แว่นตาดำกับงานเชื่อม

โดยนาย วัชรพงษ์  มุขเชิด
นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงาน
สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค1
เรียบเรียงโดย แผนกพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ                                                    

งานเชื่อมตามสภาพการทำงานทั่วไป ที่มิได้อยู่ภายในโรงงานอุตสาหกรรม  เช่น งานเชื่อมโครงหลังคา งานเชื่อมโครงสร้างที่ต้องเชื่อมตามสถานที่ปฏิบัติงาน หรือตามร้านเชื่อมเล็กๆ ซึ่งยังคงเห็นช่างเชื่อมส่วนใหญ่ใส่หมวกไหมพรม หรือเสื้อยืดคลุมใบหน้า แล้วก็ใส่แว่นตาดำปฏิบัติงานเชื่อม จากการสอบถามว่าทำไมถึงไม่ใส่หน้ากากเชื่อม คำตอบที่ได้คือ  มันเกะกะ ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน  แต่เมื่อเทียบความเข้มของแว่นตาดำกับกระจกที่ใช้ในการเชื่อมแล้ว มีความเข้มที่แตกต่างกัน สามารถทดลองได้โดย ใส่แว่นตาดำแล้วมองดวงอาทิตย์ที่แสงจ้า กับใช้กระจกที่ใช้ในการเชื่อม  จะพบความแตกต่างในการมองเห็นดวงอาทิตย์ 

ช่างเชื่อม  หรือ หัวหน้าผู้ควบคุม อาจจะไม่รู้ถึงอันตรายจากแสง รังสี ที่เกิดจากการอาร์กที่เกิดขึ้นในการงานเชื่อมได้  จึงต้องนำความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากรังสีเชื่อมมานำเสนอ
การเชื่อมไฟฟ้าและตัดชิ้นงานจะมีรังสีเกิดขึ้น 3 ชนิด ซึ่งจะไม่รวมรังสีจากการเชื่อมเลเซอร์ คือ
1) รังสีอุลตร้าไวโอเลต
2) รังสีอินฟราเรด
3) แสง ซึ่งถือว่าเป็นรังสีอย่างหนึ่งที่มองเห็นได้


รังสีจากการเชื่อมจะส่งผลกระทบกับดวงตาโดยตรง  เพราะการเชื่อมต้องใช้การมองเห็นที่ดี ฉะนั้นคนที่ตาบอดสี ไม่เหมาะที่จะทำการเชื่อม เพราะการเชื่อมบางครั้งต้องใช้เทคนิคในการมองบ่อหลอมละลาย ก่อนทำการเติมลวด หรือ ก่อนการส่ายทับแนว


1) รังสีอุลตร้าไวโอเลต
เป็นรังสีที่มีความเข้มของแสงมากเกินกว่าจะสามารถมองด้วยตาเปล่าได้  ในระยะใกล้ๆ ของผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณทำการเชื่อมได้รับรังสีนี้ โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันรังสีก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บตา การอักเสบ  ตาแดง  อาการเหล่านี้เรียกว่า “Arc eye” (เหมือนทรายเข้าตา) อาการเริ่มปรากฏเมื่อได้รับรังสีไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง แล้วอาการนี้จะหายไปภายใน 12 – 24 ชั่วโมง แล้วแต่ความมากน้อยของรังสีที่ได้รับ และรังสีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อเกิดการสูญเสียน้ำ สำหรับหล่อเลี้ยงอวัยวะในบริเวณนั้น  เช่น   ดวงตา และผิวหนัง  ดังนั้นช่างเชื่อมต้องสวมเครื่องป้องกันใบหน้าแขน คอ และส่วนต่างๆ ของร่างกายมิให้สัมผัสกับรังสีอุลตร้าไวโอเลตความเข้มของรังสี 200 -380 nm

อีกอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับดวงตาได้คือ “ต้อลม-ต้อเนื้อ” หลักฐานทางการแพทย์ระบุว่า น่าจะเกิดจากการที่ตาถูกรังสีอุลตร้าไวโอเลต ในแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เซลล์ของเยื่อเมือกบุตาขาวสร้างสารประเภทโปรตีนและไขมันมากกว่าปกติจนเป็นก้อนเนื้อ หรือแผ่นหนาอยู่ข้างกระจกตาดำ
         
การป้องกันการเกิดต้อลม-ต้อเนื้อ
ควรพยายามหลีกเลี่ยงการถูกรังสีเท่าที่จะทำได้  ควรสวมแว่นกันแดดเมื่อออกกลางแจ้งที่แดดจัด เลนส์ของแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ ควรมีคุณสมบัติ 2 ประการ ดังนี้
1.มีการเคลือบสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองรังสีอุลตร้าไวโอเลต
2.สามารถลดความจ้าของแสงแดดลงได้
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโลหะ ซึ่งได้รับรังสีอุลตร้าไวโอเลตระดับสูงมาก ควรสวมหน้ากากที่มีเลนส์ป้องกันรังสีตลอดเวลาที่ทำการเชื่อม

2). รังสีอินฟราเรด
เป็นรังสีที่ว่าถ้าสะสมเอาไว้ ตาจะเป็นต้อกระจก ถ้าไม่มีวิธีป้องกันรังสีที่ถูกต้องและรัดกุม  สำหรับรังสีอินฟราเรดนี้นับได้ว่ามีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีชนิดอื่น ที่เกิดจากการเชื่อมและตัดโลหะ ความเข้มรังสี 700 - 1,400 nm.

สาเหตุของต้อกระจกจากทางการแพทย์พบว่ามาจาก
- อายุ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ความชราซึ่งทำให้แก้วตาขุ่นตัวและแข็งขึ้น
- อุบัติเหตุ  ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง  โดนของมีคม สารเคมี หรือ แสงรังสี
- โรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน การรับประทานยาบางชนิด
- กรรมพันธุ์และความผิดปกติแต่กำเนิด

อาการของต้อกระจก
- สายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง 
- เห็นภาพซ้อน สายตาเพร่า  และสู้แสงไม่ได้ อาการระยะแรกในบางรายผู้ป่วยจะสายตา  สั้นขึ้นต้องเปลี่ยนแว่น  บ่อย เมื่อต้อกระจกรุนแรง สายตาจะขุ่นมัวจนแว่นตาช่วยอะไรไม่ได้ รูม่านตาที่ปกติเห็นเป็นสีดำจะกลายเป็นสีเหลืองหรือขาว
- “คำเตือน” หากทิ้งไว้จนต้อกระจกแก่เกินไป อาจเกิดโรคต้อหินและโรคม่านตาอักเสบแทรกซ้อน ทำให้ปวดตา ตาแดง และตาบอดได้ในที่สุด

วิธีรักษาต้อกระจก
ในบางกรณี จักษุแพทย์บางท่านอาจใช้ยาหยอดตา  เพื่อชะลอความรุนแรงของต้อกระจก แต่ไม่มียาชนิดใดสามารถลด หรือ หยุดต้อกระจกได้  เมื่อสายตาขุ่นมัวจนเกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติแล้ว  การผ่าตัดหรือการสะลายต้อกระจก  จะเป็นวิธีรักษาที่ช่วยทำให้สายตาของผู้ป่วยใสขึ้นและมองเห็นได้ดังเดิม


3) แสง
เป็นรังสีมองเห็นได้ด้วยตา เมื่อเกิดการอาร์กและไม่ป้องกันตาจะทำให้ตาพร่ามัว และจะทำให้มองไม่เห็นชั่วขนาดหนึ่ง  หรือเรียกว่า ตาบอดชั่วคราว   เนื่องจากในการเชื่อมโดยไม่ใช้หน้ากากเชื่อม หรืออุปกรณ์ป้องกัน แสงจะเป็นตัวบังคับให้ม่านตาบีบให้เล็ก เพื่อไม่ให้แสงเข้าภายในดวงตามาก ดังนั้นเมื่อปฏิบัติการเชื่อมโดยไม่ใช้หน้ากากเชื่อม เมื่อม่านตาต้องบีบให้เล็กเสมอ ทำให้เกิดอาการปวดตา  ตาแดง อีกทั้งทำให้เกิดตาอักเสบได้ ความเข้มแสง 380 - 700 nm. เห็นได้ว่า แสง หรือรังสีที่เกิดขึ้นในขณะทำการเชื่อมนั้นมีอันตรายโดยตรงกับดวงตา  ซึ่งดวงตาเป็นอัยวะอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อดวงตาไม่สามารถมองเห็นได้ตามความสามารถของดวงตา จากคนปกติที่มองเห็นแล้วกลับมองไม่เห็น ซึ่งเกิดจากการกระทำของตนเอง ฉะนั้นช่างเชื่อมที่ยังคงใช้แว่นตากันแดดเชื่อม หรือเชื่อมด้วยตาเปล่าอาศัยหลับตานิดๆ เวลาทำการเชื่อม ก็คงเป็นช่างเชื่อมที่ ไม่รักวิชาชีพตนเอง หรือบางครั้งช่างเชื่อมอาจจะยังไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการเรียนรู้ และเป็นผู้ควบคุมงานของช่างเชื่อม ถ้าเห็นช่างเชื่อมยังปฏิบัติงานเชื่อมอย่างผิดวิธี แล้วยังนิ่งเฉยไม่กล่าวตักเตือน หรือให้คำแนะนำ ก็แสดงว่าหัวหน้า หรือผู้ควบคุมงานนั้นๆ ไม่มีความใส่ใจขาดการเป็นผู้นำดีที่ ถ้าลูกน้องเกิดประสบปัญหาตามที่กล่าวมาในขั้นต้น ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้แล้วดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร แต่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐาน มีช่างเชื่อมที่ผ่านการฝึกอบรม และมีทักษะสูง ในขณะปฏิบัติการเชื่อม ช่างเชื่อมจะป้องกันทั้งร่างกายและสายตา โดยสวมใส่ชุดป้องกันสะเก็ดไฟ และหน้ากากเชื่อมในการปฏิบัติงานเชื่อมเสมอ  รวมถึงในการแข่งขันช่างเชื่อม จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้เข้าแข่งขันมีการแต่งกาย สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ครบถ้วน ทั้งชุดหนังป้องกันสะเก็ด  แว่นตากันสะเก็ด Ear Plug  และหน้ากากเชื่อม ฉะนั้นในการปฏิบัติงานเชื่อม จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันในการเชื่อม ทั้งร่างกาย และดวงตาซึ่งช่างเชื่อมควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  รวมไปถึงผู้ควบคุม หรือหัวหน้างานที่ควบคุมต้องให้ความรู้และคำแนะนำถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในการละเลยข้อปฏิบัติเหล่านี้