Full Version มหัศจรรย์กัมพูชา:ตอน 6 อัปสรา นางฟ้าที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง

เว็บไซต์ ทองไทยแลนด์ ดอทคอม > Article

มหัศจรรย์กัมพูชา:ตอน 6 อัปสรา นางฟ้าที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง Date : 2011-01-14 13:58:02

มหัศจรรย์กัมพูชา:ตอน6 อัปสรา นางฟ้าที่ไม่เคยมีตัวตน

โดยอึ้งเข่งสุง -เรื่อง//ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์

                 ตำนานของอินเดียมีเรื่องเล่าขานกันถึงนางอัปสรมากมาย  ในความเชื่อของชาวฮินดู เชื่อกันว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างนางอัปสร 26 ตน ให้เป็นนางบำเรอในราชสำนักของพระอินทร์ คัมภีร์นาฏยศาสตร์เล่าขานถึงนางอัปสรหลายชื่อเช่น มัญชุเกศีสุเกศี,มาคธี,สุมุขี ฯลฯ

                 บางตำนานก็ว่านางอัปสรเป็นทั้งเมียและนางรำของคนธรรพ์ซึ่งบรรเลงเพลงดนตรีให้นางร่ายรำไปตามจังหวะของเพลง บางตำนานว่านางอัปสรมีอิทธิฤทธิ์แปลงกายได้ และเชื่อกันตามมหากาพย์มหาภารตะของอินเดียว่า นางอัปสรเป็นเพศหญิง เป็นนางฟ้า เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรของพระอินทร์และอสูร   

                                               ภาพแกะสลักนางอัปสราที่ปราสาทนครวัต               

               ส่วนนางอัปสราของชาวกัมพูชาเกิดแต่การแกะสลักเสลาอย่างปราณีตบรรจงบนแผ่นศิลาปรากฎอยู่ทั่วไปในปราสาทขอมสำคัญๆเช่นปราสาทนครวัด ปราสาทนครธม ปราสาทบันทายสรี  ฯลฯ  หลากรูปลักษณ์ หลากลีลา หลากเครื่องทรงบนศีรษะของแต่ละนาง ส่วนรูปร่างช่างอรชรอ้อนแอ้น มีอกมีเอว มีสะโพกที่ผึ่งผายและกลมกลึง เห็นแล้วอดจินตนาการไม่ได้เลย  ช่างงดงามเหลือใจ   

 

         นางอับปสราที่ปราสาทตาพรหม

                 ส่วนว่าภาพสลักเสลานางอัปสราในปราสาทขอมประเทศกัมพูชาจะมีมากน้อยเพียงใด น่าจะนับจำนวนได้ไม่ถ้วน แต่ที่ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย มีสองนาง ว่ากันว่า ปราสาทศีขรภูมิและนางอัปสรา เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 17   แต่ผมก็ยังไม่เคยได้ไปเห็น จึงไม่มีรูปของสองนางมาฝากแฟนๆ หากมีโอกาสจะพยายามลากสังขารไปถ่ายมาให้ชมนะขอรับ ครั้นจะไปขอใช้รูปจากเว็บอื่นๆ ก็เกรงใจ  รูปอาจมีลิขสิทธิ์ หรือมีเงื่อนไข เอาเป็นว่าอดใจไว้ดีกว่าครับ

 

นางอัปสราที่ปราสาทบายน

                 ครับ อารัมภบทมาเสียยืดยาวก็เพียงอยากจะเล่าให้พี่น้องผองเพื่อนได้รู้ว่า ในการไปท่องเที่ยวประเทศกัมพูชานั้น ผมได้มีโอกาสไปชมการแสดงนาฏลีลาของระบำรำฟ้อนสวยๆหลายบทหลายตอน การแสดงฉากที่ผมต้องรีบลุกจากที่นั่งไปถ่ายรูปใกล้ๆ ก็ฉากนางอัปสรากำลังร่ายรำด้วยความอ่อนช้อย การวาดวงแขน การขยับเท้า การเยื้องย่าง การหมุนตัว ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนว่าได้ดูละครชาตรีหรือการฟ้อนรำของนาฎศิลป์ไทย 

 

ระบำนางอัปสรา

                 เครื่องแต่งกายละม้ายคล้ายคลึง บทบาทลีลาคล้ายคลึง เพียงแต่ว่าผิดเพี้ยนไปบ้าง ส่วนลีลาการร่ายรำก็รำเนิบๆหรือว่าช้ากว่ารำไทย    รูปร่างหน้าตานางรำหรือนาฎศิลป์ก็คล้ายคลึง(ถ้าไม่พูดออกมา)  แทบว่าจะถอดแบบมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน

                 แต่มีข้อสังเกตเล็กๆ 3 ประการคือ นางรำหรือนางอัปสราเหล่านี้เมื่อวาดวงแขนและข้อมือ ปลายนิ้วมือไม่มีการจีบอย่างนาฎศิลป์ไทยประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งสำคัญมากๆ คือการคัดเลือกนางรำของนาฎศิลป์กัมพูชานั้น ตัวเอกของนางอัปสราต้องมีก้นที่งอนงาม นอกจากต้องมีอกมีเอว  พูดกันบ้านๆก็คือว่ามีก้นงอนเช้งกระเดะ ว่างั้นเถอะ    โปรดสังเกตในรูป ส่วนประการที่สาม ผมอาจผิดก็ได้ กล่าวคือผมไม่เห็นนาฎศิลป์กัมพูชายิ้มเหมือนนาฎศิลป์ไทย

 

                        งอนงามเหลือใจ                                                        ยิ้ม..อยู่ไหน

                 บอกตามตรง เมื่อผมถ่ายรูปนี้ พยายามมองว่า ทำไมก้นนางรำช่างงามงอนเหลือแสน ในใจคิดว่า น่าจะก้นเสริมตามสมัยนิยม         แต่เมื่ออดใจเก็บความสงสัยไว้ไม่อยู่ผมก็ถามไกด์โอภาส จริยพฤต์ว่า  "จริงหรือเสริม"  ได้รับคำตอบพร้อมย้ำหนักแน่นตามประสาคนทำงานในกัมพูชามานานว่า "จริง" ถ้าก้นไม่งามงอนดังที่เห็นเขาจะไม่ให้รำเป็นนางอัปสราตัวเอกเด็ดขาด  อันนี้เป็นกติกาการคัดเลือกทีเดียว เชื่อหรือไม่ ก็ลองตามไปดูกันเอาเองนะครับ 

 

ทศกัณฑฐ์พญายักษ์

                 หลังจากการแสดงฉากแรกจบลง เสียงปรบมือกึกก้อง  ตากล้องก็คืนสู่ที่นั่ง ฉากถัดมาเป็นการสู้รบกันระหว่างพระรามกับพระลักษณ์ สู้กับทศกัณฐ์เหมือนการแสดงโขนพากย์หรือโขนสดบ้านเราอีก ซึ่งเป็นเรื่องราวในรามเกียรติ์ นาฎศิลป์ที่แสดงเป็นพระรามและพระลักษณ์ใช้ผู้หญิงแสดง ส่วนทศกัณฑ์และเหล่ายักษาใช้ผู้ชาย เครื่องแต่งกายก็คล้ายคลึงกับโขนบ้านเรา ลีลาการขยับเอวองค์ก็เหมือนๆกัน ดนตรีประกอบการแสดงหรือก็คล้ายคลึงกันอีก 

 

พระรามรบกับทศกัณฐ์

                ฉากสุดท้ายเป็นระบำสวิง ระบำจับปลา แต่ว่ากันว่านาฎศิลป์กัมพูชามีอีกหลายลีลาเช่น ระบำเก็บกระวานอันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ประเภทเครื่องเทศ(กระวาน) จึงได้หยิบจับเอาวิธีชีวิตมานำเสนอในรูปแบบการแสดงนาฎลีลา เช่นเดียวกับระบำนกยูงก็คงจะด้วยว่ากัมพูชาเคยมีป่าดงดิบหนาแน่น สัตว์สำคัญเช่นนกยูงน่าจะมีมากมายเหลือคณา เมื่อคราที่เขารำแพนหางจะสวยสมเพียงใด ท่านที่เคยเห็นจะรู้แจ่มแจ้งแดงแจ๋ 

ระบำจับปลาด้วยสุ่มเหมือนบ้านเรา

                ระบำชาวจาม ระบำชาวพนอง  ระบำชาวส่วย ล้วนสื่อถึงชนชาติที่อยู่อาสัยร่วมกันฉันมิตร ในพื้นที่เดียวกัน และมีความผูกพันซึ่งกันและกัน นี่คือการแสดงถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาทั้งมวล  หนุ่มสาวที่แสดงหน้าตาสวยงามสมวัย ลีลาการรำก็คล้ายๆกับระบำสวิงบ้านเรา พื้นเพของชาวกัมพูชาผมว่าถ้าจะแตกต่างกับบ้านเราก็อยู่ที่ภาษา นอกนั้นก็เกือบจะเหมือนๆกัน อันที่จริงกัมพูชากับคนไทยถ้าไม่พูดก็แทบไม่รู้เหมือนกันเป็นเชื้อชาติใด 

                ระบำรำฟ้อนของเหล่านาฎศิลป์กัมพูชาทุกกระบวนท่า ไม่ยิ้มแย้มเยือนเหมือนนาฎศิลป์ไทยเลย  สงสัย  สงสัย  ใครรู้ช่วยเม้นท์เข้ามาเล่าสู่กันบ้างนะครับ

 

                ผมตัดสินใจเปิดอินเทอร์เน็ต ค้นหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบำรำฟ้อนของกัมพูชา ได้เนื้อหาสาระมาเล่าสู่กันว่า 

                ยุคก่อนเมืองพระนคร ได้มีการค้นพบรูปปั้นดินเหนียวสมัย Angkorborei พร้อมกับจารึก "คนรำ" เป็นภาษาเขมร  

                ยุคเมืองพระนคร  ได้ค้นพบคำว่า "ภาณิ" ในภาษาสันสกฤตที่มีความหมายว่าเป็นการแสดงแบบเล่าเรื่อง ซึ่งจะแสดงตามศาสนสถานเป็นสำคัญ

                ยุคหลังเมืองพระนคร ปีพ.ศ.1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2(เจ้าสามพระยา) ทรงยกทัพไปตีเมืองพระนคร ณ เมืองเสียมเรียบ หรือเสียมราฐ อันเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา จนแตกพ่ายย่อยยับ ได้เกิดการเผาเมืองและกวาดต้อนผู้คน รวมทั้งศิลปะหลากชนิดกลับมายังกรุงศรีอยุธยาจนสิ้น เมืองพระนครล่มสลาย กัมพูชาจึงได้ถอยร่นลงไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงพนมเปญ 

 

 

    ดนตรีไทยในกัมพูชา

                ศิลปะกัมพูชาขาดตอนลงไปตรงนี้ แต่หลังจากพ้นยุคที่ต้องเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาแล้วก็เกิดการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นใหม่     

                ข้อมูลเพิ่มเติมคือ เขมรเคยเสียกรุงให้กับกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้งกล่าวคือ ครั้งที่หนึ่งเมื่อปีพ.ศ.1912 เขมรได้เสียกรุงให้กับพระเจ้าอู่ทอง ครั้งที่สองเมื่อปีพ.ศ.1931  เขมรก็ได้เสียกรุงให้กับพระราเมศวร และครั้งที่สาม ปีพ.ศ.1974 เขมรก็ได้เสียเมืองพระนครจนย่อยยับให้กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2(เจ้าสามพระยา)

                 มิน่าเล่า ชาวกัมพูชาจึงมีความรู้สึกที่ไม่ดีนักต่อชาวไทย โดยเฉพาะ 7 คนไทยที่มีนายวีระ สมความคิด แกนนำกลุ่มเสื้อเหลือง และนายพณิช วิกิตเศรษฐ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งชมชอบกับการสร้างมิตรให้เป็นศัตรูตามอย่างต้นแบบไม่ผิดเพี้ยนเลยสักเม็ด  

                แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า นางอัปสราที่ถูกสลักเสลาไว้ตามปราสาทต่างๆ ตามแบบฉบับของศิลปะกัมพูชานั้น เป็นหนึ่งเดียวที่คงเอกลักษณ์และสื่อความหมายได้ว่า ต้นแบบคือกัมพูชา ต่อมาสมเด็จพระมหากษัตริยานีกุสุมะนารีรัตน์ อันเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าสีหนุ ได้ทรงฟื้นฟูศิลปะการร่ายรำระบำนางอัปสราจนเป็นที่ยอมรับว่า พระองค์คือ มารดาแห่งนาฎศิลป์กัมพูชา  

                นาฎศิลป์ของกัมพูชาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

                 ประเภทที่1 ระบำพระราชทรัพย์(เหมือนละครวังหลวง) เป็นการแสดงในพระราชวัง เพื่อให้กษัตริย์ทรงชมพร้อมข้าราชบริภารได้ชม ค่าใช้จ่ายเป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์

                 ประเภทที่2 ระบำประเพณีเขมร  อันเป็นการแสดงแบบพื้นบ้านทั่วไป

                 ประเภทที่ 3 ระบำประชาปรีย์ แสดงทั่วไปไม่เลือกที่ ใครจะว่าจ้าง หรือใครจะเป็นสปอนเซอร์ก็ได้ไม่ว่ากัน ขอเพียงมีเงินมาจ้างก็ยินดีรำ  

                 เรื่องราวของนางอัปสรามาโด่งดังมากๆ และถือกันว่าเป็นการเปิดโลกนางอัปสราสู่สายตาชาวโลกด้วยเจ้าหญิงบุพผาเทวี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าสีหนุ ทรงเข้าฉากระบำนางอัปสราในภาพยนตร์เรื่อง The Bird oF Paradise                   

                 ความผูกพันระหว่างนาฎศิลป์กัมพูชาและนาฎศิลป์สยามนั้น สำแดงได้จาก ปีคศ.1904 พบว่ามีศิลปการินีจากสยามเกินกว่า 300 คน  เรื่องเล่าจากเรื่องโครงกระดูกในตู้ ของ

 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนว่า หม่อมเจ้าฉวีวาด ได้ยกโรงละครหนีขึ้นเรือสำเภาไปเมืองเขมร  จึงไม่แปลกอะไรที่ศิลปะสยามและกัมพูชาจะคล้ายคลึงกัน หรือแทบว่าจะเหมือนกัน น่าจะเป็นการผสมผสานกันจนกลมกลืน

 

                 มหัศจรรย์กัมพูชาตอนนี้เขียนด้วยความรู้สึกว่า จากศิลปะการแสดง  เครื่องแต่งองค์ของนักแสดง  ดนตรีประกอบการการร้องรำทำเพลง  ตัวตนของเหล่านักแสดง ล้วนละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างกับพี่น้อง มีความแตกต่างกันบ้าง แต่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่

                 กัมพูชากับสยามไม่ใช่อื่นไกล เราน่าจะเป็นพี่น้องกัน ถ้ารวมด้วยลาว กล่าวได้ว่าเป็นประเทศสามพี่น้องได้หรือไม่ 


ความคิดเห็น