KNOWLEDGE

พิสูจน์ “อัญมณีแท้” ใช้แค่เครื่องมือตรวจไม่พอ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ!!

สคช. ประเดิมมาตรฐานวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า หวังยกระดับคนในอาชีพ และระบบการตรวจสอบอัญมณีไทยที่ต้องทำงานคู่กันให้ได้อย่างมืออาชีพ

นายนพดล ปิยะตระภูมิ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) พร้อมด้วยนางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการ สคช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การยกระดับสมรรถนะบุคคลในสาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า” ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดทำมาตรฐานอาชีพคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ อาชีพนักอัญมณีศาสตร์ และอาชีพนักโลหะศาสตร์

เนื่องจากเล็งเห็นว่าไทยซึ่งเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับอันดับต้นๆ ของโลก มีธุรกิจห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการฯ เพื่อควบคุมรูปแบบห้องปฏิบัติการฯ ควบคุมคุณภาพระบบการทำงาน รวมทั้งความสามารถในการทำงานของคนในอาชีพมาก่อน ทั้งที่มีความเสี่ยงเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศหากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพไปถึงมือของผู้บริโภค

ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การยกระดับสมรรถนะบุคคลในสาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า”

นายนพดล ปิยะตระภูมิ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่าระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะคนไทยเป็นผู้ที่มีความสามารถ เก่งหลายด้าน แต่หลายอาชีพยังไม่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เป็นมืออาชีพที่ไร้ตัวตนในสายตาต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับใบรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ สคช.จึงมีหน้าที่เข้ามาเติมเต็มให้กับคนในอาชีพด้วยการจัดทำมาตรฐานอาชีพผ่านผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพที่มาร่วมกันวิเคราะห์ วิจัย กำหนดเป็นมาตรฐานฯ เกิดขึ้น เพื่อเป็นการการันตีความสามารถ ยืนยันความเป็นมืออาชีพให้กับบุคคล สามารถลงสู่สนามตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันกันสูงอยู่ในขณะนี้ได้อย่างมั่นใจ

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT บอกว่าแต่ละปี GIT ได้พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,500 คนต่อปี ทั้งด้านการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและโลหะมีค่า แม้เทคโนโลยีอุปกรณ์ให้ห้องปฏิบัติการจะมีความก้าวล้ำ แต่สุดท้ายยังต้องอาศัยคนซึ่งเป็นผู้วิเคราะห์ประมวลผลอัญมณีเหล่านั้นว่าเป็นของแท้จริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำของผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถกระทั่งนำไปสู่การสรุปและออกใบรับรองคุณภาพสินค้า หากขาดความเชี่ยวชาญอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการซื้อขาย แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานอาชีพมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ สคช. ให้ความสำคัญ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ อาชีพนักอัญมณีศาสตร์ และอาชีพนักโลหะศาสตร์

สำหรับประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก มีมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเป็นอันดับที่ 14 ส่งออกพลอยสีเป็นลำดับที่ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง โดยสินค้าส่งออกสำคัญสูงสุดคือทองคำ รองลงมาคือพลอยเนื้ออ่อน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนตามลำดับ ทำรายได้เข้าประเทศสูงถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท

Related Posts

Send this to a friend