ไขคำตอบตามหลักฟิสิกส์ : “หมัด เท้า เข่า ศอก” ...อาวุธไหนของมวยไทยอันตรายที่สุด?

ไขคำตอบตามหลักฟิสิกส์ : “หมัด เท้า เข่า ศอก” ...อาวุธไหนของมวยไทยอันตรายที่สุด?

ไขคำตอบตามหลักฟิสิกส์ : “หมัด เท้า เข่า ศอก” ...อาวุธไหนของมวยไทยอันตรายที่สุด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“องค์บาก” กลายเป็นภาพยนตร์แอคชั่นสัญชาติไทย ที่สร้างปรากฎการณ์ไปทั่วโลก จากการนำศิลปะการต่อสู้ “มวยไทย” มาใช้แสดงจริง ไม่มีสลิง ไม่มีสตันท์แมน 

ด้วยฉากแอคชั่นสุดตื่นตาตื่นใจ แตกต่างเหมือนหนังแอคชั่นทั่วไปตามฮอลลีวูด เพราะตัวเอกอย่าง “ทิ้ง” แสดงโดย โทนี่ จา (ทัชชกร ยีรัมย์) เลือกใช้เพียงมือเปล่า เท้าเปล่า กับวิชาแม่ไม้มวยไทย ก็สามารถเล่นงาน คู่ต่อสู้ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

ส่งผลให้ องค์บาก กวาดรายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศ (Box Office) มากกว่า 20 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว และความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้ ชาวโลก ได้รู้จักกับ ศาสตร์แห่งอาวุธ ทั้ง 8 (Art of Eight Limbs) 

“ผมเกิดจากการไม่มีอะไรเลยนอกจากกระเป๋าเป้ใบเดียว เดินทางตามล่าความฝันจนถึงทุกวันนี้ ผมกล้าพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า เราได้นำเอกลักษณ์มวยไทย หมัด-เท้า-เข่า-ศอก อย่างละสอง สมองหนึ่ง ไปยืนถึงฮอลลีวูดแล้ว และผมก็มีความภาคภูมิใจมากที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยบนผืนแผ่นจอภาพยนตร์” โทนี่ จา ให้สัมภาษณ์ผ่าน Super บันเทิง

ในปัจจุบัน มวยไทย ได้รับความสนใจและโด่งดังไปทั่วโลก ทุกๆปี จะมีชาวต่างชาติจำนวนมาก ข้ามน้ำ ข้ามทะเล เพื่อมาเรียนรู้ ศาสตร์และศิลปะแห่งมวยไทย ที่งดงามและสุดแสนจะอันตราย รวมถึงต้องใช้การฝึกฝนที่ยาวนานพอ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกาย สอดประสานไปในจังหวะที่ลงตัว 

แต่ผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่า อาวุธมวยไทยทั้ง 8 ได้แก่ “2 หมัด 2 เท้า 2  เข่า 2  ศอก”  อวัยวะส่วนไหนที่อันตรายมากสุด ?  Main Stand จะพาไปไขคำตอบผ่านหลักการฟิสิกส์ (Physics) 

หมัด : อาวุธโจมตีระยะกลาง กับนิยามที่ต่างจากมวยสากล

หมัด เป็นอาวุธมวยไทย ที่ใช้แรงส่งจาก หัวไหล่ สะโพก และ ขา มายังกำปั้น โดยใช้ได้ผลหวังในการโจมตีระยะกลาง 

สำหรับ มวยสากลสมัครเล่น และมวยสากลอาชีพ “หมัด” จัดเป็นอาวุธที่สำคัญมาก เพราะนักชกไม่สามารถใช้ เท้า, เข่า, ศอก ได้อย่าง มวยไทย ดังนั้น นักมวยสากล จำเป็นต้องมีทักษะ ในการใช้หมัดหลากหลายแบบ รวมถึงฟุตเวิร์กที่ดี เพื่อสร้างจังหวะ และเคลื่อนไหว หลบหลีกอาวุธของคู่ชก

หากเทียบความอันตราย ด้วยการใช้หมัด กับอาวุธอื่นๆของมวยไทย ต้องยอมรับทว่า หมัด ไม่ได้รุนแรงเท่า ศอก เข่า เท้า 

ประการแรก หมัด ต้องอาศัยกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก น้ำหนักความแรง จึงอาจไม่เทียบเท่ากับส่วนอื่น  

ในขณะเดียวกัน นักชกมวยไทย มักเน้นโจมตีทั้งระยะไกล (ภาษามวยเรียกว่า วงนอก) ด้วยการเตะและถีบ กับ การโจมตีในระยะใกล้ (ภาษามวยเรียกว่า วงใน) ด้วยการใช้เข่าและศอก รวมถึงการกอดคอ ไล่แขน เพื่อชิงเหลี่ยมกันมากกว่าจะยืนแลกหมัดแบบมวยสากล ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นมวยหมัดหนักจริงๆ ส่วนมากจะใช้หมัด ไว้เพื่อทำลายจังหวะคู่แข่ง

นอกจากนี้ การออกหมัดมากๆ ในมวยไทยอาชีพบ้านเรา ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่น ของเซียนมวย และทิศทางราคาบนล็อกพนัน ที่ผลการแพ้ชนะการชกมวยอาชีพของไทย ไม่ได้ตัดสินใจกันที่ว่า ใครปล่อยหมัดเยอะกว่ากันชนะ

แต่ดูกันว่าใครทรงดี และทำให้คู่แข่งเสียทรงมวยได้มากกว่า ดังนั้นอาวุธอย่าง ศอก เข่า และเท้า จึงตอบโจทย์ผลแพ้ชนะบนเวที มากกว่า หมัด

“บางครั้งการใช้หมัดก็ถูกนับเป็นอาวุธสารภาพว่ายอมแล้ว ยิ่งถ้าคุณไม่ใช่มวยหมัด แต่อยู่ดีๆ คุณออกมาหมัดเยอะๆ ในสถานการณ์ที่ราคาคุณเป็นรอง มันอาจทำให้ราคานั้นไหลไปไกลกว่าเดิม ” หมูหวาน เพชรยินดีอคาเดมี อดีตแชมป์มวยไทย S1 รุ่นเฮฟวีเวท ที่ปัจจุบันทำงานเป็น เทรนเนอร์นักมวย กล่าวกับ Main Stand 

อย่างไรก็ดี ใช่ว่า หมัด จะเป็นอาวุธที่ไม่มีประสิทธิภาพในมวยไทยเสมอไป เพราะนักมวยไทยบางคนก็เอาชนะคู่ชกได้ ด้วยการชกที่หนักหน่วง จนคู่ต่อสู้เสียอาการ หรืออย่าง กำปั้นบางคนใช้หมัดได้ดี สมัยชกมวยไทย จนถูกดึงตัวไปชกมวยสากลสมัครเล่นกับทีมชาติไทย, มวยสากลอาชีพ อาทิ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์, เขาทราย แกแล็คซี่, ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ฯลฯ

โดยการปล่อยหมัด ที่ทำน้ำหนักได้ดีสุด คือ การใช้ “หมัดตรงหมัดหลัง” ที่นักมวยจะใช้การบิดไหล่ข้างถนัด โน้มไปข้างหลังเล็กน้อย เพื่อทำให้เกิดแรงส่งจากสะโพก ลำตัว หัวไหล่ ที่มากกว่าหมัดตรงธรรมดา ออกไปยังเป้าหมาย แล้วดึงหมัดกลับมาในท่าจดมวยเดิม ซึ่งจะได้ผลดีมาก หากทำได้อย่างต่อเนื่อง 

เช่นเดียวกับ การปล่อยหมัดแบบเสยขึ้น หรือหมัดอัปเปอร์คัด หากเข้าบริเวณคาง ก็มีโอกาสที่คู่ต่อสู้จะเกิดอาการมึน ไปจนถึงขั้นน็อคเอาท์ 


เข่า : อาวุธวงในแห่งชัยชนะ 

หากหมัดเป็นอาวุธที่เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ยาก ตามรูปแบบการตัดสินของ มวยไทยอาชีพบ้านเรา “เข่า” ก็ดูจะเป็นอะไรที่อยู่ตรงข้ามกัน เพราะนี่คืออาวุธแห่งชัยชนะโดยแท้จริง 

ตามหลักฟิสิกส์ เข่า เป็นอาวุธมวยไทย ที่มีความหนักหน่วง เนื่องจากเป็นการใช้แรงส่งจากสะโพก โดยใช้ส่วนของหัวเข่าด้านหน้า หรือด้านข้างหัวเข่า ที่เป็นมุมและแข็งแรง เข้าปะทะในส่วนนิ่มของร่างกาย เช่น ต้นขา ท้อง ชายโครง ลำตัว หน้าอก หรือแม้แต่ปลายคาง

แม้ว่าการตีเข่า จะสามารถทำได้ในระยะกลาง ด้วยท่าเข่าลอย แต่ในชก ท่าดังกล่าวไม่นิยมถูกนำมาใช้ ในปัจจุบันนัก เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดได้สูง และเสียทรงมวยไป (ซึ่งสำคัญต่อราคาต่อรองของการพนัน) ดังนั้นลักษณะของการตีเข่าในมวยไทยอาชีพ ยุคนี้ จึงเน้น นักมวยเข่า ที่ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหาเพื่อเข้าไปคลุกวงใน โจมตีระยะประชิดตัว ผ่านกอดลำตัว รัดคอ ปล้ำ เหนี่ยวรั้งให้ลำตัวของคู่ต่อสู้ โน้มลงมา ในจังหวะที่ตนเอง งอเข่าให้เป็นมุมแหลม พุ่งเข้าปะทะบริเวณลิ้นปี่ ท้องน้อย หรือหน้าขา 

การตีเข่าแบบเข่าโหน จึงคล้ายกับหลักการของคานงัด ที่อาศัยแรงปะทะจาก 2 ส่วน คือ แรงจากการดึงคู่ต่อสู้ลงมา อัดกับแรงที่ยกเข่าสวนเข้าไป ซึ่งแรงในลักษณะนี้ มีมากน้ำหนักมากพอที่สามารถยกรถยนต์ได้เลย 

ดังนั้นการตีเข่าได้ดี จึงสัมพันธ์การยืน การรักษาบาลานซ์ร่างกาย เริ่มตั้งแต่การไล่แขน การกอดคอ ถ้าฝ่ายโจมตี จัดระเบียบร่างกายได้ไม่ดีพอ ก็มีโอกาสที่ถูกฝ่ายรับใช้ความแข็งแกร่ง และบาลานซ์ที่ดีกว่า พลิกกลับมาเป็นฝ่ายตีเข่าใส่ได้ 

และในยุคหลัง เข่า กลายเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางราคาต่อรอง รวมถึงมีผลต่อการตัดสินของกรรมการ ที่ดูว่านักมวยคนไหนทำได้ดีกว่ากัน จากการออกอาวุธวงใน นักมวยไทยส่วนมาก จึงถูกฝึกมาให้ตีเข่าแข็งแรง เพื่อหวังชัยชนะ ทั้ง ในสนาม และนอกสนาม 

“เซียนมวยมีผลมากนะ ถือเป็นแรงกดดันของนักมวย ดูได้จากวิธีการชกในอดีตกับปัจจุบัน เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเรามีนักมวยหมัดหนักเต็มไปหมด ใส่กันตั้งแต่ยกแรก แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ทุกคนหันไปโฟกัสเรื่องการตีเข่าให้แข็งแรง สองยกแรกยังไม่ทำอะไรเลย จ้องกันไปจ้องกันมา เพราะต้องคุมแรงไว้ใส่ยก 4-5 เพื่อหวังผลชนะการพนันบนล็อก” เสี่ยโบ้ท - ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์เวทีมวยราชดำเนิน กล่าว 

ถึงแม้ว่า การตีเข่า จะดูเป็นอาวุธที่มีความหนักตามฟิสิกส์ จากแรงปะทะ 2 ทิศทาง และเหลี่ยมของเข่าที่กระแทกเข้าไปในส่วนลำตัวร่างกาย แต่ในความเห็นของ “เมสซี่ แป๋งกองกราบ” นักชกสไตล์มวยเข่า ดีกรีแชมป์ประเทศไทย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 126 ปอนด์ 

เขากลับมองว่า เข่าไม่ใช่อาวุธที่อันตรายสุด เพราะร่างกายของนักมวยไทย ถูกฝึกฝนให้ กล้ามเนื้อมีความทนทาน พร้อมรับแรงกระแทกจากเข่าอยู่แล้ว


“การแทงเข่าดูน่ากลัวจริง แต่ผมคิดว่าส่วนใหญ่ นักมวยจะสามารถทนได้อยู่แล้ว เพราะเราถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กว่าต้องแก้ทางอย่างไร ฝึกแบบไหนให้หน้าท้องแข็งแรง ร่างกายของเราถูกฝึกเพื่อสามารถรับน้ำหนักอายุเหล่านี้ ผมคิดว่า ศอก กับ เท้า น่าจะหนักกว่าเข่า เพราะมันสามารถเข้าจุดสำคัญที่ทำให้เราน็อก หรีอมึนได้” 

มีคำกล่าวหนึ่งของมวยไทยที่ว่า “มวยฝีมือแพ้มวยเข่า มวยเข่าแพ้มวยหมัด มวยหมัดแพ้มวยฝีมือ” วนเวียนอยู่อย่างนี้

สาเหตุที่เป็น อาจเป็นเพราะว่า มวยฝีมือ เป็นสไตล์ที่ต้องการใช้พื้นที่โจมตีระยะกลางและไม่ไกล ไม่ชอบเล่นวงใน อาศัยการตั้งรับ ป้องกัน โดยใช้ ดักต่อย ดักเตะที่แม่นยำ หากเจอมวยเข่าชวนเล่นวงในเยอะๆ ก็อาจจะไม่สามารถออกอาวุธได้ถนัดถนี่เยอะนัก ขณะที่ปริมาณของ มวยหมัดหนัก ในแวดวงมวยไทยอาชีพ ก็เริ่มลดลง 

ทำให้ยุคนี้ มวยที่มีโอกาสชนะเยอะจึงเป็น มวยเข่า แม้ไม่ใช่อาวุธที่อันตรายสุดก็ตาม ถึงขั้นทำให้น็อคเอาท์ เว้นเสียแต่แทงเข้าจุดสำคัญที่ทำให้จุกเสียด ในจังหวะที่คู่ต่อสู้ไม่ได้เกร็งท้อง หรือเป็นจอมเสียบเข่า ที่ชำนาญเรื่องการใช้เข่าจริงๆ

เท้า : อาวุธโจมตีระยะไกล ที่สามารถเปลี่ยน “แข้งคน” ให้แรงเท่าท่อนไม้ 

เท้า เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการชกมวยไทย ทั้งในจังหวะรุก และรับ แถมยังมีพลังมากพอที่จะส่งให้ คู่ต่อสู้ น็อกเอาท์ได้ในชั่วพริบตา ด้วยการเตะเพียงครั้งเดียวเข้าที่ก้านคอ

หากอธิบายตามหลักฟิสิกส์ อาวุธเท้าในมวยไทย มีความแรงของการเตะมาจาก ทอร์ค (Torque) ซึ่งเกิดจากแรงขาและการหมุนของสะโพก และเมื่อแรงที่ออกจากขา เดินทางมาด้วยระยะไกล ตั้งแต่จังหวะบิดตัวยก ง้างเท้าขึ้นมาจา่กพื้น แรงนั้นจะถูกเปลียนเป็น พลังงานจลน์ ทำให้มีอัตราความเร็วที่สูง 

ยิ่งโดยเฉพาะการเตะเข้าที่ก้านคอ ถือว่าเป็นจุดสำคัญ ที่สามารถน็อกคู่ต่อสู้ได้ทันที เนื่องจากบริเวณของต้นคอ เป็นศูนย์รวมระบบประสาทที่เป็นส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย กระดูกสันหลังส่วนคอ, ไขสันหลัง และ หลอดเลือดใหญ่ที่ลำเรียงเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง หากถูกกระแทกอย่างแรงแบบฉับพลัน สมองจะถูกชัตดาวน์ชั่วคราว จนสลบไป

ยิ่งถ้าการเตะก้านคอนั้น ไม่ได้ใช้ส่วนเท้า แต่เป็นการโยนแข้งขึ้นไปกระแทกคอ จะมีความน้ำหนักและความรุนแรง เปรียบเหมือนถูกท่อนไม้ตีเข้าบริเวณต้นคอ แม้นักมวยจะมีการฟิตกล้ามเนื้อต้นคออย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ มีความยืดหยุ่น แข็งแรง ก็คงยากที่ต้านทานแรงกระแทกนี้ได้ หากโดนจังๆ 

ซึ่ง เท้า สามารถใช้เป็นโจมตีได้หลากแบบ นอกเหนือจากเตะก้านคอ ยังใช้เตะตัด เตะเฉียง การถีบ ดังนั้นการเตะที่ดี จึงต้องอาศัยจังหวะ ความเร็ว การทรงตัว การเคลื่อนที่ที่ดี เพราะหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป การเตะนั้นจะไม่สมบูรณ์ 


และอาจหมายถึงการถูกแก้ทาง และทำให้นักมวยคนนั้น ได้รับบาดเจ็บ มากกว่าฝ่ายที่ถูกการกระทำ หรือเป็นตัวเองที่เสียหลัก ล้มไป 

“ถ้าอธิบายตามวิทยาศาสตร์ การที่เด็กไทยฝึกมวยมาตั้งแต่เด็ก จะทำให้กระดูกตรงหัวเข่าเกิดการคลื่อนไหวบ่อย แคลเซียมก็จะแตกต่างไปตามส่วนต่างๆ ส่งผลให้หน้าแข้งนักมวยไทย มีความแข็งแรง ทนต่ออาการบาดเจ็บได้ อย่างบางครั้งถ้าเตะมาโดนแข้งอีกฝ่ายที่บล็อก ฝ่ายที่เตะ เจ็บมากกว่าคนโดนนะ” พีรภัทร์ ศิริเรือง นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ดูแลนักมวยให้ค่าย เพชรยินดี กล่าว 

ศอก : อาวุธโจมตีที่ใช้พื้นที่น้อย แต่อันตรายมากสุด 

จากข้อมูลที่ศึกษา และความเห็นจากแหล่งข่าว ทุกคนต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ศอก” คือ อาวุธที่อันตรายมากสุดของมวยไทย 

แม้ว่าหมัดและศอกจะอยู่ในแขนของมนุษย์เหมือนกัน แต่อาวุธศอก มีพื้นผิวสัมผัสที่น้อยกว่าหมัด แถมยังเป็นส่วนที่แหลมคม และมีความแข็งของกระดูก 

มีการทดลองออกมาว่า หมัด และ ศอก หากใช้ในแรงที่เท่ากัน พบว่า หมัด ใช้พื้นที่มากกว่า จึงทำให้เกิดค่าความดันที่น้อย ขณะที่ศอก ใช้มุมองศา และพื้นที่การตีน้อย รวดเร็วกว่า จึงเกิดค่าความดันที่มาก 

เมื่อแรงจากปลายศอก ส่งเข้าไปกระทบผิวหนังใบหน้า ความดันนั้นจะมีค่าที่สูงมาก ส่งผลให้เกิดแผลแตกได้ง่าย และทำให้สมองมึนงง ไปจนถึงขั้นสลบได้เลย 

หรือหากมีการศอกตี ตัด งัด เข้าไปจุดอันตราย เช่น ปลายคาง, ทัดดอกไม้ (ส่วนที่บางสุดของกะโหลก) ก็สามารถทำให้ชนะน็อคเอาท์ได้เหมือนกัน 

“บริเวณปลายคาง เป็นจุดที่อันตรายมาก เพราะมีโอกาสที่แรงเหวี่ยงของศีรษะที่ถูกกระแทกจะช่วยเพิ่มความรุนแรงจนกระดูกสันหลังที่ห่อหุ้มก้านสมองแตกและเคลื่อนได้ หรือส่วนช่วงของขมับศีรษะหรือทัดดอกไม้เนื่องจากเป็นช่วงบริเวณกะโหลกศีรษะที่มีความหนาน้อยที่สุด เวลาที่มีการกระทบจึงมีโอกาสที่ได้รับแรงกระแทกเต็มที่” นายแพทย์ ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าว

นอกจากนี้ ศอก ยังเป็นอาวุธที่ทำให้เกิดแผลบริเวณใบหน้าได้ง่ายกว่าอาวุธทุกชนิด ยิ่งถ้าเป็นแผลแตกเหนือเบ้าตา จะส่งผลต่อการมองเห็นนักมวย 

ถึงแม้ศอกจะเต็มไปด้วยข้อดี และความรุนแรงเหนืออาวุธ  แต่การใช้ศอกให้ได้ประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะศอก ใช้ได้แค่ในระยะประชิดตัว ภายใต้เงื่อนไขที่ จังหวะ ความเร็ว ความแม่นยำ ทุกอย่างต้องลงตัว และมีโอกาสศอกผิดพลาดสูง จนถูกโต้กลับด้วยอาวุธอื่นของคู่ชก 

 โดยเฉพาะ จังหวะศอกกลับ ที่สุดอันตราย สามารถพลิกผลการแข่งขัน ของนักชกที่ราคาตามหลัง ให้กลับมาชนะได้ทันที แต่ก็เป็นจังหวะที่ทำได้ยากมาก และต้องได้จังหวะจริงๆ ดังนั้นการใช้ศอก จะแม้ได้ผลที่ดี แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงเหมือนกัน

“ศอกเป็นอาวุธที่หนักสุดแล้วเพราะมันเป็นส่วนที่แหลม ถ้าโดนคิ้วแตก ก็ส่งผลต่อการมองเห็น เพราะเลือกเข้าตา มองอะไรก็จะฟ่าๆ เห็นเป็นสีแดง ชกได้ยากลำบาก” เมสซี่ แป๋งกองปราบ กล่าว


ขณะที่ในมุมมองของ หมูหวาน เพชรยินดีอคาเดมี เทรนเนอร์ค่ายเพชรยินดี  กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ศอก คือ อาวุธมวยไทยที่อันตรายมากสุด และจากประสบการณ์ที่เคยได้ฝึกสอนนักชกต่างชาติ ทุกคนที่มาเรียนล้วนต้องการที่มาเรียนรู้การใช้ศอก เพราะพวกเขามองเห็นว่า นี่คืออาวุธอันตราย แต่ทำได้ยากมาก 

“ฝรั่งเขากลัวศอกคนไทย อย่างการต่อย การเตะ เขาสามารถทำได้อยู่แล้ว พอมีพื้นฐาน แต่การใช้ศอกมันเป็นเรื่องของเหลี่ยมมวย ที่นักมวยไทยเป็น แต่ฝรั่งเขาไม่เป็น เพราะไม่ได้ถูกฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เวลาสอนชาวต่างชาติ สิ่งแรกที่เขาเรียกร้อง และอยากฝึกมากก็คือ การใช้ศอก”

“การได้มาฝึกสอนวิชามวยไทย แก่ชาวต่างชาติ ก็เปิดมุมมองใหม่ๆให้ผมเหมือนกันนะ อย่างในบ้านเรา การแพ้ชนะยังมีแรงกดดันมาจากบนล็อก เราจึงเห็นว่า นักมวยไทยยุคใหม่ไม่ค่อยใช้หมัด เน้นแทงเข่า ฟันศอก แต่เมืองนอกเขาเรียนศอก เพื่อต้องการทำให้เป็น แต่เขาไม่มีเรื่องการพนัน”

“เวลาเขามองอาวุธทั้ง 8 เขาก็มองว่ามันคืออาวุธ ใช้ ศอก ใช้เข่า ใช้หมัด คะแนนขึ้นเท่ากัน คนเลยกล้าออกอาวุธกัน ในความคิดผม ผมว่าจะอาวุธไหนมันสำคัญทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การฝึกฝน และเลือกใช้บนเวทีของนักมวย ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook