7 เมนูอาหารผู้ป่วยมะเร็ง กระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

04 พ.ค. 66  | ศูนย์อายุรกรรม
แชร์บทความ      

7 เมนูอาหารผู้ป่วยมะเร็ง กระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

อาการเบื่ออาหารพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของการรักษา แต่อาหารยังคงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย สอดคล้องกับงานวิจัยจาก Nestle Health Science พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากการขาดสารอาหารถึง 20 % และจากการรับประทานอาหารไม่ได้ถึง 50 % จะเห็นได้ว่าอาการเบื่ออาหารของผู้ป่วยมะเร็งส่งผลต่อการเสียชีวิตมากเช่นกัน เพื่อดูแลสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วันนี้เรามาแนะนำไอเดียสร้างสรรค์เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อกระตุ้นความอยากอาหารและสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดีให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมกับวิธีการรักษา จะมีเมนูไหนน่าสนใจบ้างไปดูกัน…

เมนูอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งสำคัญอย่างไร ?

อาหารที่ดีก็เปรียบเสมือนยารักษาที่ดี ยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษอย่างผู้ป่วยมะเร็ง การให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการที่อาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น การฉายแสง หรือเคมีบำบัด ซึ่งวิธีการเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์ดีๆ ในร่างกายถูกทำลายไปด้วย การเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการรักษา ระหว่างการรักษาและหลังการได้รับการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทางด้านภาวะโภชนาการ ซึ่งทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

แนะนำ 7 เมนูอาหารเพื่อภาวะโภชนาการที่ดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

1.ปลาดอรีนึ่งนมสด

ผู้ป่วยมะเร็งต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีนมากกว่าคนปกติ หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกล้ามเนื้อจะถูกสลายไปใช้เป็นพลังงานแทน เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยผอมลง ร่างกายเริ่มอ่อนแรงและส่งผลต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด ดังนั้นการรับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ นม และไข่ ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่ากาย ส่งผลต่อภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น

ส่วนผสม

• ปลาดอรีแล่เป็นชิ้น 200 กรัม

• นมสดรสจืด 1 ถ้วย

• น้ำปลา 1 ช้อนชา

• น้ำตาล 1 ช้อนชา

• น้ำเปล่า 1 ถ้วย

วิธีทำ

1. นำปลาดอรีไปนึ่งให้สุกแล้วนำขึ้นมาพักไว้

2. ใส่นมสดรสจืดและน้ำเปล่าลงในหม้อ ตั้งไฟให้เดือด

3. ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล จากนั้นคนส่วนผสมให้เข้ากัน

4. ราดนมสดที่ปรุงรสแล้วลงบนปลาดอลลี่ที่พักไว้

5. หลังจากนั้นนำไปนึ่งอีก 1 – 2 นาที พอได้กลิ่นหอม พร้อมรับประทานได้

2. โยเกิร์ตกับธัญพืช

ผู้ป่วยมะเร็งที่มีปัญหาด้านการกลืนอาหาร มีแผลในปาก หรือคอ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีความเย็น หรืออุณหภูมิห้อง อ่อนนุ่ม กลืนง่าย เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีม หรือเครื่องดื่มเย็นๆ เพราะมีลักษณะเหลว รับประทานง่าย นอกจากนี้โยเกิร์ตยังมีโพรไบโอติกที่ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่ายและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบทางเดินอาหาร ส่วนธัญพืชชนิดข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์จะเปลี่ยนเป็นกรดบิวทิริก (Butyric acid) ในลำไส้ที่มีส่วนช่วยในการต้านมะเร็ง

ส่วนผสม

• โยเกิร์ตพลาสเจอร์ไรส์

• ธัญพืช ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์

• น้ำปลา 1 ช้อนชา

• น้ำตาล 1 ช้อนชา

• น้ำเปล่า 1 ถ้วย

วิธีทำ

ผสมโยเกิร์ตและธัญพืชเข้าด้วยกันตามปริมาณที่เหมาะสม คนให้เข้ากันแล้วพร้อมรับประทานทันที

3. ซุปข้าวโพดนมสด

ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการเบื่ออาหาร ควรรับประทานมื้อเล็กๆ แต่บ่อยมื้อ โดยอาจเริ่มจากอาหารประเภทซุป หรือน้ำผลไม้ปั่น ซึ่งเป็นอาหารเหลวที่ช่วยให้สามารถรับประทานได้ง่าย อีกทั้งทำง่ายไม่ยุ่งยาก เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอ

ส่วนผสม

• เนยสด 3 ช้อนโต๊ะ

• หอมหัวใหญ่สับละเอียด 1 หัว

• แป้งข้าวโพด 2 ช้อนโต๊ะ

• นมสด 2 ถ้วย

• น้ำเปล่า 1 ถ้วย

• ซุปครีมข้าวโพดสำเร็จรูป 1 ถ้วย

• เกลือ และพริกไทยดำบดละเอียด

• ข้าวโพดต้มสุก ฝานละเอียด 1 ถ้วย

วิธีทำ

1. ใช้ไฟอ่อนผัดหอมหัวใหญ่ใส่เนยจนหอมหัวใหญ่เปลี่ยนเป็นสีใส ใส่แป้งข้าวโพดคนให้เข้ากันจนแป้งสุก

2. ใส่นมสดลงไปแล้วตามด้วยน้ำซุป ต้มจนเดือดเติมซุปครีมข้าวโพด เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนน้ำซุปเริ่มเดือดควรตักฟองด้านบนออกเรื่อยๆ

3. ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยดำ

4. ใส่เมล็ดข้าวโพดที่ฝานเตรียมไว้ลงไป แล้วคนให้เข้ากันตักใส่ภาชนะพร้อมรับประทาน

4. แกงเลียง

เป็นอาหารที่ประกอบด้วยผักและสมุนไพรหลายชนิด ดังนั้นแกงเลียงจึงเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง ช่วยในการขับถ่ายในผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะท้องผูก และสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ช่วยในการต้านมะเร็ง อีกทั้งกลิ่นและรสชาติของสมุนไพร ช่วยในการกระตุ้นความอยากอาหารของผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการเบื่ออาหารได้อีกด้วย

ส่วนผสม

• เนื้อหมูไม่ติดมัน  100 กรัม

• กุ้งแห้ง 3 ช้อนโต๊ะ

• พริกไทย  ½  ช้อนโต๊ะ

• กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ

• หอมแดง 5 หัวกลาง

• กระชาย  ½  ช้อนโต๊ะ

• เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ

• น้ำตาลปี๊บ ½  ช้อนโต๊ะ

• บวบหอมอ่อน 2 ลูก

• ฟักทองชิ้น 20 ชิ้น

• ข้าวโพดอ่อน 5 ฝัก

• ใบแมงลัก 1/2 ถ้วย  น้ำซุป

วิธีทำ

1. ทำน้ำพริกแกงเลียง โดยการตำพริกแห้ง กะปิ กระชาย หอมแดง พริกไทย และกุ้งแห้งจนละเอียด

2. เติมน้ำลงในหม้อและติดไฟ พอน้ำเดือดใส่น้ำพริกแกงลงไป ตามด้วยส่วนผสมอื่นๆ ข้าวโพดอ่อน หมู บวบ ฟักทอง และเพิ่มความหอมด้วยใบแมงลัก

3. ปรุงรสตามชอบ คนให้เข้ากันสามารถรับประทานได้ทันที

 

5. ข้าวต้มปลากะพงเต้าหู้ไข่

เป็นเมนูที่ทำได้ไม่ยากและสามารถย่อยได้ง่าย เนื้อปลาและเต้าหู้ไข่ ถือเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพดี  ช่วยในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ข้าวต้ม จัดว่าเป็นอาหารอ่อน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้ อันเนื่องมาจากผลข้างเคียงจากการรักษา

ส่วนผสม

• ข้าวสวย 1 ถ้วย

• เนื้อปลากะพง 80 กรัม

• เต้าหู้ไข่ 1 หลอด

• น้ำซุปกระดูกหมูหรือไก่ 1 ลิตร

• รากผักชี 1 ต้น

• ตะไคร้ 2 ต้น

• ข่าอ่อน 1 แง่ง

• ซีอิ้วขาว 1 ชต.

• น้ำตาลทราย

• พริกไทย ¼ ช้อนชา 

• ผักโรยตามชอบ (ผักขึ้นฉ่าย ต้นหอม และผักชี หั่นหยาบๆ)

• กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1. เทน้ำซุปใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง ใส่ข่า ตะไคร้ และรากผักชีลงไป

2. น้ำซุปเริ่มเดือด ใส่ปลากะพงลงไปต้มจนเนื้อปลาสุกดีแล้วตักขึ้นพักไว้

3. ตักข่า ตะไคร้ รากผักชีออก และกรองน้ำซุป

4. นำน้ำซุปที่กรองแล้ว มาตั้งไฟอีกครั้งให้เดือด จากนั้นเทข้าวสวยลงไปในหม้อ

5. รอให้ข้าวเริ่มนิ่ม ใส่ผักชี ขึ้นฉ่าย และต้นหอมตามลงไป

6. หั่นเต้าหู้ไข่ลงในหม้อ รอจนเต้าหู้สุก

7. ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย และพริกไทยตามชอบ ยกลงตักใส่ถ้วย

8. ตักเนื้อปลาที่ต้มไว้ลงในถ้วยข้าวต้ม พร้อมรับประทานทันที

 

6. น้ำอัญชันมะนาว

สารสีม่วงที่มีชื่อว่า แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งอยู่ในน้ำอัญชันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย อีกทั้งรสเปรี้ยวของมะนาวจะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ซึ่งในผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปากแห้งจะส่งผลต่อการรับรสของผู้ป่วยเปลี่ยนไป การกระตุ้นการหลั่งน้ำลายจึงทำให้รู้สึกมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น

ส่วนผสม

ดอกอัญชัน 1 ถ้วย

น้ำตาลทราย 

มะนาว 

น้ำ 6 ลิตร 

เกลือ 2 ช้อนชา

วิธีทำ

1. นำดอกอัญชันมาล้างให้สะอาด

2. ต้มดอกอัญชันให้เดือด ใช้เวลา 5 นาที รอให้สีดอกอัญชันออกและปิดไฟ ตักดอกอัญชันออก ใส่น้ำตาลทรายเล็กน้อยและคนให้น้ำตาลละลาย

3. บีบมะนาวปรุงรสตามชอบ ตักใส่แก้วพร้อมดื่ม

 

7. สมูทตี้มะม่วง

มะม่วงอุดมไปด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนโยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งของโปรตีน ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปากแห้ง เบื่ออาหาร สมูทตี้มะม่วง จัดว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารเพิ่มมากขึ้น

ส่วนผสม

มะม่วงสุกหั่นชิ้น 150 กรัม

• โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 2 ออนซ์

• น้ำผึ้ง 2 ออนซ์

• น้ำเชื่อม 1 ออนซ์

• น้ำมะนาว 1/2 ออนซ์

• น้ำเปล่า 1 ออนซ์

• เกลือป่นหยาบ 1/4 ช้อนชา

• น้ำแข็งป่น 24 ออนซ์

วิธีทำ

นำส่วนผสมทั้งหมดลงปั่นให้เข้ากันจนละเอียด
เทใส่ภาชนะพร้อมดื่มทันที

อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง ?

อาหารหมักดอง ไม่สด ไม่สะอาดหรืออาหารค้างคืนเป็นอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง และในช่วงที่อยู่ระหว่างการรักษาควรงดรับประทานผักสด ผลไม้เปลือกบางที่รับประทานทั้งเปลือก เช่น องุ่น ชมพู่ โดยให้เน้นอาหารปรุงสุก และสะอาด

การรับประทานอาหารตามภาวะโภชนาการของผู้ป่วยมะเร็งมีความสำคัญมากในกระบวนการรักษา ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหารแต่เรายังสามารถดูแลได้ด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้น่ารับประทานและดีต่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ได้พลังงานและสารอาหารตามความต้องการของร่างกายผู้ป่วยมะเร็งอย่างเหมาะสม ถือเป็นอีกทางหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เรียบเรียงโดย ณัฐมนฑน์ จิรวัฒนาวงษ์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0030  

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
หายป่วยลองโควิดได้ หายขาดด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด

โควิดที่ว่าน่ากลัว ยังไม่เท่าลองโควิด มาตรวจเช็กปอดและร่างกายให้เท่าทันโรค กับโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เสริมเกราะให้ร่างกายด้วยวัคซีนเสริม เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทุกวัย

ใครว่าวัคซีนเสริมจำเป็นแค่กับเด็กกัน แต่สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะมีวัคซีนอะไรบ้างที่ควรฉีดมาดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ปอดติดเชื้อ ภาวะอันตรายของโรคปอดที่อาจเสี่ยงถึงชีวิต !

หากคุณกำลังมีอาการไข้สูง ไอหนักมาก เหนื่อยหอบ แถมเจ็บชายโครงเวลาหายใจ นี่อาจเป็นอาการของโรคปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบที่ต้องระวัง มาดูอาการและวิธีการรักษาโรคปอดติดเชื้อได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เมนูผู้ป่วยโรคไต กินอย่างไรให้ปลอดภัยแต่ยังอร่อยได้

โภชนาการอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต แนะนำอาหารเมนูอร่อยโรคไตกินได้ ช่วยคุมอาหารได้ดี และมีประโยชน์ต่อการรักษาโรค ชะลอความเสื่อมของไต

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง