ยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไทยในสหรัฐฯ พุ่งจากการกักตุนอาหารช่วงการแพร่ระบาดของโควิค-19

สถาบันประมงแห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ยอดขายอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาจากการกักตุนอาหารของคนที่ทำงานจากที่บ้าน ส่งผลให้สหรัฐฯ นําเข้าอาหารทะเลจากไทยเพิ่มขึ้น 9.15% เป็นมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้การส่งออกกุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแช่แข็งของไทยกระเตื้องขึ้น

ที่ประชุม Global Seafood Marketing Conference ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยสถาบันประมงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้รายงานถึงยอดขายอาหารทะเลในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา โดยพบว่าขยายตัวได้ดีจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนกักตุนอาหารเยอะขึ้น

ในรายงานระบุว่า ยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งมีอัตราเพิ่มขึ้น 35%  มีมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารทะเลสดเพิ่มขึ้น 24.5% มีมูลค่า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อาหารทะเลที่เก็บรักษาได้นาน (shelf-stable) เพิ่มขึ้น 20.3% มีมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาหารทะเลที่จำหน่ายผ่านทาง e-commerce เพิ่มสูงขึ้นสามเท่าตัวหรือมีมูลค่าเกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน กุ้งดิบมียอดขายเพิ่มขึ้น 48% มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กุ้งปรุงแต่งมียอดขายเพิ่มขึ้น25% มูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลาสดเพิ่มขึ้น 22% อาหารทะเลทที่มีเปลือกเพิ่มขึ้น 24.6% และอาหารทะเลอื่นๆ เพิ่มขึ้น 18% อาหารทะเลสดที่จําหน่ายแบบชั่งนน้ำหนักมียอดขายขยายตัวสูงขึ้น 28% หรือมีมูลค่าประมาณ 871 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ กลุ่มอาหารทะเลประเภทเก็บรักษาได้นานที่ขายได้ดี ได้แก่ ปลาทูน่า เพิ่มขึ้นเกือบ 19% มีมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลาแซลมอนเพิ่มขึ้น 30.3% มีมูลค่า 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หอยเพิ่มขึ้น 27% มีมูลค่า 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้บริโภคกลุ่ม Baby Boomers เป็นกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในหมวดอาหารทะเล shelf-stable

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารทะเลแช่แข็งส่วนใหญ่มีรายได้ครัวเรือนมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดขายอาหารทะเลในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 เพิ่มสูงขึ้น 50-90% ด้วยอานิสงส์จากมาตรการทํางานที่บ้านและการทําอาหารรับประทานเองมากขึ้น ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19

สถาบันประมงแห่งชาติสหรัฐฯ เห็นว่า ในอนาคตยอดขายของอาหารทะเลแช่แข็งจะค่อยๆ ลดลงเพราะคนอเมริกันจะได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เริ่มออกนอกบ้านและหันไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายอาหารทะเลทางออนไลน์ยังคงมีการขยายตัว

ในปี 2563 สหรัฐฯ นําเข้าสินค้าอาหารทะเลคิดเป็น 90% ของความต้องการบริโภคตลอดปี โดยมีการนําเข้าอาหารทะเลจากต่างประเทศเป็นมูลค่า 22,450.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงไปจากปีที่ผ่านมา 0.45% สหรัฐฯ มีแหล่งนําเข้าสินค้าอาหารทะเลสําคัญได้แก่ แคนาดา อินเดีย ชิลี อินโดนิเซีย จีน เวียดนาม และไทย

สหรัฐฯ นําเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นมูลค่า 1,349.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.15% ในส่วนของสินค้าอาหารไทยที่สำคัญในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแช่แข็งและอาหารทะเลมูลค่าเพิ่ม

ตามรายงานสถานการณ์ประมงล่าสุดของสหรัฐฯ จัดทําโดยสํานักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่ง ชาติ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (NOAA) พบว่า คนอเมริกันบริโภคอาหารทะเลโดยเฉลี่ยคิดเป็น 16.1 ปอนด์ต่อคน หรือเท่ากับ 7.32 กิโลกรัมในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 0.1% จากปี 2560 กุ้งเป็นอาหารทะเลที่บริโภคมากที่สุด คิดเป็นจํานวน 4.6 ปอนด์ต่อคน หรือเท่ากับ 2.09 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 7.5%

ปลาแซลมอนเป็นอันดับสอง จํานวน 2.55 ปอนด์ต่อคน ลดลง 0.30% และปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับที่ 3 จํานวน 2.1 ปอนด์ต่อคน อาหารทะเลชนิดอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมบริโภคได้แก่ปลานิล ปลาพอลล๊อก ปลาดุก ปลาหมึก เป็นต้น

ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าร้านค้าปลีกระดับชาติของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน และร้านค้าต่าง ๆ ได้กําหนดภาระผูกพันในเรื่องความโปร่งใส (Transparency) การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และความรับผิดชอบในการสืบเสาะหาสินค้า (Responsible Sourcing) ให้เป็นภารกิจของฝ่ายจัดซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งจะส่งผลกระทบมายังผู้ผลิต/ผู้ส่งออกในต่างประเทศ

707 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top