เฉลยแล้ว “สโมสรฟุตบอล” เอาเงินที่ไหนมาจ่าย “ค่าแรงนักเตะ”

เรามาดูอันดับนักเตะรับค่าเหนื่อยมากสุดในโลก 10 ลำดับแรกกันก่อน (หน่วย : ล้านปอนด์ต่อปี)

1. คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 175
2. คิลิยัน เอ็มบั๊ปเป้ 105.8
3. ลิโอเนล เมสซี่ 90.9
4. เนย์มาร์ 71.9
5. โมฮาเหม็ด ซาลาห์ 43.8
6. เออร์ลิง ฮาลันด์ 32.2
7. โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ 28.9
8. เอแด็น อาซาร์ 25.6
9. อันเดรส อิเนียสต้า 24.8
10. เควิน เดอ บรอยน์ 24

จะเห็นได้ว่า บรรดาพ่อค้าแข้งทองทั้ง 10 คน มีเพดานค่าจ้างค่าออนที่น่าอิจฉามาก หากไม่นับนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีของโลก นอกจากนักกีฬาด้วยกันแล้ว ก็เห็นจะมีแต่ศิลปินเท่านั้น ที่จะอัตราค่าแรงแพงระยับเช่นนี้
ทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า บรรดา “สโมสรฟุตบอล” ชั้นนำทั้งหลาย ทั้งในยุโรป อเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องใหม่มาแรงแซงทางโค้งอย่างเจ้าสัวน้ำมันแห่งเอเชีย “ซาอุดิอาระเบีย”
เอาปัญญาจากไหนในการหารายได้มาจ่ายค่าเหนื่อยแพงระยับของบรรดาพ่อค้าแข้งทองเหล่านี้

ค่าตั๋วเข้าชมหรือก็จำกัดที่นั่งที่ล็อคจำนวนเก้าอี้เอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะตั๋วปี ตั๋วเดือน ตั๋วทัวร์ ตั๋วรายวัน หรือตั๋วต่อแมทช์ แปลไทยเป็นไทยก็คือ เก้าอี้ในสนามไม่มีทางงอกเพิ่มได้อย่างเด็ดขาด
หรือจะเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ หรือบรรดาป้ายโฆษณาข้างสนาม และค่าลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสด รายได้เหล่านี้ไม่มีทางพอยาไส้นักเตะแข้งเพชรอย่างแน่นอน
ข้อครหาหนึ่งซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้จะจะประจักษ์กับตาก็คือ เหล่า “สโมสรฟุตบอล” แถวหน้า มีส่วนพัวพันกับการพนัน ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย แต่ในเมื่อยังไม่มีหลักฐานที่จับได้แบบคาหนังคาเขา ก็คงต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยไปว่า “ไม่มี”
ก็คงจะเหลือแหล่งรายได้บ่อเดียวที่สามารถสร้างรายรับให้ “สโมสรฟุตบอล” ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำก็คือ “ร้านขายของที่ระลึก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสื้อบอล” นั่นเอง
เพราะล่าสุด มีการออกมาเปิดเผย “ต้นทุนการผลิตเสื้อบอล” อย่างเป็นทางการ โดยหนังสือพิมพ์ Daily Mail แห่งเกาะอังกฤษ
ที่ออกมาเฉลยปัญหาที่คาใจแฟนบอลมานาน ว่า “สโมสรฟุตบอล” ทั้งหลาย เอาเงินที่ไหนมาจ่าย “ค่าแรงนักเตะ”
Daily Mail ใช้แหล่งข้อมูลในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสื้อบอล” ของเหล่าสโมสรใน “พรีเมียร์ลีก”

จากการที่ 10 สโมสรชั้นแนวหน้า แห่งศึก “พรีเมียร์ลีก” ได้ประกาศขึ้นราคาเสื้อบอลใหม่ประจำฤดูกาล 2023/2024 ที่กำลังวางขาย
ซึ่ง Daily Mail พบว่า อัตราค่าช้อป “เสื้อบอล” ดีดตัวขึ้นราว 15%
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้ปืนใหญ่ “อาร์เซน่อล” กับปีศาจแดง “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เป็น 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ ที่ขึ้นราคา “เสื้อบอล” มากที่สุดคือ 15% จากราคา 70 ปอนด์ หรือประมาณ 3,140 บาท ขึ้นเป็น 80 ปอนด์ หรือประมาณ 3,585 บาท ตกแล้ว เพิ่มขึ้นเป็นเงินไทยประมาณ 445 บาทต่อตัว
ตามมาติดๆ ด้วยไก่เดือยทอง “ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์” ที่ก็ขึ้นราคาจากเดิม 5 ปอนด์ คือจาก 75 ปอนด์ ไปเป็น 80 ปอนด์
นอกจากนี้ ทั้ง 3 สโมสรระดับ The Big 6 ของ “พรีเมียร์ลีก” ยังมีออปชั่นให้อัพเลเวล “เสื้อบอล” ให้เป็นแบบ “ฟูล ออปชั่น” โดยมี “อาร์ม” และ “เบอร์” พร้อม “ชื่อผู้เล่น” ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปถึง 100 ปอนด์ หรือประมาณ 4,500 บาทเลยทีเดียว

ดร. Peter Rohlmann ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sport Marketing ชาวเยอรมัน ระบุว่าต้นทุนของเสื้อราคา 80 ปอนด์นั้น อยู่ที่เพียง 8 ปอนด์ หรือประมาณ 360 บาท หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาเสื้อแข่งเท่านั้น
โดย 8 ปอนด์ที่ว่านั้นรวมค่าวัสดุ และค่าแรงคนงานในโรงงานเย็บผ้าในเอเชีย บวกกับค่าขนส่งอีกนิดหน่อย
มูลค่าที่เหลือแบ่งเป็นรายได้อื่นๆ ที่ได้รับ เช่น เอเยนต์ หรือยี่ปั๊วะ ซึ่งปกติแล้วมักเป็น “สโมสรฟุตบอล” ต่างๆ ที่จะได้รับ 26.40 ปอนด์ หรือประมาณ 1,180 บาท
Brand เสื้อผ้ากีฬายี่ห้อดัง ผู้ได้ลิขสิทธิ์ผลิต “เสื้อบอล” จะได้รับส่วนแบ่งตัวละ 23.47 ปอนด์ หรือประมาณ 1,050 บาท
บวกภาษีการค้าของอังกฤษอีก 13.33 ปอนด์ หรือประมาณ 600 บาท และค่าลิขสิทธ์ Logo ทีม ที่ “สโมสรฟุตบอล” จะได้รับอยู่ที่ 4.8 ปอนด์ หรือประมาณ 215 บาท
ขณะที่ค่าการตลาดอยู่ที่ 2.4 ปอนด์ 108 บาท และค่าจัดจำหน่าย หรือค่ากระจายสินค้าในท้องถิ่นอีก 1.6 ปอนด์ หรือประมาณ 72 บาท

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของบางสโมสร ที่ยกขึ้นมาให้เห็นภาพ เพราะแต่ละสโมสร อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นอยู่กับสัญญาระหว่างสโมสรกับ Brand เสื้อผ้ากีฬา ซึ่งโดยทั่วไป ในแต่ละปี จะมีการจ่ายเป็นเงินก้อนให้กับสโมสรไปล่วงหน้าแล้ว อย่างน้อย 3 ปี
หนังสือพิมพ์ Daily Mail ทิ้งท้ายว่า บรรดาสโมสร และ Brand เสื้อผ้ากีฬาที่ได้ลิขสิทธิ์จากพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง Nike, Adidas, Puma หรือยักษ์เล็กอย่าง New Balance Kappa Umbro นั้น เป็นฝ่ายที่ตั้งราคา
สรุปส่งท้ายสำหรับ “เสื้อบอล” ของบรรดาสโมสรที่ขึ้นราคา 5 ปอนด์ หรือประมาณ 225 บาทนั้น ประกอบไปด้วย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (75 ปอนด์) ลิเวอร์พูล (74.95 ปอนด์) นิวคาสเซิ่ล (70 ปอนด์) แอสตัน วิลล่า (70 ปอนด์) เอฟเวอร์ตัน (65 ปอนด์) คริสตัล พาเลซ (60 ปอนด์) และวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ (60 ปอนด์)