เขื่อนสิริกิติ์

ความเป็นมา

"เขื่อนสิริกิติ์" เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ "เขื่อนผาซ่อม" ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์”

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปี พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.6 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่สามรองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพล

โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

ประโยชน์ของเขื่อน

เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

  • การชลประทาน

    น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน

  • การบรรเทาอุทกภัย

    อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

  • การผลิตกระแสไฟฟ้า

    น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

  • การประมง

    กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

  • การคมนาคมทางน้ำ

    ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

  • การท่องเที่ยว

    เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวน ชื่อ “ประติมากรรมสู่แสงสว่าง” ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ

สถานที่ตั้งและการเดินทาง

จังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 491 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ 7 ชั่วโมง ตามเส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์ และจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงเขื่อนสิริกิติ์ อีก 58 กิโลเมตร

ที่ตั้ง 40 หมู่ 10 ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
 
 

 

 
 

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวตามระยะทางก่อนถึงเขื่อนสิริกิติ์ มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ

  • อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

    ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

  • หลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน

    เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างในสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปสำริดนั่งขัดสมาธิ

  • วัดพระแท่นศิลาอาสน์

    ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียวัตถุที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์

  • อำเภอลับแล

    ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงในการทำไม้กวาดตองกง ผ้าซิ่นตีนจกทอฝีมือละเอียด และลางสาดรสหวาน

  • วนอุทยานต้นสักใหญ่

    อยู่อำเภอน้ำปาด มีต้นสักใหญ่ที่สุดในโลกอายุ 1,500 ปี อยู่เลยเขื่อนสิริกิติ์ไปประมาณ 19 กิโลเมตร

  • บ่อเหล็กน้ำพี้

    ห่างจากอำเภอทองแสนขัน 14 กิโลเมตร มีบ่อเหล็กกล้าชั้นดีหลายบ่อ แต่มีบ่อหนึ่งชื่อ “บ่อพระแสง” ซึ่งสงวนไว้ใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

  • พระบรมธาตุเจดีย์

    หรือพระธาตุทุ่งยั้ง องค์ที่เห็นปัจจุบันเป็นองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นแทนองค์เก่าที่พังทลายไปมีอายุประมาณ 70 ปี วัดนี้อยู่ตรงตลาดทุ่งยั้ง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร

การอำนวยความสะดวก

นอกเหนือจากการบริการบ้านพักรับรองแล้ว ยังมี “ร้านอาหารระเบียงน่าน” พร้อมบริการอาหารรสเลิศ นอกจากนี้มีบริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงและสัมมนา รวมถึงสนามกอล์ฟด้วย หากต้องการชมทิวทัศน์ที่สวยงามของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน สามารถเที่ยวชมฟรีระหว่างเวลา 06.00 – 18.00 น. ในส่วนการขอเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าและศึกษาดูงาน เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. (เว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)

การดูแลด้านสังคม

เขื่อนสิริกิติ์ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานในพื้นที่สองฝั่งลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า ช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ตลอดจนดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

และภารกิจสำคัญที่เขื่อนสิริกิติ์มุ่งมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้า คือ การสร้างความสมดุลระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อม และองค์การ ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคง ซึ่งนำมาสู่การดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุน แบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม ทั้งในด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรรอบเขื่อน อาทิ โครงการติวเข้มเติมเต็มโอกาส เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักเรียนในการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โครงการดูแลผู้สูงวัย ใส่ใจผู้เสียสละ เพื่อดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของผู้อพยพจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ตลอดจนโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ โครงการปลูกต้นไม้ในใจเด็ก โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าต้นน้ำน่าน เป็นต้น เพราะเป้าหมายที่คาดหวัง คือ การได้เห็นคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น และรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม

ของดีรอบเขื่อน

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนเขื่อนสิริกิติ์ไม่ควรพลาด คือ การเลือกซื้อสินค้าและของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปลาซิวแก้วจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ น้ำพริกลาบ ลูกตาว ไม้กวาดตองกง เป็นต้น ซึ่งรับรองว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้รับอย่างแน่นอน