เปิดจักรวาลผีไทย กับที่มาและเหล่าความเชื่อ


Lifestyle

31 ต.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เปิดจักรวาลผีไทย กับที่มาและเหล่าความเชื่อ

“ผี” ในราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือให้โทษได้ หรืออีกความหมายหนึ่ง คือใช้เรียกคนที่ตายไปแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผี” คือสิ่งลี้ลับที่สร้างความหวาดกลัวให้กับมนุษย์ แถมยังอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน อาจเรียกได้ว่า เป็น “โลกคู่ขนาน” ที่ไม่มีทีท่าจะมาบรรจบ เนื่องจากยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่า “ผีมีจริง 100%” 

แต่ถึงอย่างนั้น หากลงลึกไปเชิงวัฒนธรรม ผู้คนทั่วโลก และทุกดินแดน ต่างมีเรื่องเล่า และเรื่องราวเกี่ยวกับผีทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมืองไทย รากเหง้าความเชื่อต่าง ๆ ในเรื่องผีสางนั้นมีมากมายเหลือเกิน ถึงตรงนี้ เราจึงอยากชวนร่วมเดินทางย้อนรอย “เปิดจักรวาลผีไทย” มีเรื่องราวใดที่น่าสนใจกันบ้าง หายใจลึก ๆ 3 ครั้ง แล้วตามไปอ่านกัน!

“ผี” กับความเชื่อในสังคมไทย มีมาตั้งแต่เมื่อไร ?

ไม่ปรากฏหลักฐานชัดนักว่า สังคมไทยมีความเชื่อเรื่องผี หรือสิ่งลี้ลับมาตั้งแต่เมื่อไร หากแต่ต้นเหตุหนึ่ง เกิดขึ้นจาก “ความกลัว” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อาทิ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟป่า แผ่นดินไหว

เนื่องจากผู้คนไม่มีความรู้มากพอนัก จึงทำให้เกิดการหาทางออกเพื่อสยบความกลัวเหล่านั้น เป็นที่มาของเหล่าบรรดา “ความเชื่อ” และพิธีกรรมต่าง ๆ 

เรื่องราวเหล่านี้ พัฒนาการมาถึงความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย วิญญาณ และผี ยิ่งต่อมาสังคมเกิดการรวมกลุ่มเป็นชุมชน หมู่บ้าน ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งเกิดการกระจายต่อ นานวันเข้า จึงฝังในรากเหง้า และอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย ปรากฏให้เห็นได้ตามประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มักมีเรื่องราววิญญาณ และสิ่งลี้ลับ เหนือธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ


รู้จัก “ผีไทย” แค่ไหน ?

หากเซิร์ชคำว่า “ผีไทย” ในเว็บไซต์ค้นหาชื่อดัง ปรากฏรายชื่อเหล่าบรรดาผีไทยกว่าร้อยชื่อ ไม่นับเรื่องคุณลักษณะแยกแยะว่า เป็นผีที่ให้คุณ  อาทิ ผีบ้านผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีบรรพบุรุษ ฯลฯ หรือเป็นผีที่ให้โทษ (ผีดุร้าย)

แต่หากถามว่า ผีระดับตำนาน ที่คนไทยทุกรุ่น ทุกวัย แทบทุกคนต่างคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามกันดี ต้องยกให้ 5 ผีเหล่านี้

ผีกระสือ

1.ผีกระสือ คือ ผีผู้หญิงที่ถอดหัวได้ ลำตัวเป็นไส้ ชอบกินของสดของคาว เวลาออกหากินมักไปแต่หัวกับไส้ และมีลักษณะเป็นดวงไฟสีแดง ไม่ปรากฏหลักฐานความเชื่อว่าผีกระสือเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่คนโบราณเคยนิยามผีเหล่านี้ว่า ผีลากไส้ ก่อนจะถูกเรียกว่า กระสือ มาจนถึงปัจจุบัน และมักมีข่าวพบเจอผีกระสือตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ล่าสุดที่เป็นข่าวดัง พบผีกระสือในหลายอำเภอในจังหวัดลพบุรี ก่อนจะถูกเฉลยต่อมาว่า เป็นโจรที่สวมหน้ากากเพื่อหวังจะขโมยไก่ของชาวบ้าน

ผีกระหัง

2.ผีกระหัง คือ ผีผู้ชายที่ใช้กระด้งแทนปีก และใช้สากตำข้าวหรือสากกระเบือผูกติดกับขา เพื่อใช้แทนหาง ตกกลางคืนจะบินออกหากินของเน่าของสกปรก ลักษณะเช่นเดียวกับผีกระสือ และไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ผีกระหังเกิดขึ้นเมื่อใด แต่มีความเชื่อกันว่า ผีกระหังมีที่มาจากผู้ที่เล่นไสยศาสตร์ แต่ไม่สามารถควบคุมอาคมได้จนคุณไสยเข้าตัวเอง

ผีปอบ

3.ผีปอบ เป็นผีจำพวกหนึ่ง อยู่ในความเชื่อคนท้องถิ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ลักษณะเป็นผีที่กินของดิบ ๆ สด ๆ โดยที่มาของผีปอบ มักเป็นผู้ที่ชอบเล่นคาถาอาคม หรือคุณไสย แต่รักษาคาถาอาคมที่มีอยู่กับตัวไม่ได้ หรือกระทำผิดข้อห้าม จนต้องกลายเป็นผีปอบ ผีปอบเป็นได้ทั้งหญิงและชาย

ผีเปรต

4.ผีเปรต เป็นผีที่สูงเท่าต้นตาล มีปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบลาน เป็นผีที่สะท้อนความเชื่อในเรื่องการทำบาปทำกรรม โดยเฉพาะการทำบาปกับบุพการี-พ่อแม่ ตายไปจะตกนรก และกลายเป็นผีเปรตที่ทุกข์ทรมาน ร้องขอส่วนบุญเป็นที่น่าเวทนา ซึ่งรากเหง้าทางความเชื่อเรื่องผีเปรตไม่ได้มีแค่เฉพาะเมืองไทย แต่ในวัฒนธรรมของอินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ทิเบต กัมพูชา ลาว และเมียนมา ก็มีความเชื่อของผีตนนี้คล้ายคลึงกัน

ผีตายทั้งกลม ภาพจากภาพยนตร์ นางนาก ปี 2542

5 ผีตายทั้งกลม เป็นอีกหนึ่งผีไทยที่มีทั้งความน่ากลัว และมีเรื่องเล่ามายาวนาน ลักษณะเป็นหญิงที่ตายขณะที่ลูกยังอยู่ในท้อง ทางความเชื่อถือว่าเป็นผีที่มีความเฮี้ยน เนื่องจากเป็นผีตายโหง หรือผีที่ตายขณะที่จิตยังไม่รู้ว่าตัวเองตาย ด้วยความเชื่อในเรื่องความเฮี้ยนและความน่ากลัว จึงมักถูกนำมาสร้างเป็นผลงานหนังและละคร โดยเฉพาะเรื่อง “แม่นากพระโขนง” ผีสาวที่คลอดลูกตายและยังคงรอสามีด้วยความรัก หนึ่งในตำนานการเล่าขานเรื่องผีที่มีมาอย่างยาวนาน

ความเชื่อเรื่อง “ผี” ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี มีอะไรบ้าง ?

นอกจาก “ผีไทย” จะมีคุณลักษณะเฉพาะตัว ความเชื่อในเรื่องของผีแบบไทย ๆ ยังมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผีชาติอื่น ๆ ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ผีไทยมักปรากฏตัวอย่างไร :  4 สัญลักษณ์สำคัญ ที่เชื่อว่า “ผีไทยกำลังจะมา” คือ 1.เสียงหมาหอน 2.ได้กลิ่นควันธูป 3.นกกาบินแตกตื่น 4.เกิดอาการขนลุกซู่อย่างไม่รู้ตัว

ผีไทยมักปรากฏตัวที่ไหน : 4 สถานที่ที่มักจะ “เจอผีไทย” อยู่เป็นประจำ ได้แก่ 1.บ้านร้าง 2.โรงแรมเก่า 3.ศาลข้างทาง 4.ป่าช้า

ผีไทยมักถูกปราบด้วยอะไร : 4 วิธีที่คุ้นเคยในการปราบผีไทย คือ 1.ข้าวสารเสก 2 น้ำมนต์ 3.ผ้ายันต์ 4 บทสวดหรือท่องคาถา

มอง “ผีไทย” ให้ดี นี่คือ Soft Power ที่สร้างจุดขายได้

แม้จะเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” และดูเหมือนจะเป็นเรื่องงมงาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวผีไทย มักไปปรากฏในสังคมหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละคร 

ที่ผ่านมา หนังไทยแนวผีสางยังเป็นหนังแนวหน้าที่ “โกยรายได้” อยู่เสมอ ปัจจุบันหนังผีไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล คือ พ่อมาก...พระโขนง ทำรายได้รวมทั้งประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ต.ค.66) 

ภาพยนตร์ พี่มาก...พระโขนง ภาพจาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

และที่กำลังเป็นกระแสขณะนี้ คือภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ที่ทำรายได้ทะลุ 600 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ต.ค.66) ถือเป็นหนังแนวผีไทยอีกเรื่องที่สร้างความคึกคักให้กับวงการหนังไทยในรอบสิบปีเลยทีเดียว

ภาพยนตร์ สัปเหร่อ ภาพจากเฟซบุก Thibaan Channel

นี่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นรากเหง้า วัฒนธรรม และความเชื่อร่วมกันของสังคมไทย ที่สะท้อนออกสู่ความเป็นสากลได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า “เรื่องผีมีทุกชนชาติ” ดังนั้น เหล่าความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากนำมาผสมผสานเข้ากับมุมมองการสร้างสรรค์ ตลอดจนการผลิตผลงานอย่างมีคุณภาพ 

ทั้งหมดจะเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้าง Soft Power หรือพลังทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การเป็นที่รู้จัก และการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในเวลาต่อมาก็เป็นได้

บทสรุป...กลัวผีเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องอยู่บนความเหมาะสม

“ความกลัว” หรือ Phobia เป็นอาการกลัวตามปกติของมนุษย์ทุกคน เป็นสัญชาตญาณในการปกป้องตัวเองจากอันตรายหรือภัยที่กำลังจะกล้ำกรายเข้ามา ซึ่งอาการ “กลัวผี” ก็เป็นหนึ่งในความกลัวที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ความกลัวผีต้องอยู่ในระดับอันเหมาะสม เพราะหากกลัวมากเกินไป จะเข้าข่ายมีอาการเจ็บป่วยได้ โดยทางการแพทย์ระบุโรคนี้ว่า Phasmophobia หรือ โรคกลัวผี เป็นอาการกลัวผีที่ส่งผลร้ายต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ กลัวความมืดแม้เพียงเล็กน้อย หูแว่ว และทึกทักทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผีไปหมด 

ฉะนั้น หากพบว่ามีความกลัว จงหลีกเลี่ยง เลือกดู เลือกเสพย์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเหตุเป็นผล และใช้สติไตร่ตรองกับเรื่องราวที่ได้ยิน หรือรับฟัง ความกลัวจนน่ากังวลก็จะไม่เกิดขึ้น

สุดท้าย “ผี” มีหรือไม่มี ยังไม่น่ากลัวเท่า “ใจเรา” ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอคติ สุขสันต์วันฮาโลวีน ขอสติจงมีแก่ทุกคน...

อ้างอิง

-"เปิดความสำคัญ “หนังผีไทย” สู่วงการภาพยนตร์โลก" https://www.silpa-mag.com/on-view/article_105818

-"ศรีศักร วัลลิโภดม” ชี้ “ผี” เป็นสถาบันความเชื่อหลักของสังคมไทย ลบให้หายไม่ได้" https://www.silpa-mag.com/culture/article_105176

-"สาระน่ารู้เรื่อง สารพัดผี" หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง www.finearts.go.th/nlttrang 

-"กลัวผีมีสาเหตุ Phasmophobia" เฟซบุก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ www.facebook.com/ChulabhornRoyalAcademy  

-"Phasmophobia อาการกลัวสิ่งลี้ลับ" สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม www.stkc.go.th 

อ่านบทความอื่น ๆ

-นกแสก เป็นนกมรณะจริงหรือ

-เรื่องของชายจอมงก ผู้ไม่เป็นที่ต้อนรับของนรกและสวรรค์

ชมคลิปวิดีโอ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ผีผีไทยหนังผีไทยความเชื่อสิ่งลี้ลับ
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ