Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] วิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ (ภาคอินเตอร์) จุฬาฯ เรียนอะไรบ้าง

  Favorite

วิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ (ภาคอินเตอร์) จุฬาฯ

Bachelor of Engineering in Automotive Design and Manufacturing Engineering

 

          สำหรับน้อง ๆ ที่เข้ามาดูบทความนี้อาจจะมีความสนใจหรือความชอบเกี่ยวกับเรื่องของรถยนต์ หรือกำลังค้นหาตัวเองกันอยู่ใช่ไหมคะ ในบทความนี้ “พี่ไฟว์” ศิวนาถ ศรีสุข นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมการออกแบบและผลิตยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาเจาะลึกกันว่า สาขาวิศวกรรมการออกแบบและผลิตยานยนต์ เรียนอะไรกันบ้าง

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเข้าสาขานี้

ทางครอบครัวจบวิศวกรรมกันหมดเลย คุณพ่อก็เป็นวิศวะฯ เหมือนกันก็เลยมีแรงบันดาลใจอยากเป็นวิศวะฯ เหมือนคุณพ่อ อีกอย่างคือเราก็เป็นคนที่ชอบรถมาก เรียกได้ว่า “บ้ารถ” เลย ในเวลาว่างเราชอบออกไปขับรถเล่น เรารู้สึกว่าเวลาขับรถเราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ก็เลยเลือกเข้าสาขาออกแบบและผลิตยานยนต์เพราะว่าอยากมีความเข้าใจกับเรื่องรถมากขึ้น
 

“พี่ไฟว์” ศิวนาถ ศรีสุข 


วิศวกรรมการออกแบบและผลิตยานยนต์ เรียนอะไรบ้าง

พื้นฐานหลัก ๆ ของสาขานี้คือการเรียนจะเหมือนกับวิศวกรรมเครื่องกล บวกกับวิศวกรรมอุตสาหการ และก็มีเรื่องของวิศวกรรมไฟฟ้าแทรกมาเล็กน้อย แต่หลัก ๆ คือจะเป็นของวิศวะเครื่องกล

 

ตอนปี 1 จะเรียนเหมือนกันทุกภาคเพื่อเป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้น ค่อยแยกเข้าวิชาของแต่ละภาคหรือสาขานั้นตอนปี 2

 

ปี 2 เราได้เรียนวิชา manufacturing process ของ automotive หรือกระบวนการการผลิตที่เกี่ยวกับรถยนต์ซึ่งเป็นวิชาที่เราชอบมากที่สุด วิชานี้ก็จะมีการเรียนเรื่องสมบัติและโครงสร้างของวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์​และพวกขั้นตอนการผลิต เช่น กระบวนการขึ้นรูปโลหะแผ่น การหล่อโลหะ การอบชุบโลหะ และกรรมวิธีทำความร้อน

 

เราก็จะมีเวิร์กชอปตั้งแต่ปี 2 เป็นการเริ่มลงมือปฏิบัติจริง เราได้เห็นชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งคัน ได้เรียนรู้ชิ้นส่วนที่สำคัญต่าง ๆ ของรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจหลัก นั่นก็คือเครื่องยนต์ ว่าเครื่องยนต์ทำงานอย่างไร เรามีโอกาสได้ถอดประกอบเครื่องยนต์ ทดลองอุปกรณ์ในรถยนต์ และต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์

 

รวมไปถึงเรื่องง่าย ๆ อย่างพวกเซอร์วิสเบื้องต้น หรือการดูแลรักษารถยนต์เบื้องต้น อย่างเช่นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการเรียนเกี่ยวกับไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้นที่ใช้ในรถยนต์

 

ปี 3 มี mechanical lab หรือแล็บเครื่องกลที่ศึกษาการทดลองพื้นฐานที่เกี่ยวกับกลศาสตร์ของแข็ง และเทอร์โมไดนามิค มีเรียนการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม CAD/CAM/CAE และก็มีการเรียนเรื่อง Product Development Process หรือกระบวนการการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ Engineering Management หรือการจัดการทางวิศวกรรม

 

ปี 4 มีวิชาหลัก ๆ สองตัวคือ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และ การออกแบบรถยนต์ ซึ่งตัววิชาการออกแบบรถยนต์ จะให้นักเรียนได้มีโอกาสจับกลุ่มกันออกแบบรถยนต์ทั้งคัน โดยนักเรียนแต่ละคนจะได้ทำชิ้นส่วนรถยนต์ที่ต่างกันและนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างคือเราได้ทำเกี่ยวกับระบบเบรกของรถยนต์คันนั้น ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะได้ออกแบบระบบส่งกำลังของรถยนต์ หรือโครงสร้างของรถยนต์ แล้วเราก็เอาทุกชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นรถคันนึงโดยประยุกต์ใช้ วิชาที่เรียนตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสาม รวมถึงมีการคำนวณและใช้โปรแกรมการออกแบบชิ้นส่วนซึ่งก็คือโปรแกรมออกแบบสามมิติชื่อ Catia มาออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์
 

ชอบเวิร์กชอป

เราชอบเวิร์กชอปที่สุด ในทุกเวิร์กชอปเราถือว่าเราให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะเราได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เราได้เห็นอะไรจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การจดเลคเชอร์แต่ในห้อง แล้วสิ่งที่เราประทับใจอีกอย่างคือวิชาที่ได้ประดิษฐ์รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยที่อาจารย์ให้โจทย์มาว่า ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เคลื่อนที่ได้โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น รถเข็นคนพิการพลังงานไฟฟ้า
 


การฝึกงานที่ผ่านมา

ตอนปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 นิสิตทุกคนจะต้องไปฝึกงานเป็นระยะเวลา 280 ชั่วโมง ประมาณสองเดือน อย่างเราเองได้มีโอกาสไปเรียนรู้ชีวิตการทำงานที่บริษัท SAIC Motor-CP ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ MG ที่โรงงาน ณ จังหวัดชลบุรี ช่วงแรกของการฝึกงาน ก็มีการทัวร์โรงงานว่าในโรงงานมีแผนกไหนบ้าง ตัวเราเองได้มีโอกาสอยู่ในแผนกประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งเป็นแผนกสุดท้ายที่เรียกได้ว่าเอาชิ้นส่วนของแต่ละแผนกมาประกอบรวมกัน เราก็จะได้เห็นรถยนต์ออกไปวิ่งทดสอบในแผนกของเราที่เป็นแผนกสุดท้ายนั่นเอง

 

จริง ๆ แผนกชิ้นส่วนรถยนต์ก็มีแยกออกไปอีก เช่นการประกอบเครื่องยนต์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ เราได้ดูทั้งฝั่งของการประกอบเครื่องยนต์ภายในและฝั่งของการประกอบชิ้นส่วนข้างนอกทั้งสองแผนก ทำให้เราได้ทำงานจริง ๆ และเรารู้สึกว่าเราได้ประสบการณ์เยอะมาก ๆ จากการไปฝึกงานเพียงสองเดือน
 


คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าศึกษาต่อในสาขานี้

สำหรับน้อง ๆ ที่ชอบรถก็เลยคิดว่าอยากเข้ามาเรียนเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ เราอยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่าแค่การชอบรถยนต์แบบผิวเผิน เราต้องเรียนออกแบบรถยนต์ เรียนการคำนวณต่าง ๆ เราเลยจะชอบแค่รถไม่ได้แต่น้องต้องชอบเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะคณะนี้มีเรียนคำนวณเยอะมาก ถ้าน้อง ๆ หาตัวตนของน้อง ๆ เจอแล้ว แล้วรู้สึกว่าการเรียนเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์เหล่านี้คือความสุขจริง ๆ และพร้อมที่จะทุ่มเทกับมัน พี่ก็ขอเป็นกำลังใจน้อง ๆ นะครับ

 

ตลาดงาน

จบวิศวะจะไปทำงานตรงสายที่เรียนหรือไม่ตรงก็ได้ ถ้าตรงสายก็จะเป็นพวกบริษัทที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะผลิตรถอย่าง toyota honda หรือว่าจะเป็นพวกอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น bosch หรือว่าจะทำงานอยู่ที่โรงงาน คอยดูเรื่องการผลิตก็แล้วแต่คนชอบ เราแนะนำว่าตอนไปฝึกงานให้ไปฝึกที่โรงงาน เพราะเราจะได้รู้ตัวเองเลยว่างาน office หรืองานที่ plant (งานในโรงงาน) เราชอบแบบไหนมากกว่ากัน

 

          เรื่องของการเลือกเรียนรถยนต์เพราะรู้สึกว่าตัวเองชอบรถอาจจะเป็นเพียงเรื่องที่ผิวเผินอย่างที่พี่ไฟว์ว่าจริง ๆ ค่ะ เหมือนกับการที่น้องบางคนอาจจะชอบเล่นเกมส์แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าน้องชอบทำเกมส์หรือผลิตเกมส์นั่นเอง สำหรับน้อง ๆ ที่มั่นใจแล้วว่าเราสามารถที่จะอยู่กับการเรียนวิชาการที่พ่วงติดมากับสิ่งที่เราหลงรักจริง ๆ แล้ว พี่ ๆ อยากให้น้องมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงมือเดินตามความฝันของตัวเอง และน้อง ๆ จะพบว่าความฝันของน้อง ๆ ไม่ได้ยากเกินความสามารถของน้อง ๆ แน่นอนค่ะ

 

ข้อมูลการศึกษาต่อ

สาขาวิชาวิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์ (หลักสูตรนานาชาติ)
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.eng.chula.ac.th

 

รับตรงหลักสูตรนานาชาติ

- รอบ Admissions
- รอบ Early Admissions

รายละเอียดการรับ คลิกที่นี่

 

เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us