วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องเล่านางอัปสรา



นางอัปสรา



            คงไม่มีใครที่เข้าไปเดินในนครวัดแล้วไม่เห็น

“นางอัปรา”เพราะในนครวัดมีรูปสลักนางอัปสราประดับอยู่ทุกซอกทุกมุม 
ซึ่งในปี พ.ศ. 2544 มีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสและชาวเขมรร่วมกันใช้ความพยายาม(อย่างสูง)นับนางอัปสรา(อย่างเป็นทางการ)ในนครวัดได้ถึงประมาณ 1,800 องค์!!!


              แต่ว่านางอัปสราที่นครวัดดูจิ๊บจ๊อยไปทันทีหากเทียบกับการเกิดของนางอัปสราที่มาพร้อมกับการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูรเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต ที่ทั้งสองต่างต้องก็อยากได้มาดื่มเพิ่มอิทธิฤทธิ์ให้กับตัวเองตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู

       การกวนเกษียรสมุทรในครั้งนั้นนอกจากจะทำให้เกิดกรณี“แค้นฝังลึก”ระหว่างอสูรกับเทวดาแล้ว ฟองน้ำที่ผุดขึ้นมาจำนวนมากมายมหาศาลได้ก่อเกิดเป็นนางอัปสรานับแสนๆนาง (บางตำนานว่ามีมากถึง 35 ล้านฟอง) ซึ่งเรื่องราวตำนานการกวนเกษียรสมุทร การยุดนาคของเหล่าเทวดาและอสูร รวมถึงการเกิดนางอัปสรา ที่นครวัดมีภาพจำหลักหินให้ชมอย่างละเอียดบนระเบียงทางเดินด้านหนึ่ง

            อัปสราผู้ต้องชะตากาม
       สำหรับการเกิดของนางอัปสราหรือที่บ้านเรามักเรียกว่า“นางอัปสร”ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงแปลความแบบตรงตามศัพท์ไว้ว่าหมายถึง“นางผู้กระดิกอยู่ในน้ำ”นั้น ส.พลายน้อย ได้เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง“อมนุษยนิยาย”ว่า เหล่านางอัปสราที่เกิดมาล้วนแต่เป็นนางฟ้าหรือเทพธิดาผู้เลอโฉมที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงาม

       แต่อนิจจา...นางอัปสราที่เกิดขึ้นมาตามตำนานที่ ส.พลายน้อยเล่า ถือว่าเป็นนางฟ้าที่โชคร้ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกนางถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงที่ไม่เคยรักใครจริงจัง ชอบเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆซึ่งก็คล้ายๆกับดาราในบ้านเราบางคน ทำให้เหล่าเทวดาและอสูรจึงเห็นนางอัปสราเป็นแค่นางบำเรอกามที่มีไว้เพื่อช่วยให้เสร็จสมอารมณ์หมายเท่านั้น 







            เรียกว่าตามตำนานนี้สร้างนางอัปสราให้ดูน่าสงสารกึ่งน่าสมเพชควบคู่กันไป โดยหลายๆคนเชื่อว่านางอัปสราในนครวัดสร้างขึ้นตามความเชื่อนี้ เพราะพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ต้องการสร้างนครวัดให้เป็นดังสวรรค์จำลองถวายแก่พระวิษณุ ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างนางอัปสราขึ้นมาเพื่อเป็นนางฟ้าฟ้อนรำ และนางบำเรอกามแก่เหล่าเทวดาที่อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์(จำลอง)

        อัปสราผู้ต้องชะตากรรม

       มาดูเรื่องราวของนางอัปสราในอีกหนึ่งคติความเชื่อกันบ้าง

       ความเชื่อนี้เชื่อว่านางอัปสราคือนางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้และคอยดูแลศาสนสถาน ซึ่งความเชื่อนี้คล้ายกับความเชื่อของชาวเขมรที่พวกเขาต่างยกย่องนางอัปสราเป็นเทพธิดาผู้ดูแลศาสนสถานและเป็นเทพธิดาแห่งความดีงาม ที่หากใครได้ไปเที่ยวชมนางอัปสราตามปราสาทขอมต่างๆในเขมร ไม่ว่าจะเป็นนครวัด ปราสาทบันทายสรี ปราสาทบายน ฯลฯ ก็ไม่ควรที่จะนำความเชื่อเรื่องนางอัปสราเป็นนางบำเรอกามไปพูดคุยกับคนเขมร เพราะว่าดีไม่ดีอาจมีการต่อยตีกันได้

       กลับมาที่ความเชื่อเรื่องนางอัปสราเป็นเทพธิดาผู้ดูแลศาสนสถานกันต่อ เรื่องนี้ถือว่ามีเค้าต่อการสร้างรูปสลักนางอัปสราจำนวนมากมายในนครวัด เพราะพื้นที่ของนครวัดนั้นออกจะใหญ่โต ซึ่งก็ทำให้เหล่าเทพธิดาผู้ดูแลย่อมมีจำนวนมากมายตามไปด้วย

       อนึ่งเหล่านางอัปสราที่มีอยู่มากมายและถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการเดินชมนครวัดนั้น แต่ละนางถือเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของช่างชาวขอมโบราณที่ไม่มีการสลักหินซ้ำแบบกันแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทางที่เป็นอากัปกริยาเฉพาะตัวที่มีการถอดแบบมาเป็น“รำอัปสรา”หรือเรื่องของทรงผมที่มีมากมายหลายทรง ทั้งแสก แหวก เสย เกล้ามวย ผมทรงห่วง 1 ห่วง 2 ห่วง 3 ห่วง ผมชี้ ผมตั้งเด่ ผมทรงเซลล่ามูน และอีกสารพัดทรงจนหลายๆคนยกให้เหล่านางอัปสรานครวัดเป็นเจ้าแห่งแฟชั่นทรงผมนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเพราะสารพัดทรงผมอันหลากหลายนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ร้านเสริมสวยหลายๆร้านในเสียมเรียบนิยมประดับรูปนางอัปสราเอาไว้








จากลักษณะท่าทางการแต่งองค์ทรงเครื่องและทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ช่วยเสริมส่งให้นางอัปสราในนครวัดมีความโดดเด่นและน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนางอัปสราที่เด่นๆ ในนครวัดเท่าที่ผมจำได้ก็มี

       นางอัปสรายิ้มแฉ่ง อยู่แถวซุ้มประตูชั้นแรกก่อนถึงตัวปราสาท ที่ถือเป็น 1 ใน 2 ของนางอัปสราทั้งหมดที่บนใบหน้ามีรอยยิ้ม(แฉ่ง)มองเห็นฟัน ซึ่งช่างที่สลักหินอัปสรานางนี้คงอารมณ์ดีมากสลักหินไปยิ้มไป สุดท้ายเลยใส่รอยยิ้มไปบนใบหน้านางอัปสราด้วย

       นางอัปสราผ้าหลุด มีอยู่หลายนางแต่ต้องสังเกตกันหน่อย ว่ากันว่าบางทีช่างขอมโบราณอาจตอกหินแรงไปหน่อย หรือไม่ก็เป็นอารมณ์อีโรติกแบบขำขำของช่างขอมโบราณเพราะอัปสราบางนางได้เอามือปิดของสงวนเอาไว้ด้วย

       นางอัปสราตะปุ่มตะป่ำ มีอยู่ในบางซอกบางมุม เข้าใจว่าไม่ใช่นางอัปสราเป็นโรคเรื้อนอย่างที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อนในนครธม แต่น่าจะมาจากช่างขอมโบราณเพิ่งสลักหินเสร็จยังไม่ได้มีการขัดแต่งให้เนื้อตัวนางอัปสราเกลี้ยงเกลาแต่อย่างใด

       นางอัปสราลิ้น 2 แฉก อยู่ที่องค์ปรางค์ประธาน ไม่รู้ว่าช่างขอมโบราณพลั้งมือสลักพลาดไป หรือว่าช่างคนนี้โดนสาวคนรักลวงหลอกจึงหาทางมาระบายออกที่รูปสลักนางอัปสราแทน



นางอัปสราสุดอึ๋ม เมื่อขึ้นไปบนปรางค์ประธานฝั่งขวา ค่อยๆใช้สายตาแหงนมองไล่ขึ้นไป หากใครเห็นอัปสรานางหนึ่งมีถันกลมกลึงอึ๋มอั๋นกว่าใครเพื่อนนั่นแหละใช่เลย นางอัปสราสุดอึ๋มที่แม้แต่น้องตั๊กยังต้องชิดซ้าย และด้วยความที่อัปสรานางนี้อยู่สูงจึงทำให้ถันของอยู่รอดปลอดภัยจากการถูกสัมผัสมาจนถึงบัดนี้

       ส่วนนางอัปสราที่สวยที่สุด จริงๆแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวว่าใครรักแบบไหน ชอบแบบไหน แต่ที่หลายๆคนยกให้ว่าเป็นนางอัปสราที่มีความสวยสง่าและมีองค์ประกอบแห่งความงามมากที่สุดก็คือ อัปสรานางหนึ่งที่แอบอยู่ในหลืบข้างช่องประตูใจกลางปรางค์ประธานที่มีใบหน้าอมยิ้มยกสองมือมือประคองถือดอกไม้ ที่ผมดูแล้วก็ให้รู้สึกเพลินตาเพลินใจดี

       แต่ว่าอัปสรานางนี้ไม่ใช่นางอัปสราที่ฮอตฮิตที่สุด เพราะนางอัปสรา(ขวัญใจ)มหาชนนั้นอยู่ที่ใกล้กับใจกลางปรางค์ประธานอีกเหมือนกัน

       อัปสรามหาชนนางนี้ คนเขมรที่นับถือนางอัปสราต่างเชื่อว่าใครที่อยากมีลูกหรือมีลูกยาก หากไปลูบจับถันของอัปสรานางนี้ก็จะได้ลูกสมดังปรารถนา แต่ว่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มักจะไปจับถันนางอัปสราแบบเอามันหรือไม่ก็จับตามคนอื่น จนทำให้เนื้อตัวท่อนบนของอัปสรานางนี้ถูกคนจับจนมันเลื่อม โดยเฉพาะที่ปทุมถัน 2 ข้างนี่ถูกลูบจับจนมันวับเหมือนลงแว็กซ์ยังไงยังงั้น ซึ่งผมถือว่ารูปสลักอัปสรามหาชนนางนี้มีชะตากรรมน่าสงสารที่สุดในนครวัด...


       “นครวัด”หรือ “Angkor Wat”  1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัย“พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” (ครองราชย์ พ.ศ.1655-1693)ซึ่งใช้เวลาถึง 37 ปี(พ.ศ.1656-1693) ปัจจุบันนครวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา   ในนครวัดนอกจากจะมีรูปสลักนางอัปสราแล้วก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอาทิ องค์ปรางค์ประธาน ภาพจำหลักหินที่ระเบียงทางเดิน สระน้ำขนาดใหญ่ที่หากเดินไปถูกมุมก็จะเห็นปรางค์ 5 องค์ของนครวัดเป็นเงาสะท้อนอยู่ในสระ




          จากลวดลายจำหลักนางอัปสรขอมสมัยบายนตอนปลา­ย และหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ได้ถูกนำมาเป็นแนวคิดในการประดิษฐ์เป็นการ­แสดงชุดเทพอัปสรพนมรุ้ง แสดงครั้งแรกในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนร­าชสุดาบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวั­ติศาสตร์พนมรุ้ง
ปี พ.ศ.2530


          "ระบำเทพอัปสรพนมรุ้ง" เกิดจากแนวความคิดสร้างสรรค์ ของอาจารย์เฉลย ศุขวณิช ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้น เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนกับภาพจำหลักขอ­งนางอัปสร อันเป็นสถาปัตยกรรมศิลปขอมบายนตอนปลายต่อก­ับนครวัดตอนต้น ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง

              อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้นำเพลง"เขมรกล่อมลูก" และ "เขมรชมดง" จากของเดิมมาปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยใช้ท่ารำของนางอัปสรที่ถือดอกบัวเพื่อถ­วายบูชา ณ ศาสนสถานแห่งนี้ นางอัปสรเป็นภาพจำหลักอันสวยงามที่มักจะพบ­เห็นอยู่ ณ ปราสาทแบบขอม โดยเฉพาะที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ลีลาการร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงาม ตรึงตา ตรึงใจ ผู้ได้พบเห็นการแสดงนี้จึงเกิดขึ้นจากจินต­นาการของผู้ประดิษฐ์ท่ารำ ที่ต้องกา
ลองรถ่ายทอดความงดงามของนางอัปสรจาก­แผ่นศิลาสู่สีสันของท่ารำอันอ่อนช้อย วิจิตรบรรจง

เพลง ระบำเทพอัปสรพนมรุ้ง




          ท่ารำที่ใช้ประกอบเพลง ระบำเทพอัปสรพนมรุ้ง









1 ความคิดเห็น:

  1. Sporting100: Betting odds, lines and news - Sporting News
    Sporting Bet odds and betting 고양 출장안마 odds. Sporting News. 부천 출장안마 Sports. Soccer news, 통영 출장안마 picks and parlays. Live Scores, Soccer 김제 출장마사지 news, 오래된 토토 사이트 betting odds, soccer news

    ตอบลบ