คนญี่ปุ่น บ้าอะไรก็บ้าสุดๆ ไม่เว้นแม้เรื่องวิทยุเทป โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

คนญี่ปุ่น บ้าอะไรก็บ้าสุดๆ ไม่เว้นแม้เรื่องวิทยุเทป โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

คนญี่ปุ่น บ้าอะไรก็บ้าสุดๆ ไม่เว้นแม้เรื่องวิทยุเทป โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดือนนี้มาไปเที่ยวญี่ปุ่นกันครับ รู้จักกับเซียนเทปคนหนึ่งที่เชื่อว่าไม่ได้เจอกันบ่อยนักหรอกครับในโลกใบนี้

เอ่ยถึงเครื่องเล่นเทปและวิทยุ (บ้านเราเรียกสั้นๆ ว่าวิทยุเทป) ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างมากในไทยเมื่อช่วงทศวรรษที่ '70s-'80s (ราวพ.ศ.2515-2534) คืออุปกรณ์ในการฟังเพลงของวัยรุ่น (ที่ปัจจุบันเป็นรุ่นพ่อแม่หรือลุงป้า) ที่จำเป็นและมีความสำคัญที่สุด เพราะสมัยนั้นยังไม่มีซาวด์อะเบาต์ ไม่มีมินิคอมโปที่ประหยัดและคล่องตัว มีแต่ซิสเต็มชุดใหญ่ที่มีแอมป์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง เล่นเทปและลำโพงที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก กว่าจะหามาครอบครองได้ วิทยุเทปจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในยุคที่ดิจิทัลครองโลกแบบสมัยนี้ เทปแทบจะอยู่ในสถานะที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้วในแวดวงออดิโอ แต่สำหรับคุณโจ ทาคาเสะ (51 ปี) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวว่า "โอ้ย คุณ มันคือสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับผมเลยละ" ปัจจุบัน คุณโจอาศัยอยู่ที่แขวงอาโกโจโค เขตชิมะ จังหวัดมิเอะ ทางภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่า "คลั่งเทป" มากที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น

บ้านของเขามีวิทยุเทปและเทปเด๊ก (บ้านเราเรียกเทปใบ้) วางเรียงรายอยู่ประมาณ 400 ตัว "แทบจะเป็นเครื่องที่เลิกผลิตไปแล้วทั้งนั้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่รับซ่อม เวลามันเสียทีนึง ผมจึงต้องหาทางซ่อมเองสถานเดียวครับ" คุณโจกล่าว

ในแวดวงคนสะสมวิทยุเทป ล้วนทราบกันดีว่าคุณโจเป็นคนนักสะสมที่รู้ลึก รู้จริงเรื่องวิทยุเทป ไม่ว่าจะเป็นรุ่น สไตล์ รูปลักษณ์ บริษัทผู้ผลิต หรือแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อย

อีกเรื่องที่เขาชำนาญก็คือ เทปที่เขาอัดเพลงเอง จะทำฉลากปิดตลับเทปและเขียนชื่อชุด ชื่อเพลงด้วยลายมือ ซึ่งเขาเรียกว่า "เทปแห่งการรำลึก" เป็นเทปที่เต็มไปด้วยความหลังของเจ้าของชวนให้รำลึกเสมอ ตรงนี้ผมว่าพวกเราที่ผ่านช่วงวัยที่ฟังเพลงจากวิทยุและมีเครื่องวิทยุเทปก็น่าจะเคยอัดเพลงไว้ฟังเองกันมาแล้วนะครับ ความรู้สึกและอารมณ์ที่ฟังเพลงจากเทปให้เราอัดเองเป็นอย่างไร ก็น่าจะไม่ต่างจากความรู้สึกของคุณโชหรอกครับ มันเป็นความสุขเล็กๆที่ได้ฟังเทปม้วนเดียวในโลกที่เราเป็นคนเลือกเพลงเองครับ

ส่วนกรุเทปนั้น เขากล่าวว่า "เมื่อผมนับถึง 4,000 ม้วน ผมก็เหนื่อยและถอดใจ" เขาจึงไม่ทราบว่าตัวเองมีเทปอยู่ในกรุกี่ม้วนกันแน่ แต่ประสบการณ์ของเขาที่ผ่านมา มีทั้งหอบเทปเอาไปแลกของตามร้านรีไซเคิล เอาไปประมูลเป็นล็อตใหญ่บนอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่เอาไปทิ้งถังขยะประเภทเผาไม่ได้

สำหรับคุณโชแล้ว เทปที่ไม่มีผลิตออกจำหน่ายตามท้องตลาด เช่น เทปของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดคำขวัญบริษัทให้พนักงานฟังตอนเข้าแถวตอนเช้าเพื่อให้พนักงานขยัน หรือเทปที่เปิดในรถไฟฟ้าเพื่อบอกชื่อสถานีล้วนเป็นกลิ่นอายแห่งยุคโชวะที่คุณโชหลงใหลทั้งสิ้น แม้แต่เทปที่บันทึกเสียงในห้องทำคลอด ซึ่งมีเสียงถอนหายใจโล่งอกของแม่เมื่อได้ยินเสียงร้องของลูกที่เพิ่งคลอดก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่มีคุณค่าต่อคุณโช

ในช่วงวัยรุ่น คุณโชหัดเล่นกีตาร์โปร่งเช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วไป แล้วบันทึกเสียงเพลงที่ตัวเองเล่นกีตาร์ลงเทปเพื่อส่งให้ผู้หญิงที่ตัวเองชอบ แน่นอนว่ามันต้องเป็นเพลงรักทั้งสิ้น ตัวเทปติดฉลากที่เขียนชื่อชุดชื่อเพลงด้วยลายมือ ไม่ว่าใช้ตัวขูดเลตเทอร์ เพรส ที่คนทำอาร์ตเวิร์กนิยมใช้กันในช่วงปลายยุค '70s สิ่งที่คนยุค '70s-'80s เคยหลงใหล ความหลังที่หวานชื่นถูกดึงกลับมาได้ด้วยวิทยุเทปจริงๆครับ

ไฟล์เสียงที่ดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทดแทนความคลาสสิกของเทปไม่ได้เลย มันสะดวกกว่าก็จริง แต่คนที่คุ้นเคยกับยุคสมัยของโชวะ จำเป็นต้องพึ่งเทปที่ผลิตในสมัยนั้น คนสมัยนี้กลับไปฟังเทปเพื่อเรียกบรรยากาศเก่าๆสมัย 30-40 ปีก่อนกลับมาให้สัมผัสอีกนั่นเอง

คุณโชเคยจัด "นิทรรศการเทป" ไปแล้ว 2 ครั้ง เป็นการนำกรุเทปที่เขาสะสม ตลอดจนเครื่องเล่นรุ่นต่างๆ มาโชว์กันแบบจัดเต็มภายในจังหวัดมิเอะ การบรรยายเกี่ยวกับเทปของเขาได้รับความชมอย่างมาก บรรดาคนสะสมเทปคอเดียวกับเขาถึงกับยกย่อง และมีหลายจำนวนหนึ่งที่เริ่มหันมาสะสมเทปตามอย่างเขา

จริงๆแล้ว บ้านเราก็มีคนที่สะสมเทปและมีรสนิยมแบบคุณโชอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่มีความสุขกับการสะสมมากกว่าที่จะไปให้ความรู้กับใครในวงการ เพื่อนผมคนหนึ่ง ทำงาน IT แต่เมื่อว่างเว้นจากงาน เขาสะสมเครื่องเล่นเทปและซาวด์อะเบาต์ รวมทั้งเกมกดยุคแรกๆ และอาศัยความรู้ความสามารถซ่อมแซมของสะสม แต่ทุกวันนี้กลายเป็นของวินเทจที่มีมูลค่ากว่ายุคที่มันถูกผลิตออกมาหลายเท่าตัวนัก ที่สำคัญ เขาทำด้วยใจรักและมีความสุขไปกับมันครับ

cassettetapemaniac 

ข้อมูลโจ ทาคาเสะ

เกิดที่จังหวัดคาวาซากิ ทำงานในบริษัทเคเบิลทีวีในจังหวัดคานากาว่า แล้วย้ายไปอยู่เมืองชิมะเมื่ออายุได้ 35 ปี ปัจจุบันทำงานที่สถานีเคเบิลทีวีมัตสึซากะ "เสน่ห์ของวงการเทปเป็นเรื่องที่ทำให้คนเข้าใจได้ยาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่มีความคิดที่จะเป็นผู้ชี้แนะอะไร แต่ต้องการเพียงพูดคุยกันแบบเจาะลึกกับคนคอเดียวกัน และเพิ่มจำนวนคนที่รักเทปให้มากขึ้น แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook