ลิ้นหัวใจรั่ว เหนื่อยหอบง่าย รักษาหายเป็นปกติได้

05 เม.ย. 66  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

ลิ้นหัวใจรั่ว เหนื่อยหอบง่าย รักษาหายเป็นปกติได้

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญลำดับต้นๆ ของร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจอาจส่งผลถึงชีวิต หนึ่งในนั้นคือโรค “ลิ้นหัวใจรั่ว” หลายคนคงเคยได้ยินโรคนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งจะไม่แสดงอาการเมื่ออยู่ในระยะเริ่มแรก แต่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อลิ้นหัวใจรั่วเข้าสู่ระดับรุนแรงแล้ว

ลิ้นหัวใจสำคัญต่อการทำงานของหัวใจอย่างไร ?

หัวใจประกอบด้วยโครงสร้างอวัยวะหลายส่วน ได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจ, ชั้นกล้ามเนื้อหัวใจ, ลิ้นหัวใจ, เส้นเลือดหัวใจ เป็นต้น โดยลิ้นหัวใจในร่างกายคนเราจะมีทั้งหมด 4 ลิ้น แบ่งเป็นฝั่งซ้าย 2 ลิ้น และฝั่งขวา 2 ลิ้น โดยปกติเลือดในห้องหัวใจจะไหลเวียนจากห้องขวาบน ห้องขวาล่าง ไปสู่ปอด กลับเข้าห้องซ้ายบน ห้องซ้ายล่าง จากนั้นจึงออกไปสูบฉีดเลี้ยงทั่วร่างกายตามลำดับ โดยลิ้นหัวใจจะอยู่ระหว่างหัวใจแต่ละห้อง ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ ดังนั้น หากลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้มีเลือดไหลย้อนกลับ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆ ตามมา ดังนี้ 

  • หากเป็นลิ้นหัวใจห้องซ้ายรั่ว อาจส่งผลให้มีหัวใจห้องซ้ายโต เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ไม่สามารถนอนราบได้ มีภาวะน้ำท่วมปอด ความดันต่ำ เป็นต้น
  • หากเป็นลิ้นหัวใจห้องขวารั่ว ทำให้มีภาวะบวมน้ำ มีขาบวมกดบุ๋ม ท้องมาน ตับโต ตัวและตาเหลือง

โรคลิ้นหัวใจรั่วเกิดจากสาเหตุใดบ้าง ?

  1. ความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด ส่วนมากเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจรั่ว ซึ่งสาเหตุนี้ไม่สามารถป้องกันได้  
  2. ลิ้นหัวใจเกิดการเสื่อมสภาพตามเวลาในวัยสูงอายุ เนื่องจากสูบฉีดเลือดตลอดเวลาทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น และเกิดการปิดไม่สนิท  
  3. ไข้รูห์มาติก โดยติดเชื้อในคอหรือผิวหนัง แล้วเกิดภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ทำให้ลิ้นหัวใจถูกทำลาย  
  4. การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจถูกทำลาย อักเสบ ลิ้นหัวใจทะลุ โดยมีสาเหตุมีติดเชื้อในช่องปาก โรคปริทันต์ หรือในผู้ป่วยมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ฟอกไตทางหลอดเลือด หรือมีการใส่อุปกรณ์ในห้องหัวใจ
  5. ภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติทำให้เกิดลิ้นหัวใจรั่ว 

นอกจากนี้ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สามารถนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นกัน 

วิธีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว

สำหรับโรคลิ้นหัวใจรั่วหากเป็นในระยะแรกอาจยังไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เพียงแต่ต้องติดตามอาการกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยหากลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงเป็นเวลานานจนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหัวใจร่วมด้วยแล้ว ผลลัพธ์ของการรักษาอาจไม่ดีเทียบเท่ากับการรักษาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วนั่นก็คือ การผ่าตัด 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกเป็นแผลใหญ่และฟื้นตัวช้าอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยวิธีการรักษาลิ้นหัวใจรั่วมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี

  1. การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Valve replacement) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นการผ่าตัดนำลิ้นหัวใจเดิมออก จากนั้นนำลิ้นหัวใจเทียมอันใหม่ใส่เข้าไปแทนที่ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมจะมีความเสี่ยงมากกว่าผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ โดยลิ้นหัวใจเทียมมี 2 ชนิด คือ ชนิดเนื้อเยื่อจากเยื่อหุ้มหัวใจหมูหรือวัว และชนิดโลหะ 

  • ลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะ ข้อดีของหัวใจประเภทโลหะคือมีความทนทานมากกว่า แต่ข้อเสียคือจำเป็นต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต ทั้งนี้การเลือกชนิดของลิ้นหัวใจขึ้นอยู่กับอายุและสภาวะของคนไข้อีกด้วย
  • ลิ้นหัวใจที่ทำจากเยื่อหุ้มหัวใจหมูหรือวัว ข้อดีคือไม่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต แต่ข้อเสียคือภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่อต้านหรือทำลายเนื้อเยื่อแปลกปลอมนี้จนเกิดเป็นพังผืด ส่งผลให้การเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจทำงานไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งลิ้นหัวใจชนิดนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ประมาณ 10 – 15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสภาพร่างกายคนไข้
  1. การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve repair) 

การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจในปัจจุบันเป็นการรักษาที่ดีวิธีหนึ่งเพราะผลข้างเคียงน้อย ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด เนื่องจากเป็นการเย็บซ่อมลิ้นหัวใจที่มีการหย่อนหรือฉีกขาด โดยอาจมีการใส่อุปกรณ์ยึดตรึงโครงสร้างของลิ้นหัวใจด้วย การผ่าตัดชนิดนี้มีข้อดีคือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรอยโรคของลิ้นหัวใจว่าสามารถผ่าตัดแบบเย็บซ่อมได้หรือไม่

ถึงแม้โรคลิ้นหัวใจรั่วจะเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งแบบที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก ปัจจุบันมีเครื่องมือในการช่วยวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วมากมาย โดยการเอกซ์เรย์ปอด (Chest X-ray) การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหาร (Transoesophageal echocardiogram) และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI) ทำให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ลิ้นหัวใจรั่วสามารถวินิจฉัยและรักษาได้ หากสงสัยหรือพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วในขณะที่เป็นรุนแรง จนมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหัวใจไปแล้ว อาจได้ผลลัพธ์ของการรักษาไม่ดีเท่ากับการรักษาตั้งแต่ต้น ดังนั้นควรหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากตรวจพบจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ที่โรงพยาบาลวิมุตเรามีศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ที่พร้อมให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาและอยากได้คำแนะนำในการวางแผนการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงโปรโมชันแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป หรือตรวจสุขภาพหัวใจในราคาพิเศษ สามารถติดต่อได้ในเวลาทำการโรงพยาบาล 

เรียบเรียงโดย นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6  โรงพยาบาลวิมุต  

เวลา 08.00-17.00 น. หรือ โทร. 0-2079-0042  

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บหน้าอก ใจสั่น อย่าวางใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ” ได้ มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง