ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า

ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า

ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้นวลจะพาไปสัมผัสกับความงดงามบนผืนผ้าทอไทลื้อที่บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กันครับ จะพาไปสัมผัสความงดงามบนผืนผ้าทอที่บ้านแม่ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ครูศิลปหัตถกรรม และพาไปชม พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ สถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อกันครับ

011

ไทลื้อ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเขตสิบสองพันนา (ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) ชาวไทลื้อได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง ในประเทศไทย ชาวไทลื้อได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และลำปาง

009

การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ไทลื้อ คือ ผ้าซิ่นของผู้หญิงไทลื้อที่เรียกว่า “ซิ่นตา” ซึ่งเป็นผ้าซิ่นที่มี ๒ ตะเข็บมีลักษณะโครงสร้างประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ หัวซิ่นสีแดง ตัวซิ่นลายขวางหลากสีต่อตีนซิ่นสีดำ ความเด่นอยู่ที่ตัวซิ่นซึ่งมีริ้วลายขวางสลับสีสดใส และตรงช่วงกลางมีลวดลายที่ทอด้วยเทคนิค    ขิดจก เกาะหรือล้วง เป็นลายรูปสัตว์ในวรรณคดี ลายพรรณพฤกษา และลายเรขาคณิต เอกลักษณ์การทอผ้าที่สำคัญของกลุ่มชนนี้ คือ การทอผ้าด้วยเทคนิค เกาะหรือล้วง (Tapestry Weaving) หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า “ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่ทำให้เกิดลวดลาย และสีสันที่งดงามแปลกตา และเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างจากผ้าซิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ นอกจากผ้าซิ่นแล้ว ชาวไทลื้อยังทอผ้าชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ผ้าหลบ

010

013

ในปัจจุบันมีชุมชนไทลื้อที่มีความสามารถทอผ้าเกาะล้วง แบ่งได้ ๓ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

๒. กลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

๓. กลุ่มไทลื้อ อำเภอปัว อำเภอทุ่งช้างและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

ขั้นตอนการทอผ้ามีดังนี้

  1. ปลูกฝ้ายในเดือนแปด เดือนเก้า เก็บฝ้ายในเดือนเกี๋ยงถึงเดือนยี่
  2. เก็บเอาฝ้ายมารวมกัน นำมาตาก แล้วเอาสิ่งที่ปนมากับฝ้ายออก
  3. นำมาอีดฝ้าย คือ เอาเมล็ดของฝ้ายออก เหลือเฉพาะยวงฝ้าย
  4. นำยวงฝ้ายมา “ปดฝ้าย” คือ ทำให้ฝ้ายกระจายตัว ในเข้ากันได้ดี
  5. นำมา “ฮำ” คือ พันป็นหางฝ้าย
  6. นำฝ้ายที่ได้มาปั่นด้วยเครื่องปั่นฝ้าย(ทำฝ้ายจากที่เป็นหางให้เป็นเส้นฝ้าย)
  7. นำมา “เป๋ฝ้าย” คือนำเส้นไหมที่ได้จากการปั่นฝ้ายมาทำเป็นต่อง (ไจ)
  8. นำต่องฝ้ายมา “ป้อ”(ทุบ) ฝ้าย แช่น้ำ 2 คืน ต่อมานำมานวดกับน้ำข้าว(ข้าวเจ้า) ผึ่งไว้ให้แห้ง
  9. นำเส้นฝ้ายที่ได้มา “กวักฝ้าย”
  10. นำมา “ฮ้วน” (เดินเส้น) กับหลักเสา
  11. นำไปใส่กี่ แล้วนำไปสืบกับ “ฟืม “
  12. ฝ้ายที่เหลือจากการใส่กี่ นำมาปั่นใส่หลอด แล้วเอาหลอดฝ้ายใส่สวยทอ(กระสวยทอผ้า)

012

เทคนิคการทอผ้าแบบ เกาะ / ล้วง

การทอผ้าเกาะ / ล้วง เป็นรูปแบบการทอผ้าที่นิยมกันในภาคเหนือของประเทศไทย ในกลุ่มไทลื้อ อำเภอเชียงคำ และอำเภอเชียงม่วนจังหวัดพะเยา และอำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย เรียกเทคนิคนี้ว่า เกาะ ส่วนไทลื้อที่จังหวัดน่านเรียกว่า ล้วง

เกาะ เป็นวิธีการทอที่ไม่ได้ใช้เส้นพุ่งสอดจากริมผ้าด้านหนึ่งไปสู่ริมผ้าอีกด้านหนึ่ง ตามวิธีการทอแบบธรรมดาทั่วไป และไม่เพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในเนื้อผ้าเช่นวิธีการจก แต่การทอแบบเกาะ ใช้พุ่งหลาย ๆ สีเป็นช่วง ๆ ทอด้วยวิธีธรรมดาโดยการเกี่ยวและผูกเป็นห่วง  (hook and dove – tail) รอบเส้นยืน ไปเป็นช่วงตามจังหวะลวดลาย เป็นผ้าที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าลายน้ำไหล

ผ้าทอลายน้ำไหล มีชื่อเรียกกันไปตามลักษณะที่ทอ เช่น ลายทางยาวและเป็นคลื่นเหมือนกับบันไดมองดูเหมือนสายน้ำกำลังไหล เรียกลายนี้ว่า ลายน้ำไหล นับเป็นต้นแบบดั้งเดิม ต่อมาหยักของลายน้ำไหลเป็นลายคล้ายจรวดกำลังพุ่ง เรียกกันว่า ลายจรวด เมื่อนำลายน้ำไหลมาต่อกันมีจุดช่องว่างตรงกลางเติมเส้นลายเล็ก ๆ แยกออกรอบตัว มองดูคล้ายดอกไม้ หรือ แมงมุม

ลายอีกแบบหนึ่งที่เอาลายน้ำไหลมาหักมุมให้ทู่แล้วสอดสีด้ายเหลี่ยมกันเป็นชั้น ๆ เรียกลาย เล็บมือ อีกแบบหนึ่งได้นำลายน้ำไหลมาประยุกต์เป็นลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้น ๆ มียอดแหลม เรียกว่า ลายธาตุ ส่วนลายที่ใช้เส้นด้ายหลาย ๆ สี ทอซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เรียกว่า ลายกาบ เป็นต้น

แต่เดิมชาวไทลื้อนิยมทอผ้าลายน้ำไหลโดยใช้ฝ้ายสีสันที่สดใส ทอย้อนสลับกลับไปมาตามจังหวะลวดลาย และนิยมฝ้ายสีขาวทอเกาะเป็นขอบ  คล้ายฟองคลื่นของสายน้ำ แทรกสลับระหว่างช่วงลวดลายในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีสันให้หลากหลาย และมีการใช้เส้นด้ายทำด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง เพื่อเพิ่มความหรูหราแวววาวให้ผืนผ้า

002

หมู่บ้านศรีดอนชัยตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนอยู่ในจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย  ตำบลศรีดอนชัย ในอำเภอเชียงของ หมู่บ้านศรีดอนชัยนี้เป็นหมู่บ้านที่ชนเผ่าไทลื้ออาศัยอยู่ เดิมชาวไทลื้อในหมู่บ้านศรีดอนชัยนั้นมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีนตอนใต้ ต่อมาการทำมาหากินเริ่มฝืดเคืองเพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรลดลง จนมาถึงปีพุทธศักราช 1428 ได้มีการอพยพโดยการนำของพญาแก้วออกจากเมืองอูเหนือไปยังดอยหลักคำที่ตั้งอยู่ในเขต จีน-ลาว อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี ต่อมาในปีพุทธศักราช 2429 ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง(อำเภอเชียงของในปัจจุบัน) ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ทุ่งหมดตำบลสถาน และแยกย้ายกันไปอยู่ที่ต่างๆออกเป็นสามกลุ่ม

028
029

กลุ่มแรก ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยเมี่ยง(บ้านห้วยเม็งในปัจจุบัน) นำโดยพญาหงส์คำ และ  พญาจันต๊ะคาด            

กลุ่มที่สอง กลับไปประเทศลาวไปอยู่ที่บ้านโป่งและบ้านท่าฟ้า นำโดยพญาผัดดี 

กลุ่มที่สาม ไปอยู่ที่บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยายในอำเภอเวียงแก่นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอีกพ่อกำนันเสนา วงศ์ชัย อดีตกำนันม่วงยาย เลยพาลูกบ้านอพยพต่อมาอยู่ทำมาหากินและได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาริมหมู่บ้านศรีชัยมงคล ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ในครั้งแรกเริ่มมีบ้านเพียง 8 หลังคาเรือน ต่อมามีคนอพยพมาจากบ้านก้อนตื่นประเทศลาวมาสมทบ

ในปีพุทธศักราช 2496 ชาวบ้านท่าข้ามจำนวนหนึ่งได้ย้ายจากบ้านไร่ปลายนามาสร้างบ้านอยู่ตามแนวพหลโยธินระหว่างอำเภอเทิง-อำเภอเชียงของและในอีก 5 ปีต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นหมู่บ้านศรีดอนชัยในปัจจุบันนั่นเอง มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายทองดี วงศ์ชัย สาเหตุที่เรียกบ้านศรีดอนชัยเพราะที่ตั้งดังกล่าวเป็นที่ดอนและมีต้นโพธิ์มาก(ภาษาพื้นบ้านเรียกต้นโพธิ์ว่า ต้นสหลี)และเพิ่มความเป็นสิริมงคลด้วยคำว่า“ชัย” จึงรวมกันเป็น “บ้านศรีดอนชัย” นั่นเอง

ชาวไทลื้อในหมู่บ้านศรีดอนชัยมีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาษาไทลื้อที่ใช้สื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อที่ทอเองมีความประณีตและสวยงาม อีกทั้งยังมีการละเล่น ความเชื่อและพิธีกรรมที่แตกต่างกับที่อื่น เช่น พิธีกำบ่อ พิธีสืบชะตา เป็นต้น

026
027

ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน

ครูดอกแก้ว ธีระโคตร

(ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2557)

“ผ้าทอไทลื้อ” จ.เชียงราย

ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ได้สืบทอดและอนุรักษ์การทอผ้าไทลื้อจากแม่วรรณ วงค์ชัย และแม่อุ้ยเลา วงศ์ชัย เริ่มเรียนรู้การทอผ้าจากการสังเกตและแอบทอในช่วงที่แม่ไม่อยู่ การทอผ้าในช่วงแรกจะเป็นผ้าพื้นทั่วไปที่ไม่มีลาย พอทำได้ดีก็ฝึกการทอแบบมีลวดลายของไทลื้อ สมัยก่อนการทอผ้าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่ผู้หญิงชาวไทลื้อ ที่จะทอผ้าไว้สำหรับใช้ในครัวเรือน ครูดอกแก้วเห็นชาวบ้านทอผ้าเพื่อไว้ใช้อยู่แล้ว จึงได้รวมกลุ่มและจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไตลื้อ” ขึ้น เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมจะได้มีรายได้จากการทอผ้า โดยครูดอกแก้วทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้า และการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งความรู้นี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่และยาย

“ผ้าทอไทลื้อ” มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ตัวซิ่นริ้วลายขวางสลับสีสัน และมีลวดลายตรงกลางที่ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วงเป็นลวดลายเรขาคณิต หรือ “ลายน้ำไหล” ลวดลายที่ปรากฎบนผืนผ้าช่างทอจะสร้างสรรค์ลวดลายตามจินตนาการ มีการประยุกต์ลวดลาย สีสัน และรูปแบบผลิตภัณฑ์งานผ้าทอไทลื้อให้มีความหลากหลาย ตามความต้องการและความนิยมของผู้ซื้อ อาทิ ผ้าซิ่น ตุงลื้อ ผ้าฝ้ายปั่นมือ ผ้าปูที่นอน ผ้าสไบ ผ้าห่ม หรือผ้าขาวม้า เป็นต้น

และเมื่อผู้คนนิยมใช้ผ้าทอมากขึ้น ทำให้เกิดการเลียนแบบผ้าทอซึ่งกันและกัน จนลืมลวดลายสีสันและเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ ครูดอกแก้วตระหนักในเรื่องนี้และยังคงรักษาอัตลักษณ์ของผ้าทอไทลื้อตามแบบที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ควบคู่กับปลูกฝังการทอผ้าไทลื้อให้กับเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าไทลื้อ และเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการทอผ้าของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและเผยแพร่องค์ความรู้การทอผ้าไทลื้อให้เป็นที่รู้จักอย่างสม่ำเสมอ และ ในปี พ.ศ. 2544 ครูดอกแก้ว ธีระโคตร ได้รับโล่เกียรติคุณเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนดีเด่น โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “ดนดีศรีเชียงราย” ประจำปี 2551 ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปหัตถกรรม ระดับจังหวัด โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ในปี พ.ศ. 2557

020
021
023

พิพิธภัณฑ์ "ลื้อลายคำ"

ตั้งอยู่บนทางหลวง 1020 หรือ เส้นทางเชียงราย - เชียงของ ในหมู่บ้านศรีดอนชัย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 8.9 กิโลเมตร

มีตัวบ้านที่ทำจากไม้อยู่ 2 หลัง "เฮือน" - "เฮิน" หลังแรกเป็นตัวพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ

ประวัติผ้าทอ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทลื้อ  และหลังที่สองเป็นเหมือนเรือนรับรองที่จัดจำหน่ายผ้าทอไทลื้อ ส่วนด้านล่างเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งบรรยากาศดีมาก ๆ

"เฮือนหลังแรก" พิพิธภัณฑ์

คุณแม่ของคุณสุริยาเล่าว่า เสื้อ และซิ่นบางผืนที่พิพิธภัณฑ์เก่าและมีอายุมาก บางผืนเก่าแก่กว่า 50 ปีก็มี ฟังอย่างนี้แล้วไม่กล้าแม้แต่จะจับเลย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สะท้อนให้เห็นความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามให้ดำรงอยู่สู่รุ่นลูกหลาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อแต่โบราณสืบจนไทลื้อในปัจจุบันที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือของไทย รวมถึงในศรีดอนชัยด้วยเช่นกัน

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า "ลายเกาะ"

ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน

 

อัลบั้มภาพ 31 ภาพ

อัลบั้มภาพ 31 ภาพ ของ ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook