สำรวจ 3 โครงการไฮโดรเจนสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมนำข้อดีมาปรับใช้สนับสนุน อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย

โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาสนใจการใช้พลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แต่ที่กำลังเป็นที่จับตาและเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น คือ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้พัฒนา โครงการไฮโดรเจนสีเขียว ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกมาแรงนี้ และสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนา อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย ไปพร้อมกัน วันนี้ เรามีข้อมูลของ 3 โครงการไฮโดรเจนสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาบอกกัน ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับภูมิทัศน์ด้านพลังงานของโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ

โครงการไฮโดรเจนสีเขียว Sinopec ในจีน

ในฐานะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก “ความมั่นคงทางพลังงาน” จึงกลายเป็นเป้าหมายที่จีนต้องการจะบรรลุ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และ “พลังงานไฮโดรเจน”
พลังงานไฮโดนเจนเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จีนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี 2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน” (พ.ศ. 2564 – 2578) ซึ่งเป็นแผนด้านพลังงานไฮโดรเจนระดับชาติฉบับแรกของจีน โดยตั้งเป้าให้มีการใช้ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างน้อย 50,000 คัน และสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ให้ได้ปีละ 100,000 ถึง 200,000 ตันภายในปี 2568

รวมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ เพื่อบรรลุ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” ที่จีนขีดเส้นเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (carbon emission peak) ในปี ค.ศ. 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutral) ในปี ค.ศ. 2060
ทั้งนี้ บริษัท Sinopec เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของจีนด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ มีเป้าหมายสร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนที่มีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 20,000 ตันต่อปี ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 485,000 ตันต่อปี
นอกจากนั้น ยังมี บริษัท New Star Company ภายใต้เครือ Sinopec จะมุ่งพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงกระบวนการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจน โครงการนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการ NEOM Green Hydrogen Project ในซาอุดีอาระเบีย

โครงการ Neom ของซาอุดีอาระเบียเป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ด้านพลังงานสะอาด และมีแผนที่จะผลิตไฮโดรเจนสีเขียวมากกว่า 650,000 ตันต่อปี ที่มาจากการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2569 และจะมีการนำเทคโนโลยีของบริษัท thyssenkrupp ที่อาศัยกระบวนการนำน้ำมาแยกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้ามาใช้ การลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวนี้ไม่เพียงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังทำให้ประเทศในฐานะผู้ผลิตน้ำมันดิบชั้นนำของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียมีภาพลักษณ์ด้านการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน

ไฮโดรเจนสีเขียว

และเป็นที่น่ายินดีว่า ล่าสุด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุน โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ กฟผ. และ บริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) จากซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง
โดยได้ตั้งเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 252,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องยอมรับข้อจำกัดว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสูงกว่า 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน หรือสูงกว่าราคานำเข้า

กรีนไฮโดรเจน

โครงการ Western Green Energy Hub ในออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายในการมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งสอดรับกับแนวทางที่ได้หารือในที่ประชุม COP26 ในปีที่ผ่านมา การนำกรีนไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทนถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสาขาสำคัญที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญในลำดับต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน
โดยออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติขึ้นในปี 2019 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2030 โดยในส่วนของรัฐบาล New South Wales ได้ถ่ายทอดยุทธศาสตร์มาจัดทำแผนการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของรัฐ ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนระดับนำของโลก และได้จัดทำโรดแมปที่ครอบคลุมทั้งวงจรเพื่อให้กรีนไฮโดรเจนสามารถเป็นทางเลือกด้านพลังงานสะอาด ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย การสร้าง supply chain พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมที่รองรับ รวมทั้งสร้างความต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่จะทำให้แผนงานบรรลุเป้าหมายคือจะต้องสามารถผลิตไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานปล่อยคาร์บอนต่ำแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิม เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 50 ในปี 2050 ได้
และล่าสุด บริษัท InterContinental Energy มีแผนการสร้างฮับพลังงานทดแทนในตะวันตกของออสเตรเลียเพื่อการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในปี 2573 ประกอบด้วยพลังงานลม 30 กิโลวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 20 กิโลวัตต์ ซึ่งจะใช้สำหรับการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ถึง 3.5 ล้านตัน เพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออก

มองต้นแบบ แล้วย้อนกลับมาดูแผนการเดินหน้า “อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย” ไปต่ออย่างไรให้ยั่งยืน

ทั้ง 3 โครงการไฮโดรเจนสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของแหล่งพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้มองเห็นความสำคัญและโอกาสการเติบโตในกิจการพลังงานไฮโดรเจนที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางที่เติบโตอย่างยั่งยืน
และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทย บีโอไอได้กำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนใน 3 ด้านหลัก ดังต่อไปนี้
  1. การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง
  2. การผลิตไฮโดรเจนจากไฮโดรคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล (ต้องมีเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน: CCUS)
  3. การผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากไฮโดรเจน
โดยเชื่อว่าการดำเนินมาตรการสนับสนุนนี้ นอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี พ.ศ. 2608 ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศจากการดึงดูดการลงทุนบริษัทต่างชาติที่มีความต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปในคราวเดียวกัน

ที่มา : บทความเรื่อง “สำรวจ 3 โครงการไฮโดรเจนสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก” จาก Facebook : BOI News


อัปเดตต้นแบบโครงการ นวัตกรรม ระดับโลก ที่พร้อมนำมาปรับใช้พัฒนาประเทศไทย

3 แนวทาง ปูทางไทยสู่ ชาตินวัตกรรม ต้องเดินต่อทางไหนเพื่อติดอันดับ 1 ใน 30 ของโลก

WEF อัปเดต 5 นวัตกรรม ‘พลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะ’ ช่วยโลกฝ่าวิกฤต Climate change

ถึงเวลาอวด “กำแพงกังหันลม” ดีไซน์เฉี่ยวที่บ้าน?