ระบบรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ระบบรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ระบบรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          รัฐสภา หมายถึง สถาบันที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมาประเทศไทยมีรัฐสภา 2 ระบบ คือ ระบบสภาเดียว ซึ่งส่วนใหญ่สภาเดียวมักจัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติ รัฐประหารโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ส่วนระบบสองสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรแต่ละฉบับ ดังนี้

 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบบรัฐสภา รัฐสภา
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 สภาเดียว สภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 สภาเดียว สภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 สองสภา พฤฒสภาและสภาผู้แทน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475
แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
สภาเดียว สภาผู้แทนราษฎร
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 สภาเดียว สภาร่างรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทน
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 สภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 สภาเดียว สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 สภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 สภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธคักราช 2534 สองสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สองสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 สภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สองสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 สภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สองสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
 

 


หน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

ด้านการประชุม 
(ตามมาตรา 156) ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน ในกรณีต่อไปนี้ 
1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามมาตรา 17)
2. การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา (ตามมาตรา 19)
3. การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 (ตามมาตรา 20)
4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ (ตามมาตรา 21)
5. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุม (ตามมาตรา 121)
6. การเปิดประชุมรัฐสภา (ตามมาตรา 122)
7. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 132)
8. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ (ตามมาตรา 146)
9. การพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาโดยยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถร้องขอให้สภาพิจารณาต่อไป (ตามมาตรา 147)
10. การเปิดอภิปรายทั่วไป (ตามมาตรา 155 และมาตรา 165)
11. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ตามมาตรา 157)
12. การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน (ตามมาตรา 162)
13. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม (ตามมาตรา 177)
14. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา (ตามมาตรา 178)
15. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 256)
16. กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 

 


ด้านการตรากฎหมาย 
1. การตราร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ (ตามมาตรา 81)
2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 132)
3. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติใหม่และการยืนยันร่างพระราชบัญญัติตามเดิม (ตามมาตรา 146)
4. การให้ความเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอให้พิจารณาบรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไป (ตามมาตรา 147)
5. การอนุมัติพระราชกำหนด โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า (ตามมาตรา 172 วรรคสาม)
6. การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ตามมาตรา 256)
 
ด้านการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร
1. คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ (ตามมาตรา 162)
2. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปก็ได้ (ตามมาตรา 155)
3. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ (ตามมาตรา 165)


 


ด้านการให้ความเห็นชอบ
1. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม (ตามมาตรา 177)
2. การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจ และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง (ตามมาตรา 178)


 


ด้านอื่นหรือกรณีตามบทเฉพาะกาล
1. ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือน (ตามมาตรา 270 วรรคหนึ่ง)
2. ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ตามมาตรา 270 วรรคสอง)
3. ในวาระเริ่มแรกภายในอายุของวุฒิสภา (ตามมาตรา 269) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ (ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3)) ให้กระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวกับ (1) การแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ (2) ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง (ตามมาตรา 271)
4. ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคล
ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ตามมาตรา 272)





ที่มา : เว็บไซต์ หอสมุดรัฐสภา https://library.parliament.go.th/th/node/4174. สืบค้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567
เรียบเรียงโดย : นางสาวสุทธิรา  ชมเจริญ วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
นำข้อมูลเข้าสู่ระบบโดย : นางสาวหวันยิหวา อาดำ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบโดย : https://www.freepik.com