ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจังหวัดลพบุรี


คำขวัญประจำจังหวัด

วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์

ระบำลพบุรี


ระบำลพบุรี เป็นระบำโบราณคดีเพลงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของเทวรูป ภาพเขียน ภาพแกะสลัก รูปปั้น รูปหล่อโลหะและภาพศิลาจำหลัก-ทับหลังประตู ตามโบราณสถาน ที่ขุดพบในสมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ศิลปวัตถุโบราณประเภทนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา พระปรางค์สามยอดลพบุรี แล้วนำมากำหนดยุดสมัยตามความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ แล้วมาสร้างเป็นระบำสมัยนั้นขึ้น ลีลาท่าทางของศิลปวัตถุเป็นภาพนิ่ง(ท่าตาย) เหมาะเป็นท่าเทวรูปมากกว่า เมื่ออาศัยหลักทางด้านนาฎศิลป์เข้ามาดัดแปลงเป็นท่ารำ ทำให้มีความอ่อนช้อย สวยงาม ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ ครูลมุล ยมะคุปต์ ร่วมด้วยครูเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร
การคมนาคม
ทางรถไฟ มีทางรถไฟสายเหนือในระบบรางคู่ถึงตัวตัวจังหวัด และผ่านไปสู่ภาคเหนือ และในอนาคตอันใกล้กำลังจะมีการดำเนินการสร้างทางรถไฟรางคู่ต่อจากลพบุรีขึ้นไปทางเหนือ
ทางรถยนต์ก็มีเส้นทางหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตัดผ่าน หรือใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) แยกเข้าลพบุรีได้ทาง อำเภอมหาราช และอำเภอท่าวุ้ง
ลพบุรีอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก สามารถเดินทางสู่ตัวจังหวัดได้หลายวิธี
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางคมนาคมสายสำคัญซึ่งตัดผ่านจังหวัดข้างเคียง คือ เส้นทางรถไฟสายอีสาน และทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือจังหวัดสระบุรี และยังมีถนนสายเอเชียตัดผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือจังหวัดสิงห์บุรี
ศาลพระกาฬ 
ตั้งอยู่ริมทางรถไฟด้านทิศตะวันออกพระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน เป็นเทวสถานเก่าของขอม สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง ที่ทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ทำด้วยศิลาทราย 1 แผ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่15 วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยม จารึกอักษรมอญโบราณ ส่วนด้านหน้าเป็นศาลที่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 


พระปรางค์สามยอด 
มีลักษณะเป็นปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมติดต่อกัน พระปรางค์สามยอดเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลงหินทรายและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ตรงซุ้มประตูเดิมคงมีทับหลัง แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือ เสาประดับกรอบ ประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตู ศิลปะเขมรแบบบายน



พระนารายณ์ราชนิเวศน์
เป็นพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้าง ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี แบ่งเป็น เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพงพระราชวังก่อด้วยอิฐถือปูนมีใบเสมา เรียงรายบนสันกำแพงมีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ประตู ช่องประตูทางเข้าโค้งแหลม หลังตาประตูเป็นทรงจตุรมุข ตรงจั่วซุ้ม ประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่ วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็ก ๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลม คล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2399 เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นใน

ตึกพระเจ้าเหา 
ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่ สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ตัวตึกเป็นรูป ทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแสง และจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ผนังประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ 


ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายได้ระยะยาว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะ ทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ. 2228 และ พ.ศ. 2230


พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง) 
เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างถังเก็บน้ำประปา และตึกซึ่งใช้เป็นสถานที่ พระราชทานเลี้ยงชาวต่างประเทศสร้างขึ้นอย่างมี ระเบียบด้วยอิฐเป็น 2 แถว ยาวเรียงชิดติดกัน อาคารมีลักษณะค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลาง มีจำนวนรวม 12 หลัง เข้าใจ ว่าเป็น คลังเพื่อเก็บสินค้า หรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ


อ่างซับเหล็ก
อยู่ในเขตตำบลนิคมสร้างตนเอง เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบราณ ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศสและชาว อิตาเลียนเป็นผู้วางท่อส่งน้ำจากอ่างซับ เหล็กนำมาใช้ในเขตพระราชฐาน   เมื่อปี พ.ศ. 2497 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้สร้างเขื่อนดินกั้นน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 จังหวัดลพบุรีได้ปรับปรุงอ่างซับเหล็ก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยทำถนนรอบอ่าง เก็บน้ำ ปลูกต้นไม้และสร้างศาลาพักร้อน 


โรงช้างหลวง 
ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฎให้ เห็นประมาณ 10 โรง ช้างซึ่งยืนโรงในพระราชวัง คงเป็นช้างหลวง หรือช้างสำคัญ สำหรับใช้เป็นพาหนะของสมเด็จ พระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่

หมู่บ้านดินสอพอง (ทำดินสอพอง) 
อยู่ที่บ้านหินสองก้อน เป็นหมู่บ้านที่มีการ ทำดินสอพองกันแทบทุกครัวเรือน และบริเวณนั้นจะมีดินสีขาว เรียกว่า "ดินมาร์ล" ซึ่งเป็นดินที่มี คุณสมบัติเฉพาะสำหรับการทำดินสอพอง

พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน 
ตั้งอยู่ที่ศาลากลางเปรียญไม้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี เป็นสถาปัตยกรรมแบบศาลาวัดในชนบทของ ภาคกลางในประเทศไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2531 โครงการ พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านจึงได้เกิดขึ้น และนับเป็น พิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประะทศไทย