รู้จัก “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์บรรจุบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทย

รู้จัก “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์บรรจุบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทย

รู้จัก “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์บรรจุบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าคนไทยหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของเหตุการณ์ “6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาเข้าปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน แม้ว่าภาพความโหดร้ายจะเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่กลับไม่มีการจับกุมผู้ก่อความรุนแรงแม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกัน ฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิต จำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้น ก่อนที่ส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัว ส่วนผู้ที่ตกเป็นจำเลย 19 คน ถูกคุมขังอยู่นานถึง 2 ปี กว่าจะเป็นอิสระ

Gettyimages
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานถึง 40 ปี เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ยังคงคลุมเครือในสายตาของประชาชนทั่วไป แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์แทบไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ภาพชายถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้กลายเป็นภาพข่าวที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่กลับไม่มีใครตั้งคำถามว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร และผู้ที่ถือเก้าอี้ฟาดเป็นใคร เหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น ที่ร้ายกว่านั้นคือบางคนยังจำวันที่ผิดเป็น 16 ตุลาคม!


รศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ หัวหน้าโครงการบันทึก 6 ตุลารศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ หัวหน้าโครงการบันทึก 6 ตุลา

เพราะช่องทางการเข้าถึงข้อมูลอันจำกัดย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้บทเรียนในประวัติศาสตร์ รศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัย จึงร่วมมือกันจัดตั้งเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” (Documentation of Oct 6) เพื่อเป็น “หอจดหมายเหตุออนไลน์” สำหรับเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในยุคที่ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อีกต่อไป และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำรอย ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันครบรอบเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของโครงการบันทึก 6 ตุลา เกิดขึ้นจากบทสนทนาของคณะผู้จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งรวมถึงอาจารย์พวงทอง และศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในช่วงที่กำลังเตรียมงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนครั้งนั้น ทำให้คณะผู้จัดงานพบว่ายังมีข้อมูลที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์

อ. พวงทอง: จากไฟล์ชันสูตรพลิกศพของตำรวจ เรารู้ว่ามีประชาชนและนักศึกษาเสียชีวิต 41 คน แต่ในจำนวนนี้ หลายคนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเพราะระบุตัวตนไม่ได้ เช่น มีอยู่ 4 คนที่ไม่ระบุชื่อ แล้วก็คนที่ถูกเผา 4 คน ก็ถูกเผาจนเหลือแต่กระดูก แล้วก็คนที่ถูกแขวนคอ ซึ่งเราเคยเข้าใจว่ามีคนเดียว แต่หลังจากที่เราพยายามค้นหาข้อมูล ก็สรุปได้ว่ามีคนที่ถูกแขวนคออย่างน้อย 5 คน แต่ใน 5 คนนั้น 2 ใน 3 นั้นมีรูปถ่ายชัดเจน ซึ่งถ่ายโดยนีล อูเลวิค ช่างภาพของ AP และ 1 ใน 2 ภาพนั้นได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ที่เห็นกันทั่วโลก แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าเขาคือใคร ทำให้เราเห็นว่ามันมีจุดบอดซึ่งควรจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ 6 ตุลา อาจารย์ธงชัยก็คิดว่าเราควรจะตั้งแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลาขึ้นมา แล้วก็สืบค้น ตามหาประวัติของผู้เสียชีวิตให้มากยิ่งขึ้น

มันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก ที่เวลาเราจัดงานรำลึกผู้เสียชีวิต แต่เราพบว่าเรารู้เกี่ยวกับพวกเขาน้อยมาก”

ในความคิดของคนทั่วไป เหตุการณ์ 6 ตุลา ถือเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย การย้อนกลับไปขุดคุ้ยจึงเหมือนเป็นการ “กรีดแผล” ที่ดูเหมือนจะไม่ได้อะไรนอกจากความเจ็บปวดซ้ำสอง แต่อาจารย์พวงทองกลับไม่คิดเช่นนั้น

โครงการบันทึก 6 ตุลา

อ. พวงทอง: เราต้องการให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต เราเชื่อกันว่าคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกทำให้เสียชีวิตอย่างทารุณโหดเหี้ยมมาก แล้วคนที่กระทำกับเขาในขณะนั้น มองว่าพวกเขาไม่ใช่คน เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่คนไทย ฉะนั้นก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงที่ผิดมนุษย์กับคนเหล่านั้น ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเขา ความรุนแรงของรัฐ ของมวลชนฝ่ายขวา ความเกลียดชังที่โหมกระหน่ำในช่วง 3 ปี ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เราก็ต้องการที่จะทำให้สังคมตระหนักถึงศักยภาพของสังคมไทยที่สามารถใช้ความรุนแรงกับเพื่อนร่วมสังคมได้

มันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก ที่เวลาเราจัดงานรำลึกผู้เสียชีวิต แต่เรากลับพบว่าเรารู้เกี่ยวกับพวกเขาน้อยมาก ในขณะที่เมื่อเรารำลึกถึงวีรชน เราจะต้องรู้เกี่ยวกับพวกเขาว่าเขาเป็นใคร เห็นหน้าตา รู้ประวัติก่อนที่เขาจะเสียชีวิต แต่เรากลับพบว่าเราพูดถึงพวกเขาน้อยเกินไปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อย่างเวลาจัดงาน 6 ตุลา ในหลายปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีรูปของพวกเขาเลย

 โครงการบันทึก 6 ตุลา

นอกจากนี้ เวลาที่เรามองสาเหตุการตายของพวกเขา เราเห็นถึงการถูกทำลายความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด การพยายามสืบค้นว่าพวกเขาเป็นใคร ชีวิตของพวกเขาก่อนที่จะสูญเสียไป มันมีความหวัง มันมีอนาคตอะไรบ้าง เขาเป็นที่รักของใครบ้าง มันก็คือการแสดงความเคารพในชีวิตของพวกเขา มันคือการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา ฉะนั้น ภารกิจอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ เราพยายามติดตามหาญาติ ซึ่งหลายครอบครัวที่เราติดตามได้ก็บอกว่าไม่เคยมีใครติดต่อเขาเลยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เขาก็ดีใจที่มีคนไปให้คุณค่ากับสมาชิกในครอบครัวของเขาที่สูญเสียไป

“ยังมีเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึง และเราสามารถพูดถึงได้ โดยเฉพาะการพูดโดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในสังคมตระหนักได้ว่าเราให้คุณค่าของชีวิตเพื่อนร่วมสังคมน้อยเกินไป”

และนอกจากการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาจารย์พวงทองริเริ่มโครงการนี้คือความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ยังถือว่ามีน้อยมาก และไม่สามารถพูดถึงประเด็นนี้ได้มากเท่าที่ควร

อ. พวงทอง: ถ้าพูดถึงสังคมไทยโดยรวม ดิฉันคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เกิน 90% ไม่รู้เกี่ยวกับ 6 ตุลาเลย เพราะเรื่องนี้ไม่ปรากฏในสื่อมวลชนกระแสหลัก แทบจะไม่มีในตำราเรียนเลย ถูกพูดถึงแบบสั้นมากแล้วก็ไม่อธิบายความเป็นมาว่าคืออะไร อย่างนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เราสอนก็ยังไม่รู้ว่า 6 ตุลาคืออะไร รู้อย่างมากคือมันมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าใจที่มาที่ไปของมัน

เวลาที่เราพูดถึงเรื่อง 6 ตุลา มันมีเพดานการพูดที่ค่อนข้างต่ำ เช่น เราไม่สามารถพูดได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง 6 ตุลาบ้าง และทุกคนก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว มันก็พูดได้กว้างๆ ว่าเป็นการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักว่ามันยังมีเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึง และเราสามารถพูดถึงได้ โดยเฉพาะการพูดโดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในสังคมตระหนักได้ว่าเราให้คุณค่าของชีวิตเพื่อนร่วมสังคมน้อยเกินไป เช่น การสืบค้นว่าคนที่ถูกแขวนคอ 5 คนนั้นเป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นกับเขาในวันนั้น

 โครงการบันทึก 6 ตุลา

เราอยากเจอคนที่เป็นมวลชนระดับธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในวันนั้น เช่น ผู้ชายในรูปที่ถือเก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ ซึ่งเขาอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่า 1 จุด ทั้งการแขวนคอของคน 2 คน และภาพการเผาคน 4 คน เราก็อยากจะรู้ว่าเขาเป็นใคร และทำไมเขาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เขาทำเองหรือว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวาในขณะนั้น หรือใครสั่งเขามา ถ้าเราเจอเขา เราอาจจะได้ภาพความรุนแรงวันนั้นชัดเจนขึ้น

คุณภัทรภร ภู่ทองคุณภัทรภร ภู่ทอง

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานนี้ อาจารย์พวงทองไม่ได้ปฏิบัติการแค่คนเดียว แต่ยังมีผู้ช่วยอย่างคุณภัทรภร ภู่ทอง เจ้าของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ความทรงจำ” (Silenced Memories) ว่าด้วยการติดตามสัมภาษณ์พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2 คน ได้แก่ พ่อของคุณจารุพงศ์ ทองสิน และแม่ของคุณมนู วิทยาพร ซึ่งเดินทางมาร่วมงานครบรอบ 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ทุกปี โดยคุณภัทรภรได้พบกับอาจารย์พวงทองในงานครบรอบ 40 ปี และกลายเป็นหนึ่งในทีมงาน รับหน้าที่ผลิตสารคดีเรื่องแรกของโครงการคือ “ด้วยความนับถือ” (Respectfully Yours) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมงานตัดสินใจเรียบเรียงเรื่องราวจากการสัมภาษณ์ และนำมาใส่ไว้ในหมวด “ความทรงจำ” ในเว็บไซต์

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสื่อยุคใหม่ มันไปท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์”

หากโดยทั่วไป แหล่งข้อมูลอย่างหอจดหมายเหตุมักจะอยู่ในรูปของอาคารสถานที่ใหญ่โตที่อัดแน่นไปด้วยแฟ้มเอกสารต่างๆ แต่ “บันทึก 6 ตุลา” กลับไม่ใช่หอจดหมายเหตุอย่างในความคิดของคนทั่วไป แต่อาศัย “โลกไซเบอร์” เป็นพื้นที่เก็บข้อมูล และเรียกตัวเองว่า “หอจดหมายเหตุออนไลน์” โดยพ่วงกับการทำ Facebook Fanpage บันทึก 6 ตุลา เพื่อนำไฮไลต์จากเว็บไซต์มาดึงดูดความสนใจของผู้ชมรุ่นใหม่

หน้าแรกเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลาหน้าแรกเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

อ.พวงทอง: แทนที่จะทำเป็นแหล่งข้อมูลในรูปของหอจดหมายเหตุที่มีสถานที่ เราไม่มีเงินขนาดนั้น วิธีการที่ทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็คือการทำเป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีตึกในการจัดเก็บเอกสาร ไม่จำเป็นต้องมีที่ทำงานใหญ่โต แต่เอกสารอะไรที่ประชาชนทั่วไปมีและต้องการที่จะนำมาแชร์กับเรา เอาขึ้นเว็บเพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และสามารถที่จะเก็บได้ เราไม่หวงข้อมูล แต่ต้องการให้ข้อมูลเผยแพร่ออกไป

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ เป็นแหล่งเอกสารที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา และเราเน้นไปที่เอกสารชั้นต้น ซึ่งคนเข้าถึงยาก และค่อนข้างกระจัดกระจาย เราก็ทำให้มันง่ายขึ้น เพื่อที่จะให้เราเข้าถึงประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งคนยุคใหม่เสพสื่อเสพข่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตทั้งนั้น และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสื่อยุคใหม่ มันสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐหรือไม่มีงบประมาณมหาศาลในการเข้าไปกุมตำราเรียนหรือสื่อมวลชนสมัยใหม่ มันไปท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์

เราคงไปทำลายประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้ทั้งหมด แต่มันช่วยขยายพื้นที่ประวัติศาสตร์ของประชาชนหรือประวัติศาสตร์ทางเลือกได้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ดิฉันไม่เชื่อแล้วว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์

 โครงการบันทึก 6 ตุลา

ด้วยเหตุที่เรื่องราวผ่านมาเนิ่นนานถึง 40 ปี และยังคงมีแง่มุมดำมืดที่ไม่อาจเปิดเผยอยู่มากมาย การติดตามสืบหาเบาะแสต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าสิ่งที่ค้นพบกลับเรียกได้ว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะการค้นพบ “ประตูแดง” จุดเกิดเหตุฆาตกรรมนายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ที่ติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร


คุณชุมพล ทุมไมย พี่ชายของนายชุมพร ทุมไมย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่เสียชีวิต และประตูแดงซึ่งเป็นจุดที่พบศพGettyimagesคุณชุมพล ทุมไมย พี่ชายของนายชุมพร ทุมไมย เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่เสียชีวิต และประตูแดงซึ่งเป็นจุดที่พบศพ

ความตั้งใจแรกของคุณภัทรภร คือการขยายเรื่องราวนอกเหนือจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง และได้พาทีมงานไปสอบถามชาวบ้านในละแวกจุดเกิดเหตุว่าจำเหตุการณ์ได้หรือไม่เท่านั้น

ภัทรภร: เราเริ่มต้นจากการทำข้อมูลจากข่าวช่วงวันที่ 24 – 26 กันยายน 2519 ซึ่งบอกที่ตั้งคร่าวๆ เราก็ถามชาวบ้าน คือชาวบ้านละแวกนั้นที่อายุ 55 ปี ขึ้นไป เขาจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และรู้ว่าจุดเกิดเหตุยังอยู่ เราก็ลองขับรถดูในละแวกนั้น โชคดีที่เจอผู้ใหญ่บ้านคนเก่าที่ได้ไปดูตอนเกิดเหตุการณ์ และจำได้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนที่ไปเจอ ทุกคนก็ตกใจที่มันยังเหมือนเดิม

อ.พวงทอง: หรืออย่างเวลาที่เราพูดถึงสื่อมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทในการสร้างความเกลียดชังนักศึกษา คนก็พูดถึงแต่ดาวสยามกับวิทยุยานเกราะ แต่จริงๆ แล้วดิฉันเชื่อว่าเราอาจจะต้องดูสื่อมวลชนฉบับอื่นๆ ด้วย ดังนั้นในหมวดหลักฐาน เราก็มีหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เป็นเวลา 2 เดือน คือกันยายนและตุลาคม เพื่อที่จะให้ผู้ชมได้ดูว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่ดาวสยามหรือวิทยุยานเกราะ แต่ยังมีสื่อมวลชนจำนวนมากที่มีบทบาทในการโหมกระหน่ำความเกลียดชังนักศึกษาด้วย

 Gettyimages

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปเนิ่นนานไม่ใช่อุปสรรคเพียงประการเดียวของโครงการบันทึก 6 ตุลา แต่กำแพงสูงกว่าที่ทีมงานต้องก้าวข้าม คือความหวาดกลัว ซึ่งเป็นเหมือนแผลเป็นในจิตใจของญาติผู้เสียชีวิต หลายครั้งที่ทีมงานพยายามส่งจดหมายติดต่อไปตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในเอกสารชันสูตรพลิกศพ แต่คำตอบที่ได้ ถ้าไม่ใช่จดหมายตีกลับเพราะไม่มีผู้รับ หรือเจ้าของที่อยู่ล้มหายตายจาก ก็เป็นเพราะเจ้าตัวไม่พร้อมจะให้สัมภาษณ์ เพราะความเจ็บปวดจากการสูญเสียและความกลัว

อ.พวงทอง: บางครอบครัวก็ไม่ให้สัมภาษณ์เลย โดยเฉพาะครอบครัวที่ลูกเขาเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเขาไม่เคยพูดเลย พอเรามาดูรายละเอียดว่าคนนี้ตายอย่างไร ก็พบว่ามันโหดร้ายมาก เพราะตอนที่เขาเสียชีวิต พ่อเขามารับศพก็ตามไม่เจอ เพราะหน้าตาเต็มไปด้วยบาดแผลจนไม่เห็นเค้าหน้าเดิม ต้องให้เพื่อนมาดู เพื่อนจำได้แต่รองเท้า ก็คิดว่าเราไม่ควรจะไปรบกวนเขา แล้วก็จะมีกรณีที่เขาไม่อยากให้สัมภาษณ์เพราะว่ายังกลัวอยู่ก็มี เพราะเขาคิดว่าเขาจะได้อะไร ความยุติธรรมก็ไม่ได้ แถมเขาจะเดือดร้อนอีกถ้าพูดเรื่องนี้ บางคนยินดีให้สัมภาษณ์ แต่หลังจากนั้นก็โทรมาบอกว่าขออย่าเปิดเผยชื่อจริงและหน้าของเขาได้ไหม ขอแต่เสียง เพราะกลัว และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา

แต่ก็มีหลายคนที่ยินดี เพราะเขารู้สึกว่าคนที่เขารักตายอย่างเสียสละ และรู้ว่าสิ่งที่เราทำคือเราพยายามที่จะให้เกียรติ แสดงความเคารพคนที่เขารัก เขาก็ยินดีที่เราทำ

โครงการบันทึก 6 ตุลา 

จดหมายเหตุออนไลน์ บันทึก 6 ตุลา เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560 และสร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานอย่างมาก ที่เรื่องราวที่มีเนื้อหาหนักได้กระแสตอบรับล้นหลามอย่างไม่น่าเชื่อ

ภัทรภร: วันที่ 6 ตุลา วันเดียว ก็มีคนเข้ามาดูเว็บไซต์หลักแสนค่ะ อาจจะมากกว่าเพราะเว็บล่มด้วย เว็บมาสเตอร์บอกว่า 4 แสน ซึ่งก็ดีใจมาก เราคิดว่าคนกระหายความจริง กระหายข้อมูล กระหายข้อเท็จจริง ส่วนในเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 24 คนก็เข้ามาดูหลักหมื่นแล้ว คือเข้ามาดูไลฟ์งานเสวนา หลังจากนั้นก็เข้ามาดูเรื่อง แต่วันที่ 6 มีมากขึ้น เพราะบทความเรื่อง “จินตนาการของอุทาร” ที่มีคนแชร์เยอะ แล้วก็หนังสือพิมพ์ คิดว่าเป็นไฮไลต์ที่คนอยากดู แล้วก็ภาพถ่าย เพราะจะมีภาพถ่ายที่อยู่ในหมวดของหลักฐาน เป็นภาพถ่ายใหม่และภาพสี อาจจะเป็นเพราะข้อมูลที่มีหลักฐานอ้างอิงและมีความเป็นวิชาการน่าเชื่อถือ มีที่มาที่ไป

อ.พวงทอง: เราพบว่าเรื่องหนักๆ แบบนี้คนแชร์เยอะ แล้วพอดูชื่อคนที่กดแชร์ กดไลก์ ปรากฏว่าเป็นคนที่เราไม่รู้จัก เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราดีใจที่พบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปแล้ว 40 ปี

แม้ว่าจะมีผู้เข้าชมเว็บไซต์และ Facebook Fanpage เป็นจำนวนมาก แต่ทีมงานบันทึก 6 ตุลา กลับยังไม่ได้วางแผนต่อยอดโครงการแต่อย่างใด มีเพียงการพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้เกิดการทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

เมื่อไรก็ตามที่ความเกลียดชังมีกลไกอำนาจรัฐเข้ามาสนับสนุน ดิฉันคิดว่าโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันก็เกิดขึ้นได้อีก”

และในขณะนี้ที่บ้านเมืองแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายจากแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน การใช้ข้อมูลโจมตีฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนรูปแบบจากหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระบบออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่มีโอกาสจะยกระดับเพิ่มขึ้น

อ.พวงทอง: เราจะเห็นว่าการเมืองเรื่องสีมันแบ่งคนออกเป็นฝักฝ่าย และระดับของภาษาก็แสดงถึงอารมณ์ที่เกลียดชังกันมาก และไม่ฟังกันและกันเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว บ่อยครั้งเราก็เห็นการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือขู่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งนี่ก็เป็นบางอย่างที่คล้ายคลึงกับในช่วง 6 ตุลา ซึ่งคนถูกแบ่งเป็นฝักฝ่ายชัดเจน และพร้อมที่จะทำร้ายกัน ในขณะนี้ก็อยู่ในระดับของประชาชนเท่านั้น แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเกลียดชังมีกลไกอำนาจรัฐเข้ามาสนับสนุน และให้ไฟเขียวอีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงในลักษณะที่ส่งสัญญาณว่าอำนาจรัฐอยู่กับฝ่ายคุณ ดิฉันคิดว่าโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันก็เกิดขึ้นได้อีก

โครงการบันทึก 6 ตุลา

ด้านหนึ่งเราก็มีความหวังว่าสิ่งที่เราทำจะมีประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดึงสติของคนเวลาที่เกลียดชังกันมากๆ แต่ด้านหนึ่งเราก็รู้ว่าสังคมไทยไม่ค่อยสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์มากนัก เราจึงเกิดเหตุการณ์ที่อนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่รู้สึกว่าจะต้องเอาคนที่กระทำความรุนแรงกับประชาชนนั้นมาลงโทษ

เราไม่อยากให้ 6 ตุลา เป็นเรื่องของคน 6 ตุลา แต่มันเป็นประวัติศาสตร์สังคมร่วมกัน และดิฉันคิดว่าสังคมไทยยังมีเชื้อมูลที่จะทำให้เกิดความรุนแรงในลักษณะนี้ได้อีก ก็อยากจะให้คนรุ่นใหม่ได้สนใจเรื่องนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook