ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)

ราชอาณาจักรไทย  (Kingdom of Thailand)

…………ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างเส้นทางเดินเรือของ ๒ ประเทศหลักในเอเชีย คืออินเดียกับจีน นักเดินทางจึงเรียกดินแดนของแผ่นดินที่ยื่นยาวลงมาทั้งหมดว่าคาบสมุทรอินโดจีน  และเมื่อฝรั่งเศสได้รัฐอารักขาของไทยไปก็เรียกดินแดนในส่วนนั้นว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส และเมื่อชวา ได้เอกราชจากเนเธอร์แลนด์ ผู้คนในแถบนั้นก็เรียกชื่อประเทศใหม่ว่าอินโดนีเซีย ดินแดนที่เป็นอาเซียนในปัจจุบัน อยู่ทางส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย  ส่วนที่เป็นประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้ และมองในทางเศรษฐกิจก็เป็น HUB ในทุกเรื่อง ถ้าเราไม่พัฒนาคน พัฒนาเฉพาะด้าน ก็เป็นศูนย์กลางแต่ชื่อ ผลประโยชน์ย่อมไปตกกับประเทศอาเซียนที่มีความพร้อมมากกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ ๕๑๓,๑๑๕ ตารางกิโลเมตร  แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นจังหวัดมี ๗๗ จังหวัด เมื่อนับรวมกรุงเทพมหานคร แท้จริงกทม.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่ต้องนำราชการบางส่วนในระดับภูมิภาคมาให้ปฏิบัติด้วย มิได้โอนอำนาจให้เบ็ดเสร็จทั้งหมด เช่น ส่วนราชการที่เรียกว่าสำนักงานจังหวัดบัดนี้ในเขต กทม.แบ่งเป็นสำนัก- งานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ ๑(๒๖เขตในกทม. และเขตพื้นที่ ๒(๒๔ เขตที่เหลือ) ส่วนในระดับจังหวัดมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ๗๖ แห่ง ส่วนสำนักงานสหกรณ์อำเภอยุบแล้วนำงานมารวมกันในระดับจังหวัด

………..ในเรื่อง Labor-Hubไทยมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจากรอบประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า ๒ล้านคน  เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีทั้งโดยธรรมชาติและโดยถูกกฎหมาย ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพเสรี/สาขาวิชาชีพ(วิศวกรรม/พยาบาล/สถาปัตยกรรม/ช่างสำรวจ/แพทย์/ทันตแพทย์/บัญชี/การท่องเที่ยว)เริ่มลงนามกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ดำเนินงานต่อเนื่องกันมาถึงบัดนี้มิใช่ไปเริ่มปี๒๕๕๘ แรงงานทั่วไปที่กล่าวตอนต้นนั้นภาคสหกรณ์ต้องใช้มากในภาคเกษตรเช่นการทำสวน การกรีดยางพารา ในโรงงานอุตสาหกรรม  แรงงานเหล่านี้มิได้ใช้ประโยชน์จากองค์กรสหกรณ์โดยตรง แต่สมาชิกสหกรณ์อาจใช้ในแปลงเกษตรของตน แม้แต่แรงงานไทยในโรงงานทั่วไปที่เป็นลูกจ้างรายวัน/ลูกจ้างจากบริษัทรับช่วง    สหกรณ์ที่จัดตั้งในหน่วยงานนั้นก็มิได้รับเป็นสมาชิก  แม้แต่ลูกจ้างชั่วคราวในส่วนราชการต่างๆก็ไม่มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกสหกรณ์ ปี ๒๕๒๑-๒๕๒๓ที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำ สถานประกอบการปิดตัวเองจำนวนมาก สหกรณ์ในสถานประกอบการก็ปิดตัวเองตามไปด้วย  แต่สหกรณ์ที่ตั้งในชุมชนยังคงดำเนินกิจการตามปกติเพราะสมาชิกของสหกรณ์มาจากทุกระดับชั้น   สหกรณ์จึงเป็นสถาบันการเงินและสวัสดิการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆด้วย (มิได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ แต่ใช้หลักการและวิธีการสหกรณ์) ซึ่งเรื่องนี้เป็นปกติในสังคมไทย เช่นกลุ่มเกษตรกรที่ส่งเสริมการโดยกรมส่งเสริมการเกษตรก็ไม่เรียกว่าสหกรณ์ แต่มาอยู่ใต้ พรบ.สหกรณ์ ส่วนราชการที่ส่งเสริมการประกอบในชุมชน ที่เรียกว่าวิสาหกิจในชุมชน (ส่งเสริมโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในที่สุดรัฐไทยก็ออก พรบ.วิสาหกิจชุมชน พ.ศ.๒๕๔๘ มารองรับเรื่องนี้) สหกรณ์/วิสาหกิจบางแห่งได้ขยายตัวเป็นการประกอบการแบบ  SME น่าจะขยับเข้าไปรับบริการจากส่วนราชการที่ส่งเสริมเรื่องนี้โดยตรง คือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นหน่วยงานพัฒนา (ตั้งขึ้นตาม พรบส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.๒๕๔๓) และมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ SME สหกรณ์ /วิสาหกิจสหกรณ์ ส่วนใหญ่เป็น กิจการขนาดย่อย (Micro) จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ข้างต้น แต่ธุรกิจสหกรณ์จำนวนมากปัจจุบันได้ขยายตัวเข้าข่าย ขนาดย่อมและขนาดกลางแล้ว แต่ก็คงอยู่ในใต้ พรบ.สหกรณ์ ทั้งนี้เพราะธุรกิจ/วิสาหกิจแต่ละหน่วยงานมีวิวัฒนาการต่างกัน และจุดมุ่งหมายต่างกัน  สหกรณ์จำนวนมากมองเห็นวิวัฒนาการสหกรณ์ในต่างประเทศ ควรจะมีสถาบันการเงินกลางของขบวนการสหกรณ์ จึงควรมีธนาคารสหกรณ์ หลายท่านบอกว่ามีแล้วคือ ธกส. ซึ่งสนับสนุนเกษตรทุกประเภท รวมทั้งสหกรณ์การเกษตร(ช่วงหลังบริการสหกรณ์ประเภทอื่นบ้าง) ธกส.เองบริการลูกค้าที่เป็นสหกรณ์การเกษตร และบริการเกษตรกรทั่วไป เมื่อทำธุรกิจมากเข้าก็ถูกตำหนิว่าบริการสินเชื่อแข่งกับสหกรณ์การเกษตร( สกก.) แต่ปริมาณลูกค้ากลุ่มหลังมีมากกว่าและมิต้องรับการกล่าวหาว่าไม่บริการผ่านสหกรณ์ ต่อมา ธกส.จึงได้รวมกลุ่มลูกค้า ธกส.เข้าเป็นสหกรณ์ในแต่ละจังหวัด คือเรียกว่า สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. …………..  จำกัด (ที่ว่างคือชื่อจังหวัด  เรียกโดยย่อว่า สกต…….) เริ่มปี ๒๕๓๔ทั่วประเทศ สรุปว่า สกต.มีพี่เลี้ยงคือ ธกส.  ส่วนสหกรณ์การเกษตร……….. จำกัด(ที่ว่างคือชื่อ อำเภอ ไม่ต้องใส่คำว่าอำเภอลงไป เรียกโดยย่อว่า สกก. ……… เช่น สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด)มีพี่เลี้ยงคือ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา  รวมทั้งเงินสนับสนุนบางส่วนผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเงินทุนจากรัฐบาลผ่านธกส.    

…………ขบวนการสหกรณ์ไทย ในการประกอบการทุกประเภท องค์ความรู้ของผู้ประกอบการ  เงินทุนการตลาด  เทคโนโลยี  กฎหมายรับรองจากรัฐ(ว่าเป็นองค์การประเภทใด) สถาบันการเงิน(กองทุน/ธนาคาร) เหล่านี้ต่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการประกอบการ เกษตรกรไทย (ชื่อเรียกขานใหม่ เดิมเรียก ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ รวมเรียกเพราะๆว่า กสิกรรม/กสิกร) ชาวนาดั้งเดิมเน้นการทำนา หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้ชาวนาเป็นหนี้สินกันทั่วหน้า รัฐบาลเองก็เพิ่งก้าวสู่รัฐสมัยใหม่เงินทุนมีน้อย กลไกของรัฐเองยังอ่อนแอ วิธีการที่ต่างประเทศทำอยู่ในการให้ผู้คนมีทุนโดยไม่ต้องพึ่งพิงภายนอกหรือพึ่งรัฐคือส่งเสริมให้ผู้คนช่วยตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ตอนแรกรัฐไทยจะตั้งธนาคารเพื่อการเกษตร  แต่ระบบธนาคารไทยก็เพิ่งเริ่ม  ในที่สุดใช้วิธีการสหกรณ์ซึ่งเริ่มในยุโรปอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในอังกฤษและในเยอรมัน เนื่องจากชาวนาต้องการเงินทุนมาใช้ในการทำนา เมื่อนำสหกรณ์มาใช้หนแรกก็นำสหกรณ์หาทุน หรือสหกรณ์ไรฟ์ไฟเซน (เรียกตามนามของบิดาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโลก ฟริดริก วิลเฮล์ม ไรฟ์ไฟเซน  ตั้งครั้งแรกที่เมืองเฮสเดสดอล์ฟปี พ.ศ.๒๔๐๕ ) กรณีประเทศไทยจัดตั้งขึ้นที่อำเภอเมือง จ.พิษณุโลก เรียกว่า สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้(หน่วยงานนิติบุคคล มักลงท้ายว่า จำกัด แต่นี้เป็นหน่วยงานที่ไม่จำกัดสินใช้) จดทะเบียนเมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๙ มีพระบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลงกรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์คนแรก    มีสมาชิกครั้งแรก ๑๖ คน ทุนดำเนินงาน ๓,๐๘๐ บาท (สหกรณ์ทั้งปวงนิยมเขียนประวัติแนวนี้เนื่องจากจะได้เห็นการเริ่มพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (Siam Commercial Bank ยุคนั้นเรียกทับศัพท์สำเนียงไทยว่า แบงค์สยามกัมมาจล)สหกรณ์ คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๖บาทต่อปี ปล่อยให้สมาชิกกู้ร้อยละ ๑๒ บาทต่อปี รัฐบาลได้ขยายกิจการสหกรณ์ออกไปอย่างต่อเนื่องจาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางก่อนแล้วขยายไปทั่วประเทศ มีการตรา พรบ.สหกรณ์ พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นกฎหมายรองรับสหกรณ์โดยตรง (เดิมใช้บังคับตาม พรบ.สมาคม พ.ศ.๒๔๕๗) ตามกฎหมายนี้ได้จัดประเภทสหกรณ์ให้มีประเภทธนาคารสหกรณ์จังหวัดด้วย ทดลองทำที่ จ.เชียงใหม่และอุตรดิตถ์เป็นครั้งแรก  ต่อมาได้ยกเลิกเปลี่ยนชื่อเป็นชุมนุมสหกรณ์หาทุน ชุมนุมสหกรณ์ในปัจจุบันทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารสหกรณ์ แต่อยู่ภายใต้ พรบ.สหกรณ์ เนื่องจากกฎหมายไทยไม่ให้อำนาจให้สหกรณ์ทำสหกรณ์ธนาคารหรือสหกรณ์ประกันภัยเหมือนในต่างประเทศ  แต่ช่วงปี ๒๕๓๖ขบวนการสหกรณ์ไทยได้ช่วยกันจัดตั้งบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)เมื่อปี ๒๕๓๗ ส่วนธนาคารสหกรณ์ยังต้องรอความพร้อมของขบวนการสหกรณ์ไทยอีกระยะหนึ่ง  แท้จริงทุกภาคส่วนในสังคมควรจะมีธนาคาร/กองทุน/สถาบันการเงินของตนเอง  เพื่อความคล่องตัวในการประกอบการของผู้คนในภาคส่วนนั้น ในปี ๒๕๑๑ ได้ตรา พรบ.สหกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๑ มีการรวมสหกรณ์หาทุนซึ่งส่วนใหญ่ตั้งในระดับ/หมู่บ้านตำบลเข้ารวมเข้าด้วยกัน(ควบรวม)และเรียกชื่อเป็นสหกรณ์การเกษตร………จำกัด ตัวอย่าง สหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด   ควบรวมจากสหกรณ์หาทุน ๒๙ สหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม๒๕๑๓ สมาชิกแรกควบรวม ๒๕๓ คน แบ่งเป็น ๑๑ กลุ่ม เมื่อถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ มีสมาชิก ๗,๒๖๗คน  มีทุนดำเนินงานรวม  ๕๙๐ ล้านบาท  ทุนเรือนหุ้น ๑๑๖.๓ ล้านบาท ทุนสำรอง ๑๓ ล้านบาท  เงินรับฝาก  ๒๕๔.๔ ล้านบาท  ปริมาณธุรกิจรวม ๗๔๙.๔ ล้านบาท กำไรสุทธิ ๑๐.๔ ล้านบาท    ธุรกิจของสหกรณ์ การให้สินเชื่อ  การรวบรวมผลผลิต  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สร้างฉางอเนกประสงค์ สร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง  ดำเนินการโครงการข้าวโพดแลกไข่(แก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ)  โครงการระดมหุ้น/ระดมเงินฝาก (เน้นพึ่งตนเอง เจ็บใจกู้จากแหล่งเงินแห่งอื่นลำบาก)โครงการปลูกสบู่ดำ  โครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน  สหกรณ์แห่งนี้ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทการเกษตรทั่วไป ปี ๒๕๕๕

…………ขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๘  ได้แบ่งสหกรณ์ออกเป็น ๗ ประเภท คือสหกรณ์การเกษตร /สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง/ สหกรณ์บริการ /สหกรณ์-ร้านค้า/ สหกรณ์ออมทรัพย์/ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน/

สหกรณ์ดีเด่นประเภทอื่นที่ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ มีดังนี้

…………สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กพัฒนานิคม จำกัด   จ.ลพบุรี(ประเภทสหกรณ์การเกษตร ซึ่งปัจจุบันแยกสาขาตามชนิดของพืชและสัตว์ และมีการตั้งชุมนุมสหกรณ์แยกย่อยตามสาขาเกษตร เช่นสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด  ชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย จำกัด   ชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จำกัด  ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยาง…….(ชื่อจังหวัด) จำกัด  ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จำกัด และในระดับจังหัด มีชุมนุมสหกรณ์การเกษตร………. (ชื่อจังหวัด) จำกัด เป็นต้น)

…………สหกรณ์นิคมนครชุม จ.กำแพงเพชร (ปัจจุบันเมื่อมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ สมาชิกสหกรณ์ประเภทนี้อยู่ในประเภทเกษตรกรขั้นก้าวหน้า มีที่ดินของตนเองมีผลผลิตจากพืชผลต่อเนื่องมานานปีตาม พรบ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑)    

………… สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด  กทม. (เป็นตัวอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการ แม้ในชุมชน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์นครหาดใหญ่ จำกัดที่รับสมาชิกจากทุกสาขาอาชีพมีแดนสหกรณ์ทั้งจังหวัดสงขลา ณ ๓๑ ส.ค.๒๕๕๕ มีทุนเรือนหุ้น ๑๐๖.๑๙ ล้านบาท สินทรัพย์ ๓๑๘.๖๕ ล้านบาท กำไร ๕,๑๓ ล้านบาทจ่ายเงินปันผลร้อยละ ๗)

…………ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จำกัด จ.ภูเก็ต  (เป็นร้านค้าปลีกในระบบสหกรณ์ นิยมต้องในสถานศึกษา และในโรงพยาบาล นอกจากบุคลากรของสถานประกอบการนั้นๆแล้วมีลูกค้าภายนอกมาใช้บริการมาก  เป็นร้านขายปลีกที่สามารถทำให้เป็นระบบได้ แต่ต้องจัดตั้งสหกรณ์ขายส่ง /มีระบบโลยิสติกที่ทันสมัยเหมือนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมมาตรฐานสินค้าสหกรณ์ ซึ่งเน้นรับรองคุณภาพการผลิตสินค้า แต่การรวมสินค้า การขนส่งไปยังร้านสหกรณ์ยังมิได้จัดทำเป็นระบบ ช่องว่างนี้จึงทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกเอกชนได้ประโยชน์มากและเอื้อต่อผู้ผลิตรายใหญ่ แต่สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ผลิตรายย่อย  ถ้าสหกรณ์จะเป็นศูนย์กลางการผลิตก็ต้องจัดระบบการผลิต การขนส่ง การจัดร้านสหกรณ์ เหมือน สหกรณ์แฟร์ไพรซ์ของสิงคโปร์)

…………สหกรณ์เดินรถเพชรบูรณ์ จำกัด   (เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ ที่สามารถจัดธุรกิจ/ประกอบการสาขาต่างๆได้สะดวก  การจดทะเบียนก็ทำได้ง่าย ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ก็ขอรับบริการได้จากสหกรณ์จังหวัด การรวมตัวการทำอาชีพต่างๆ จัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ได้สะดวก และมีลักษณะเป็นสหกรณ์อเนกประสงค์ )    

…………สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองห้าง  จำกัด  (เป็นประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แยกตัวมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เนื่องจากสังคมไทยมักสรุปว่าถ้าถือหุ้นหรือชำระเงินกู้ โดยหักเงินจากฝ่ายการเงินของสถานประกอบการถือเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ถ้านำเงินไปชำระด้วยตนเอง ณ สหกรณ์ถือว่าเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แต่ปัจจุบันไม่เคร่งครัดแล้ว ในต่างประเทศถือว่าทั้งสองประเภทเป็นประเภทสหกรณ์ทางการเงิน – Financial Cooperative และให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง)  

…………การกำกับดูแลจากภาครัฐ สหกรณ์ไทยอยู่ในกำกับดูแล(ผู้ตรวจกิจการ Regulator /Inspector)ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ทั้ง ๒ กรมนี้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีส่วนราชการระดับภูมิภาคมีส่วนราชการทั้ง๒ กรมคือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด…….. และสำนักตรวจบัญชีสหกรณ์………….(แต่ไม่มีคำว่าจังหวัด เช่นสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงราย เรียกโดยย่อว่า สตส………มีส่วนราชการของกรมระดับเขต/โซน เรียก สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่…. (สตท. ทั่วประเทศมี ๑๐ สตท.) “เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กาญจนบุรี  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและนำสหกรณ์จำนวน ๗ แห่งในพื้นที่ ศึกษาดูงานสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ต้นแบบการใช้โปรแกรมบัญชี ๙๙๙ ความดีเพื่อพ่อหลวง  เพื่อให้สหกรณ์สามารถนำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ ไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถบริการสมาชิกได้อย่างรวดเร็วและเพื่อเป็นการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งทางด้านบัญชีอย่างยั่งยืน”

…………  รัฐไทยมีวิวัฒนาการเรื่องสหกรณ์มา ๙๖ ปีมีกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ตั้งสหกรณ์หนแรกและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัย แต่ยังคงหลักการและวิธีการสหกรณ์ไว้ กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ฉบับปัจจุบัน คือพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๒)  ให้เหตุผลว่า ฉบับปี ๒๕๑๑ ใช้บังคับมานาน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ทันต่อสภาพการแข่งขันกับระบบธุรกิจในปัจจุบัน กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์  จัดให้มีกองทุนเพื่อพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บรรดาสหกรณ์ ปรับปรุงองค์ประกอบและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ปรับปรุงเรื่องกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์อย่างเป็นระบบ..

…………  องค์กรสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ไทยคือ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  (=สสท. The Cooperative League of Thailand) การพัฒนาสสท.ก้าวหน้าไปมากตั้งแต่แรกตั้ง สสท.เมื่อปี ๒๕๑๑ มีการปรับองค์การให้สอดคล้องกับการพัฒนาสหกรณ์มากขึ้น  มีการเมืองในองค์การบ้างก็เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ แต่ผู้นำสหกรณ์ที่มารับผิดชอบต่างก็จะขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมร่วมไปให้ถึงอุดมการณ์และหลักการสหกรณ์ให้ได้ มีการกระจายสาขาไปสู่ส่วนภูมิภาค มีการปรับปรุงระบบการสื่อสารให้ทันสมัยและร่วมมือกับทุกภาคส่วนอื่นของสังคมให้การพัฒนาสหกรณ์/สมาชิกสหกรณ์ ประชาชาติไทยและประชาชาติอาเซียน

………… ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับสูงของขบวนการสหกรณ์ไทยมีสถาบันอุดมศึกษาไทย ๒ แห่งคือ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาสหกรณ์และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ และให้งานบริการทางวิชาการสหกรณ์และงานวิจัยสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์จัดตั้งโดยมติคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.-องค์คณะบุคคลที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมสหกรณ์ ตามพรบ.๒๕๔๒ มาตรา๙-๑๔) ตั้งเมื่อปี ๒๕๔๖โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นส่วนราชการสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกสถาบันคือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เปิดสอนหลักสูตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ทั้งระดับปริญญาตรีและโท และให้งานบริการทางวิชาการและงานวิจัยด้านสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง

………… ปัจจุบันเป็นยุคดิจิตัล สหกรณ์ทั้งหลายได้ให้ข้อมูลข่าวสารแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป  สหกรณ์นำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหาร/จัดการสหกรณ์มากขึ้น  การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารผู้นำสหกรณ์ /เจ้าหน้าที่สหกรณ์สามารถเข้าถึงข้อมูลของส่วนราชการ  ชุมนุมสหกรณ์ และสหกรณ์ต่างๆได้สะดวก  นีเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาสหกรณ์ได้เร็วขึ้น  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิพัฒนาสหกรณ์แห่งเอเชีย http://www.codfa.org/index.php?mo=3&art=42033528

ใส่ความเห็น