กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ตอน 1

เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงขอเขียนข้อสังเกตจากการศึกษาพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าทรงวางกลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างไร จึงสามารถวางรากฐานให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มั่นคงสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้กว่าสองพันหกร้อยกว่าปีแล้ว ข้อเขียนดังต่อไปนี้จึงเป็นการนำเอาหลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นหลักทางโลก มาอธิบายเหตุการณ์พุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องทางธรรมและเป็นของสูงสำหรับพุทธศาสนิกชน ดังนั้น หากเกิดข้อผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

BuddhaAndPanjavakki030

ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น ในคืนวันเพ็ญเดือนหก พระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขะ เจ้าชายสิทธัตถะผู้ซึ่งออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นมาได้หกปีแล้ว ได้ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทบทวนความรู้ที่พระองค์ได้ค้นพบมาอยู่หลายสัปดาห์ และต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision) ครั้งสำคัญ นั่นคือ พระองค์ต้องเลือกว่า จะนำเอาความรู้ที่ค้นพบไปสอนให้คนอื่นๆได้เข้าใจและปฏิบัติตาม (ภาษาพระเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) หรือเลือกจะไม่สอนผู้อื่นด้วยเห็นว่าพระธรรมที่ค้นพบยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าและปฏิบัติตามได้ (ภาษาพระเรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า) ในที่สุด พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า มนุษย์นั้นเทียบได้กับบัวสี่เหล่า มีถึงสามเหล่าที่มีโอกาสจะเข้าถึงนิพพานได้ จึงตัดสินใจเลือกเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ จะนำเอาพระธรรมที่ค้นพบไปสอนผู้อื่น นั่นเอง

เมื่อตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมา พระองค์จำเป็นต้องกำหนดแผนกลยุทธ์เพื่อสถาปนาพระศาสนาให้มั่นคงขึ้นมาก่อน ทรงทราบว่า ศาสนาจะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ นั่นคือ พระพุทธ (ผู้ตรัสรู้), พระธรรม (คำสั่งสอน) และพระสงฆ์ (ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนจนประสบความสำเร็จ) เรียกว่า พระรัตนตรัย ซึ่งขณะนั้นมีเพียงสองประการเท่านั้น คือ พระพุทธ และพระธรรม จำเป็นต้องมีพระสงฆ์จึงจะครบองค์ประกอบของศาสนา

คำถามเชิงกลยุทธ์ ณ ขณะนั้นคือ ใครเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกของพระศาสนา ใครที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำสอนพระองค์ได้ ตอนแรกพระองค์คิดถึงอาจารย์ทั้งสองของพระองค์ นั่นคือ อาฬารดาบส และอุททกดาบส แต่ทรงทราบว่า ทั้งสองมรณภาพเสียแล้ว ในที่สุด พระองค์เลือกที่จะไปสอนปัญจวัคคีย์ นักบวชห้าคนผู้ซึ่งเคยดูแลพระองค์สมัยที่พยายามบรรลุธรรมด้วยการทรมานร่างกายตนเองแต่เมื่อพระองค์เลิกวิธีนั้น ทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับวิธีใหม่ของพระองค์จึงหลีกไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เหตุที่พระองค์เลือกปัญจวัคคีย์คงมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น ทั้งห้าออกบวชมานาน น่าจะมีความพร้อมที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระองค์ค้นพบได้, เป็นการตอบแทนคนทั้งห้าที่เคยดูแลพระองค์ และอีกประการสำคัญที่มองในแง่ความน่าเชื่อถือก็คือ หากคนที่เคยติดตามดูแลพระองค์มายังไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ ก็คงยากที่จะไปชักชวนคนอื่นมานับถือศาสนาของพระองค์

เมื่อพระองค์เดินทางไปหาปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบกับนักบวชทั้งห้าตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งพระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์อาสาฬหะ พระองค์ก็ได้แสดงปฐมเทศนา ซึ่งในทางกลยุทธ์แล้ว เป็นคำสอนที่สำคัญ เพราะจะเป็นหลักที่อ้างอิงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาตลอดไป พระองค์จึงสอนเรื่องเส้นทางสู่ความพ้นทุกข์ว่า ไม่สามารถไปด้วยทางสุดโต่งทั้งสองทางได้ ต้องไปด้วยทางสายกลาง นั่นคือ มรรคมีองค์แปด จากนั้นได้เข้าสู่แก่นของพระพุทธศาสนา นั่นคือ อริยสัจ ๔ ความจริงทั้งสี่ประการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ได้อ้างอิงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจเทวดาพระเจ้าใดๆเพื่อมาทำให้คนฟังเชื่อถือเลย ตอนท้ายของการสอนครั้งนั้น พระองค์ทรงอธิบายลักษณะอาการของความรู้ที่พระองค์ค้นพบว่าเป็นอย่างไร พระองค์จึงมั่นใจว่าตรัสรู้แล้ว เมื่อสอนจบ พระโกญฑัญญะก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ วันนั้น ศาสนาพุทธจึงสถาปนาขึ้นด้วยมีครบองค์ประกอบทั้งสามประการ นั่นคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

แต่พระพุทธศาสนาจะยังตั้งมั่นไม่ได้ หากไม่มีชาวบ้านมานับถือ เพราะพระสงฆ์นั้นเป็นผู้ละทางโลกไปแล้ว ไม่สะดวกในการทำหน้าที่หลายประการที่จำเป็นต่อการเผยแผ่พระศาสนา จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร ไว้ติดตามตอนหน้านะครับ

*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
30 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************

ใส่ความเห็น