19 ธันวาคม 2423 วันประสูติ "เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย


ประวัติศาสตร์

19 ธ.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
19 ธันวาคม 2423 วันประสูติ "เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย

วันนี้ เมื่อ 143 ปีก่อน เป็นวันประสูติของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423

จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยาม ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก กองทัพเรือจึงได้ถวายพระสมัญญาพระองค์เป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”



“...คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์...”

ความตอนหนึ่งในคำบอกเล่าของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลานปู่” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ขณะที่พระองค์มีพระชันษา 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในด้านการทหารเรือ พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ระบบการปกครองบังคับบัญชาตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือ การแบ่งให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชารองลงมานอกจากนั้น ทรงจัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้น เพื่อให้สำเร็จผู้การศึกษา สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ

ในปี 2443 ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารเรือโดยได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท (เทียบเท่านาวาตรีในปัจจุบัน) พระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกองทัพเรือกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพลอาณัติสัญญาณ ขึ้นเป็นครั้งแรก ทหารเหล่าทัศนสัญญาณ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2443

เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ” ทรงแก้ไข ปรับปรุงการศึกษาระเบียบการในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายวิชาการ ให้รัดกุมทัดเทียมอารยประเทศ

เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้เป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถเสมอด้วยกับนายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทน ในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการอยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแก้ไข ปรับปรุงระเบียบการศึกษาให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรือนั้นไม่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งที่มั่นคงต้องโยกย้ายสถานที่เรียนบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนนายเรือไม่ดีเท่าที่ควร พระองค์จึงทรงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้ก้าวหน้าจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานที่เพื่อตั้งเป็นโรงเรียนนายเรือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่งคงนับแต่นั้น และกองทัพเรือได้ยึดถือเอาวันดังกล่าวของทุกปีเป็นวัน “กองทัพเรือ”

ด้านการดนตรี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง เพลงพระนิพนธ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ทุกเพลง จะมีเนื้อหาปลุกใจ ให้มีความรักชาติ กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ อาทิ เพลงดอกประดู่ เพลงเดินหน้า เพลงดาบของชาติ เป็นต้น ซึ่งเพลงพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านนับว่าเป็นเพลงปลุกใจที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะทหารเรือทุกนายได้ขับร้องเพลงเหล่านี้สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 80 ปี ดังนั้นจึงนับได้ว่าเพลงปลุกใจของพระองค์ จึงเป็นเพลงอมตะของทหารเรือ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นอมตะอยู่ในจิตใจของทหารเรือตลอดเวลา

ในด้านการแพทย์นอกจากพระองค์จะทรงเป็นนักยุทธศาสตร์แล้ว ด้านการแพทย์แผนโบราณ พระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง โดยในขณะที่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงออกจากประจำการชั่วคราว ระหว่างปี 2454 - 2459

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยทรงตั้งชื่อตำรายาเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” ซึ่งสมุดเล่มดังกล่าวปัจจุบันได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือสมุทรปราการ

ช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการ ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า “หมอพร” ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือ และทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้ว ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพล เทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม ต่อมาทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรีปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466

ถึงแม้ว่า พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จะสิ้นพระชนม์มาเป็นระยะเวลานานถึง 100 ปี แล้วก็ตาม แต่พระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพเรือ และประเทศชาติอย่างมหาศาลนั้น

ทำให้กิจการของกองทัพเรือเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ ที่พระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการ ทหารเรือไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงมีสมรรถภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติทางทะเลได้เป็นอย่างดีตลอดมา จนทหารเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมิรู้ลืม จึงพร้อมใจกันถวายสมัญญาพระนามแด่พระองค์ท่านว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันอาภากร”

ที่มา :
ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ
มูลนิธิกรมหลวงชุมพรหาดทรายรี 
ศิลปวัฒนธรรม
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เสด็จเตี่ยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์วันสำคัญวันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ