xs
xsm
sm
md
lg

“ละครนอก” มหรสพฉบับหลวง สืบงานศิลป์สู่ทุ่งพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละครนอกสุวรรณหงส์ ตอนชมถ้ำเพชรพลอย
หากกล่าวถึงละครนอก หลายคนคงนึกย้อนถึงถ้อยคำที่เคยท่องก่อนเข้าห้องสอบว่า เป็นการแสดงที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา นิยมแสดงนอกราชธานี ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร "โนราห์" หรือ "ชาตรี" โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป ใช้ผู้ชายแสดงล้วน

แต่ข้อมูลจาก ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ คณบดีคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทำให้ได้ทราบว่า ความเข้าใจดั้งเดิมที่เคยรับทราบอาจจะมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันละครนอกมิได้ใช้เฉพาะผู้ชายแสดงล้วนเช่นในอดีตอีกต่อไป เนื่องจากในเวลานี้ละครนอกและละครในต่างมี 2 รูปแบบ คือ ละครนอกที่ใช้ผู้ชายล้วน และมีทั้งที่ใช้ชายจริงหญิงแท้แสดง ซึ่งละครในก็เช่นกันมีทั้งที่คละกันและผู้หญิงแสดงแบบราชประเพณีโบราณก็มี ซึ่งได้รับการอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดการแสดงให้บุคคลทั่วไปได้ชมนั้นจะใช้นักแสดงชาย-หญิง

ทั้งนี้ เมื่อครั้งงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรมศิลปากรจัดให้มีการแสดงละครนอกเรื่องสังข์ทอง ซึ่งโดยความหมายของชื่อบทประพันธ์ที่จะใช้แสดงนั้นต้องมีนัยยะเป็นมงคล เช่นเดียวกันพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ละครนอกถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในมหรสพที่สมโภชด้วย โดยมีหลักการเลือกบทจากชื่อที่เป็นสิริมงคล มีนัยยะของการมีโชคชัยและจะนำพาไปสู่ความสุขซึ่งครั้งนี้จัดแสดงเรื่อง "สุวรรณหงส์" ตอนสุวรรณหงส์เสี่ยงว่าว-กุมภณฑ์ถวายม้าซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนศ นรินทร์ฤทธิ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นำมาปรับปรุงโดยกรมศิลปากร
ละครนอกสุวรรณหงส์ ตอนชมถ้ำเพชรพลอย
ดร.ศุภชัย ในฐานะผู้ฝึกซ้อมผู้แสดงตัวพระสุวรรณหงส์ บอกว่า ละครนอกเรื่องสุวรรณหงส์ที่จะใช้แสดงในวันที่ 15 พ.ย.นี้นั้นเป็นละครนอกฉบับหลวงซึ่งจะแตกต่างจากละครสามัญชน คือ มีท่วงท่ารำที่อ่อนช้อย งดงาม ไม่มีคำ "ตลาด" กล่าวได้ว่ามีความประณีตสูง และใช้ผู้แสดงเป็นชายจริงและหญิงแท้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความงดงามของศิลปการแสดงที่มีมาแต่ดั้งเดิมของไทย

ด้าน “ชวลิต สุนทรานนท์” นักวิชาการละครและดนตรี 9 ชช. (ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการละครและดนตรี) สำนักสังคีต กรมศิลปากร อธิบายว่า ละครนอกเรื่องสุวรรณหงส์นั้นนับเป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งที่นิยมจัดการแสดง โดยละครฉบับหลวงซึ่งสืบทอดบทมาจากกรมมหรสพก่อนจะส่งต่อมาให้กรมศิลปากรเรื่องนี้นั้นมีเนื้อหาที่สนุก ท่วงท่ารำมีความหลากหลาย ดำเนินเนื้อเรื่องอย่างรวดเร็ว ได้อรรถรสของการชมละครอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังคงสืบทอดราชประเพณีดั้งเดิมทุกประการ

“สาเหตุที่เป็นละครนอกไม่เป็นละครในเนื่องเพราะว่าละครในนั้นเป็นมหรสพที่ไม่นิยมเล่นในงานพระศพของเจ้านาย หากแต่ใช้ในงานประดับพระยศ หรือประกาศแสนยานุภาพขององค์พระมหากษัตริย์ และต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และที่เราไม่เล่นละครชาตรีก็เพราะว่าเป็นละครที่ชาวบ้านเล่นไม่เหมาะกับงานพระราชพิธีที่เป็นทางการ ละครจึงมีเพียงละครนอกและต้องเป็นฉบับหลวงที่กรมศิลปากรสืบทอดเท่านั้น”

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการละครและดนตรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความสนุกในการดูละครฉบับหลวงที่ประชาชนจะได้ยลในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระพี่นางฯ นั้นก็คือ ท่วงท่าร่ายรำที่หลากหลาย และเป็นต้นตำรับของกรมศิลปากร ยกตัวอย่างตอนหนึ่งของสุวรรณหงส์ชื่อ ตอนชมถ้ำ เนื้อเรื่องโดยย่อของตอนนี้ก็คือ พระสุวรรณหงส์ต้องการพิสูจน์ว่าพราหมณ์เกศสุริยงเป็นหญิงคนรักของตนที่ปลอมตัวมาหรือไม่ จึงพาไปชมถ้ำพลอย ทำให้ท่ารำในตอนนี้เป็นการรำที่เรียกว่า “ผู้เมีย” กล่าวคือเป็นท่ารำกึ่งตัวพระกึ่งตัวนาง ซึ่งความหลากอรรถรสของละครนอกเรื่องนี้จะมีปรากฏทั้ง 6 ตอน ตลอด 3 ชั่วโมง
ขณะกำลังฝึกซ้อม
  • ดูอย่างไรให้สนุก
    นอกจากนี้ ดร.ศุภชัย ยังให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้ว่ากรมศิลปากร หรือสำนักสังคีตได้จัดทำการแสดงละคร หรือโขนให้ประชาชนภายนอกได้ชมอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่มีคำถามจากหลายทางสะท้อนกลับเข้ามาว่า ศิลปะไทยเหล่านี้ดูยาก เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อย จึงเกรงไปว่า ในยุคหลังจากนี้คนไทยจะลืมสิ่งที่เรียกว่ารากเหง้าของวัฒนธรรมไปเสียสิ้น

    “นักเรียนนาฏศิลป์เราไม่กลัว เพราะคนเหล่านี้เขามีความตั้งใจและเป้าหมายอยู่แล้วว่าอยากศึกษาเพื่อเป็นครู แต่เราห่วงผู้ชมที่นับวันจะไกลห่างออกไป ซึ่งสิ่งที่เราปรับมาตลอดก็คือ ความกระชับของเนื้อหา เพื่อให้ผู้ชมดูง่ายและไม่เบื่อโดยคงจารีตการรำและการร้องไว้ให้ครบถ้วนที่สุด”

    อย่างไรก็ตาม เพื่อการชมละครให้ได้อรรถรสและเข้าถึงความงามของศิลปะแขนงนี้ของไทย ผู้ชมจะต้องทำการศึกษาเนื้อหาการแสดงเบื้องต้นก่อน อีกทั้งการปูพื้นฐานการทำความเข้าใจความสำคัญของประเภทละครจะทำให้เราดูละครได้สนุกมากยิ่งขึ้น แล้วจะรู้ว่า “ละครไทย” ไม่ต้องปีนบันไดดู

  • ร้อยร่วมใจ
    ขณะกำลังฝึกซ้อม
    ถึงตรงนี้ ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การแสดงมหรสพหลวงถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในเรื่องสุวรรณหงส์มีทีมงานทั้งสิ้นกว่า 100 ชีวิตที่ถูกคัดเลือกจากสถาบันนาฏศิลป์ทั่วประเทศเพื่องานนี้ไม่ว่าจะเป็น ช่างเสียง ช่างแสง ฉาก บทร้อง เสื้อผ้า นักแสดงและผู้ฝึกสอนต่างทุ่มเทเต็มที่เพื่อที่จะให้งานออกมาประณีตและงดงามอย่างสมพระเกียรติที่สุด ซึ่งระหว่างนี้นักแสดงแต่ละคนได้ฝึกปรือฝีมือกับครูผู้เชี่ยวชาญอย่างขะมักขเม้น ซึ่งนักแสดงส่วนใหญ่มาจากสำนักสังคีต อาจารย์ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งขณะนี้ทุกคนต่างฝึกซ้อมอย่างขันแข็งและพร้อมรอฝึกซ้อมรวมเรื่องในวันที่ 8 พ.ย.เป็นต้นไป

    เมื่อถามว่าการทำงานที่ต้องสืบประสานกับหลายแหล่งแห่งที่นั้นมีอุปสรรคมากน้อยเพียงไร ก็ได้รับคำตอบจากศิลปินแห่งชาติว่า น่าแปลกที่กลับไม่มีอุปสรรคใดๆ อาจจะเนื่องด้วยนักแสดงและคณะทำงานทุกคนคุ้นชินกับสิ่งที่เรียกว่า "ละคร" อยู่แต่เดิมอยู่แล้ว และสิ่งที่กระตุ้นให้นักแสดงตลอดจนทีมงานทุกคนทุกฝ่ายรวมแรงอย่างแข็งขันก็เพื่อต้องการถวายความจงรักภักดีแด่องค์พระพี่นางฯ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

    "ทุกคนมีความเต็มใจที่จะทำงานนี้ แม้ว่าในใจลึกๆ ของพวกเราจะไม่อยากให้มีงานพระศพก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ศิลปินทำได้ก็คือการถวายงานผ่านมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ และครั้งหนึ่งในชีวิตของศิลปินที่จะได้ทำหน้าที่นี้ก็ต้องทำอย่างเต็มที่" ดร.ศุภชัย กล่าวแทนนักแสดงทุกคน
    กำลังโหลดความคิดเห็น