ย้อนอดีตความรุ่งเรืองของ "เทปเพลงสากล" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ย้อนอดีตความรุ่งเรืองของ "เทปเพลงสากล" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ย้อนอดีตความรุ่งเรืองของ "เทปเพลงสากล" โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลตอบรับจากบทความเมื่อเดือนก่อน ทำให้ต้องมีภาคต่ออีกครับ เอาให้สะเด็ดน้ำไปเลยว่าความนิยม และอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของเทปในยุคของมันนั้นมากมายเพียงใด คนที่ผ่านอดีตอันรุ่งเรืองของเทปมาแล้วคงทราบดีว่ามันมีอิทธิพลต่อคนฟังเพลง และผู้ผลิตเพียงใด ยิ่งในยุคที่มีแต่เทปผี เทปลิขสิทธิ์ยังไม่เกิด และหลังจากมีลิขสิทธิ์แล้ว เทปผีก็ยังกระเสือกกระสนแชร์ตลาดไปได้อีกราวๆ 8-10 ปีเลยทีเดียว


- วิวัฒนาการซอฟต์แวร์ฟังเพลง

ถ้าเขียนเป็นไทม์ไลน์ วิวัฒนการของซอฟต์แวร์ในการฟังเพลงของพวกเราเริ่มจากเทป เขียนคร่าวๆได้ดังนี้ เทป > ซีดี > มินิดิสก์ (MD) > CD-R > MP3 > สตรีมมิ่ง

ด้วยความที่มันเกิดก่อนซอฟต์แวร์อย่างอื่นมานาน ราคาไม่แพง หาซื้อง่าย เก็บรักษาไม่ยาก ฯลฯ ทำให้เทปได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในยุคที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ เทปรุ่งเรืองสุดขีดเมื่อเทปผียี่ห้อ Peacock ถือกำเนิดขึ้น คาดว่าราวปี 2518 ครับ (ก่อนหน้านั้นถือกำเนิดขึ้นช่วงปีไหนไม่สามารถหาข้อมูลได้ครับ) ก่อนหน้านั้น เราจะเห็นเทปผียี่ห้อ Original Sound, Azona, 4Track และผีสัญชาติฮ่องกง แต่น่าจะผลิตในไทยอีกหลายยี่ห้อครับ ก่อน Peacock ออกสู่ตลาด ระบบการพิมพ์ปกเทปยังใช้ระบบดั้งเดิม คือระบบพิมพ์บล๊อก ไม่ใช่ออฟเซต ภาพจึงออกมาไม่คมชัด สีไม่สดใส กระทั่ง Original Sound ปฏิวัติตัวเองด้วยการพิมพ์ออฟเซต สีสันสวยงาม ชื่อเพลงและอาร์ตเวิร์กใช้ตัวพิมพ์แทนเขียนด้วยลายมือแบบในอดีต คู่แข่งก็พลอยพัฒนาตามไปด้วย เป็นช่วงที่ยี่ห้อไหนออกศิลปินดังก่อน เจ้านั้นชนะ เพราะจะทำยอดขายได้ ส่วนปกสวยไม่สวย อาร์ตเวิร์กเด่นไม่เด่น ไม่ใช่เรื่องใหญ่

- ตลาดเทปเป็นตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด

เมื่อใดที่ศิลปินต่างประเทศชื่อดัง อาทิ Bee Gees, Abba, Carpenters, John Denver, Lobo, Queen, Led Zeppelin ออกผลงานใหม่ เทปผีต้องออกมาให้เร็วที่สุด สมัยนั้นใช้วิธีให้คนรู้จักหรือเครือข่ายที่อยู่ต่างประเทศซื้อส่งมาให้ หรือฝากคนรู้จักซื้อแล้วหิ้วกลับมา ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดแล้ว เราจึงได้ฟังอัลบัม The Knack ของ The Knack, Long Run ของ The Eagles หรือ Off the Wall ของ Michael Jackson หลังจากออกในอเมริกาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ แต่บางกรณีแม้สังกัดเทปผีได้แผ่นมาแล้ว ยังไม่ตัดสินใจปั๊มขาย ยังรอดูอันดับในบิลบอร์ดและเพลงซิงเกิลที่รายการวิทยุในบ้านเราเปิดเสียก่อน ถ้าดังจริงๆ ค่อยปั๊มขายก็ยังไม่สาย แต่บางยี่ห้อมีทีมงานนักฟังเพลงเก่งๆ ฟังแล้วคิดว่าดังแน่ ก็รีบชิงปั๊มออกขายก่อน ที่แจ๊กพอตก็มี ล้มเหลวก็มาก แต่ถ้าศิลปินดังอย่างที่กล่าวมาตอนต้นย่อหน้านี้ ทุกยี่ห้อต้องปั๊มออกกขาย ช้าเร็วไม่ทราบ แต่ก็ต้องออก แล้วมาวัดกันด้วยเพลงแถมอีกที

120189

เทปลิขสิทธิ์ช่วงแรก ปี1982-85

เกร็ดเกี่ยวกับเพลงแถมของเทปผี

เทปผียุคนั้นมีความยาว 60 นาทีเท่ากันทุกชุด ส่วนอัลบัมที่นำมาใช้ของแต่ละศิลปินมีความยาวระหว่าง 30-40 นาที จึงจำเป็นต้องหาเพลงแถมมาเพิ่มให้เต็มความยาวเทป ค่ายผีที่เป็นงานก็นำงานของศิลปินรายเดียวกันในอดีตมาแถม ถ้าเป็นศิลปินหน้าใหม่ก็หางานของศิลปินที่มีแนวเพลงใกล้เคียงกันมาแถม ยกตัวอย่าง The Long Run ของ The Eagles นอกจากทุกเพลงของอัลบัมแล้ว เพลงแถมนำมาจากอัลบัม Hotel California ประมาณ 3-5 เพลง ขึ้นอยู่กับเนื้อที่เทปที่เหลือ คนฟังเพลงที่ต้องซื้ออัลบัมเดียวกันจากคนละยี่ห้อจึงเกิดขึ้นบ่อย เพียงเพราะต้องการฟังเพลงแถมของอีกยี่ห้อที่ไม่ซ้ำกันเท่านั้นเอง

120187

เทปผียี่ห้อดังช่วงปี 1976-1979

 

120191

เทปผีราวปี 1982-1989

 
- ยุคเทปเปล่าที่ขายดีไซน์

เคยสงสัยครับ จริงๆตอนนี้ก็ยังสงสัยอยู่ ทำไมเครื่องเล่นเทป หรือ Tape Deck ถึงเรียกว่า “เทปใบ้” ใครทราบบ้างครับ ฟังทะแม่งมากเลย แต่เอาเถอะ เทปที่ยังไม่ได้บันทึกเสียงอะไรมาก่อนเรียก “เทปเปล่า” ก็เหมาะสมดีแล้วครับ เมื่อบ้านเรามีเทปผี เทปลิขสิทธิ์ขาย เทปเปล่าจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในช่วงแรกๆราวยุค70s ยังต้องนำเข้าเทปเปล่าจากฝั่งยุโรปมาขาย อาทิ BASF, Philips เนื่องจากดีเจหรือผู้จัดรายการบางราย หรือร้านขายแผ่นเสียงหรือเครื่องเสียงบางร้านรับจ้างอัดเพลงลงเทปด้วย แล้วญี่ปุ่นก็พัฒนาด้วยการส่ง Sony ออกมาแชร์ตลาดจนประสบความสำเร็จ จากนั้นก็มีแบรนด์ต่างๆตามมาอีก อาทิ TDK, Maxell, Axia, Teac ของไทยมี RS, Peacock, Onpa คอยรองรับกลุ่มลูกค้าทุกระดับ อะไรก็ไม่ตื่นเต้นเท่ากับเทปเปล่าของญี่ปุ่นออกรุ่นใหม่ ดีไซน์หรู น่าซื้อแทบทุกเดือน ทำเอาบางช่วงผมหมดเงินไปกับเทปเปล่าไปแยะเลย ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเอามาอัดอะไรฟัง ถือโอกาสเอาเทปสัญชาติญี่ปุ่นที่ดีไซน์หรู น่ารัก น่าสะสมมาให้ดูกันพอหอมปากหอมคอนะครับ ทุกวันนี้กลายเป็นของหายาก มีราคาไปหมดแล้วในหมู่นักสะสม

120181

 เทปเปล่าของญี่ปุ่น

 

120185

120295

120296

120297

120298

เทปเปล่าญี่ปุ่นหลายหลากดีไซน์

 

120183

เทปเปล่าผลิตในไทย


- วอล์กแมน ฮาร์ดแวร์คู่ใจนักฟังเทป

เคยกล่าวไว้ในตอนก่อนว่าวอล์กแมนรุ่นแรกถือกำเนิดในปี1979 ผลิตโดย Sony มันเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งหมดของคนฟังเทปอย่างแท้จริง จุดกำเนิดของมันเริ่มต้นจากมิสเตอร์มาซารุ อิบุคะ ตำแหน่งบอร์ดบริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Sony ในยุคนั้นเอ่ยว่า “อยากได้เครื่องเล่นเทปที่สามารถใช้ฟังเพลงขณะอยู่บนเครื่องบินสักเครื่อง” จากนั้นมันก็กลายเป็นสิ่งที่นักฟังเทปขาดไมได้ กลุ่มเป้าหมายในตอนแรกคือ นักเรียน นักศึกษา คนหนุ่มสาวที่อยากฟังเพลงทั้งวันไม่ว่าอยู่ที่ไหน ราคาที่ Sony กำหนดในตอนนั้นคือ 33,000 เยน (ช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 100 เยนต่อ 10 บาท) และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขายไม่ออกแน่ ราคาขนาดนั้น วันที่ 1 กรกฎาคม 1979 วอล์กแมน รุ่น TPS-L2 จึงออกสู่ตลาด ผลิตจำกัดจำนวนเพียง 3000 เครื่อง และเพิ่มเป็น 30,000 เครื่องเมื่อย่างเข้าเดือนกันยายน กระทั่งทำสถิติยอดขายสูงสุด 1.5 ล้านเครื่องในเวลาเพียง 2 ปี

120279

วอล์กแมน Sony รุ่น TPS-L2

 

120281

WM-7ออโต รีเวิร์สรุ่นแรก 1982

 

120283

WM-F5 Sports กันน้ำรุ่นแรก 1983

 

120287

WM-109 รุ่นแรกที่สายหูฟังมีรีโมตคอนโทรล 1987

 

120290

WM-51 Hip มีช่องม้วนเก็บสายหูฟังไว้กับตัวเครื่อง 1987

 

120293

WM-101 รุ่นแรกที่ใช้ถ่านแบน และมีขนาดเท่าตลับเทป 1985

 

วอล์กแมน กลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากในเวลาอันสั้น แต่ชื่ออย่างเป็นทางการของมันไม่ใช่วอล์กแมน ในอเมริกา มันถูกเรียกว่า ซาวน์ดอะเบาต์ (Soundabout) ในอังกฤษเรียกสโตว์อะเวย์ (Stow Away) แต่ท้ายที่สุด ทั่วโลกก็หันมาเรียกมันเหมือนกันหมดว่า วอล์กแมน ซึ่งบ้านเราก็พากันเรียกชื่อนี้ด้วยเหมือนกัน ขณะที่ซาวน์ดอะเบาต์ก็ถูกใช้เรียกด้วย

รุ่นต่อมาออกในปี1981 และทยอยออกมาตามเป็นระยะ เริ่มจากWM-2 ราคา 32,000 เยน ตามด้วย WM-3 “Walkman Deluxe” ราคา 36,000 เยน และ WM-3EX “Walkman Excellent” ราคา 40,000 เยน หลังจากนั้น ทุกอย่างก็เข้าสู่กระแสความนิยม ทั้งเครื่องเล่นเทปและเทปเปล่า มีเกร็ดเกี่ยวกับอุปนิสัยฟังเพลงของคนญี่ปุ่นในยุคนั้นครับ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แม้จะสะดวกกับวอล์กแมน แต่พวกเขาก็เล่นแผ่นเสียงด้วย อีกทั้งมีร้านให้เช่าแผ่นเสียงด้วย ปกติ คนญี่ปุ่นที่ซื้อแผ่นเสียงมาฟัง มักบันทึกเพลงลงเทปเก็บไว้ฟังกับวอล์กแมน แล้วเก็บแผ่นเสียงไว้ในตู้ ไม่หยิบมาฟังอีก ทำให้ตอนนี้เวลามีคนเอาแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นมาขาย เราจะเห็นว่าสภาพของมันเหมือนใหม่ หรือสภาพใหม่เหมือนไม่เคยเปิดฟังมาก่อน สาเหตุเพราะพวกเขาใช้เปิดฟังหนเดียวเพื่ออัดลงเทปนั่นเอง บางคนก็เช่าจากร้านมาอัดลงเทป เป็นวิถีของคนญี่ปุ่นที่น่าเลียนแบบนะครับ

 

ปัจจุบัน เทปกลายเป็นของวินเทจที่มีค่าเพื่อการสะสมของหลายๆคนไปแล้ว แต่อย่าลืมนะครับ เทปที่เก็บรักษาไม่ดี หรือผ่านการเล่นที่ไม่ทะนุถนอมมันก็เสียหายและสึกหรอเร็วกว่าการเล่นปกติที่เสื่อมไปตามกาลเวลา อะไรที่ทำแล้ว ฟังแล้ว ใช้แล้วมีความสุขก็ทำต่อไปครับ แต่มีสติสักนิดจะช่วยเซฟเราได้มากทีเดียว ที่สำคัญ อย่าทำตัวเป็นปลาหิวเหยื่อ เที่ยวว่ายฮุปเบ็ดไปทั่ว ทุกอย่างต้องศึกษา หาความรู้ ทำความคุ้นเคย และมีสติครับ

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน

นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook