"ฝังแร่" ฟางเส้นสุดท้าย รักษามะเร็ง

"ฝังแร่" ฟางเส้นสุดท้าย รักษามะเร็ง

"ฝังแร่" ฟางเส้นสุดท้าย รักษามะเร็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.พิพัฒน์  เชี่ยววิทย์
ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เมื่อต้องทนทรมานกับโรคมะเร็งระยะสุดท้าย  แม้จะเป็นเพียงความหวังน้อยนิด ที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่อาจไม่ได้รับการคัดกรอง  หากแต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยก็ยินดีที่จะเลือกรักษาด้วยวิธี “ฝังแร่ไอโอดีน -125”

ทำไมต้องเป็นไอโอดีน -125  ว่ากันว่า สรรพคุณของแร่ชนิดนี้เมื่อฝังเข้าสู่ร่างกาย จะไม่มีความเจ็บปวด ไม่เสียเลือดมาก อาการแทรกซ้อนน้อย

ในทางการแพทย์  ไอโอดีน -125  เป็นการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ โดยนำเอาสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-125  ที่มีลักษณะเป็นแคปซูลขนาดเล็กมาก คล้ายเมล็ดข้าวสาร มาฝังแบบถาวรในร่างกาย  บริเวณเนื้องอกที่ยังไม่ลุกลามหรือกระจายไปยังที่ต่างๆ โดยที่ไอโอดีน-125 นั้น จะปล่อยรังสีแกมม่าอยู่บริเวณรอบๆ ก้อนเนื้องอกเท่านั้น     

สำหรับไอโอดีน  -125  นี้  เคยนิยมใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากมานานกว่า 50 ปี  โดยที่ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกในอุ้งเชิงกราน ซึ่งรังสีที่แผ่ออกมาจะไม่สูงถึงระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง จึงจัดไอโอดีน  -125  อยู่ในกลุ่มการรักษาที่มีความเสี่ยงทางรังสีต่ำ และมีอายุเพียงครึ่งชีวิตเท่ากับ 60 วัน หมายความว่า ทุกๆ 60 วัน ความแรงของรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งจากจุดเริ่มต้น และจะลดลงเรื่อยๆ จนสลายตัวหมดไป  โดยพลังงานที่ปล่อยออกมานั้นใกล้เคียงกับพลังงานรังสีเอกซ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม รวมถึงมีอำนาจการทะลุทะลวงน้อย  เนื่องจากส่วนใหญ่จะถูกปิดกั้นโดยเนื้อเยื่อของร่างกาย บางส่วนที่ออกมาภายนอกได้ ก็จะกระทบกับร่างกายในระยะตื้นๆ เท่านั้น  แต่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งที่กระจายมาใกล้บริเวณผิวหนัง จะมีปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาภายนอก อาจสูงกว่าการฝังบริเวณต่อมลูกหมากได้

 

อย่างไรก็ดี  ไอโอดีน -125  ไม่สามารถใช้รักษาได้กับทุกอวัยวะ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  ที่โรคลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากนำไปใช้จริงในปริมาณที่สูง จะเกิดอะไรขึ้น

  1. ร่างกายไม่สามารถทนทานได้ และอาจเกิดผลแทรกซ้อนจนเสียชีวิต

  2. ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ให้การดูแลรักษาตลอดเวลา อาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย ยิ่งสัมผัสร่างกายของผู้ป่วยเป็นเวลานานทุกวัน จะเกิดแผลที่ผิวหนัง หรือพุพองได้   
  1. ควรแยกผู้ป่วยต่างหาก ไม่พักรวมกัน ยกเว้นผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และควรใส่เสื้อกำบังรังสีทั้งตัวผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันรังสีที่จะแผ่ออกมาภายนอก และสำหรับผู้ใกล้ชิด เพื่อลดระดับปริมาณรังสีที่จะได้รับให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย 
  1. ผู้ป่วยควรอยู่ห่างจากสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบในระยะตั้งแต่ 1.7 เมตร ขึ้นไป โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนแรก
  1. ในกรณีกลับจากการรักษาฝังแร่ไอโอดีน -125 ที่ต่างประเทศ ผู้ป่วยและญาติควรแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกครั้ง ที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล หรือสถานบริการทางการแพทย์ทุกแห่งว่า ตนได้รับการฝังแร่ไอโอดีน -125 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด นอกจากจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการร่วมดูแลสังคมรอบข้างที่อยู่ร่วมกันด้วย

 

ในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งระยะต่างๆ หลายรูปแบบด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฝังแร่ชนิดไม่ถาวร ที่สามารถควบคุมความปลอดภัยของรังสีได้ การฉายแสง การให้เคมีบำบัด การรักษาทางวิธีรังสีร่วมรักษา ฯลฯ หรือแม้แต่การรักษาร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพในผู้ป่วยรายเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล 

ว่าแต่จะใช้วิธีใด  ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันทางการแพทย์ ที่รักษาก่อนตัดสินใจ เพราะไม่เช่นนั้น ฟางเส้นสุดท้าย อาจไม่เกิดประโยชน์อันใด…เลย

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook