<< Go Back

                   ประเภทของนาฏศิลป์ไทยที่นิยมและแสดงกันอยู่แพร่หลาย แสดงได้ในหลายโอกาสและเป็นศิลปะที่ให้ความบันเทิงใจ ฝึกหัดง่าย คือ การแสดง ระบำ  รำ ฟ้อนและการแสดงพื้นเมือง
                   1. ระบำ    หมายถึงการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  ผู้แสดงแต่งกายและใช้กระบวนท่ารำคล้ายคลึงกัน ระบำแบบมาตรฐาน และการแต่งกายนิยมแต่งยืนเครื่องพระ-นาง   ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดงมี บทขับร้อง  ประกอบ เช่น ระบำเทพบันเทิง ระบำดาวดึงส์  ระบำสี่บท ระบำกฤดาภินิหาร เป็นต้น

                   2. รำ         หมายถึงการร่ายรำที่มีผู้แสดง 1 หรือ 2  คนการบวนท่ารำโดเด่น งดงาม อวดฝีมือของผู้แสดง มีบทขับร้องประกอบท่ารำเข้ากับทำนองดนตรี  โดยทั่วไปมักใช้วงปี่พาทย์บรรเลง ลักษณะการแสดงมีทั้งรำเดี่ยว รำคู่และการรำอาวุธ(รำอาวุธมักไม่มีบทร้อง) การรำคู่จะต่างจากระบำเพราะท่ารำจะมีความเชื่อมโยง สอดคล้องต่อเนื่องกันเป็นบทเฉพาะของผู้แสดงแต่ละคน เช่นรำฉุยฉายพราหมณ์ รำฉุยฉายวันทอง รำอาวุธ เช่น รำกฤช  รำดาบ

                   3. ฟ้อน     หมายถึง  ศิลปะการแสดงที่มีลีลาท่ารำ อ่อนช้อย  งดงาม  ใช้ความพร้อมเพรียงในการร่ายรำหรือเรียกว่าการฟ้อน ผู้แสดงจะร่ายรำไปตามทำนองเพลงที่มีจังหวะช้าและอ่อนหวาน เช่น ฟ้อนเล็น ฟ้อนเทียน ฟ้อนผู้ไทย การฟ้อนผู้แสดงจะแต่งการแบบเดียวกันแต่หลากสี เพื่อให้เกิดความตระการตา


                   การแสดงพื้นเมือง           เป็นศิลปะแสดง ที่มีทั้ง ระบำ รำ ฟ้อนหรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดต่อมา การแสดงพื้นเมืองของไทย ถูกแบ่งออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่
                   1. การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ         ภาคเหนือเป็นแหล่งวัฒนธรรมของชาวล้านนาและกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เช่น ชาวลื้อ ชาวไต ชาวบอง ชาวม้ง ฯลฯ ดังนั้นศิลปะการร่ายรำจึงมีหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลายคือศิลปะการฟ้อน เป็นเอกลักษณ์ที่มีลีลาท่ารำอ่อนช้อย แช่มช้า แต่สง่างาม มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงาม ใช้วงดนตรีพื้นเมือง  เช่น สะล้อ ซอ ซึง วงปู่เจ่  วงกลองแอว บรรเลงประกอบการแสดง เช่นฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ฟ้อนกิงกะหร่า  เป็นต้น (ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองผู้ไปเยือน)
ตัวอย่างแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ                               
                   ฟ้อนสาวไหม  เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีการเลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ได้ปรับปรุงสืบทอด มาจาก ครูพลอยศรี สรรพศรี  ปรับปรุงมาจากท่าฟ้อนบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ซึ่งคุณบัวเรียวก็ได้เรียนการฟ้อนนี้มาจากบิดาของตนอีกทีหนึ่ง

                   2. การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง          ภาคกลางของไทยประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมศิลปะการแสดงจึงมีความคล้ายคลึงกับวิถีชีวิต เพื่อความบันเทิง  สนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจให้หายเหนื่อยจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยว การแต่งกายแบบเรียบง่ายตามวัฒนธรรมในท้องถิ่น  เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองเช่น กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และโทน เป็นต้น ได้แก่การแสดงรำกลองยาวเพลงเรือ เพลงเหย่อย  รำตัด เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว ฯลฯ

ตัวอย่างแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ                               

                   เต้นกำรำเคียว เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบทในภาคกลางของไทย แถบจังหวัดนครสวรรค์  ที่อำเภอพยุหะคีรี คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้นลักษณะการรำไม่อ่อนช้อยเช่นการรำไทยทั่ว ๆ ไปจะถือเอาความสนุกเป็นใหญ่  จะมีทั้ง “เต้น”  และ  “รำ”  ควบคู่กันไป  ส่วนมือทั้งสองของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว  อีกข้างหนึ่งถือต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว จึงได้ชื่อว่า “เต้นกำรำเคียว” ลักษณะการแสดงจะกรมศิลปากรได้นำมาปรับปรุงและใส่เนื้อร้องและทำนองให้น่าฟังยิ่งขึ้น

                  3. การแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)
                      วัฒนธรรมของภาคอีสานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอีสานเหนือได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของประเทศลาวเรียกการละเล่นว่า เซิ้ง   ฟ้อนและหมอรำ  กลุ่มอีสานใต้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไทยเขมรมีการละเล่นที่เรียกว่า “เรือม”
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
                      กลุ่มอีสานเหนือใช้  พิณแคน  ซอ กลองยาวอีสาน ฉิ่ง ฉาบ โปงลางและโหวด
                      กลุ่มอีสานใต้ใช้ ซอตรัวเอก  กลองกันตรึม พาดเอกไม้และปี่สไล
                     การแต่งกายใช้เครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่น  ลักษณะท่ารำและท่วงทำนองดนตรี  กระชับ รวดเร็ว เร่งเร้า สนุกสนาน  ได้แก่เซิ้งสวิง  เซิ้งกระหยัง    เซิ้งกระติ๊บ ฟ้อนภูไทเป็นต้น
ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                      เซิ้งโปงลาง        เป็นการแสดงของชาวกาฬสินธุ์ผู้แสดงเป็นคู่ชายหญิง ออกมาร่ายรำ
ด้วยท่าทางสนุกสนานไปตามท่วงทำนองและจังหวะของวงโปงลาง โดยประดิษฐ์ท่าทางร่ายรำรำมาจากฟ้อนต่างๆ
                 การแต่งกาย        ผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอก ผมเกล้ามวย ทัดดอกไม้นุ่งผ้าซิ่นยาวแค่เข่า สวมเครื่องประดับเงิน ผู้ชายสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว
                 ใช้วงดนตรีโปงลาง  บรรเลงประกอบการแสดง


                      4. การแสดงพื้นเมืองภาคใต้  ศิลปะการแสดงและการเล่นของชาวใต้มี 2 วัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมไทยพุทธ เช่นการแสดงโนราห์ หนังตลุง วัฒนธรรมไทยมุสลิม เช่น รองเง็ง ลิเกฮูลู มะโยง(ลิเกป่า) ต่อมาได้มีการแสดงที่ประดิษฐ์ท่าทางมาจากวิถีชีวิตและอาชีพต่างๆเช่น ระบำร่อนแร่   รำกรีดยาง เป็นต้น เครื่องดนตรีที่ใช้ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมาลายูด้วย เช่น ไวโอลิน รำมะนา ปี่กาหลอ ผสมผสานกับเครื่องดนตรีท้องถิ่นของไทยได้แก่ กลองตุ๊ก   กอลงโทน ทับ  กรับพวง(แตระ) โหม่ง ฯลฯ

ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคใต้
                 
    ระบำร่อนแร่ เป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นตามลีลาท่าทางในการประกอบอาชีพของชาวไทยภาคใต้ที่ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนชาวใต้ ลีลาท่าทางสวยงามของการร่อนแร่ประกอบกับบทเพลงตลุงราษฎร์ ที่มีจังหวะสนุกสนาน เป็นที่ชื่นชอบของบุคคลทั่วไป การแสดงใช้ผู้หญิงล้วนหรือชายผสมด้วยก็ได้จัดแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคใต้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2502

          นาฏศิลป์ไทย มีการแสดงให้ได้ชมอย่างมากมาย หลากหลายรูปแบบและได้จัดสรร ไว้สำหรับแสดงในโอกาสต่างๆเพื่อความเหมาะสมกับประเภทของงานของสถานที่ และโอกาสเวลาที่ใช้แสดง รวมทั้งวัยของผู้ชมเพื่อให้การแสดงเป็นที่น่าสนใจ ประทับและติดตาตรึงใจของผู้ชม ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทของการแสดงในโอกาสต่างๆได้ดังนี้
1. การแสดงนาฏศิลป์ในงานพระราชพิธี

          งานพระราชพิธี  คืองานที่จัดเพื่อพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เป็นงานสมโภช        งานฉลองสิริราชสมบัติพระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีขึ้นพระอู่และสมโภชเดือนเป็นต้นการจัดการแสดงนากศิลป์ในพระราชพิธีนั้น จะเป็นการแสดงที่มีแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคร่งครัด ต้องมีความงดงามในการแต่งกายและท่าทางร่ายรำ ความไพเราะของการขับร้องและการบรรเลงเพลงประกอบการแสดงเช่นการละเล่นของหลวง ได้แก่ โมงครุ่ม  กุลาตีไม้ รำโคม การแสดงละครใน การแสดงละครนอกแบบหลวง การแสดงโขนหลวง การแสดงหุ่นละครใหญ่หรือหุ่นละครหลวง การแสดงรำและระบำแบบมาตรฐาน เป็นต้น

2. การแสดงนาฏศิลป์ในงานมงคลทั่วไป

          งานมงคลทั่วไปได้แก่งานวันเกิด งานปีใหม่ งานทำบุญบ้าน งานมงคลสมรส งานฉลองยศ ฉลองตำแหน่ง งานเกษียณอายุราชการ เป็นต้น การนำการแสดงนาฏศิลป์มาแสดง เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่ชื่นชมยินดี การแสดงต้องมีความงดงาม นิยมแต่งคำประพันธ์เป็นบทร้องเพื่ออวยพรในโอกาสที่จัดงาน เช่นอวยพรวันเกิด อวยพรงานมงคลสมรส ฯลฯ และจะใช้เวลาในการแสดงสั้นๆ เพื่อให้เกิดความประทับใจและไม่เบื่อหน่ายของผู้ชม ชุดการแสดงที่ควรนำมาแสดงได้แก่ ระบำเทพบันเทิง ระบำกฤดาภินิหาร   รำอวยพรอ่อนหวาน เซิ้งโปงลาง ฟ้อนอวยพร ฟ้อนมาลัย เป็นต้น

3. การแสดงนาฏศิลป์ในงานอวมงคล

          งานอวมงคลทั่วไปได้แก่งานศพ จะนิยมการแสดงที่สื่อความหมายถึงความโศกเศร้าเสียใจหรือการแสดงที่มีจังหวะช้าๆมาจัดการแสดงในงาน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้เสียชีวิตและให้แขกที่มาในงาน ได้รับชมเพื่อสร้างความเพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด เช่นรำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล รำฉุยฉายวันทอง รำฉุยฉายเบญกาย รำฉุยฉายพราหมณ์ระบำโบราณคดี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรำเป็นชุดเป็นตอนมาจัดการแสดง เช่นรำพระลอลงสวน หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง และการแสดงโขน ซึ่งการแสดงโขนในงานอวมงคล งานฌาปนกิจ นั้นเรียกว่า โขนหน้าไฟ จะนำมาแสดงเป็นตอนเช่น ตอนลักสีดา ตอนนางลอย ตอนพรหมาสตร์ เป็นต้น

4. การแสดงนาฏศิลป์ในงานเทศกาลต่างๆ

                         งานเทศกาลของไทยนิยมจัดให้มีการแสดงนาฏศิลป์และการละครของไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนานให้ผู้ที่มาร่วมงานอีกทั้งเป็นการอนุรักษ์และสืบสานนาฏศิลป์ไทย ซึ่งการแสดงนากศิลป์และการละครของไทยในงานเทศการต่างๆยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากชาวต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงเทศกาลต่างๆกันมาก เพราะนอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่งดงามของไทยแล้ว ยังได้ชมศิลปะการแสดงของไทยที่ทุกภาคทั่วไทยได้จัดขึ้นด้วย ซึ่งศิลปะการแสดงของไทยเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยการแสดงนาฏศิลป์และการละครของไทยทุกประเภทสามารถนำมาจัดการแสดงในเทศการต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดแต่ต้องเลือกนำมาแสดงให้เหมาะสมกับเทศกาลนั้นๆ เช่น การแสดงระบำสุโขทัยในงานลอยกระทง รำกลองยาวในงานสงกรานต์ ฟ้อนเทียนฟ้อนเล็บในงานสืบสานล้านนา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วการแสดงพื้นเมืองของภาคต่างๆ จะนิยมนำมาแสดงในงานเทศกาลต่างๆ มากที่สุด

นาฏศิลป์ไทยมีรูปแบบที่งดงามตามแบบแผน จัดแสดงในโอกาสที่แตกต่างกัน เราควรศึกษารายละเอียดอื่นๆให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
นาฏศิลป์ไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. ระบำรำฟ้อน
2. การแสดงพื้นเมือง
3. ละคร
4. โขน
การแสดงนากศิลป์ไทยที่เป็นชุดเป็นตอนได้แก่ ระบำ รำ ฟ้อน มีกำหนดมาตั้งแต่ยุคก่อนสมัยสุโขทัย โดยพัฒนามาจากการร้องรำทำเพลงของชาวบ้าน ต่อมาได้มีผู้มีความรู้ความสามารถ ทางด้านการแสดง มาจัดให้มีระเบียบแบบแผน จึงแบ่งเป็นนาฏศิลป์มาตรฐานและนาฏศิลป์พื้นเมือง



<< Go Back