xs
xsm
sm
md
lg

ไทยช่วยอังกฤษรบพม่า สัมพันธไมตรีนี้มีปัญหา! ยกเมืองพม่าที่ตีได้ให้มา ไทยจึงขอไม่รับ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เรือรบอังกฤษยิงถล่มป้อมปากน้ำร่างกุ้ง
เมื่ออังกฤษมีเรื่องพิพาทกับพม่า แรกๆอังกฤษก็แหยงเหมือนกัน เพราะพม่าเป็นชาตินักรบ ชอบรุกรานเพื่อนบ้านโดยรอบ จึงมาชวนไทยที่เป็นศัตรูถาวรของพม่าไปช่วยรบ ไทยเราเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้พม่ายับเยินจะได้ไม่มีกำลังจะมารุกรานอีก จึงตอบรับไป แต่อังกฤษก็เชิงจัดเปรยว่าจะยกเมืองพม่าที่ติดชายแดนให้ แต่ก็ไม่ยอมพูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ไทยจึงสงวนท่าทีไม่ผลีผลาม ในที่สุดสัมพันธไมตรีนี้ก็มีปัญหาตามคาด แม้อังกฤษจะตีพม่าได้และยกเมืองพม่าที่สำคัญๆให้ ไทยเราก็ไม่ยอมรับ บอกว่าตีได้ก็เอาไว้เองเถิด เพราะรู้ว่าอังกฤษมีแผน

อังกฤษมีปัญหากับพม่ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปดุง ผู้ทำสงคราม ๙ ทัพกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยพระเจ้าปดุงส่งทหารเข้าไปปราบกบฏยะไข่ กบฏ ๓ คนหนีเข้าไปเมืองจิตตะกองในอินเดีย อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ กองทัพพม่าตามไปประชิด ยื่นคำขาดให้อังกฤษส่ง ๓ กบฏออกมา อังกฤษมีทหารรักษาเมืองอยู่หมวดเดียว เลยต้องยอมส่งตัว ๓ กบฏยะไข่ให้ทหารพม่า ทำให้พม่าได้ใจ ตอนนั้นอังกฤษยังมีศึกด้านอื่นอีก เลยทำเฉยปล่อยให้พม่ากำแหงไปก่อน

ต่อมาในสมัยพระเจ้าจักกายแมง พม่ารุกเข้าไปยึดเมืองจิตตะกองและเมืองกะชา เจ้าเมืองกะชาหนีไปสวามิภักดิ์ขอให้อังกฤษช่วย อังกฤษจึงถือโอกาสเปิดศึกกับพม่าใน พ.ศ.๒๓๖๖ แม้อังกฤษจะเกณฑ์ทหารอินเดียมาช่วยก็ยังสู้พม่าที่ชำนาญภูมิประเทศกว่าไม่ได้ อังกฤษเลยขนทหารทั้งอังกฤษและอินเดีย ๑๑,๐๐๐ คนให้นายพลเซอร์อาชิบัลด์ แคมป์เบล ยกมาทางเรือ พม่าไม่คิดว่าอังกฤษจะตลบหลังทางทะเล จึงเสียกรุงย่างกุ้งโดยง่ายในปี พ.ศ.๒๓๖๗

เมื่อเริ่มทำสงครามกับพม่า ลอร์ดอัมเฮิร์ด เจ้าเมืองเบงกอลผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ ก็นึกถึงไทย ส่งคนมาเกลี้ยกล่อมให้ช่วยรบพม่า ตอนนั้นไทยกับอังกฤษก็มีปัญหากันอยู่ โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ อังกฤษแอบไปทำสัญญาเช่าเกาะหมากหรือปีนังจากพระยาไทรบุรีซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย แต่ไทยกำลังทำศึกติดพันกับพม่าเลยทำเฉยเรื่องนี้ไปก่อน จนอังกฤษเอาเกาะหมากไปเป็นเมืองขึ้นของอินเดีย ตั้งชื่อใหม่ว่า “เกาะปริ้นซ์ออฟเวลส์”

ตอนปลายรัชกาลที่ ๒ พระยาไทรบุรีปะแงรัน คิดไม่ซื่อไปเข้ากับพม่า จึงโปรดให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) โอรสลับของพระเจ้าตากสินกับเจ้าจอมปราง ยกทัพไปตีใน พ.ศ.๒๓๖๔ เจ้าพระยาไทรบุรีหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะหมาก พระยานครฯขอให้อังกฤษส่งตัวมาให้เพราะถือว่าเป็นกบฏ อังกฤษไม่ยอมส่ง และเมื่อพระยาไทรบุรีส่งคนไปก่อกวนในไทรบุรี เจ้าพระยานครฯขอให้อังกฤษช่วยห้าม อังกฤษก็ว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้เป็นใจด้วย

ต่อมาอังกฤษมาขอให้เจ้าพระยานครฯลดภาษีขาออก บอกว่าตอนเช่าเกาะหมากไปจากพระยาไทรบุรี สัญญาว่าจะไม่เก็บภาษีที่ซื้อเสบียงไปจากเกาะหมาก เจ้าพระยานครฯก็ตอบว่า ไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของไทย อังกฤษไปทำสัญญากับพระยาไทรบุรีโดยไทยไม่รู้ จึงยอมรับสัญญานั้นไม่ได้

จากนั้นได้เกิดการชิงอำนาจขึ้นในเมืองเประ ซึ่งอยู่ทางใต้ของไทรบุรีลงไป ฝ่ายหนึ่งไปขอกำลังจากเมืองสลังงอที่อยู่ติดเขตแดนทางใต้ อีกฝ่ายมาขอกำลังจากเจ้าพระยานครฯที่กำลังลงไปรักษาเมืองไทรบุรี ให้กองทัพไทยลงไปไล่พวกสลังงอออกไป ฝ่ายที่ไทยหนุนได้ครองเมือง อังกฤษจึงกลัวว่าไทยจะแผ่อิทธิพลลงไปในแหลมมลายูอีก ผู้สำเร็จราชการอินเดียจึงส่งจอห์น ครอเฟิร์ดเป็นทูตเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๖๕ สมัยรัชกาลที่ ๒ แต่เอาเรื่องการค้าบังหน้า เอาเรื่องขอไทรบุรีคืนให้พระยาไทรบุรีเป็นเรื่องแอบ

ไทยตอบว่าความขัดแย้งของพระยาไทรบุรีกับเจ้าพระยานครฯ ซึ่งเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งคู่ ถ้าพระยาไทรบุรีฟ้องมาก็จะตัดสินให้ด้วยความเป็นธรรม ส่วนเรื่องที่อังกฤษขอลดหย่อนภาษีทางการค้านั้น ไทยว่าถ้าอังกฤษให้ไทยจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากอังกฤษได้สะดวก ไทยก็จะตอบแทนลดภาษีให้ อังกฤษบอกว่าถ้าไทยจะให้อังกฤษจัดหาอาวุธให้ ไทยจะต้องสัญญาว่าจะไม่เอาอาวุธนี้ไปรบกับเมืองที่เป็นมิตรกับอังกฤษ เพราะตอนนั้นอังกฤษคิดจะดีกับพม่า แต่ที่ไทยเราจะซื้ออาวุธมาก็เพื่อเอาไว้รบกับพม่า แล้วจะไปสัญญากับอังกฤษได้อย่างไร ครอเฟิร์ดเลยหงายหลังกลับไปไม่ได้ผลทั้งสองเรื่อง

เมื่ออังกฤษยึดร่างกุ้งได้แล้ว แต่ตอนนั้นเมืองหลวงของพม่าคืออังวะ การตีเมืองอังวะจะต้องขนทหารขึ้นไปทางแม่น้ำอิระวดี ซึ่งต้องใช้เรือและทหารเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เจ้าพระยานครฯส่งทหารไปช่วย และยังเร่งรัดมาทางกรุงเทพฯด้วย จอห์น ครอเฟิร์ดซึ่งเข้ามาเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์และคุ้นเคยกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เมื่อเป็นทูตเข้ามาครั้งก่อน แต่ไม่รู้ว่าเปลี่ยนแผ่นดินทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ส่งปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย ๑,๐๐๐ กระบอก ว่าเป็นของกำนันจากเจ้าเมืองเบงกอล

เมื่ออังกฤษชวนไทยรบพม่าแต่แรกนั้น อังกฤษคิดว่าไทยคงจะกระเหี้ยนกระหือรือรับคำชวน เพราะแค้นพม่ามายาวนาน จึงกำชับไม่ให้พูดเรื่องจะตอบแทนแก่ไทยอย่างไร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงเห็นว่าอังกฤษจะหลอกเอาไทยไปใช้ จึงทรงสงวนท่าที แต่พอขึ้นรัชกาลที่ ๓ อังกฤษส่งอาวุธมาให้และแสดงความต้องการจะให้ไทยช่วยเต็มที่ ทรงพระราชดำริว่า พม่าจ้องปองร้ายไทยมาตลอด ตอนที่พระยาไทรบุรีหนีไปอยู่เกาะหมาก ก็ลอบส่งสารขอให้พม่าส่งกองทัพมาช่วยตีเมืองไทรบุรีคืน บอกว่าพระยาปะลิส พระยาเประ พระยาสลังงอ และพระยาปัตตานี จะมาช่วยรบด้วย และขอขึ้นกับพม่าทั้ง ๕ เมือง พระเจ้าจักกายแมงได้ส่งเครื่องยศ ๕ ชุดมาประทานถึงเกาะหมาก พร้อมกันนั้น พม่าก็ส่งทูตไปถึงพระเจ้ากรุงเวียดนาม ชวนมาตีไทยอีกทาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ถ้าพม่าเข้มแข็งไทยก็ไม่มีทางอยู่โดยสงบสุขได้ จึงรับจะช่วยอังกฤษ แต่มีพระราชประสงค์จะรบตามลำพัง เพราะรบกับศัตรูเดียวกันก็เหมือนช่วยกันอยู่แล้ว โดยกำหนดจะตีเมืองเมาะตะมะและเมืองบริวาร คือ ทวาย ตะนาวศรี และมะริด กวาดต้อนผู้คนมาให้หมด เพราะทุกครั้งที่พม่ามาตีไทย ก็จะใช้หัวเมืองเหล่านี้เป็นที่ชุมนุมพลและส่งเสบียง ฉะนั้นต้องไม่ให้เป็นกำลังของพม่าต่อไป

เมื่อตกลงจะส่งกองทัพไปตีพม่าแล้ว จึงโปรดให้ พระยารัตนจิกร หรือ สมิงสอดเบา หัวหน้าครัวมอญที่อพยพเข้ามาในรัชกาลที่ ๒ คุมกองมอญล่วงหน้าเข้าไปสืบข่าวในแดนพม่า แล้วโปรดให้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) อดีตเจ้าเมืองเตรินที่อพยพเข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสิน คุมทัพมอญออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์ แล้วเกณฑ์ทัพเมืองชุมพร ไชยา ยกเป็นกองเรือไปทางเมืองมะริดและทวาย ส่วนทางเหนือโปรดให้พระยามหาอำมาตย์ขึ้นไปที่เมืองตาก พระยาวิชิตณรงค์ไปตั้งที่เมืองอุทัยธานี กำหนดจะเข้าตีเมืองเมาะตะมะทางด่านแม่ละเมา

สมิงสอดเบาคุมกองมอญเข้าไปในเขตพม่า ก็ได้ข่าวว่าอังกฤษตีได้เมืองเมาะตะมะ ทวาย มะริด และตะนาวศรีแล้ว โดยอังกฤษบอกว่าจะรักษาเมืองเมาะตะมะไว้ให้ไทย พวกมอญต่างไม่เข้ากับพม่า จะขอเป็นข้าพระเจ้ากรุงสยาม สมิงสอดเบาจึงรีบกลับมารายงานเจ้าพระยามหาโยธาที่ไทรโยค เจ้าพระยามหาโยธาเลยนำทัพเข้าไปตั้งที่เมืองเตรินซึ่งบิดาเคยเป็นเจ้าเมืองมาก่อน บรรดาหัวเมืองมอญที่อังกฤษยังไปไม่ถึงต่างมาเข้ากับเจ้าพระยามหาโยธา

ตอนนั้นอังกฤษตั้งใจจะยกหัวเมืองมอญทั้งหมดให้ไทย เพื่อตัดกำลังพม่าไม่ให้ไปรบกวนเมืองขึ้นใกล้แดนอินเดียที่อังกฤษจะเข้ายึด แต่อังกฤษไม่ได้ให้เปล่าๆ คิดจะแลกกับไทรบุรี เพื่อไม่ให้ไทยขยายอำนาจลงไปทางแหลมมลายู พร้อมทั้งขอสิทธิการค้าต่างๆ แต่พออังกฤษเรียนรู้อะไรมากขึ้นก็เปลี่ยนใจ

เจ้าพระยามหาโยธาได้ส่งสาสน์ถึงแม่ทัพอังกฤษ แจ้งให้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพมาช่วยอังกฤษรบแล้ว และมีการติดต่อกับ พันโทสมิธ ผู้ควบคุมเมืองเมาะตะมะ นัดแนะกันจะให้กองทัพไทยยกไปตีเมืองตองอูและหงสาวดี แต่แล้วอังกฤษก็ต้องตกใจเมื่อเจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพกลับไปเฉยๆ สอบถามชาวบ้านก็ได้ความสับสน บางคนว่าทางกรุงเทพฯเกรงว่าเจ้าพระยามหาโยธาจะไปเข้ากับอังกฤษเพื่อครองเมืองหงสาวดี บ้างก็ว่าทางกรุงเทพฯเปลี่ยนรัชกาลแล้วเกิดจลาจล แต่แท้ที่จริงเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างกองทัพของพระยาชุมพรกับกองทัพอังกฤษที่เมืองมะริด โดยพระยาชุมพรไปรับคนมอญที่หนีอังกฤษมา อังกฤษตามมายิงเรือไทยและจับไปได้ ๖ ลำ คน ๑๔๕ คน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเลยทรงเรียกกองทัพกลับ ข้าหลวงอังกฤษที่อินเดียทราบเรื่องก็โกรธ สั่งว่าไม่ต้องไปชวนไทยมารบอีกแล้ว แต่นายพลเซอร์อาชิบัลด์ชี้แจงว่าจำเป็นต้องพึ่งกองทัพไทยอีก

แม่ทัพอังกฤษได้ให้พันโทสมิธมีหนังสือถึงเจ้าพระยามหาโยธาที่กรุงเทพฯ แจ้งเรื่องที่พระยาชุมพรไปจับคนที่เมืองมะริดโดยพละการ ละเมิดคำสั่งของรัฐบาลไทย แต่ขออย่าได้ถือเรื่องเล็กๆเช่นนี้มาทำให้ขุ่นเคืองทางไมตรีเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้สอบถามชาวมะริดที่ถูกจับมาก็ได้ความว่า คนที่สมัครใจมากับพระยาชุมพรนั้นมีน้อย แต่ถูกกวาดต้อนมามีมาก จึงทรงพระพิโรธรับสั่งให้ปลดพระยาชุมพรนำตัวมาจำขังที่กรุงเทพฯ รับสั่งให้พระยามหาโยธาแจ้งเรื่องนี้ให้แม่ทัพอังกฤษทราบ

เมื่อทำความเข้าใจกันแล้ว ไทยก็ให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพออกไปอีกตามคำเร่งรัดของอังกฤษ ส่วนผู้สำเร็จราชการที่อินเดียก็คิดจะป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกันเช่นนี้อีก จึงส่ง ร้อยอกเฮนรี เบอร์นี ผู้คุ้นเคยกับคนไทยเข้ามาประจำที่กรุงเทพฯ

กองทัพของเจ้าพระยามหาโยธายกออกไป ๑๐,๐๐๐ คน แล้วแจ้งให้แม่ทัพอังกฤษทราบว่า กองทัพใหญ่นำโดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ยกมาตั้งที่กาญจนบุรีแล้ว พร้อมจะเข้าร่วมรบกับอังกฤษ แต่การเคลื่อนทัพใหญ่ไปตีอังวะ จำต้องผ่านเมืองในปกครองของอังกฤษ การจะหาเสบียงอาหารก็จะต้องขออนุญาตจากอังกฤษก่อน ทำให้ไม่สะดวก ถ้าอังกฤษมอบเมืองเมาะตะมะและเมืองบริวารให้ไทยเสียในเวลานี้ ก็จะเป็นการสะดวกในการเดินทัพ ทั้งกองทัพไทยทางเชียงใหม่ก็จะเข้าตีพม่าเช่นกัน เมื่ออังกฤษกับไทยร่วมกันเช่นนี้ ก็จะพิชิตศึกพม่าได้โดยง่าย กองทัพไทยก็จะตีเข้าไปถึงอังวะโดยไม่ต้องห่วงเสบียง

ระหว่างการเจรจากันอยู่นี้ มหาอุจจนา เจ้าเมืองเก่าเมาะตะมะ ซึ่งหลบไปส้องสุมกำลังที่เมืองสะเทิม ก็ยกมาตีเมืองเมาะตะมะคืน อังกฤษมีแค่กองมอญอาสารักษาด่าน ถูกพม่าตีถอยร่น อังกฤษจึงขอให้กองทัพของเจ้าพระยามหาโยธาช่วย กองทัพไทยก็เข้าตีพม่าจนถอยร่น รักษาเมืองเมาะตะมะไว้ได้ อังกฤษขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่ แต่ที่ไทยขอเมาะตะมะอังกฤษบอกเสร็จสงครามจะจัดการให้ตามประสงค์ ตอนนี้ขอให้ช่วยรบไปก่อน เรื่องเสบียงก็ไม่ต้องห่วง อังกฤษจะจัดส่งให้เอง

เหตุที่อังกฤษเปลี่ยนใจไม่มอบเมาะตะมะ มะริด ทวาย และตะนาวศรีให้ไทย ก็เพราะเพิ่งคิดได้ว่า เมืองมอญเหล่านี้อยู่ปากน้ำเหมือนเป็นประตูทางทะเลของพม่า หากอังกฤษตั้งรัฐมอญขึ้นใหม่ มอญก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอังกฤษ และช่วยป้องกันพม่าให้ ทำให้อังกฤษค้าขายกับพม่า มอญ และไทยได้สะดวก แต่เมื่ออังกฤษสืบหาเชื้อพระวงศ์หงสาวดีที่จะมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินมอญก็หาไม่ได้ เพราะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เมื่อสอบถามชาวบ้านหาคนที่มอญนับถือมากที่สุด ก็คือ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) อังกฤษจึงหาทางชักชวนให้เจ้าพระยามหาโยธาไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินมอญให้ได้

เมื่อกองทัพของเจ้าพระยามหาโยธายังรีรอไม่เข้าตีอังวะ ร.อ.เบอร์นีก็ทำหนังสือแจ้งมาว่า ขืนรีรอแบบนี้คงไม่ทันการแน่ ถ้าไทยไม่ยอมให้กองทัพไปช่วยอังกฤษ ก็ขอให้ส่งช้างม้าสัตว์พาหนะไปช่วยก่อน อังกฤษจะจ่ายเงินให้ ฝ่ายไทยก็ตอบว่า ช้างม้าเป็นพาหนะของกองทัพ ถ้าส่งไปรับจ้างก็จะผิดธรรมเนียมที่ทำกันมา ถึงกองทัพยังไม่ทำการรบ ช้างม้าก็เป็นพาหนะใช้สอย จะเอาไปให้เมื่อยล้านั้นหาควรไม่ ทั้งนี้ก็เพราะไทยเห็นว่าอังกฤษเอาแต่ได้ลูกเดียว ไม่เคยสนองตอบในความต้องการของฝ่ายไทยเลย และที่สำคัญ ไทยไม่พอใจที่อังกฤษคิดจะตั้งประเทศมอญขึ้นใหม่ เกลี้ยกล่อมคนมอญไปเป็นคนของอังกฤษ ถ้าตั้งขึ้นได้ คนมอญในเมืองไทยกว่าแสนคนก็จะกลับออกไปหมด และถ้าวันใดมอญกลายเป็นศัตรูของไทย ก็จะเป็นภัยอย่างใหญ่หลวง

เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากไทย อังกฤษก็ไปเกณฑ์กำลังจากอินเดียมาทางเรือ ขณะเดียวกับที่ทางบกก็ตีจากมณฑลอัสสัมเข้ามา อังกฤษเลยบุกขึ้นไปยึดถึงเมืองแปรได้ พม่าขอเจรจายุติสงคราม แต่เจรจากันนานถึง ๑๒ เดือนก็ยังตกลงกันไม่ได้ เลยรบกันต่อ พระเจ้าจักกายแมงระดมพลได้ ๗๐,๐๐๐ คนบุกเข้าตีเมืองแปร แต่ถูกอังกฤษถล่มด้วยปืนใหญ่จนถอยร่น พม่าเจรจาขอพักรบอีกยก เจรจากันอยู่พักอังกฤษก็รู้ว่าพม่ามีอุบายถ่วงเวลาจึงยกเข้าตีอีก ครั้งนี้พม่าแตกยับเยิน อีก ๑,๕๐๐ เส้นก็จะถึงเมืองอังวะ พระเจ้าจักกายแมงจึงต้องยอมจำนน ทำสัญญายกเมืองที่อังกฤษตีได้ให้อังกฤษทั้งหมด ทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้อังกฤษอีก ๑๐ ล้านรูปี แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ในสัญญาข้อ ๑๑ ที่อังกฤษทำกับพม่า กำหนดว่าพระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นพันธมิตรของอังกฤษอย่างประเสริฐสุจริต จะต้องได้รับประโยชน์ในสัญญานี้ด้วยอย่างเต็มที

หลังสงคราม ร.อเบอร์นีได้ขอให้ข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยรีบไปพบแม่ทัพอังกฤษที่เมาะตะมะด้วยกัน เผื่อจะได้เมืองหนึ่งเมืองใดมาถวายพระเจ้าอยู่หัว แต่ไทยรู้เชิงอังกฤษว่าจะขอแลกกับไทรบุรี เสนาบดีจึงตอบปฏิเสธไปว่า อังกฤษตีเมืองใดได้ก็เอาไว้เองเถิด ไทยไม่ต้องการ ร.อ.เบอร์นีมีหนังสือมาอีกฉบับ ขอให้นำความหนังสือฉบับก่อนขึ้นทูลเกล้าฯด้วย หาไม่ผู้สำเร็จราชการที่อินเดียจะหาว่าไม่รักษาไมตรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเลยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ที่ ร.อ.เบอร์นีคิดจะเอาเมืองเมาะตะมะมาถวายนั้น ขอขอบใจ แต่ที่ไทยต้องการเมืองเมาะตะมะ ก็สำหรับเป็นยุ้งฉางสำหรับตอนไปช่วยอังกฤษรบเท่านั้น เมื่อไม่รบแล้วก็หมดความจำเป็น อย่าลำบากด้วยเรื่องเมืองเมาะตะมะต่อไปเลย ส่วนเขตแดนเมืองมะริด เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ถ้าอังกฤษอยากทราบว่าเขตแดนติดกับไทยตรงไหน ก็ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ชายแดนพาไปชี้เขตเองเถิด

ต่อมา ร.อ.เบอร์นีมีหนังสือแจ้งมาอีกฉบับว่า เพิ่งได้รับสำเนาหนังสือของแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษ แจ้งว่าหนังสือสัญญาที่ทำกับพม่านั้น ได้ระบุให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเลิกสงครามนี้ด้วย และพม่ายอมสัญญาว่าต่อไปจะไม่ทำร้ายไทย ขอให้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และคงจะทรงพระราชดำริเห็นสมควรกำชับฝ่ายไทยมิให้ทำร้ายพม่าด้วย

เมื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชโองการดำรัสสั่งว่า ที่อังกฤษห้ามพม่ามาทำร้ายไทย ก็เพราะอังกฤษเป็นมิตรไมตรีกับไทย และปรารถนาไม่ให้ไทยไปทำร้ายพม่านั้น ก็เห็นสมควรด้วย ถ้าไทยกับพม่าเลิกรบกัน ต่างคนต่างอยู่ บ้านเมืองก็จะสงบสุ แต่วิสัยพม่าไม่มีสัตย์ พูดจาอะไรเชื่อถือไม่ได้ ที่ยอมทำสัญญาก็เพราะกลัวอังกฤษ แต่ต่อไปถ้าไทยเผลอเมื่อใดก็จะมาทำร้ายอีก ไทยจะประมาทโดยหลงไว้ใจพม่านั้นไม่ได้ จำต้องระวังตัวอยู่เสมอ ถ้าหาก ร.อ.เบอร์นีอยากทราบว่าพม่าเคยทุจริตมาอย่างไร ก็จะให้เสนาบดีเอาจดหมายเหตุและพงศาวดารที่ไทยเคยพูดจากับพม่าก่อนๆมาให้ทราบ แล้วใคร่ครวญดูตามเรื่องราวนั้นเถิด

ไทยจึงขอปฏิเสธที่จะรับมอบดินแดนพม่า และไม่ขอเกี่ยวข้องกับสัญญาที่อังกฤษทำกับพม่าด้วย ทั้งนี้ก็เพราะไม่ไว้ใจทั้งพม่าที่ไม่เคยซื่อ และอังกฤษที่หาช่องขอเมืองไทรบุรี จึงปิดทางไม่เปิดโอกาสให้อังกฤษพูดเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับพม่าก็จะขอระวังตัวเอง พม่าบุกมาก็ตีไป ถ้าไปร่วมสัญญาด้วย อังกฤษก็จะเป็นตัวกลางแทรกเข้ามาอีก

อังกฤษคงจะเขินที่ไทยรู้ทัน จึงอยากแสดงความจริงใจกับการเป็นมิตร เมื่อไทยไม่ยอมรับประโยชน์จากดินแดนพม่า จึงหาทางตอบแทนด้วยการส่งพระยาไทรบุรีจากเกาะหมากไปไว้ที่เมืองมะละกา ให้ไกลจากเมืองไทรบุรี จะได้ไม่เป็นเสี้ยนหนามของไทยอีก และรับดูแลไม่ให้พระยาไทรบุรีมายุ่งกับไทย

เมื่ออังกฤษแสดงไมตรีมาเช่นนี้ ไทยก็แสดงไมตรีตอบ ยอมปล่อยเมืองเประที่อังกฤษกลัวว่าไทยจะแผ่อิทธิพลต่อลงไป ส่วนเประจะไปขึ้นกับใครก็ตามใจสมัคร และทำสัญญาค้าขายกับอังกฤษ อนุญาตให้เข้ามาค้าขายที่กรุงเทพฯได้

ส่วนความคิดที่จะรวมเมืองมอญขึ้นเป็นประเทศรามัญ อังกฤษหาเชื้อสายพระเจ้ากรุงหงสาวดีไม่ได้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ก็ไม่ยอมไป เลยเลิกล้มความคิดนี้ คืนเมืองเมาะตะมะและหัวเมืองมอญทางด้านเหนือแม่น้ำสาละวินให้พม่าไป ส่วนเมืองด้านใต้แม่น้ำสาละวิน ตั้งแต่เมาะลำเลิงลงมาถึงเมืองมะริด อังกฤษยึดครองไว้ เขตแดนของอังกฤษจึงปิดกั้นเส้นทางที่พม่าเคยยกมาตีไทย สงครามด้านนี้ระหว่างไทยกับพม่าเลยปิดฉากลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น