“พงศาวดาร ไทยรบพม่า” หนังสือที่คนไทยควรอ่าน

“ถ้าจะอ่าน novel ก็ไปเลือกอ่านเรื่องของ Dickens หรือ Dumas หรืออ่านเรื่องที่มีชื่อเสียงว่าดี แล้วจะได้รู้ว่าอย่างไรเขาเรียกว่าดี” ข้อความจากหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสแนะนำต่อ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่องการอ่านหนังสือ

และในสัปดาห์นี้ขอยกเอาหนังสือของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” กับหนังสือ “พงศาวดาร เรื่อง ไทยรบพม่า” ที่เป็นการหยิบเอาบันทึกประวัติศาสตร์ การรบระหว่างไทยกับพม่า ตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรื่องราวของการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระเจ้าหงสาวดี ในปี 2111 และ เสียกรุงฯครั้งที่สองในปี 2310

เรื่อยมาถึงการสงครามเมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ที่สงครามระหว่างไทยกับพม่า ยังคงมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงการสงครามเมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เนื้อหาที่มีเกือบ 800 หน้านี้ อาจไม่ใช่หนังสือที่จะอ่านที่เดียวจนจบ แต่เป็นหนังสือพงศาวดาร ที่คู่ควรมีติดชั้นหนังสือเอาไว้เพื่อ ได้สืบค้นข้อมูลที่ถูกต้อง

ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นเรื่องที่ใครก็เขียนได้ผ่านโลกโซเชียล โดยไม่มีการสืบหาหลักฐานที่ชัดเจน และ ยังทำให้ผู้คนที่หลงเชื่อ จนเข้าใจผิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้น ความผิดส่วนหนึ่งก็มาจากผู้ที่หลงเชื่อข้อมูลอันไม่มีที่มาที่ไปนั้นอย่างสุดใจ เชื่อด้วยอคติที่มีอยู่ในใจอยู่แล้ว จนไม่สืบค้นหาความจริงด้วยตนเอง

ดังเช่นการอ่านหนังสือ ก็ควรหาหนังสือที่อ่านแล้ว “เรียกว่าดี” อันหมายถึงได้ความรู้กับตัวเอาไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ หรือ เป็นความรู้รอบตัวที่เรียกว่า “รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามได้” มิใช่อ่านแล้วไม่ได้ความรู้ใด ๆ นอกจากภาษาที่ผิดเพี้ยน หรือ ทัศนคติที่ไม่ได้มีคุณใด ๆ แก่ตัวคนอ่านเลย

ในหนังสือ “พงศาวดาร เรื่อง ไทยรบพม่า” นั้นมีบันทึกถึงสงครามครั้งที่ 24 คราวเสียกรุงฯครั้งหลัง ปีกุน 2310 ขอยกมาบางช่วงบางตอน

“เมื่อพม่าเข้าพระนครได้นั้นเป็นเวลากลางคืน พม่าไปถึงทางไหนก็เอาไฟจุดเหย้าเรือนของชาวเมือง เข้าไปจนกระทั่งปราสาทราชมนเทียร ไฟไหม้ลุกลามแสงสว่างดังกลางวัน ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้วก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร”

ถ้าอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ขอให้หาหนังสือที่ดีมาอ่าน และอย่าเพิ่งเชื่อเพียงเล่มเดียว ยังมีจดหมายเหตุที่เกี่ยวกับเมืองไทย ที่บันทึกโดยชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทยในเวลานั้น หรือ แม้แต่ คำให้การของ เชลยชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกบันทึกอยู่ใน หนังสือประวัติศาสตร์ของพม่า และได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งจะทำให้ได้คำตอบที่มีความจริงอยู่บ้าง มิใช่เลือกที่จะเชื่อเรื่องที่ “เขาเล่าว่า” แล้วคิดว่านั่นคือเรื่องจริง