยนิยม) ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากอิทธิพลของศาสนา โดยมุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น

    ความสำเร็จของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นี้ ส่งผลต่อพัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในตะวันตก ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายไปทั่วโลก มนุษย์ได้นำเอาวิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนทฤษฎีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการผลิตเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

    จากการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ ด้วยวิธีการเรียงตัวอักษรของโยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ในปีค.ศ. 1448 ทำให้สามารถพิมพ์หนังสือเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการนำสังคมตะวันตกเข้าสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากสามารถพิมพ์หนังสือได้หลายเล่ม เพื่อใช้เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ และเป็นการปูความพร้อมทางวัตถุให้กับเศรษฐกิจฐานความรู้ในยุคสมัยใหม่

    วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติในประเทศไทย

    วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี ถือเอาวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 คำนวณวันที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงขึ้นที่นั่นได้อย่างแม่นยำเป็นเวลาล่วงหน้าถึง 2 ปี

    ภาพจาก Pixabay

    การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ พระองค์ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์ในการคำนวณหาวันที่จะเกิดสุริยุปราคา ซึ่งก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ด้วยการคำนวณที่แม่นยำของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ เซอร์ แฮรี ออด จึงได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์ว่าถูกถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ยิ่งกว่าชาวยุโรปคำนวณไว้ได้เสียอีก”

    จึงทำให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านดาราศาสตร์ จึงมีแนวคิดที่จะกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเพื่อระลึกในเหตุการณ์ครั้งนั้น ในวันที่ 14 เมษายน 2525 มติคณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ 18 สิงหาคม 2525 เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

    ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 18 สิงหาคมของทุกปีจึงกลายเป็น วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กิจกรรมการจัดงานวันวิทยาศาสตร์ขึ้นทั่วประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2525 โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน (ปัจจุบันยุบกระทรวงรวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    ต่อมาในปี 2527 การจัดงานวันวิทยาศาสตร์ได้ขยายขอบข่ายเป็นงานใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคมของทุกปี

    และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้าง “โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ” จนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

    นอกจากนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยังได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์อีกด้วย

    วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

    • เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
    • เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
    • เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
    • เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
    • เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี