เทปคาสเซ็ทยังไม่ตาย โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เทปคาสเซ็ทยังไม่ตาย โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เทปคาสเซ็ทยังไม่ตาย โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในบรรดาฟอร์แมตต่างๆ ที่ออกมาให้เราซื้อมาฟังเพลง ทั้งเทปคาสเซ็ท (ต่อไปขอเรียกสั้นๆว่าเทป) ซีดี แผ่นเสียง ฯลฯ มีเพียงเทปเท่านั้นที่ราคาซื้อง่าย ราคาถูก และเก็บรักษาง่ายที่สุด ตลอดช่วงเวลาร่วม 40 ปีที่ผ่านมา เทปมีบทบาทและอิทธิพลต่อคนฟังเพลงบ้านเราเป็นส่วนใหญ่ เป็นซอฟต์แวร์ที่มีแทบทุกบ้าน ใครอยากฟังเพลงก็แค่วิ่งไปร้านเทป หรือร้านโชห่วยบางร้าน ก็สามารถเลือกซื้อเทปกลับไปฟังที่บ้านได้แล้ว แม้ตลาดเทปจะซบเซาและถึงกับยุติการผลิตไปเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้ แต่ตลาดล่างก็ยังผลิตเทปเปล่าออกจำหน่าย และตลาดเพลงใต้ดินและค่ายเพลงอิสระก็ยังผลิตผลงานในรูปแบบของเทปออกมาสนองความต้องการของคนฟังเฉพาะกลุ่มอยู่

เทปเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงในแบบอนาล็อกที่ต้องเล่นกับเครื่องเล่นที่ใช้หัวอ่านสัญญาณคลื่นแม่เหล็กที่แถบเทปออกมาเป็นสัญญาณเสียงผ่านเครื่องเล่น เทปเริ่มแพร่หลายในบ้านเราก่อนในรูปแบบของเทปเปล่าใช้เพื่ออัดเพลงไว้ฟังเอง กระทั่งมีผู้นำไปอัดเพลงฮิตเพลงดังออกจำหน่าย บ้านเราเป็นที่แพร่หลายเมื่อใด ไม่มีแหล่งข้อมูลระบุครับ แต่จากที่จำความได้ ผมเห็นเทปครั้งแรกราวปี 2512 หัดอัดเทปเสียงพูดตัวเองราว 2514 เริ่มซื้อเทปเพลงฟังปี 2518 เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทปมาตลอดตามไทม์ไลน์ของมัน

 3

 

เทปเริ่มผลิตออกจำหน่ายราวต้นยุค '60s ในชื่อ คอมแพกต์ เทป คาสเซ็ท ซึ่งยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนในบ้านเรา แรกเริ่มเทปเปล่านำเข้าจากยุโรป ยี่ห้อ BASF Scotch Agfa Philips ที่มาจากตลาดยุโรปอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ กระทั่งญี่ปุ่นเริ่มตีตลาดในช่วงปลายยุค '70s (ราวปี2515 เป็นต้นมา) จึงมียี่ห้อ Sony Hitachi JVC Sanyo ตามด้วย Fuji TDK Denon TEAC Maxell Goldstar ในยุค80s ส่วนในบ้านเราเองก็คงไม่ต้องคิดมาก ยี่ห้อ Peacock เป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งเรื่องที่เป็นเจ้าแห่งเทปผีเพลงสากลและเทปเปล่าที่ราคาถูก มีคุณภาพ ถูกใจลูกค้า และมีให้ซื้อหาแทบทุกหัวระแหง

จุดเริ่มต้นของเทปที่เรารู้จักกันมาจากธุรกิจเล็กๆของร้านขายแผ่นเสียงที่ขายแผ่น และรับจ้างอัดเพลงลงเทปตามคำสั่งของลูกค้าควบคู่ไปด้วย ร้านขายแผ่นเสียงในยุคก่อนจึงขายและมีสต๊อกหรือห้องเก็บแผ่นเสียงไว้สำหรับใช้อัดเทปโดยเฉพาะ เรียกว่าลูกค้าต้องการเพลงไหน ร้านต้องหามาอัดลงเทปให้ได้หมด นิตยสาร ไอ เอส ซอง ฮิตส์ (IS Song Hits) ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง (ล่วงลับไปแล้ว) หรือนิตยสารเลต อิต บี มี (Let It Be Me) ของคุณวาริน (ขออภัยที่จำนามสกุลไม่ได้) ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนและรายสะดวกตามลำดับ เน้นตีพิมพ์เนื้อเพลงและคอร์ดกีตาร์ บางเล่มแปลเนื้อเพลงด้วย ซึ่งทั้งสองหัวนี้มีบริการรับอัดเทปตามความต้องการของแฟนหนังสือด้วย ผมจำอัตราค่าอัดไม่ได้ เหมือนจะนาทีละ 1 บาทหรือกว่านั้น และสมัยนั้นเทปเปล่ามีความยาว 60 นาทีเป็นหลัก ถือเป็นความยาวมาตรฐานสำหรับเทปยุคนั้น ส่วนความยาว 45 46 50 70 80 90 100 หรือ 120 นาที ถูกผลิตออกมาภายหลัง

 4

 

เนื้อเทปยังผลิตออกมาหลายแบบ ซึ่งระบุในภาษาอังกฤษว่า Position หรือ Type เช่น Normal Position เป็นเทปธรรมดาทั่วไปที่เราใช้หรือผลิตเทปเพลงออกจำหน่าย Chrome Position (CrO2) หรือ Type II และ Metal Position หรือ Type IV ต่างก็เก็บรายละเอียดของสัญญาณเสียงได้ละเอียดแตกต่างกันตามลำดับจากน้อยไปหามาก ราคาก็เช่นกัน จากถูกไปหาแพง หากแกะฉลากระบุประเภทเทปออก มองเผินๆเหมือนกันหมดทุกตลับ แต่เครื่องเล่นเทปสามารถอ่านประเภทของเทปได้ว่าเป็นแบบไหน โดยหัวอ่านสัญญาณนั่นเอง แต่เครื่องเล่นเทปยุคแรกๆไม่มีคุณสมบัติตรงนี้

ท่ามกลางความนิยมของเทปที่แพร่หลายไปทั่วโลก บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆก็พัฒนาเครื่องเล่นไปพร้อมๆกัน จนกระทั่งถึงยุคของ Soundabout เครื่องเล่นเทปแบบพกพาที่เป็นแฟชันอยู่ช่วงหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นหลักประกันว่าคนฟังเพลงตัวจริงต้องมีซาวน์ดอะเบาต์ ในช่วงนี้เองบริษัทผลิตเทปพัฒนาการออกแบบเทปไปด้วย นอกจากสีสันสวยงามของตลับแล้ว ยังออกแบบตัวตลับให้มองทะลุเห็นเทปภายในตลับ กระทั่งออกเทปเฟืองหมุนเทปให้เหมือนเทปรีล ให้ความรู้สึกเหมือนจริงยิ่งขึ้นเวลาฟัง ซาวน์ดอะเบาต์ของ Sony รุ่น Walkman เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จนใครๆก็เรียกซาวน์ดอะเบาต์ว่า วอล์กแมน กันหมด

 6

 

ความยาวของเทปมักระบุด้วยสติกเกอร์ที่ติดตลับเทปและกระดาษปกเป็นสีต่างๆเพื่อความสะดวกในการจดจำและใช้สอย 60 นาที สีแดง 90 นาที สีเขียว เป็นต้น  

 

ในช่วงปี 2516 เป็นต้นมา เทปค่อยๆมีบทบาทมากขึ้น จนกลายเป็นตัวทำเงินอันดับ 1 ของธุรกิจซอฟต์แวร์เพลงในบ้านเรา มันขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากเทปผีที่มีเพียงยี่ห้อเดียว ก็เพิ่มเป็นสอง สาม สี่ และนับสิบยี่ห้อนับแต่ปี 2520 เป็นต้นมา แต่ละยี่ห้อมีไม้เด็ดของตัวเองแตกต่างกันไป Original Sound เป็นเจ้าแรกที่ทำเพลงสากล คัดอัลบัมและเพลงได้ถูกโฉลกคนฟัง จากนั้นก็มี Azona ที่เน้นเพลงโอลดีและรวมเพลงเป็นหลัก Eagle เน้นเพลงบรรเลง ป๊อป และอีซีลิสต์นิง 4 Tracks เน้นตลาดเพลงทั่วไป ทั้งป๊อป ร็อค โอลดี บรรเลง ไปจนถึงเพลงญี่ปุ่นและจีน เข้ายุค '80s ราวปี 2524 ไปแล้ว มีทั้งยี่ห้อ Octopus, Musical มดแดง และอีกหลายยี่ห้อที่ผมจำไม่หมด คุณภาพลดหลั่นกันไปตามราคาขายปลีก ที่เริ่มต้น 25 บาท ไปจนถึง 40 บาท ขณะที่ Peacock เจ้าที่คัดอัลบัมเก่ง เลือกเพลงเยี่ยม คุณภาพดี ยืนพื้นที่ 30 บาท

แม้เทปลิขสิทธิ์จะเริ่มมีอิทธิพลและครองตลาดเทปมากขึ้น เทปผีก็ยังแชร์ตลาดไปได้มากอยู่ เพราะราคาที่ถูกกว่า ตลอดจนพัฒนาเรื่องอาร์ตเวิร์กปก ระบบพิมพ์ ไปจนถึงมีเนื้อเพลงในบางชุดเหมือนเทปลิขสิทธิ์ ก่อนที่เทปผีจะสูญไปจากตลาดเกือบหมดราวปี 2535-6 ส่วนร้านค้าและบริษัทที่รับจ้างอัดเทปก็มีลูกค้าน้อยลง นับแต่เทปผีครองตลาด อาจเพราะราคาค่าอัดบวกราคาเทปเปล่าที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องรอนาน เนื่องจากอัดในระบบเรียลไทม์ ไม่เหมือนเทปผีที่อัดแบบไฮสปีดทีละเป็นสิบๆถึงร้อยม้วน ในยุคเทปผีครองเมืองเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากสำหรับคนฟังเพลงสากล เพราะมีเทปออกใหม่ทุกสัปดาห์ ออกไล่เลี่ยกับที่อเมริกาและอังกฤษออกด้วย ยิ่งมีนิตยสารดนตรีหลายเล่มให้เลือกซื้อ แต่ละเล่มลงอันดับเพลง Billboard และข่าวคราวเกี่ยวกับอัลบัมใหม่ของแต่ละศิลปิน และที่สำคัญ คอลัมน์รีวิวอัลบัมที่เป็นไกด์สำหรับคนฟังเพลงอย่างแท้จริง มันคือความสุขที่บางครั้งต้องกินบะหมี่สำเร็จรูปติดต่อกันหลายวัน เพราะเอาเงินไปซื้อเทปหมด บางคนใช้ชีวิตวันหยุดจากการงานและการศึกษากับกองเทปที่ตัวเองซื้อมา โดยไม่ต้องสนใจอย่างอื่นเลย

 3

 

พ้นจากยุคเทปผี เป็นยุคซีดีและเทปลิขสิทธิ์ และเปลี่ยนเป็นยุคซีดีกับไฟล์เพลงอย่าง MP3 บทบาทของเทปก็ค่อยๆน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งค่ายเพลงเลิกผลิตเทปในที่สุด กระนั้นในแวดวงดนตรีใต้ดิน โดยเฉพาะแวดวงเฮฟวี เมทัลยังคงผลิตเทปขายกันอยู่เช่นเดียวกับต่างประเทศที่เทปยังคงอยู่ สำหรับบ้านเราในช่วงนั้นไม่มีโรงงานผลิตเทปแล้ว ต่างก็ปิดตัว ผันตัวเองมาเป็นโรงงานผลิตซีดีแทน อีกทั้งต้นทุนเทปก็สูงขึ้นมาก สวนทางกับยอดขายอย่างสิ้นเชิง

ทุกวันนี้เทปที่ออกขายในบ้านเรา มักมาจากผู้ผลิตรายย่อย หรือค่ายเพลงอิสระเป็นหลัก ผลิตจำนวนไม่มาก ตั้งแต่ 50-300 ม้วน ต้นทุนก็สูงขึ้น จากสมัยรุ่งเรือง ต้นทุนประมาณม้วนละ 10 กว่าบาท เดี๋ยวนี้ต้นทุน 50 บาทขึ้นไป จะต่ำหรือสูงกว่านี้แล้วแต่จำนวนผลิต ค่ายเพลงอิสระบางค่ายต้องลงทุนจ้างต่างประเทศผลิตเทปด้วยซ้ำ มาเลเซีย สิงคโปร์ยังมีโรงงานผลิตอยู่ แต่เมื่อรวมต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และภาษีแล้ว ราคาแพงกว่าซีดีมาก ถ้าไม่ใช่ศิลปินที่มีคนฟังจำนวนมากและมียอดขายมากกว่า 70% มีโอกาสขาดทุนแน่นอน

เป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับสถานการณ์เทปในปัจจุบัน ทั้งที่เมื่อ 30 ปีก่อน ทุกคนซื้อเทปกันง่ายและถูกเหมือนเดินไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ แต่ตอนนี้ นอกจากหาซื้อไม่ได้แล้ว ยังต้องติดตามข่าวคราวตลอดว่า มีค่ายไหนผลิตเทป และต้องสั่งซื้อกันเองในราคาที่เกิน 200 บาทด้วย

 7

 

วันนี้ที่เทปยังเป็นซอฟต์แวร์ที่คนฟังเพลงยังไขว้คว้าหามาฟังและสะสม ล้วนเป็นเทปที่ผลิตในยุคของมันเกือบ 100% เทปผลิตใหม่มีน้อยมาก และก็เหมือนกับซีดีเก่าและแผ่นเสียงเก่า มีคนพูดถึงว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ คงที่ไม่เคยฟัง หรือเกิดไม่ทันก็อยากมีกับเขาบ้าง ทั้งที่ไม่รู้คุณสมบัติของมัน อาศัยอยากฟังอยากสะสมกันเท่านั้น อย่างแรกเลย ควรรู้ว่าเทปมีอายุค่อนข้างสั้น แต่ก็ยืนยาวกว่าซีดีในบางม้วน ยิ่งเก็บนาน คุณภาพก็ยิ่งเสื่อมถอย แต่ถ้าเก็บดี ดูแลดี ก็ช่วยยืดอายุได้อีกพอสมควร ข้อดีของเทปคือ ไม่กินที่ ไม่มีน้ำหนักมากเกินไป ขนย้ายง่าย เก็บรักษาไม่ยาก ไม่ซับซ้อน แค่ใส่กล่องพลาสติกที่ติดมาแต่แรก เก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ชื้น ไม่มีคลื่นแม่เหล็กรบกวน ไม่มีมด แมลงสาบ หรือปลวก เท่านี้ก็หมดปัญหา ข้อเสียหลักๆก็คือ อายุไม่ยืน ถ้าเล่นไม่ถนอม ไม่รักษาให้ถูกหลัก อายุอาจจะเพียง 3-5 ปี ส่วนที่อายุยืนหน่อยก็เกิน 20 ปี เทป Original Sound ที่ผมซื้อไว้เมื่อปี 2520 บางม้วน ตอนนี้ก็ยังฟังได้ แต่สุ้มเสียงก็เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา โอกาสที่แถบเทปจะขาดขณะเล่นก็มีมาก เทปที่อายุมากขนาดนี้จึงไม่ควรนำมาเล่นอีก แต่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือสะสมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เทปที่ผลิตหลังจากปี 2530 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ยังฟังได้ สุ้มเสียงยังดีอยู่ แต่ก็ไม่ควรเล่นบ่อย

มองไปในตลาดนักสะสม เทปเป็นอีกของสะสมหนึ่งที่เริ่มมีราคา มีคนสะสมมากขึ้น จะด้วยความเป็นวินเทจของมัน หรือเพราะมันเป็นของหายากก็ตาม เทปบางม้วนราคาถึงหลักพันบาทแล้ว โดยเฉพาะเทปเปล่าที่ผลิตออกมาให้อัดเพลงเอง เคยเห็นเทปเปล่าของ TEAC ผลิตในญี่ปุ่น ตัวเฟืองหมุนสองข้างทำเป็นโลหะรูปเทปรีลของโบราณ ให้ความรู้สึกขลังน่าสะสม ราคาก็เกินพันบาทแล้วด้วย เทปเปล่าที่ยังไม่ได้แกะใช้งานเลยก็แพงเอาเรื่อง ส่วนเทปเพลงไทยเก่าๆ เพลงเฮฟวี เมทัลสมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อนราคาก็ไม่เบาเลย ตั้งแต่ 100-500 บาทก็มี อันนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของปกเทป ตัวเทป ส่วนสุ้มเสียงก็ต้องวัดดวงเอา เพราะไม่มีใครสามารถเอามาเปิดฟังเพื่อตรวจสอบคุณภาพเสียงได้ทุกม้วน

ความเป็นจริงของบ้านเรา เทปตายไปจากตลาดเพลงแล้ว แต่ในตลาดของสะสม มันยังอยู่ เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งที่ว่าของเก่าราคาจะสูงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เพราะไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม แต่คนอยากได้เพิ่มขึ้น ราคาจึงสูงขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคุณคิดจะสะสมเทป มันก็เหมือนเล่นหุ้นครับ ควรศึกษาคุณภาพ ตลาด ความเป็นไปได้ ตลอดจนภาวะการเงินของตัวเองให้ดี ขอให้สนุกกับการฟังเทปครับ

 5

 

กฎเหล็กของการเล่นเทป

1) พยายามฟังเทปที่ซื้อมาให้ตลอดทั้งม้วน เพื่อตรวจสอบว่ามีจุดไหนสะดุด เสียงหาย หรือเทปขาดหรือเปล่า

2) หักเขี้ยวที่ก้นเทปทั้งสองข้างทุกครั้ง เพื่อป้องกันการอัดทับโดยไม่ได้ตั้งใจ

3) ทำความสะอาดหัวเทปของเครื่องเล่นคุณบ่อยๆ เพราะเทปเก่ามักมีฝุ่นและคราบสกปรกที่แถบเทปมากกว่าปกติ มันจะทำให้หัวอ่านเทปสกปรกเร็ว

4) เขย่าตลับเทปทุกครั้งก่อนเลย เพราะเทปเก่าที่เก็บไว้นาน เทปจะเกาะตัวแน่น เวลาเล่น เฟืองต้องทำงานหนักในการดึงเทปผ่านหัวเทป ถ้าเทปอัดแน่น เฟืองหมุนไม่ลื่นไหล ขณะที่อีกฝั่งหมุนปกติ จะทำให้เกิดเหตุแถบเทปไหลไปพันกันที่ส่วนหัวอ่านเทป เป็นสาเหตุให้เทปติดในเครื่อง และอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้แถบเทปขาด

5) ใช้ปากกาหรือดินสอให้คล่องมือ เพราะต้องใช้ในการกรอเทปเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบข้อ 4

6) ถามผู้รู้หรือผู้ชำนาญ หากเกิดปัญหาที่แก้ไม่ได้

 

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook