top of page

ความรู้เกี่ยวกับคำว่าบายศรี


เมื่อพูดถึง “บายศรี” เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคยเพราะพบเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่างๆ แทบทุกภาคของไทย เช่น การทำขวัญคน การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น

ส่วนประกอบสำคัญ

๑. ไข่ขวัญหรือไข่ยอด เป็นไข่ต้มสุก อาจเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ ตามความนิยมของแต่ละท้องที่ ไข่ขวัญนี้จะให้ผู้รับทำขวัญกิน เช่น ทำขวัญคนป่วยจะให้คนป่วยกิน จะอยู่ส่วนบนสุดของบายศรี ซึ่งหมายถึงทำให้เกิดมงคลและเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิด วิธีทำ คือ นำไข่เป็ดหรือไข่ไก่ เริ่มด้วยนำไข่ใส่ในน้ำเย็นพอน้ำเริ่มร้อนให้ใช้ไม้พายคนไข่ที่ต้มตลอดเวลา เพื่อจะทำให้ไข่กลมไม่มีส่วนใดบุบเมื่อสุกแล้วยกลง ๒. ตัวแมงดาหรือเต่า คือส่วนที่วางระหว่างกลางตัวบายศรี บายศรีปากชามหนึ่งที่มีบายศรีสามตัว และมีตัวแมงดาสามตัว การทำตัวแมงดาใช้ใบตองกว้างประมาณ ๘-๑๑ ซ.ม. ใหญ่หรือเล็กตามขนาดของบายศรีตัดตามรูป เจาะทำให้เป็นลวดลายให้สวยงาม ข้อควรระวังบางครั้งจะทำให้ใบตองแตกควรใช้มีคม ๆ เจาะลาย ควรใช้ใบตองด้านแข็งอยู่ส่วนบน ๓. แตงกวา กล้วยน้ำ เป็นอาหารที่อยู่ภายในบายศรี โดยนำแตงกวา และกล้วยน้ำอย่างละ ๑ ผล แบ่งเป็น ๓ ซีกตามยาวของแตงกวาและกล้วย โดยไม่ปอกเปลือก เมื่อแบ่งได้เป็น ๓ ชิ้น จึงนำไปพนมเข้ากับกรวย ๔. กรวย คือที่บรรจุข้าวสุกปากหม้อ ใช้ใบตองตานีช่วงยาวไม่มีที่ตำหนิ กว้างประมาณ ๑๒ นิ้ว ใช้ใบตอง ๒ ทบ เอาด้านมันออกม้วนจากทางขวามือมาทางซ้ายมือให้เป็นรูปกรวย โดยกะขนาดปากกรวยลงระหว่างบายศรีทั้งสามพอดี ความสูงของกรวยจะต้องสูงกว่าบายศรีเล็กน้อยประมาณ ๑-๒ นิ้ว เมื่อม้วนกรวยแล้วใบตองที่อยู่ข้างนอกจะต้องเป็นสันตั้ง เมื่อได้ขนาดที่ต้องการให้นำเข็มหมุดกลัดไว้ และตัดปากกรวยทำดอกจันมอบปากกรวยให้เรียบร้อยแล้วนำ ข้าวสุกปากหม้อใส่ให้แน่น พยายามกดตรงยอดให้แน่น เพื่อกันเวลาเสียบยอดจะได้ไม่อ่อน เมื่อใส่ข้าวแน่นแล้ว ตัดใบตองกลมปิดปากกรวย ๒ ใบซ้อนกัน ๕. ไม้ไผ่สีสุก ๓ อัน ใช้ประกบบายศรีกันโงนเงน เป็นการยึดบายศรี หรืออาจหมายถึงบันไดที่จะไปสู่เขาไกรลาส ๖. ผ้าห่มบายศรี และยอดตอง ยอดตองสามใบควรเป็นยอดตองอ่อนใช้ห่มบายศรีหรือห่มขวัญ โดยจะห่มทั้งไม้ไผ่สามซีกที่รัดไว้กับบายศรี และใช้ผ้า เช่น ผ้าตาดทอง หรือผ้าลูกไม้ห่มอีกชั้นหนึ่ง แต่ในปัจจุบันต้องการโชว์บายศรี และอีกประการหนึ่งคงไม่สะดวกในการจะห่มองค์บายศรี เลยใช้ม้วนวางไว้ข้าง ๆ องค์บายศรี ๗. อาหารในบายศรี ควรจะเย็บกระทงใบเล็ก ๆ มอบปากให้เรียบร้อยใส่ในบายศรีสู่ขวัญ บายศรีบวชนาคจะมีอาหารใส่ อาหารอื่น ๆ เช่น กล้วยทั้งหวี มะพร้าวนั้นโดยมากจะใส่พานไว้ต่างหากเพราะไม่สามารถจะใส่ไว้ในบายศรีได้ ๘. การครอบครูบายศรี ให้ใช้ดอกไม้ธูปเทียนเป็นการประสิทธิ์ประสาทวิชาของครูให้แก่ลูกศิษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและกำลังใจที่ศิษย์จะปฏิบัติต่อไป การครอบครูบายศรี ครูจะจับมือเข้าองค์บายศรี


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page